วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูลสมเด็จพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๙ มกราคมนั้นแล้ว

เรื่องปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตรนั้น หม่อมฉันไม่ทราบหรือแม้แต่ได้ใฝ่ฝัน ว่าคุณหญิงอมเรศรสมบัติจะพยายามร้องขอต่อมาอีกมากมายตั้งแต่หม่อมฉันออกมาอยู่เมืองปีนังแล้ว เลยเป็นการใหญ่ถึงร้องเรียนรัฐบาลบ้านเมือง น่าประหลาดใจหนักหนา พิเคราะห์เรื่องนี้เห็นจะเป็นด้วยคุณหญิงอมเรศรได้บนบวงไว้อย่างไรอย่างหนึ่ง เกรงว่าถ้าไม่แก้บนจะเกิดภัยอันตรายแก่ตัวจึงพยายามมิรู้แล้ว และยังเห็นขันต่อไปที่เรื่องแล่นเลยมาถึงพระองค์ท่าน ต้องทรงคิดแบบอย่างให้ทั้งทรงทราบอยู่แก่พระหฤทัยว่าจะไม่สามารถหาทุนให้พอทำได้ แต่เมื่อท่านทรงจำนงจะเขียนเพื่อพระปรีชาญาณ หรือเพื่อหาความสุขของพระองค์เองก็ไม่มีโทษอะไร แต่ควรระวังตามคำของเจ้าพระยารัตนบดินทรท่านว่า “จะเลยเป็นธรรมเนียม” ทีหลังใครต่อใครมีอะไรเป็นปัญหาอย่างนี้ ก็จะส่งมาถวายให้เป็นหน้าที่แก้ไข โดยอ้างว่าเพราะได้ทรงเขียนแบบวิหารพระมงคลบพิตรเป็นเรื่องตัวอย่าง จะเกิดการรบกวนให้ทรงรำคาญต่อไป ถึงแบบวิหารพระมงคลบพิตรที่ทรงเขียนนี้ ก็อาจจะถูกคุณหญิงอมเรศรสมบัติมาวิงวอนเร่งรัดให้รำคาญพระหฤทัยได้บ้าง

ข้อซึ่งตรัสปรึกษาว่าเหตุใดพื้นวัด เช่นว่าวัดมหาธาตุเมืองไชยาเป็นต้น ดินจึงมักสูงขึ้นจนท่วมฐานเจดีย์วัตถุในบริเวณนั้น หม่อมฉันคิดเห็นเหตุมี ๒ อย่าง คือแต่ก่อพระทรายอย่าง ๑ การก่อพระทรายนั้นหม่อมฉันเข้าใจว่าเดิมเขาคิดสำหรับสร้างวัด ในชั้นแรกเมื่อที่วัดยังลุ่ม ก่อพระทรายเพื่อให้ได้ทรายถมที่วัดให้สูงขึ้น หรือมิฉะนั้นก็ด้วยต้องการทรายสำหรับใช้ก่อสร้างเจดีย์สถาน แต่พิธีก่อพระทรายเป็นการครึกครื้นรื่นเริงของพวกชาวบ้าน ไม่อยากให้หยุดเสียเมื่อได้ทรายพอการแล้ว จึงเลยมีเป็นงานก่อพระทรายประจำปี เมื่อเสร็จงานแล้วพวกชาววัดก็เฉลี่ยทรายฉายไปในลานวัด พื้นวัดจึงสูงขึ้นเสมอด้วยเหตุนี้อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ นั้น เพราะลมพายุก็ดี น้ำไหลก็ดียอมพาดินทรายมาหล่นอยู่ในลาน หรือใบไม้หล่นค้างอยู่จนกลายเป็นดินถมให้สูงขึ้น แต่จะค่อยๆ สูงนานเวลาช้ากว่าอย่างก่อน ที่ทูลมานี้ตามสังเกตในเมืองเราเอง แต่ในอินเดียเช่นเห็นในรูปฉายวัดโบราณที่ชายนิพัทธส่งมา จะมีเหตุอื่นอย่างไรอีกก็เป็นได้

ปราสาทหินที่เมืองสิงห์ริมแม่น้ำแควน้อยเมืองกาญจนบุรีนั้น ทูลเท่าที่มีเค้าเงื่อนเป็นหลักฐาน เดิมที่ตรงนั้นเห็นจะเป็นสถานีของพวกชาวอินเดียแห่ง ๑ ในการเดินทางจากเมืองมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่ในสมัยเมื่อเมืองนครปฐมเป็นราชธานี เพราะต่อเข้ามาๆ มีปราสาทหินสถานีทำนองเดียวกันที่ตำบลพงตึก ริมแม่น้ำราชบุรีอีกแห่ง ๑ หม่อมฉันให้ตรวจได้ความเป็นแน่ว่าที่พงตึกนั้นเป็นปากน้ำแยกมาเมืองนครปฐมสาย ๑ และมีลำน้ำอีกสาย ๑ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรีเดี๋ยวนี้ ผ่านเมืองอู่ทองลงมาออกทะเลที่เมืองนครปฐม ๆ ในสมัยนั้นตั้งอยู่ริมทะเล ใกล้ปากลำน้ำทั้ง ๒ นั้นมาประสบกันจึงเป็นที่สำคัญในการเศรษฐกิจและการคมนาคม จึงตั้งเป็นราชธานี ณ ที่นั้น แต่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองนครปฐมร้าง ทางเดินในระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทยเดินตามทางเดิม ตั้งแต่ด่านพระเจดีย์สามองค์มาทางเมืองสิงห์ จนถึงปากแพรกที่รวมแม่น้ำแควใหญ่กับแควน้อยแขวงราชบุรี แล้วเปลี่ยนทางวกขึ้นไปเมืองสุพรรณ จากเมืองสุพรรณเดินมาทางเมืองอ่างทองจนถึงพระนครศรีอยุธยา ปราสาทหินที่เมืองสิงห์เป็นปราสาทขนาดเล็กๆ ชำรุดเสียมากแล้วไม่มีอะไรเป็นที่สังเกต ว่ารูปพรรณสันฐานของเดิมจะเป็นอย่างไร

การ์ดให้พรปีใหม่ของหม่อมฉันนั้นทำสำหรับส่งไปยุโรปเป็นพื้น แต่สั่งให้ทำในกรุงเทพฯ เพราะจะซื้อการ์ดที่เขาขายในปีนังส่งไปนึกละอายใจ จึงบอกความคิดหม่อมฉันไปเป็นเค้า ให้หญิงมารยาตรเป็นพนักงานจัดทำในกรุงเทพฯ ค้นหาการ์ดปีนี้ที่นี่หมดหม่อมฉันสั่งไปให้หญิงมารยาตรหาถวายตามพระประสงค์หวังว่าจะหาได้

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาที่หม่อมฉันทูลผัดนั้น กลายเป็นความข้อใหญ่ค้นหนังสือตรวจยังไม่เสร็จ ต้องขอทูลผัดต่อไป

ในคราวเมล์นี้หม่อมฉันส่งอธิบายตอบคำถามพระยาอินทรมนตรี ตอนที่ ๕ อันเป็นตอนสุดท้ายถวายด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ