วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ได้รับแล้ว

เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ตรัสบรรยายความเป็นอยู่แห่งเมืองเชียงแสนให้ได้ทราบเกล้า ทราบอย่างเข้าใจดียิ่งกว่าใครๆ เคยเห็นรูปเขานำมาจากเชียงใหม่รู้สึกว่างามแปลกพอใจเป็นอันมาก หากว่าที่เชียงแสนจำลองจากลำพูนไปทำก็เป็นชิ้นใหม่ ไม่ใช่ของดั้งเดิมแห่งเมืองเชียงแสน

ปัญหาซึ่งตรัสถึงโลหะอันใช้ทำพระพุทธรูปในมณฑลพายัพ ว่าได้มาแต่ไหน จะกราบทูลเป็นการเล่นอย่างที่เรียกว่ากำปั้นทุบดิน ว่าได้มาแต่ต่างประเทศ

ความเห็นของท่านพวกนักปราชญ์พิจารณาโบราณคดีนั้น ฟังความเห็นของท่านรู้สึกอ่อนใจเต็มที เมื่อสองสามวันมานี้เพียรอ่านความเห็นของท่านมองซิเออร์ หมู (MUS) ซึ่งเขาลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์แต่งเรื่องนครธม ท่านดูอะไรๆ ในนครธมก็ไม่เข้าใจทั้งนั้น ด้วยอุปทานของท่านยึดมั่นว่านครธมนั้นพระเจ้าชัยวรมันเป็นผู้สร้าง พระเจ้าชัยวรมันนั้นทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ในนครธมจะเป็นทางไสยศาสตร์ไปไม่ได้ ท่านไม่ให้โอกาสแก่เวลาบ้างเลย ความจริงเช่นปราสาทบายนนั้นก็แลเห็นจะแจ้งว่าได้สร้างเติม ได้แก้ไขหลายทอดหลายยุคมามากทีเดียว จะเหมาถวายพระเจ้าชัยวรมันองค์เดียวเห็นไม่ไหว

พระอังคาร เกล้ากระหม่อมได้ทราบนานแล้วว่า เภามก็เรียก ได้ทราบเมื่อสร้างบ้านคลองเตย ยกศาลพระภูมิประจำบ้านแล้วให้สดุดใจสงสัยขึ้นมาว่า พระภูมินั้นเป็นใคร จึงพลิกพจนานุกรมสันสกฤตดูพบศัพท์ ภูมิ แปลว่าแผ่นดิน คือพระธรณี และว่าพระอังคารนั้นเป็นลูกนางพระธรณี จึ่งได้นามอันหนึ่งเรียกว่า เภาม หมายความว่า เกิดแต่ ภูมิ ก็นึกอ้อในใจว่า นามนี้เองซึ่งในภาษามคธเรียกพระอังคารว่า ภุมม ชื่อหัวพันมหาดไทย ได้สดุดใจเมื่ออ่านพระวิจารณ์นั้นเหมือนกัน สดุดในสร้อยชื่อพันเภานั้นเองซึ่งมีคำว่าม้าอยู่ในนั้น สงสัยว่าทำไมสร้อยชื่อพันพาณจึงไม่มีคำว่าช้าง ครั้นพิจารณาดูชื่อทั้ง ๔ คน ประกอบด้วยสร้อยก็ไม่ได้ความว่ากระไร จึงตัดสินในใจว่าสร้อยเห็นจะต่อใหม่เดิมจะมีแต่ชื่อลุ่นๆ อย่างเรียกกันอยู่ว่า พันภาณ พันเภา พันจันท์ พันพุฒ นั้น แต่พิจารณาในชื่อลุ่นก็ไม่เห็นว่าความไปทางไหนจึงเลยหยุดคิด ที่พระยาอนุมานมาเห็นขึ้นว่าหมายถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธนั้นงามนัก ชื่อโบราณท่านมักเอาชื่อเทวดา หรือวีรบุรุษมาให้เป็นชื่อข้าราชการ ผิดกันกับสมัยนี้ที่คิดชื่อตามงาน เช่นหลวงอรรถนฤมลวุจดี เป็นต้น ชื่อชนิดนี้พระพิมลธรรมท่านปรับเอาว่าไม่เป็นชื่อ เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วย ชื่อหัวพันมหาดไทยทั้งสี่นั้นเป็นอยู่หน่อยเดียวที่ว่าเป็นชื่อเทวดาสัตตเคราะห์ ไฉนจึงแบ่งเอาไปใช้แต่ ๔ หรือจะมีใช้ในตำแหน่งอื่นอีก ซึ่งติดเนื่องกันกระมัง นึกมาถึงเพียงนี้ชื่อพันศุกร์ น้องพระยาวรพุฒิ พ่อนายราชจำนงก็มาผุดขึ้น จะเป็นหัวพันอะไรที่ไหนก็จนความรู้หรือจะเป็นชื่อตัวก็ไม่ทราบ

ชื่อสองชื่อ คือศรีธนญชัยกับศรีปราชญ์ เกล้ากระหม่อมสงสัยว่าจะเป็นราชทินนาม น่าจะมีขุนหรือหลวงนำหน้า หากเรียกกันหวัดๆ จึงตกหายไปเสีย

เรื่องที่กล่าวถึง อุกาบาต นั้น เห็นในหนังสือพิมพ์เขาก็ลงว่าที่สงขลาก็ได้เห็นกันวันที่ ๒๘ แต่ที่ฝ่าพระบาทตรัสเล่าเป็นวันที่ ๒๙ ที่สงขลาดูเป็นเวลาเร็วกว่าเห็นสัก ๓ วินาที แต่ปีนังดูเป็นเวลานาน โดยคำชายนิพัทธว่าเข้าหมอกออกเมฆไปไหนๆ เกล้ากระหม่อมไม่ได้เรียนทางหมอดู ไม่มีคำอะไรจะกราบทูล พวกที่เรียนหมอดูเขาอาจทำนายเป็นต้อยเป็นติ่งไปได้ในเรื่อง อุกาบาต หรือธุมเพลิง อะไรนั้น

เมื่อวันพฤหัสบดี หญิงจงกระวีกระวาดนำดอกไม้ธูปเทียนมาให้ บอกว่าหม่อมราชวงศ์เผ่าเทพ ลูกเขยจุลดิศตาย ว่ากินยาพิษประหารตนเอง ไล่เลียงเอาเหตุผลได้ความว่าเข้าใจผิด คิดว่าตนมีโรคซึ่งจะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ เห็นค่อนไปข้างสัญญาวิปลาศน่าสงสาร อันสัญญาวิปลาศนั้นเต็มที มีแต่ทำความเดือดร้อนให้แก่ญาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกให้พ้นไปได้

เคี่ยมชุนบอกว่าจะออกมาปีนัง ว่าในโอกาสนั้นตั้งใจจะมาเฝ้าเยี่ยมเยียนฝ่าพระบาทด้วย

มีเรื่องรถยนต์เจ้าพระยาสุรศักดิ์ จะกราบทูลต่อให้ละเอียดไปอีกได้ด้วย เมื่อวันที่ ๑ พระยาอนุทูตมาหา ลองถามถึงรถยนต์เจ้าพระยาสุรศักดิ์นั้นดู แกรู้ดี บอกว่าท่านเห็นแคแตล็อกแล้วจึงสั่งเข้ามาเอง ทีแรกไปตามฝรั่งอิตาลีมาเป็นอินยิเนีย เขาไม่มา จึงตามพระยาอนุทูตไปเป็นอินยิเนียเดินรถนั้น ว่าใช้น้ำมันปิโตรเลียม ต้องจุดไฟลักษณะคล้ายเตาฟู่ รูปร่างรถคล้ายรถบดถนน มีที่นั่งสองแถว มีหลังคาเป็นปะรำ ล้อยางตัน หมดดีที่ขึ้นสะพานไม่ไหว เวลานั้นเชิงตะพานของเราก็ชันเต็มที ว่าภายหลังกรมหลวงราชบุรีมาขอเอาไปกองลหุโทษ จะขอเอาไปต้มยำทำอะไรหาทราบไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ