วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม กับหนังสือประกวดสำหรับวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๘๐ ขอบพระเดชพระคุณเป็นอันมาก มีความที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับนี้ ๒ ข้อ จะทูลเสียก่อนคือพระนามเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นว่า “นาก” แต่หนังสือวิสาขบูชาที่ประทานมานั้นยังไม่ได้อ่าน ที่ท่านจะเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปชวา ณ วันที่ ๘ มิถุนายนนั้น หม่อมฉันมีความยินดีขออำนวยพรถวายทั้งพระองค์ท่านกับทั้งผู้ที่ไปตามเสด็จ ให้ไปดีมา (ปีนัง) ดี ปราศจากความขัดข้องไข้เจ็บจงทุกประการเทอญ และจะงดเขียนหนังสือเวรชั่วคราวตามรับสั่ง สำหรับจดหมายเวรสำหรับสัปดาหะนี้ มีเรื่องคั่งค้างที่ผัดไว้ กับทั้งเรื่องปลีกในจำพวกที่เคยทูลบรรเลงบางเรื่อง จะทูลโดยลำดับกันต่อไป

หลายสัปดาหะมาแล้วท่านประทานรูปฉายจำลองภาพราชาภิเษกอย่างโบราณในอินเดีย ซึ่งมีในหนังสือพิมพ์ Illustrated Weekly of India (ฉบับออกเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๗) มาให้หม่อมฉันดู หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ว่าหนังสือพิมพ์อย่างนั้นมีในหอสมุดเมืองปีนัง หม่อมฉันจะลองค้นดู บางทีจะมีคำอธิบายรายการพิธีประกอบกับรูปภาพ ถ้ามีอย่างไรจะทูลให้ทรงทราบนั้น หม่อมฉันไปวานพนักงานหอสมุดให้ช่วยค้น เขาเพิ่งค้นพบส่งมาให้เมื่อสองสามวันนี้ ตรวจดูก็มีคำอธิบายดังคาด ผู้แต่งชื่อ Adrian Duarte จะเป็นฝรั่งหรือชาวอินเดียไม่ทราบชัด แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์อ้างว่าเป็นนักเรียนพงศาวดารอินเดียที่มีชื่อเสียงคน ๑ เมื่ออ่านดูรายการตลอดแล้วเห็นประหลาดน่าพิศวง หม่อมฉันจึงเก็บเนื้อความแปลกถวายมา

ในคำนำเบื้องต้น เขาว่าประเพณีของพวกอารยันชั้นเดิมนั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินว่างลง พวกหัวหน้าชาวเมืองทั้ง ๔ “วรรณ” คือ พราหมณ์ กษัตริย์ เวศ ศูทร ประชุมกันเลือกผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การที่รับรัชทายาทโดยสืบสันตติวงศ์เป็นประเพณีตั้งขึ้นต่อสมัยฮินดู เมื่อพวกอารยันกับชาวอินเดียเดิมรวมกันแล้ว ข้อที่ว่าเลือกพระเจ้าแผ่นดินก็ประหลาดที่พ้องกับประเพณีไทย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว มีการประชุมเลือกพระเจ้าแผ่นดินใหม่ ดังปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แต่รัชกาลที่ ๒ สงสัยอยู่ เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระมหาอุปราชอยู่แล้ว มาเลิกการเลือกเมื่อรัชกาลที่ ๖ ด้วยถือว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นรัชทายาทอยู่แล้ว

เมื่อตกลงกันเลือกผู้ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงทำพิธี ”ราชสุยา” Rajasuya อันประกอบด้วยการ ๓ อย่าง คือ “อภิเศก” Abhisheka หรือเรียกอีกอย่างว่า “อินทร” Indra (น่าจะเป็นคำต้นของอินทราภิเษก) อย่าง ๑ “กระทำสัตย์” (ในหนังสือพิมพ์เรียกเป็นภาษาอังกฤษแต่ว่า) Oath อย่าง ๑ ถวายราชสมบัติ (เรียกเป็นคำภาษาอังกฤษว่า) Investiture อย่าง ๑ และว่าการพิธีราชสุยานั้นย่อมทำในร่ม คือในราชมณเฑียร Palace Room หรือมิฉะนั้นก็ทำในท้องพระโรง Assembly Room ไม่ทำกลางหาว ข้อนี้ก็ตรงกับของไทย ในห้องที่ทำพิธีนั้น ตรงกลางข้างด้านในตั้งราชสีหาสน์ เรียกว่า Singasan อันทำด้วยไม้ พื้นลาดด้วยพรมขนสัตว์ Fur อย่างละเอียดอ่อน แล้วปูหน้าราชสีห์ทับข้างบน ข้อนี้ก็ตรงกับของไทย ราชสีหาสน์นั้นมีพนักที่วางพระกรจำหลักเป็นรูปหัวราชสีห์ทั้ง ๒ ข้าง ตั้งบนบัลลังก์อันมีบันได ๓ ขั้นเป็นทางขึ้น ตรงหน้าบัลลังก์ตั้งราชสีหาสน์ออกมาข้าง ๑ ตั้งกูนทิ์ Kundi (รูปเป็นอย่างแม่เตาไฟ) มีปุโรหิตกับฐานานุกรมอยู่ประจำ อีกข้าง ๑ ตั้งตั่งไม้ (มะเดื่อ) ทำอย่างเกลี้ยงๆ เป็นที่พระราชาองค์ใหม่ประทับสรงอภิเษก ต่อออกไปเป็นที่พวกหัวหน้าชาวเมือง ๔ วรรณนั่งประชุม มีทั้งชายและหญิงนั่งเรียงกันวงไปทางด้านหน้า สันฐานเหมือนอย่างพระจันทร์ครึ่งซีก

เมื่อถึงเวลาฤกษ์ดี ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงผ้าขาว (เครื่องถอด) มานั่งขัดสมาธิที่บนตั่ง ขณะนั้นพราหมณ์ยังอัธวริยุ Adh Variyu ก็ราดเนย Ghee ก่อเพลิงกองกูนทิ์ โหตร Hotra (ชื่อคล้ายกับโหร) ร่ายมนต์ ปุโรหิต บูชายันตรด้วยโหมะ Homa แล้วประกาศขอพรเทพเจ้าทั้งหลาย พอประกาศจบหัวหน้าคน ๔ วรรณ ซึ่งเป็นผู้ได้รับสมมตวรรณละคน ๑ ก็พากันเข้าไปรดน้ำอภิเษกโสรจสรงเจ้าแผ่นดิน น้ำอภิเษกนั้นต้องตักน้ำแต่ที่ต่าง ๆ มาระคนกัน คือน้ำในมหาสมุทร Ocean น้ำในทะเล Sea น้ำในชาติสระ Lake และน้ำในลำธาร Mountain Stream น้ำสรงราชาภิเษกของไทยก็เลือกตักมาแต่ที่ต่างๆ อันเป็นมงคล

เมื่อเสร็จสรงราชาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินทรงราชาภรณ์คืออุณหิศ Diadem ภูษาไหม และห่มผ้ารัตกำพล Crimson Mantle แล้วเสด็จขึ้นบัลลังก์ยืนอยู่บนหนังสือซึ่งปูไว้ข้างหน้าราชสีหาสน์ ขณะนั้นปุโรหิตประกาศ (พระนาม) และเจ้าแผ่นดินทรงกระทำสัตย์สาบานที่จะปกครองบ้านเมืองโดยธรรม แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ พวกพระครูพราหมณ์ถวายน้ำมนต์และสวดถวายพร แล้วถวายราชสมบัติ (การถวายน้ำมนต์ ถวายพร และถวายราชสมบัติ ผู้แต่งเรื่องลงพิมพ์ว่าถวายเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จยืนอยู่หน้าราชสีหาสน์ เมื่อขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ตอนนี้ไม่มีว่าทำอะไร จึงเห็นว่าผิด ที่ถูกนั้นต้องประทับราชสีหาสน์ก่อนจึงถวายน้ำมนต์ ถวายพร และถวายราชสมบัติ)

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินรับราชสมบัติแล้ว เสด็จลงจากราชสีหาสน์ ออกไปข้างหน้าขึ้นทรงรถ แห่ไปในบริเวณราชวัง (พึงสันนิษฐานว่า เพื่อให้คนอยู่นอกมณฑลพิธีเห็นพระองค์ เป็นมูลของเลียบพระนคร) แล้วเสด็จกลับเข้าไปประทับราชสีหาสน์อีกครั้งหนึ่ง (อาจจะเป็นเวลาอื่น) คราวนี้มีพราหมณ์ ๕ คนแต่งมฤคจัมขัน Clod in Deer Skins เข้าไปถวายบังคม เจ้าแผ่นดินตรัสทักว่า “ดูกรพราหมณ์” O Brahmana พราหมณ์เหล่านั้นทูลตอบเรียงตัวว่า “พระองค์ก็เป็นพราหมณ์ “You are also Brahmana, O King (น่าจะเป็นมูลที่พราหมณ์ถวายสายธุรำในพิธีราชาภิเษกของไทย) ต่อนั้นพวกรัฐมนตรีและบุคคลทั้ง ๔ วรรณ (ที่อยู่ในโรงราชพิธี) พากันเข้าไปถวายบังคมทีละพวก ๆ จนหมด (เข้ารูปกับเสด็จออกท้องพระโรงตามประเพณีไทย) เป็นสิ้นกระบวนพิธีราชาภิเษกอย่างอารยันเพียงเท่านี้ ผู้แต่งกล่าวว่าการอื่นๆ ที่ทำในพิธีราชาภิเษกนอกจากที่พรรรณนามา เพิ่มขึ้นเมื่อภายหลังทั้งนั้น พิจารณาดูก็ชอบกลหนักหนา ด้วยพิธีราชาภิเษกที่ไทยทำยังมีหลักเดิมอยู่ทุกอย่าง จึงเห็นประหลาดน่าพิศวง

มีเรื่องที่หม่อมฉันทูลผัดไว้อีกเรื่อง ๑ คือที่ตรัสถามถึงหลักการนุ่งขาวนุ่งดำและสีกุหร่าในงานศพนั้น หม่อมฉันคิดใคร่ครวญดูตามที่เคยรู้เห็น เห็นว่าการนุ่งขาวในงานศพน่าจะมีมาก่อนเก่าช้านาน ข้อนี้พึงเห็นด้วยประเพณีนุ่งขาวในงานศพมีทุกประเทศทางตะวันออกนี้ ตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนเมืองจีน เมื่อคิดต่อไปว่าเพราะเหตุใดจึงนุ่งขาว เห็นว่าผ้าขาวเป็นคั่นต้นของเครื่องนุ่งห่มที่ใช้กันในบ้านเมืองเป็นสามัญ คือเอาฝ้ายอันธรรมชาติเป็นสีขาวมาปั่นทอเป็นผืนผ้า จึงเป็นสีขาวใช้นุ่งห่มกันเป็นปกติ การนุ่งห่มด้วยสิ่งอื่น เช่นใบไม้ก็ดี คากรองก็ดี เป็นของมีมาก่อนรู้จักทอผ้า เป็นแต่คงนุ่งอยู่ตามแบบเดิม ที่นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดก็เพื่อรักษาให้ผ้าทนทาน เพราะอัตคัดผ้าขาวนุ่งห่ม ต่อบุคคลที่มั่งมีศรีสุขหาผ้าขาวได้ง่าย ปรารถนาจะแต่งตัวให้สวยงามกว่าเพื่อน จึงคิดทำผ้านุ่งห่มย้อมสีสรรเขียนลวดลายต่างๆ เสมออย่างเป็นเครื่องประดับ ตลอดจนตัดทำเสื้อแสงปักลวดลายก็เพื่อให้สวยงามอย่างเป็นเครื่องประดับในทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่นุ่งขาวในงานศพมูลน่าจะมางดเครื่องประดับ ไม่แต่งในเวลามีทุกข์โศก คงแต่ผ้าขาวที่นุ่งห่ม นอกจากไว้ทุกข์ยังมีกรณีอื่นอีกหลายอย่างที่นุ่งขาวห่มขาว แต่พิเคราะห์ดูก็อยู่ในการงดเครื่องประดับทั้งนั้น จึงเห็นว่าการงดเว้นเครื่องประดับ เป็นมูลของการนุ่งขาว ที่ทูลนี้อาจจะเป็นความเห็นอย่างฟุ้งซ่าน เมื่อคิดขึ้นก็ทูลตามความคิดเห็น

อนึ่ง การนุ่งขาวในงานศพ น่าสันนิษฐานว่าแต่เดิมเห็นจะนุ่งหมดทั้งครัวเรือน ตั้งแต่พ่อแม่พี่น้องจนบ่าวไพร่ของผู้ตาย แต่ต่อมาจะเป็นเพราะเหตุใดยังคิดไม่เห็น จึงกำหนดให้นุ่งขาวแต่ญาติที่อายุอ่อนกว่าผู้ตายกับบ่าวไพร่ ถึงกระนั้นถ้าผู้ใหญ่ในสกุลจะนุ่งขาวก็นุ่งได้ตามใจสมัคร มีตัวอย่างในเมืองพม่าปรากฏว่าพระเจ้ามินดงทรงขาวในงานพระศพอัครมเหสีด้วยความอาลัย แล้วเลยทรงขาวไว้ทุกข์ต่อมาจนตลอดพระชนมายุ ในเมืองไทยนี้ก็มีตัวอย่างปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่าเมื่องานพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพใน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระภูษาลายพื้นขาวทุกวัน ดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้” เรื่องที่กล่าวมานี้ส่อให้เห็นว่าประเพณีในสมัยนั้น การนุ่งขาวในงานศพ ไม่นุ่งแต่เฉพาะผู้ที่อ่อนกว่าผู้ตาย อย่างเช่นถือกันในปัจจุบันนี้ และมีปัญหาน่าคิดต่อไปด้วยว่า หากมิใช่งานศพเจ้านาย ซึ่งทรงเสน่หาเท่าเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพจะทรงพระภูษาสีอะไร ข้อนี้มีเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในสมัยเมื่อผู้หญิงยังไม่แต่งดำในงานศพ ผู้หญิงที่ญาติชั้นผู้ใหญ่ย่อมนุ่งผ้าลายพื้นม่วง ผู้หญิงที่มิใช่ญาตินุ่งผ้าลายสีน้ำเงิน ห่มแพรสีขาวทั้ง ๒ พวก ส่อให้เห็นว่าในงานศพสมัยรัชกาลที่ ๑ ญาติผู้ชายชั้นเป็นผู้ใหญ่ก็เห็นจะนุ่งผ้าสีม่วงหรือสีอื่น ที่ไม่ฉูดฉาดและคาดพุงสีขาว ใช้ประเพณีเช่นนั้นมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเรื่องเครื่องแต่งตัว เริ่มด้วยให้ใส่เสื้อในการงาน ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นในสมัยนี้ ว่าในงานศพควรจะใส่เสื้อสีใด พวกชั้นที่นุ่งขาวต้องใส่เสื้อขาวอยู่เอง ไม่มีปัญหา เป็นปัญหาแต่ญาติชั้นผู้ใหญ่ที่นุ่งผ้าสีม่วงจะใส่เสื้อสีใด จึงบัญญัติให้ใส่เสื้อแพรสีกุหร่า ด้วยสีหม่นใกล้กับสีม่วง ที่ทูลมานี้เป็นอธิบายตามคาดคะเน ด้วยเมื่อแต่งสีกุหร่ากันในรัชกาลที่ ๔ หม่อมฉันยังเด็กนักจำไม่ได้ แต่มีกรณีที่ได้เห็นเค้าเงื่อนครั้งหนึ่งเมื่องานพระเมรุสมเด็จพระนางสุนันทา ในรัชกาลที่ ๕ ในสมัยนั้นเจ้านายใช้ประเพณีทรงดำทรงขาวตามชั้นพระชันษาอยู่แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงปรารภถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าราชนิกุล จะให้แต่งตัวอย่างเจ้าก็ไม่เข้าระเบียบ จะให้แต่งตัวอย่างขุนนางสามัญ ซึ่งนุ่งสมปักลายใส่เสื้อขาว (หรือเยียรบับหม่อมฉันจำไม่ได้แน่) ก็ทรงเกรงใจ ดูเหมือนจะทรงปรึกษาเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เอาแบบแต่งสีกุหร่าอย่างแต่ก่อนมาใช้ มีรับสั่งให้ใส่เสื้อสีแก่ใกล้กับสีดำ หม่อมฉันได้เห็นนุ่งสมปักลาย (ดูเหมือนสีม่วง) ใส่เสื้อแพรสีน้ำตาลนั่งที่หน้าพลับพลาทุกวัน

การที่แต่งสีดำในงานศพนั้น เอาแบบมาจากฝรั่งเป็นแน่ แต่จะเริ่มใช้เมื่อใดนี้สงสัยนัก ดูน่าจะเริ่มใช้แต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ แต่นึกไม่ได้เลยว่าเคยเห็นหรือรู้ว่าใครแต่งในรัชกาลนั้น เห็นแต่ในหนังสือพิมพ์ (จะเป็นบางกอก คาเลนดาร์ ของหมอบรัดเล หรือสยามเรโปสิตอรีของหมอสมิธจำไม่ได้) พรรณนางานพระศพพระองค์เจ้าอิศรวงศวรราชกุมารลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระราชทานเพลิง ณ วัดบวรนิเวศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ว่า “ไทยเริ่มแต่งดำอย่างฝรั่งในงานนั้น” แต่หม่อมฉันสงสัยว่าอาจจะแต่งในงานอื่นมาแล้ว เจ้าของหนังสือเพิ่งเห็นในงานนั้นก็เป็นได้

เรื่องปลีกที่จะทูลนั้น คือได้เห็นในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงล้อนายกุหลาบเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระยาอนุมานเขาตัดสำเนาส่งมาถามหม่อมฉันถึงมูลเหตุ ในพระราชนิพนธ์นั้นว่าทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริให้เพิ่มระบายพระกลดเครื่องต้นเป็น ๓ ชั้น

อีกเรื่องหนึ่งมีแขกชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อ Rao คนที่เข้าไปแสดงปาฐกถาที่สยามสมาคม ไปได้ยินประวัติของหม่อมฉันจากพราหมณ์ศาสตรีที่หอพระสมุด กลับมาถึงปีนังก็มีจดหมายมาขอพบ หม่อมฉันจึงนัดให้มาหา เมื่อสนทนากันดูเป็นคนเรียบร้อยคือไม่ทลึ่ง เป็นต้น และเป็นคนได้เล่าเรียนมากสมควรแก่อายุของเขา เรื่องที่สนทนากัน หม่อมฉันเลี่ยงเรื่องเมืองไทยเสีย ด้วยว่ามาอยู่ต่างประเทศเสียหลายปีแล้ว ไม่รู้อะไรที่เป็นแก่นสาร เลยไปสนทนากันเรื่องอินเดียเป็นพื้น ที่ปลาดนั้นเมื่อเขาจะลาไปยืนขึ้นประนมมือขอพรหม่อมฉันว่า Please give me blessing หม่อมฉันก็ให้พรตามธรรมเนียม มานึกว่าเห็นจะเป็นประเพณีเก่าของชาวอินเดีย ซึ่งแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ที่นับถือ แต่หม่อมฉันเพิ่งเคยเห็นจึงทูลมาให้ทรงทราบ

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อสัปดาหะก่อน บริษัทโคมองต์ เขาส่งหนังฉายรูปงานราชาภิเษกพระเจ้ายอชที่ ๖ มาทางอากาศยาน เอามาฉายที่ปีนัง หนังนั้นทำได้ดีอย่างอัศจรรย์น่าดูนัก แต่หม่อมฉันเกรงว่าท่านจะไม่ได้ทอดพระเนตร เพราะจะไปฉายในกรุงเทพฯ ในเวลาท่านเสด็จไปชวา แต่ถ้ามีโอกาสขออย่าทรงเว้น

อีกเรื่องหนึ่งหม่อมฉันกำลังเตรียมรับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งจะมาถึงปีนัง วันที่ ๒๑ ตรงกับวันเกิดของหม่อมฉันปีนี้ ทำให้หม่อมฉันรู้สึกปีติปราโมทย์หนักหนา

ที่หม่อมฉันส่งหนังสือพิมพ์ Illustrated London News ไปถวายท่านอีกฉบับหนึ่งนั้น ในฉบับหลังนี้มีแผนผังทำพิธีราชาภิเษกในวิหารดีกว่าเคยเห็นที่อื่น นึกว่าท่านทอดพระเนตรคงจะเข้าพระทัยได้ เรื่องดีขึ้นอีกมากแต่มิได้เขียนจดหมายนำ เพราะได้พบคนที่เขารับจะเอาไปต่อคำเสียแล้ว เขาจะไปในรุ่งเช้าเลยเขียนไม่ทัน

จดหมายฉบับนี้ คงไปถึงในเวลาท่านเตรียมพระองค์จะเสด็จไปชวา มาตรัสตอบด้วยพระโอษฐที่ปีนังก็ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ