วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

ซินนามอน ฮอล

วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๕ กันยายน นั้นแล้ว

งานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ หม่อมฉันได้ยินว่าที่ในกรุงเทพฯ ทำครึกครื้นกว่าปีก่อนๆ แต่จะครึกครื้นขึ้นอย่างไรหาทราบรายการไม่ การบางอย่างซึ่งจัดแก้ไขที่ในพระบรมมหาราชวังตามทรงพรรณนามาในลายพระหัตถ์ พิเคราะห์ดูก็จัดดีโดยมีความคิด มิใช่แต่ “ทำตามเคย” อย่างแต่ก่อน น่าอนุโมทนาอยู่ เป็นต้นว่าที่เลิกตั้งพระแท่นพิธีนวัคคหายุสมธรรมในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเสียก็ควรแล้ว ที่แก้ไขที่บูชาพระบรมรูปสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ใช้ดอกไม้ธูปเทียนแพแทนจุดธูปเทียนนั้นก็คิดถูกต้องดี ที่ปีนังนี้กงสุลสยามเขาก็ทำพิธีแปลกกว่าปีก่อนๆ แต่ก่อนเป็นแต่เชิญพวกนักเรียนไทยที่เล่าเรียนอยู่ในปีนังไป ประชุมเลี้ยงของว่าง ปีนี้เขาโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าวันที่ ๒๐ กันยายน เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ใครมีแก่ใจจะถวายพรให้ไปส่งก๊าดชื่อที่สถานกงสุล หม่อมฉันก็ได้ไปส่งก๊าดชื่อในตอนเช้า ตอนบ่ายเมื่อเขาเลี้ยงนักเรียน หม่อมฉันก็ให้หลานหญิงที่เรียนอยู่ในคอนเวนต์ไปทั้ง ๓ คน

ที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงรักษาประเพณีบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในวันพระบรมราชสมภพ ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสรให้คงอยู่อย่างแต่ก่อนก็ดีหนักหนา ถ้าไปทำพิธีที่วังของท่านดูเป็นงานส่วนพระองค์ทำเอง ที่ไปทำพิธี ณ พระที่นั่งนงคราญฯ เป็นการบูชาของพระราชวงศ์ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นประมุขเป็นพระเกียรติยศงดงาม ที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงบำเพ็ญพระกุศลหน้าพระศพ สนองพระคุณสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็เป็นการน่าชมเหมือนกัน

ที่พระสงฆ์ตกลงเอาคาถาถวายพร ในนวัคคหายุสมธรรมมาใช้แทนอติเรกนั้น หม่อมฉันเห็นชอบอนุโมทนาด้วยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคำสวดที่เคยใช้แทนอติเรกมาแต่ก่อนไม่ใคร่จะเข้าที สัพพพุทธาเป็นแต่คำสำหรับให้พรคนทั้งหลาย เป็นสาธารณะทั่วไป โสอัตถลัทโธ ก็ใช้ให้พรแก่พุทธศาสนิกชนทุกชั้นบรรดาที่เป็นชาย แต่คาถาจิรันธรตุทีฆายุนี้ ถวายพรเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินสยาม ความสนิทกว่าอติเรกเสียอีก ถึงกระนั้นหม่อมฉันยังเห็นว่าเมื่อถึงเวลาเป็นปกติแล้วควรกลับใช้อติเรกอย่างเดิมต่อไป ด้วยเคยใช้มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุครั้งพระวิสุทธาจารย์ไปเมืองลังกา พระเจ้ากรุงลังกาเสด็จออกมารับถึงนอกพระนคร ในจดหมายเหตุว่า พระวิสุทธาจารย์สวดถวายพรว่า อติเรก วสฺสสตํ ชีวะ ฯ (สมเด็จพระวันรัตแดงท่านบอกว่าคำ ตุ ทูลกระหม่อมทรงเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔)

พระวินิจฉัยของท่านเรื่องวัดโกโรโกโส หม่อมฉันเห็นชอบด้วย ตามกระแสซึ่งเสด็จพระอุปัชฌาย์ตรัสเล่าดูก็ไม่ทรงติ เป็นแต่ว่าทรงเห็นเป็นของแปลก ลายปั้นยอดเสาไต้ ณ วัดพระมหาธาตุเมืองชเลียงนั้น หม่อมฉันได้เคยสังเกตแล้ว แต่ลายปั้นที่ฝาผนังวัดไลเมืองลพบุรี หม่อมฉันเห็นแต่ทำเป็นช่องดังตรัสมา แต่ไม่เคยสังเกตว่าทำเป็นลายต่าง ๆกัน ขอทูลเพิ่มอุทาหรณ์ถวายอีกแห่งหนึ่ง คือใบเสมาพระอุโบสถวัดมหาธาตุเมืองเพชรบุรี ก็จำหลักลายแปลกๆกันเช่นนั้น เสียดายแต่ไม่รู้ว่าวัดโกโรโกโสอยู่ที่ไหน หม่อมฉันเคยให้พระยาโบราณราชธานินทรค้นก็ไม่พบ คงหักพังเสียหมดแล้ว

เรื่องพระเจดีย์พุทธคยา ซึ่งทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์นั้น หม่อมฉันพอจะทูลอธิบายได้ เพราะได้ค้นเรื่องตำนานพระเจดีย์องค์นั้น เมื่อแต่งหนังสือ “เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพม่า” พบในหนังสือพงศาวดารสถาปนะ History of Architecture ซึ่งเซอร์ เจมส เฟอคัสสันแต่งในเล่ม ๓ มีอธิบาย Indian and Eastern Architecture กล่าวถึงพระเจดีย์พุทธคยาด้วย ว่าเดิมพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างรั้วศิลารอบบริเวณพระศรีมหาโพธิ์ ในบริเวณนั้นทางด้านตะวันออกต่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ออกมา สร้างบัลลังก์ศิลาแผ่น ๑ เรียกว่า “วชิรอาสน์” (พบในหนังสือประวัติหลวงจีนฮ่วนเจียง Life of Hiuen Tsiang อาจารย์บีล Beal แต่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอาสน์นี้ว่าประทับ “วชิรสมาธิ” Vajira Samadhi เห็นจะเป็นมูลที่เราเรียกว่า “ขัดสมาธเพชร” นั่นเอง (หมายความว่าพระพุทธองค์ทรงสมาธิเหนือวชิรอาสน์) กับวิหารน้อยหลัง ๑ (จะสร้างต่อหรือสร้างครอบวชิรอาสน์ไม่ทราบแน่ แต่ภายหลังมากรมตรวจโบราณ ขุดพบรากวิหารนั้นกับพบยอดหลักศิลาจารึกด้วยหลัก ๑) ว่าตามพิเคราะห์แบบอย่างเป็นของสร้างครั้งพระเจ้าอโศกมีเพียง ๓ สิ่งเท่านั้น ในหนังสืออภิธานอินเดีย Imperial Gazetteer of India ว่าต่อเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดียต่อสมัยพระเจ้าอโศกมา จึงมีผู้เลื่อมใสศรัทธาไปสร้างสังฆารามและวัตถุสถานต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก จนที่มหาโพธิ์สถานเป็นวัดใหญ่โต แต่พิเคราะห์แบบอย่างวัตถุต่างๆ เช่นสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นต้น เห็นได้ว่าเป็นของสร้างภายหลังสมัยพระเจ้าอโศก มาจนราว พ.ศ. ๑๗๐๐ (ตรงกับสมัยที่พม่าไปปฏิสังขรณ์ ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)

“ในหนังสือที่เซอร์เจมสเฟอคัสสันแต่ง เล่าเรื่องตำนานองค์พระเจดีย์พุทธคยาว่า เมื่อในระหว่าง พ.ศ. ๑๐๓๘ จน พ.ศ. ๑๐๗๓ (ในเวลานั้นวิหารที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้แต่เดิมหักพังไปแล้ว) มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่ออมรเทวะ เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ซึ่งครองอาณาเขตมัลกะ Malwa อ้างว่าพระมเหศวรมาดลใจสั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ณ มหาโพธิสถานที่พุทธคยา (น่าสันนิษฐานว่าที่จริงเพราะเข้ารีตเลื่อมใสพระพุทธศาสนา) จึงมาสร้างพระเจดีย์ขึ้นตรงที่สร้างวิหารของพระเจ้าอโศก พระเจดีย์นั้นฐานเป็นจตุรัสขนาด ๖๐ ฟุต สูง ๒๐ ฟุต ตรงกลางรวงเป็นคูหาวิหารตั้งพระพุทธรูปเป็นพระประธานไว้ข้างด้านใน บนหลังฐานทำเป็นชลา บนชลาตรงกลางสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูง ๑๖๐ ฟุต มีพระเจดีย์ขนาดน้อยสร้างที่มุมฐานอีก ๔ องค์ เซอร์เจมส์เฟอคัสสันว่าพระเจดีย์ในพระพุทธศาสนา บรรดามีที่อื่นๆ ในอินเดียทำรูปเป็นพระสถูปทั้งนั้น ที่สร้างองค์พระเจดีย์เปนรูปปรางค์ทำพระสถูปเป็นยอดมีแต่ที่พุทธคยาองค์เดียวเท่านั้น หามีที่อื่นอีกไม่ ดูเหมือนเซอร์เจมสเฟอคัสสันจะหมายความว่า เพราะผู้สร้างถือศาสนาพราหมณ์ แต่ที่จริงน่าจะเป็นด้วยน้ำใจรักแบบพระปรางค์ทางไสยศาสตร์ จึงแก้รูปทรงพระเจดีย์ให้เป็นคล้ายกับปรางค์ ถ้าถือศาสนาไสยศาสตร์คงไม่สร้างพระสถูปเป็นยอด

เรื่องพม่าไปปฏิสังขรณ์พระเจดีย์พุทธคยานั้น พบในหนังสือพงศาวดารเมืองพม่า History of Burma ฉบับมิสเตอร ฮาเว Harvay แต่ง ว่าในสมัยเมื่อเมืองพุกามเป็นราชธานี พระเจ้าครรชิตซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๒๗ จน พ.ศ. ๑๖๕๕ ได้ตรัสสั่งให้ไปปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่พุทธคยาเป็นครั้งแรก และต่อมาในรัชกาลพระเจ้าอลองคสิทธุ ซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๕๕ จน พ.ศ. ๑๗๑๑ ให้ไปปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่พุทธคยาเป็นครั้งที่ ๒ พิเคราะห์ดูศักราชรัชกาลที่ให้ไปปฏิสังขรณ์ ครั้งแรกกับครั้งที่ ๒ ใกล้ๆ กัน ส่อให้เห็นว่าการปฏิสังขรณ์ครั้งพระเจ้าครรชิตจะค้างอยู่ พระเจ้าอลองคสิทธุได้รับรัชทายาท จึงให้ไปปฏิสังขรณ์ต่อจนสำเร็จ

ถึงรัชกาลพระเจ้าติโลมินโล ซึ่งเสวยราชย์ ณ เมืองพุกามแต่ พ.ศ. ๑๗๕๓ จน พ.ศ. ๑๗๗๗ ให้จำลองแบบพระเจดีย์ที่พุทธคยามาสร้างขึ้นที่เมืองพุกาม ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้

ต่อมาถึงสมัย (ท้ายเรื่องราชาธิราช) เมื่อเมืองพม่ากับเมืองมอญเป็นอิสระแก่กัน ปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ (มหาปิฎกธร) ให้ช่างไปจำลองพระเจดีย์ที่พุทธคยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๕ ว่าจะเอามาสร้างที่เมืองหงสาวดี แต่คงไม่ได้สร้างจึงไม่ปรากฏว่ามีที่นั่น

ต่อมา ถึงสมัยราชวงศ์อลองพระครองเมืองพม่ารวมกันกับเมืองมอญ ปรากฏว่าพระเจ้าปะดุงแต่งข้าหลวงไปจำลองพระเจดีย์ที่เมืองพุทธคยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ อีกครั้งหนึ่ง (เห็นจะคิดสร้างที่เมืองอมรบุระ แต่ไม่ได้สร้างเพราะไม่มีปรากฏ) และต่อมาพระเจ้าปะดุงได้แต่งข้าหลวงไปอินเดียอีกหลายครั้ง อ้างว่าจะให้เชิญเครื่องสักการะไปเที่ยวบูชาพุทธเจดีย์ที่ต่างๆ กับให้ไปหาพระพุทธรูปและพระไตรปิฎก แต่แรกรัฐบาลอังกฤษก็รับรองเกื้อหนุนข้าหลวงพม่า แต่ทีหลังได้ความว่า ข้าหลวงของพระเจ้าปะดุงไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าประเทศราชในอินเดียจะให้ช่วยพม่ารบอังกฤษ ๆ ก็ขัดใจ สั่งให้ข้าหลวงรีบกลับและไม่ยอมให้ข้าหลวงพม่าไปอินเดียอีก ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าปะดุงได้ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่พุทธคยา

พบในหนังสืออื่นอีกแห่งหนึ่ง (แต่ในเวลานี้นึกชื่อหนังสือไม่ออก) ว่าพระเจ้ามินดงซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๙๙ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔) จน พ.ศ. ๒๔๒๑ (ตรงกับสมัยในรัชกาลที่ ๕) ได้แต่งให้ข้าหลวงไปทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์พุทธคยาอีกครั้งหนึ่ง การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ กรมตรวจโบราณคดีอังกฤษว่ากลับไปทำให้เสียหาย เพราะข้าหลวงพม่าไปรื้อของโบราณซึ่งยังเหลืออยู่ในบริเวณพระเจดีย์และขนเครื่องศิลาต่างๆเอาไปทิ้งเสียที่อื่น ด้วยเห็นว่าเป็นของหักพังไม่มีค่า ถึงองค์พระเจดีย์ก็เห็นจะซ่อมแซมอย่างสะเพร่าเอาแต่พอแล้ว จึงปรากฏว่าต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๒๐ รัฐบาลอินเดีย เมื่อ เซอร์ แอชลี เอเดน เป็นเจ้าเมืองเบงคอล ให้ปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์พุทธคยาอีกครั้งหนึ่ง สิ้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ รูปี (สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะรู้สึกความผิดที่ได้อนุญาตให้พม่าไปทำเสียหาย) การที่รัฐบาลอินเดียปฏิสังขรณ์พระเจดีย์พุทธคยา ทำโดยประณีตและแก้ไขให้กลับเหมือนอย่างเดิม ดังปรากฏอยู่ในรูปฉายชั้นหลังนี้

คราวนี้จะทูลบรรยายความ ตามที่หม่อมฉันได้รู้เห็นด้วยตนเอง แต่จะต้องเล่าเรื่องประวัติตำบลพุทธคยาเสียก่อน เมื่ออินเดียตกเป็นของอังกฤษ ที่ตำบลพุทธคยาเป็นป่าร้างว่างเปล่า มีพราหมณ์พวกถือลัทธิวิษณุเวทพวกหนึ่งไปตั้งทำมาหากินอยู่ที่ตำบลนั้น ตัวหัวหน้าเรียกว่า “มหันต” (Mahant) ปกครองสืบสกุลกันมา คนทั้งหลายจึงมักเรียกพราหมณ์พวกนี้ว่า “พวกมหันต” มีจำนวนสักสี่ห้าร้อยคน เมื่อตั้งภูมิลำเนาเป็นปึกแผ่นแล้ว รัฐบาลจึงให้สิทธิถือที่ดินตำบลพุทธคยาแก่พวกพราหมณ์มหันต วัดพุทธคยาอยู่ในเขตที่ดิน ซึ่งพวกมหันตได้รับสิทธิก็ตกไปเป็นของพราหมณ์พวกนั้น พวกมหันตเห็นว่าวัดพุทธคยาเป็นวัดร้างและเป็นวัดศาสนาอื่น มีเครื่องศิลาของโบราณทิ้งอยู่ในวัดมาก ชอบใจสิ่งใดก็รื้อขนเอาไปใช้เป็นเครื่องประดับบ้านเรือน และใช้เป็นเครื่องหมายที่ฝังศพ แม้จนรั้วศิลาของพระเจ้าอโศกก็รื้อเอาไปหมด ไม่เบียดเบียนแต่องค์เจดีย์กับสิ่งสำคัญเช่นวชิรอาสน์ เป็นต้น

เมื่อหม่อมฉันไปยุโรป พ.ศ. ๒๔๓๔ ขากลับผ่านมาในอินเดีย ได้มาถึงพุทธคยา มหาพราหมณ์มหันตจัดการรับรองอย่างใหญ่ตามกำลัง เชิญไปเลี้ยงที่เรือนและพาเที่ยวดูตลอดทั้งเขตวัดพุทธคยา เวลานั้นองค์พระเจดีย์รัฐบาลปฏิสังขรณ์ดีแล้ว พ้นองค์พระเจดีย์ออกมาเป็นลานวัด กว้างสัก ๑๐ วา ต่อขอบลานออกไปยังเป็นกองดินพะเนินเทินทึกสูงสัก ๘ ศอกอยู่รอบข้าง ซุ้มประตูศิลาและพระเจดีย์ขนาดน้อยๆ ที่ตั้งไว้ในลาน ดังมีในรูปฉาย เมื่อหม่อมฉันไปไม่เห็นมีเพราะยังจมอยู่ในกองดินทั้งนั้น หม่อมฉันไปครั้งนั้นเห็นแต่เครื่องศิลาของโบราณ ที่พวกมหันตรื้อเอาไปประดับไว้ที่อื่น นึกอยากได้มาบ้าง ลองทาบทาม มหาพราหมณ์มหันตก็อนุญาตว่า ถ้าหม่อมฉันชอบใจศิลาจำหลักชิ้นไหนก็ให้เลือกเอาตามชอบใจ เป็นเหตุให้ได้เครื่องศิลาโบราณขนาดพอจะยกขนเอามาได้ เช่นรอยพระพุทธบาท (ที่อยู่เกาะสีชัง) กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปของโบราณ (ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานบัดนี้) มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหลายชิ้น แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรนั้น เจ้าเมืองคยาชื่อเครียสัน (เดี๋ยวนี้เป็นเซอร์และเป็นนักปราชญ์โบราณคดีคนหนึ่ง) เขาให้มา ต่อภายหลังหม่อมฉันไปอินเดีย ครั้งนั้นรัฐบาลอินเดียจึงให้กรมตรวจโบราณคดีไปบูรณะวัดพุทธคยาโดยทางวิทยาศาสตร์ ขุดกองดินลงจนถึงพื้นเดิมและเก็บรวบรวมเครื่องศิลาทั้งที่จมดินอยู่และที่พวกพราหมณ์เอาไปประดับไว้ตามที่ต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เอากลับตั้งในวัดพุทธคยาตามเดิม นัยว่าเดี๋ยวนี้ทำได้เพียงสักหนึ่งในสามส่วนของบริเวณวัด แต่ยังขุดค้นอยู่เสมอ

สมุดว่าด้วยพุทธเจดียสถานต่างๆ ในอินเดีย ที่พระสาธุศีลสังวรถวายท่านนั้น เห็นจะเป็นอย่างเดียวกันกับที่ชาวลังกาในปีนังนี้เขาให้หม่อมฉันเล่มหนึ่งเรียกว่า Buddhist Places of Pilgrimage อ่านแล้วออกอยากไป แต่ที่พระสาธุศีลสังวรทูลว่าพระเจดีย์ที่พุทธคยา (เดิม) ก่อด้วยศิลา พม่าไปต่อด้วยก่ออิฐนั้น หม่อมฉันสงสัยว่าจะหลงเอาพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่มฤคทายวัน ซึ่งเรียกว่า “ธรรมเมกเจดีย์” มาทูล ในสมุดนั้นเองก็ว่าพระเจดีย์ที่พุทธคยาก่อด้วยหินถือปูน เมื่อหม่อมฉันไปก็เห็นถือปูนตั้งแต่ฐานขึ้นไปจนยอด แต่จะก่อด้วยหินหรืออิฐไม่ได้พิจารณา เรื่องเนื่องด้วยพุทธคยาที่น่าเล่ายังมีอีก หม่อมฉันจะทูลในจดหมายฉบับหน้าต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ