วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ได้รับแล้ว

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาแบ่งส่วนพระกุศลในการทรงฉลองพระแอ๊วประทาน เป็นเหตุให้มีใจเบิกบาน อนุโมทนาในพระกุศลนั้นด้วยเป็นอันมาก แน่ใจว่าฝ่าพระบาทจะทรงเบิกบานพระทัย กับญาติทั้งหลายจะต้องมีใจชุ่มชื่นทั่วกัน

เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ พระงั่วทอดกฐินของตนที่วัดกันมาตุยาราม พี่น้องพากันไปช่วย แล้วกลับมาโจษกันเรื่องพระเจดีย์ที่วัดนั้น ว่าทำรูปเป็นอะไรพิลึก ต่างไม่เข้าใจด้วยกันทั้งนั้น เกล้ากระหม่อมต้องรับหน้าที่อธิบายไปแกนๆ ว่าพระเจดีย์องค์นั้น เป็นของตั้งใจดีว่าจะทำอย่างพระเจดีย์อิสิปัตตนมฤคทายวัน ที่ระลึกปางเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสปฐมเทศนา แต่ดูถ่ายอย่างจากรูปฉายเล็กๆ ซึ่งเห็นถนัดไม่ได้ แท้จริงไปถ่ายเอาพระเจดีย์พังเข้า ด้วยพระเจดีย์องค์นั้นยังดีแต่ตอนล่าง ส่วนตอนบนตรงที่คอดขึ้นไปนั้นพังเสียแล้ว เหลือแต่แกน เหมือนกับจันดิกาละสันที่เมืองยกยา เมื่ออธิบายดังนั้นลูกๆ ก็เข้าใจ แต่พระเจดีย์องค์นั้น มีข้อพิสดารอย่างไรซึ่งฝ่าบาททรงทราบบ้างแล้ว หากทรงพระเมตตาโปรดบรรยายให้ได้ทราบพิสดารออกไปอีกบ้าง ก็จะเป็นพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า

ได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ว่า มีพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สา) หล่อไว้ก่อนองค์หนึ่งแล้ว ให้นึกประหลาดใจเป็นอันมาก คิดคาดดูเห็นว่าจะเป็นพระรูปองค์ที่พระบาทเก เกล้ากระหม่อมได้ไปเห็นเข้าที่ไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว ทีเป็นที่พระราชวังดุสิต เวลาที่เห็นนั้นเป็นรูปปั้นไว้ด้วยขี้ผึ้ง เตรียมจะหล่อ ดูทีประหนึ่งจะยกมาถวายตัว แต่ไม่ได้เห็นกำลังถวายทอดพระเนตรจะมีพระราชดำรัสประการใดหาทราบไม่ จำได้ว่าน่าเกลียดเต็มที ที่จำได้แม่นนั้นที่พระบาทเกไปไม่ถูกที่เท้าคน ได้สอบสวนไต่ถามว่าใครปั้น ได้ความว่าชื่อนายชอบ เป็นพวกบ้านหล่อ มีฝีมือดี กรมหลวงสรรพสาตรส่งไปชุบตัวที่เมืองนอก ได้ดีกรีเข้ามาหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ทุกคนที่ดูอยู่ด้วยกันเห็นว่าใช้ไม่ได้ทั้งนั้น นึกว่าจะพังทะลายสูญหายไปเสียแล้ว เพิ่งมาได้ทราบว่ามีพระรูปที่หล่อแล้ว ก็จะต้องเป็นหุ่นนั้นแน่ จึงประหลาดใจมากที่ได้หล่อขึ้นจริง ๆ

ใบเรี่ยไรหล่อพระรูปกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น ใบที่เกล้ากระหม่อมได้รับ องค์ชายใหญ่ภาณุพันธุ์เซ็นชื่อมา ได้นึกเหมือนกันว่าจะตอบอย่างไรดี แต่แล้วก็สำนึกตัวว่าเราไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยได้ดีกรีมา จะพูดอะไรไปราคาก็สองไพเบี้ย นิ่งเสียคอยดูเขาไปดีกว่า เขาทำอย่างไรกันก็ทำตามๆ เขาไป พออย่าให้ผิดมนุษย์ม้วยเท่านั้นก็แล้วกัน

พูดถึงทำรูปก็มานึกถึงรูปตัวเกล้ากระหม่อมเอง เมื่อในรัชกาลที่ ๗ มีฝรั่งช่างเขียนเยอรมันคนหนึ่งขอมาเขียนรูป ว่าเป็นช่างเขียนของหนังสือพิมพ์ชื่ออะไรก็ลืมเสียแล้ว ทั้งชื่อตัวฝรั่งช่างเขียนนั้นก็ลืม เกล้ากระหม่อมก็ตกลงให้มาแล้วก็นั่งให้เขาเขียน เขียนเอาไปรูปหนึ่งแล้วนึกศรัทธาขึ้นมาอย่างไรขอมาเขียนอีก เกล้ากระหม่อมก็ตกลง มาเขียนคราวหลังนั้นเลยให้รูปที่เขียนแก่เกล้ากระหม่อม หน้าตาหมุ่ยตุ่ยดีพิลึก แล้วเกล้ากระหม่อมก็เอาเข้ากรอบแขวนฝาไว้ ในกาลวันหนึ่งมีใครคนหนึ่งก็ลืมเสียแล้ว มาเห็นเข้าก็ฉุน พูดว่าเอาไว้ทำไมควรจะเอาไปทิ้งเสีย เกล้ากระหม่อมว่าเอาไว้เป็นรี่ขอดก็ดีไม่เห็นเป็นไร

เมื่อเดือนก่อนก็มีเจ๊กเอารูปเกล้ากระหม่อมเขียนด้วยสีน้ำยามาให้แผ่นหนึ่ง ว่าตัวเป็นลูกแล่งเคียงซุน ตั้งร้านอยูข้างตึกวิมานเนาวรัตน์ ถนนเจริญกรุง ตั้งชื่อยี่ห้อร้านว่าน่ำชั้น รู้ได้ว่าเขียนถ่ายจากรูปฉาย แต่ประหลาดใจที่ว่าได้รูปไปจากไหน สอบสวนได้ความว่าได้ไปจากพระงั่ว ถามพระงั่วให้การว่าไปทำฟันที่ร้านเองหลีซึ่งอยู่ใกล้กันนั้น แต่คนที่ไปทำฟันซึ่งเขาไปก่อนยังแน่น ต้องคอย จึ่งเดินไถลไปเข้าร้านน่ำชั้น ดูรูปที่เขียนติดอวดขาย พอเจ้าของร้านรู้ว่าเป็นลูกกรมพระนริศฯ ก็ติดใจ ตามไปหาจนถึงวัด เอาขนมไปถวายอย่างไทยๆ ถึงสองครั้งแล้วขอรูป พระงั่วก็เอารูปเล็กซึ่งถ่ายสำหรับปิดหนังสือเดินทางคราวไปชวาให้ไป เขาก็ไปเขียนเลียนรูปนั้นเอามาให้ เขียนพอใช้ได้ ดูรู้จักแต่เขียนอย่างละเอียด ผมเป็นเส้นๆ แบบจีน

ได้กราบทูลเรื่องเกวียนมาในหนังสือเวรก่อน แต่ตกความเสียข้อหนึ่ง คือข้อที่มีในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จไปเที่ยวเมืองชวา ตรัสเล่าถึงเกวียนของเขามีไม้ขรแขวนข้างหลังเป็นเครื่องห้ามล้อ ได้ทราบความนั้นจับใจเป็นอย่างยิ่ง เห็นเป็นความคิดดีเลิศ เวลาลงก็ห้ามล้อเอง เวลาขึ้นก็เปิดเองเป็นเครื่องโอโตเมติค เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวชวาครั้งนี้ ได้ตั้งใจดู ได้พบเกวียนเป็นหลายเล่ม แต่เสียใจไม่ได้พบเล่มที่เขาผูกเครื่องโอโตเมติกอย่างที่ตรัสเล่านั้นเลย เกวียนบ้านเราไม่มีเช่นนั้น และไม่มีประโยชน์ที่จะทำเช่นนั้น เพราะเกวียนบ้านเราเดินอยู่แต่ในที่ราบ ไม่ได้ขึ้นเขาลงเขาด้วยทางไม่มี ส่วนในที่ราบเกวียนทำทางไปด้วยตัวเองได้

พระเจนจีนอักษรมาบอกกำหนดว่า จะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาทที่นี่โดยรถไฟซึ่งออกจากกรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ ๑๓ เดือนนี้.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ