วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ ได้รับประทานแล้ว

เรื่องพระมงคลบพิตรนั้นประหลาดหนักหนา เหเข้ามาพะหน้าเกล้กระหม่อมร่ำไป ผลักให้พ้นหน้าไปแล้วก็เวียนมาพะเข้าอีก เมื่อตรัสต่อความยาวไปก็จะกราบทูลสาวความยืด ถวายให้ทรงทราบตลอดเรื่อง ตามที่มาพะหน้านั้นเป็นดั่งนี้ติดจะสนุก

ครั้งที่ ๑ ฝ่าพระบาททรงทราบแล้ว เมื่อฝ่าพระบาทยังทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา เกล้ากระหม่อมเป็นอุปนายกภาคศิลปากร พระยาหรือคุณหญิงอมเรศรถวายเรื่องราวกับแบบเขียนต่อฝ่าพระบาท ขออนุญาตทำขาทรายคอนกรีตค้ำพระมงคลบพิตร เพื่อจะให้พระพุทธรูปยืนยงอยู่ได้นาน เพราะขณะนั้นองค์พระทรุดหงายไปข้างหลัง ฝ่าพระบาทประทานเรื่องราวกับแบบเขียนไปให้เกล้ากระหม่อมพิจารณา จึงได้ขึ้นไปตรวจการและปรึกษาด้วยอินชเนียในศิลปากรทำความเห็นถวายว่า การทำขาทรายค้ำนั้นนอกจากจะดูเกะกะแล้วยังจะไม่มีประโยชน์ด้วย องค์พระตั้งอยู่มาได้เป็นหลายร้อยปีแล้ว ทำไมจะตั้งอยู่อีกต่อไปไม่ได้ แม้ว่าองค์พระจะทรุดลงจริงๆ แล้ว ขาทรายนั้นจะรับไม่อยู่ ตีนขาทรายจะต้องกระเดิดเริดขึ้นอากาศไปหมด เพราะน้ำหนักแห่งองค์พระนั้นมากนัก เหตุที่องค์พระหงายหลังไปนั้น เป็นด้วยเซอเวเยอขุดฐานพระทางด้านหลังเป็นช่องใหญ่เพื่อค้นหาทรัพย์ แล้วก็ไม่มีใครทำให้คืนดี หลังพระจึงไม่มีอะไรรับจึงทำให้องค์พระทรุดหงายหลังไป ถ้าได้ก่ออิฐใช้เนื้อให้เต็มเสียอย่างเก่าแล้ว องค์พระจะอยู่ที่ไม่หงายไปอีก และถ้ามีประสงค์จะให้องค์พระกลับคืนตรงขึ้น ก็ให้ฟันฐานด้านหน้าเอาเนื้อออกเสียบ้างแล้ว องค์พระจะกลับคืนตรงอย่างเดิม เข้าใจว่าฝ่าพระบาทประทานความเห็นนั้นไปแก่ผู้ถวายเรื่องราว เพราะภายหลังได้พบพระยาอมเรศร บอกว่าความเห็นนั้นถูกต้องจริงๆ เป็นอันว่าขาทรายนั้นไม่ได้ทำ แต่ก่ออุดฐานพระเบื้องหลัง เห็นจะได้อุด

ครั้งที่ ๒ เกี่ยวในทางราชการงานเมือง จึงจะตัดเอาแต่ข้อใหญ่ใจความมากราบทูล คุณหญิงอมเรศรร้องอุทธรณ์ต่อคณะรัฐมนตรี ว่าได้ขออนุญาตทำวิหารพระมงคลบพิตร กรมศิลปากรอนุญาตให้ทำแต่ความคิดของกรมศิลปากร แต่ในความคิดของกรมศิลปากรนั้นไม่มีหลังคา เรื่องก็เดินมาถึงเกล้ากระหม่อม แต่เกล้ากระหม่อมไม่สามารถจะออกความเห็นได้ เพราะไม่ทราบว่ากรมศิลปากรคิดไว้ประการใด จึงได้ขอเอกสารและแบบเขียนของกรมศิลปากร มาตรวจดูปรากฏถ้อยคำของกรมศิลปากรว่าหลังคาเดิมนั้นพังหมดแล้ว จะรู้ไม่ได้ว่าเดิมเป็นอย่างไรเพราะเหตุฉะนั้นจึงควรแต่จะตบแต่งสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ท่วงทีดี ปล่อยให้องค์พระตั้งอยู่กลางแจ้ง อ้างถึงที่เขาทำไว้ ณ เมืองญี่ปุ่นเป็นอุทาหรณ์ ตรวจดูแบบเขียนเห็นแก้ตัดต่อเสาและผนังที่มีอยู่ให้ดูเป็นลดหลั่น ทำบัวปลายทำลายประกอบใหม่เป็นเรือนร่างอย่างเก๋ดูแบบก็งามจริงดอก แต่งามเหมือนฉากละคร จึงได้ทำความเห็นให้ไปว่าความคิดของกรมศิลปากรนั้นผิดหลัก การรักษาโบราณสถาน ซึ่งเห็นเขาทำกันมาก็มีแต่ว่าทิ้งไว้ตามที่เป็นอยู่ หรือซ่อมใหม่โดยความตั้งใจให้เหมือนเก่าที่สุดที่จะพึงทำได้ ที่ว่าหลังคาเก่าจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้นั้นไม่จริงเลย การก่อสร้างของไทยไม่มีลัดแลง แม้ว่าเห็นแผนผังก็รู้ได้ว่าหลังคาเป็นอย่างไร ไม่พ้นความสามารถที่จะรู้ได้ไปเลย ในการที่คิดเอาพระไว้กลางแจ้งนั้น ไม่ขัดข้องอะไร ไม่จำเป็นต้องอ้างไปถึงเมืองญี่ปุ่น ในเมืองเราก็มีถมไป ทางที่ควรทำแก่สถานที่นั้นก็มีเพียงสองทาง คือรักษาของเก่าไว้ เวลานี้เป็นอยู่อย่างไรก็ ให้เป็นอยู่อย่างนั้น หรือ ซ่อมทำโดยพยายามที่จะให้ได้รูปเก่าเมื่อยังดีที่สุดที่จะทำได้ จะตกแต่งอย่างความคิดกรมศิลปากรนั้นใช้ไม่ได้ เป็นทางให้ผู้เรียนโบราณคดี เข้าใจว่าความเห็นอันนั้น คณะรัฐมนตรีได้ส่งไปกรมศิลปากร เพราะรู้ได้จากอธิบดีกรมนั้นส่งข่าวให้ใครมาพูดออกตัวก็ลืมเสียแล้ว ด้วยคงจะรู้สึกเดือดร้อน ว่าความคิดและคำกล่าวในเรื่องซ่อมวิหารพระมงคลบพิตรนั้นเป็นของศิลปากรเก่า ไม่ใช่ความคิดและถ้อยคำของกรมศิลปากรใหม่เดี๋ยวนี้ดอก

ครั้งที่ ๓ จะมีงานออกร้านที่วิหารพระมงคลบพิตรนั้นได้รับหนังสืออธิบดีกรมศิลปากร คำที่พูดมาว่ากระไรนั้นจำไม่ได้ จะกราบทูลก็จะพลาดพลั้งไป เอาแต่ที่เกล้ากระหม่อมเข้าใจ ว่าขอให้เกล้ากระหม่อมเขียนรูปพระวิหารพระมงคลบพิตร ตามที่เกล้ากระหม่อมเห็นว่าทำท่วงทีอย่างไรจะงาม จะเอาไปแขวนในงานเพื่อชักชวนให้คนเข้าเรี่ยไรซ่อมวิหารนั้น เกล้ากระหม่อมตอบไปว่ารับทำให้ไม่ได้ เกล้ากระหม่อมไม่เขียนหลอกใคร แล้วก็เงียบหายไป แต่เป็นการที่ทำให้เข้าใจได้ ว่ากรมศิลปากรเปลี่ยนความเห็นเป็นอันจะซ่อมให้กลับคืนดีเป็นวิหารแล้ว

ครั้งที่ ๔ คุณหญิงอมเรศรมาขอให้เกล้ากระหม่อมช่วยพิจารณาเขียนแบบวิหารพระมงคลบพิตรตามที่เป็นอยู่เดิมให้ เพื่อทำการปฏิสังขรณ์ นี่แปลว่าคุณหญิงอมเรศรได้อนุญาตแต่กรมศิลปากรมาแล้ว ให้ทำเป็นวิหารตามเดิม เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเป็นการบุญจึงรับว่าทำให้ได้ แต่ต้องให้ใครไปวัดเขียนมาให้แจ้งว่าของเก่าซึ่งเป็นอยู่บัดนี้มีอย่างไรบ้าง เกล้ากระหม่อมจะไปปีนป่ายไล่ไม้วัดเองนั้นไม่ไหว เขาไปให้กรมศิลปากรนั้นเองทำแบบสิ่งที่มีอยู่มาให้ ซึ่งเกล้ากระหม่อมกำลังเขียนวิหารนั้นอยู่พาให้เกิดอยากรู้เรื่องราวขึ้น จึงได้ขอประทานพระกรุณาโปรดค้นพระราชพงศาวดารประทานให้ทราบเรื่อง ในการเขียนวิหารนั้น รู้สึกว่าเป็นของใหญ่โตจะต้องใช้เงินมากมายในการปฏิสังขรณ์ให้คืนดี ไม่เล็งเห็นว่าคุณหญิงอมเรศรจะทำให้สำเร็จไปได้อย่างไร แต่ข้อนั้นไม่ใช่ธุระของเกล้ากระหม่อม ธุระส่วนเกล้ากระหม่อมก็เพียงแต่จะเขียนแบบให้จะไปอำนวยการทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที ในการที่เกล้ากระหม่อมเขียนก็เป็นการฝึกหัดตัวเองในทางเรสเตอร์ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ตัวพอใจแล้ว

พระมงคลบพิตรนั้น เกล้ากระหม่อมเคยดูมาตั้งแต่ยังชำรุดอยู่ในสถานที่อันเป็นป่า เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งของเกล้ากระหม่อมทีเดียว ฐานพระองค์นั้นทำดีนัก มีบัวคว่ำแห่งฐานบัลลังก์ตั้งอยู่บนหลังสิงห์ค่อมซึ่งไม่เห็นมีทำที่ไหนเลย ยังผ้าทิพย์ก็ทำดี ที่อื่นทำเหมือนเอาไม้กระดานตัดไปตอกตาปูติดเข้าไว้ แต่ที่นั่นเป็นผ้า นับตั้งแต่ต้นก็แลเห็นลาดทรุดเข้าไปใต้พระที่นั่งพระพุทธรูป แล้วก็คลี่ลาดห้อยลงมาอ่อนไปตามชั้นฐาน ถึงปลายที่สุดงอนพาดอยู่ตรงหน้าสิงห์ งามเต็มที นี้ก็มิใช่อื่นไกล คือความเชี่ยวชาญของช่างครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศซึ่งดีกว่ายุคไหนหมดนั้นเอง แต่เดี๋ยวนี้เสียไม่เป็นรูปอะไรหมดแล้วเพราะการซ่อมแซม ผู้ซ่อมจ้างเจ๊กไปทำ เจ๊กมันก็เก่งใครจ้างให้ทำอะไรก็ทำทั้งนั้นไม่ตกใจเลย ผู้จ้างซ่อมก็พอดีกัน สุดแต่ให้เห็นใหม่เอี่ยมแล้วเป็นใช้ได้ ดีชั่วไม่รู้ เมื่อพระยาโบราณซ่อมพระกรพระรัศมีแล้วก็ได้ไปเห็น ท่านบอกว่าตาจั่นเป็นผู้ดูแลให้ทำ บัวรองพระรัศมีได้เคยเห็นทำมาแล้วในพวกพระศิลา แต่พระหล่อไม่เคยเห็นทำที่ไหน นอกจากพระมงคลบพิตร อาจจะเอาอย่างพระศิลามาทำ โดยจำนงเช่นที่ทรงพระดำรินั้นก็ได้ ชั้นคุณหญิงอมเรศรไปซ่อมแซมก็ได้เห็น ได้ยินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า คุณหญิงอมเรศรไปซ่อมแซมเพราะพระมงคลบพิตรมาเข้าฝัน

รูปโปสการ์ดซึ่งชายนิพัทธส่งมาถวาย พิศดูจับใจมาก ทำให้อยากไปเห็น สังเกตในรูปเป็นอันว่าต้องขุดคุ้ยลงไปมาก แม้พื้นที่ปรากฏอยู่ในรูปก็แลเห็นได้ว่ายังขุดไม่ถึงพื้นเดิม รูปสัตว์ที่หนุนฐานทักษิณตัวยังจมดินอยู่ทั้งนั้น ประหลาดหนักหนาดินมันมาแต่ไหนจึงมาถมเสียหมด เหมือนพระธาตุไชยาพื้นเดิมต่ำกว่าพื้นวัดเกือบ ๒ ศอก พื้นวัดก็สูงเท่ากับพื้นท้องทุ่งที่วัดตั้งอยู่นั้นเอง เมืองอินเดียเคราะห์ดีมากที่ไม่มีภูเขาไฟ โบราณสถานที่ปรากฏในรูปโปสการ์ดดูไม่มีส่วนใหญ่บุบสลายไปเลย ไปเห็นโบราณสถานที่เมืองชวาน่าสังเวช พังเสียหาดียาก เจ้าพนักงานที่นั่นต้องซ่อมกันงอมแงม การซ่อมที่ทำอยู่ก็จำเพาะแต่สถานที่สำคัญ ต้องทิ้งเสียเป็นอันมาก เข้าใจว่าที่เกาะชวามีภูเขาไฟมาก คงทำให้แผ่นดินไหวบ่อยๆ เป็นเหตุให้โบราณสถานพัง ได้ถวายโปสการ์ดรูปโบราณสถานเมืองมัทราษฎร์คืนมานี้แล้ว

ได้เคยตามเสด็จพระราชดำเนิน ไปดูปราสาทเก่าแห่งหนึ่ง เรียกว่าปราสาทเมืองสิงห์ เข้าใจว่าอยู่ในแขวงกาญจนบุรี เวลาที่ไปนั้นเด็กเต็มทีจำได้แต่ว่าเป็นหินแลงแดงๆ เท่านั้น คงเป็นปราสาทเขมร คงเป็นที่ซึ่งเขมรเคยมาปกครอง คงเป็นเมืองที่สมบูรณ์มาก่อน แล้วทำไมจึงร้าง อยู่ไกลใกล้แม่น้ำเพียงไร จำไม่ได้เลย ฝ่าพระบาทคงได้ทรงทราบสถานที่นั้นดีกว่ามาก แม้ว่าทรงพระเมตตาตรัสเล่าประทานบ้างจะเป็นพระเดชพระคุณมาก

เสียใจที่กราบทูลถึงลูกปีช ซึ่งฝ่าพระบาททรงพระเมตตาโปรดให้ชายดำนำเข้าไปประทานนั้น ผ่าออกเห็นงอมจนถึงเน่า รับประทานไม่ได้ เกล้ากระหม่อมไม่ประมาทลูกปีช ที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานเข้าไปคราวก่อน รับประทานอร่อยจริงๆ แต่เป็นธรรมดาลูกไม้ย่อมจะได้กินดียาก เพราะเวลาจะได้กินดีนั้นมีน้อยนัก ต้องสุกพอดีจึงจะได้กินดี ถ้างอมเกินไปก็เน่า ถ้ายังไม่แก่จัดก็ไม่อร่อย อย่างที่เจ้าพระยาเทเวศรว่าลูกไม้สำหรับนกกิน ขอประทานโทษที่จะทูลคัดค้านว่า นกอย่างนั้นมันกินปลามันไม่กินลูกไม้

นายเฟโรจีเอาการ์ดคริสตมาส ซึ่งฝ่าพระบาทประทานไปมาอวดเป็นความคิดติดไปทางสมัยใหม่ อยากได้ไว้ดูบ้าง ถ้ายังมีเหลืออยู่ขอประทานสักแผ่นหนึ่ง จะเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ