วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ทรงเขียนในเรือ Tusman ของบริษัท K.P.M. ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ประทานมากับไปรษณียบัตรด้วย ๒ แผ่น สังเกตว่าคงทรงเขียนเมื่อเรือลำนั้นแล่นในปากอ่าวสยาม ยังไม่ถึงสิงคโปร์ มีความยินดีขอบพระทัยที่ทรงระลึกถึง ฝ่ายข้างหม่อมฉันก็ได้ปรารภด้วยกันกับลูกมาตั้งแต่วันที่ ๙ ว่า “ป่านนี้เสด็จอาว์คงเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปในเรือแล้ว” และปรารภถึงคุณโตด้วย ว่าน่ากลัวจะเมาคลื่น เมื่ออ่านลายพระหัตถ์จึงทราบว่าหญิงอี่กับหญิงอามพลอยเมาไปด้วยอีก ๒ คน ดีหนักหนาที่หญิงไอไม่เมาพอได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

เมื่อหญิงมารยาตรของหม่อมฉันออกไปชวาเล่ามา ว่าเมื่อออกจากกรุงเทพฯ ต้องไปลงเรือช่วงที่เมืองสมุทรปราการแล่นข้ามสันดอนไปลงเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ดูประดักประเดิดเต็มที่ ฤดูนี้ในทะเลปากอ่าวตอนนั้นก็เป็นฤดูมรสุมมีคลื่นใหญ่ แต่ต่อลงไปข้างใต้เรือเขามักแล่นใกล้ทางแหลมมลายูบังคลื่นไม่ค่อยมีเท่าใดนัก ตั้งแต่สิงคโปร์ไปเรือไปในช่องเกาะเรียวและเกาะบังกาทะเลราบคาบ ถ้าจะถูกคลื่นก็ตอนพ้นเกาะบังกาผ่านทะเลชวาวันหนึ่ง หน้านี้คลื่นก็ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก เมื่อครั้งรับจดหมายฉบับนี้คงจะเสด็จขึ้นบกท่องเที่ยวเพลิดเพลินอยู่ในชวาแล้ว

หม่อมฉันอยากจะทูลให้ทรงคอยสังเกตอย่างหนึ่งในเวลาประทับอยู่ที่บันดุง เมืองนั้นมีภูเขาสูงล้อมรอบ บางเวลาดูจากตำหนักทูลกระหม่อมชาย เหมือนมีเมฆลอยอยู่ตอนกลางภูเขา แลเห็นบ้านเรือนเรือกสวนที่อยู่กับแผ่นดินจนถึงแนวเมฆที่บัง เปรียบเหมือนมนุษยโลกกับฟ้า ครั้นเงยหน้าดูเหนือแนวเมฆขึ้นไป เห็นบ้านเรือนเรือกสวนตอนยอดเขามีอีกชั้นหนึ่ง เป็นภาพงามน่าดูยิ่งนัก ราวกับเห็นเมืองสวรรค์กับเมืองมนุษย์พร้อมกัน ขอให้ทรงสังเกตเถิด

อาศัยโอกาสและความคิดถึงเมื่อได้เห็นลายพระหัตถ์ หม่อมฉันจะเลยเขียนตอบลายพระหัตถ์เวรที่ประทานมาแต่กรุงเทพฯ ฉบับลงวันที่ ๕ มิถุนายน ด้วยมีวินิจฉัยเป็นข้อสำคัญที่จะทูลสนองพระปรารภในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นว่าโบสถ์วัดบวรสถาน แผนผังเป็นจตุรมุข อาจจะคิดตั้งพระประธานขนาดย่อมไว้ในบุษบกที่ศูนย์กลาง ทำให้หม่อมฉันรำลึกขึ้นถึงความหลังครั้งขึ้นไปตรวจราชการมณฑลอุดรและอิสานในรัชกาลที่ ๕ เมื่อหม่อมฉันพักอยู่ที่เมืองหนองคาย พวกกรมการชั้นสูงอายุเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพตีได้เมืองเวียงจันทร์แล้ว โปรดให้เชิญ “พระเสิม” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเวียงจันทร์ ขนาดหน้าตักสัก ๒ ศอก มาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเมืองหนองคาย พระเสิมค้างอยู่ที่นั่นจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ ที่วัดโพธิ์ชัยยังมีฐานซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้าง เป็นตั้งที่พระเสิมปรากฏอยู่ หม่อมฉันไปดูก็เห็นฐานทำด้วยไม้จำหลักปิดทองล่องชาด แบบอย่างลวดลายเป็นฝีมือช่างกรุงเทพฯ สมจริงดังเขาบอก แล้วนึกขึ้นได้อีกข้อหนึ่ง ว่าดูเหมือนมีพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมตรัสเล่าเรื่องพระเสิมและพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่เชิญมาจากมณฑลอุดรและอิสาน อยู่ในหนังสือ “พระบรมราชาธิบาย” ซึ่งพิมพ์ในงานทำศพพระองค์ศรีนากเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เผอิญหม่อมฉันมีสมุดพระราชนิพนธ์เรื่องนั้นอยู่ที่ซินนามอนฮอล จึงเอาตรวจก็พบเรื่องเป็นลายพระราชหัตถเลขาตอบกรมหลวงวงศาธิราชสนิทกับเสนาบดี เข้าชื่อกันทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย กราบทูลว่ามีคนบ่นกันมากว่าเกิดเหตุฝนแล้งเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๑ เพราะเชิญพระเสิมกับพระใสลงมาไว้ในกรุงเทพฯ (แต่ในฎีกาจะทูลขอให้ส่งคืนกลับไปเมืองหนองคายหรือให้ย้ายออกไปไว้เสียวัดนอกพระนครอย่างไรไม่ปรากฏ) ในพระราชหัตถเลขาทูลกระหม่อมตรัสเล่าถึงเรื่องพระเสิมว่าเมื่อ (ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เชิญลงมาก็ไม่ได้กราบทูล ครั้นทรงทราบพระราชดำริว่าพระเสิมเป็นพระพุทธรูปที่ผู้คนนับถือมาก จึงเสด็จขึ้นไปทำพิธีสักการะบูชาที่พระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กราบบังคมทูลว่าที่ให้เชิญพระเสิมลงมานั้น ด้วยทรงเจตนาจะตั้งเป็นพระประธานที่วัดบวรสถานสุทธาวาศ ส่วนพระใสนั้น แต่ก่อนก็เก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิชัย เมืองหนองคาย ด้วยกันกับพระเสิม พระองค์เองโปรดให้เชิญลงมาเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานที่ในพระอุโบสถวัดปทุมวัน เพราะพระสงฆ์วัดนั้นและราษฎรที่อยู่แถวนั้นเป็นลาวเป็นพื้นจะได้ยินดี ได้ทรงแถลงความเห็นของเสนาบดี แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ หาทรงเห็นชอบด้วยไม่

ความ ๒ ข้อที่ปรากฏดังกล่าวมา คือที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ให้เชิญพระเสิมจากเมืองเวียงจันทร์มาพักไว้ที่วัดโพธิชัยเมืองหนองคาย ข้อ ๑ กับที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดให้เชิญพระเสิมลงมากรุงเทพฯ ด้วยทรงเจตนาจะประดิษฐานเป็นพระประธานวัดบวรสถานฯ ข้อ ๑ ชวนให้คิดเห็นเรื่องต่อกันมาแต่เบื้องต้น ดังจะทูลสันนิษฐานต่อไปนี้

๑. เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพตีได้เมืองเวียงจันทร์ น่าจะทรงปรารภว่าเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตีได้เมืองเวียงจันทร์ ในสมัยกรุงธนบุรี เชิญพระแก้วมรกตลงมา ครั้นได้เสวยราชย์โปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดิษฐานไว้ในพระราชวัง พระองค์ตีเมืองเวียงจันทร์ได้เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ และได้พระเสิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเวียงจันทร์ จึงทรงดำริ “เจริญรอยสมเด็จพระบรมชนกนาถ” สร้างวัดขึ้นในพระราชวังบวรแล้วเชิญพระเสิมลงมาประดิษฐานเป็นพระประธาน เหมือนอย่างพระแก้วมรกตทางวังหลวง จึงตรัสสั่งให้เชิญพระเสิมลงมารักษาไว้ที่วัดโพธิชัยเมืองหนองคาย จนกว่าจะสร้างวัดบวรสถานแล้วจึงจะเชิญลงมากรุงเทพฯ ข้อที่ว่ามานี้อาจจะเป็นมูลเหตุที่สร้างวัดบวรสถานฯ แต่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตเสียแต่พระอุโบสถยังไม่แล้ว พระเสิมจึงตกค้างอยู่ที่เมืองหนองคาย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเป็นแต่ทรงแสวงหาพระพุทธรูปโบราณ และมีใครกราบทูลชมโฉมว่าพระเสิมเป็นพระงามอย่างยิ่งองค์ ๑ หรือจะทรงปรารภถึงวัดบวรสถานที่พระอุโบสถยังค้างอยู่ และมีใครกราบทูลให้ทรงทราบพระดำริเดิมของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้เชิญลงมาเพื่อจะประดิษฐานเป็นพระประธานวัดบวรสถาน ข้อนี้ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเมื่อเชิญลงมาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดให้ประดิษฐานไว้บนพระแท่นเศวตฉัตร ที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แต่การที่ทรงเจตนาจะตั้งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรสถานนั้น คงระงับด้วยทูลกระหม่อมทรงแนะนำว่า ตั้งพระพุทธสิหิงค์จะดีกว่า พระเสิมก็คงตั้งอยู่บนแท่นเศวตฉัตรที่ในพระที่นั่งอิสราวินิจฉัยต่อมา ปรากฏว่าต่อมาถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ เสนาบดีเข้าชื่อกันถวายฎีกาอีกครั้ง ๑ ว่าฝนแล้ง ๓ ปีติดๆ กัน คนพากันโทษว่าเพราะเอา “พระลาวบ้านแตกเมืองร้าง” มาไว้ในกรุงเทพฯ ถึงไปลงหนังสือพิมพ์ก็มี ครั้งนี้โปรดให้คืนพระบางไปไว้ณเมืองหลวงพระบาง แต่พระเสิมนั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ทรงยอมให้ย้ายไป จนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรคต ทูลกระหม่อมจึงโปรดฯ ให้เชิญพระเสิมจากพระบวรราชวังไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดปทุมวัน ยังอยู่ที่นั่นสืบมาจนบัดนี้

รวมความตามวินิจฉัยที่กล่าวมา เห็นว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างวัดบวรสถานพุทธาวาศ ด้วยทรงเจตนาจะตั้งพระเสิมเป็นพระประธานด้วยประการฉะนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ