วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ มกราคม แล้ว

พระมงคลบพิตรนั้น หม่อมฉันยังมีเรื่องที่จะทูลต่ออีกหน่อยหนึ่ง ท่านคงทรงจำได้ว่าพระมงคลบพิตรนั้น แต่ก่อนมาพระกรขวาตลอดจนถึงพระพาหากบพระรัศมีหักหายสูญทั้ง ๒ อย่าง บรรดารูปฉายที่ฝรั่งเอาไปลงพิมพ์ก็เห็นได้ว่าเป็นเช่นนั้น อยู่มาในรัชกาลที่ ๖ วันหนึ่งหม่อมฉันไปดูเห็นพระมงคลบพิตร กลับมีพระกรและพระรัศมีบริบูรณ์ก็ประหลาดใจ ถามพระยาโบราณแกบอกอย่างเรี่ยเรี่ย ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าปฏิสังขรณ์เองเมื่อหายป่วย” หม่อมฉันก็นึกเข้าใจตลอดเรื่อง ด้วยก่อนนั้นมาไม่ช้านักพระยาโบราณป่วยมากอยู่คราวหนึ่ง ชะรอยจะได้ปฏิญาณบานบนในเวลาเมื่อป่วยนั้น ว่าถ้ารอดชีวิตจะบุรณะพระมงคลบพิตร ที่ไม่มาบอกหม่อมฉันก่อน ก็คงเป็นเพราะเกรงหม่อมฉันจะไม่อนุญาตจึงชิงทำเสียก่อน ให้หม่อมฉันเห็นต่อเมื่อทำเสร็จแล้ว แต่เขาทำดีไม่เสียรูปโฉมส่วนสัดอย่างใด กลับได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งด้วยพระเศียรพระมงคลบพิตรผิดกับพระพุทธรูปอื่น ที่มีบัวหงายคั่นระหว่างพระเกตุมาลากับพระรัศมี ๆ หักหายหมดเหลือแต่บัวหงาย เมื่อพระยาโบราณต่อพระรัศมีเข้าแล้ว จึงทราบว่าเหตุใดจึงทำบัวหงาย เพราะเข้าไปดูในวิหาร พระพักตร์บังพระรัศมีเสียหมดหรือเห็นแต่ตอนปลาย ที่ทำบัวหงายคั่น เพราะจะยกพระรัศมีสูงขึ้นเพื่อให้คนเห็นได้ตลอด สันนิษฐานว่าบัวหงายนั้นคงเพิ่มขึ้นเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารไม่รู้ความจริงจึงกล่าวว่าต่อพระเศียรพระมงคลบพิตร ยังมีกรณีเรื่องพระมงคลบพิตรต่อมาอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๗ จะเป็นด้วยเหตุใดหม่อมฉันไม่ทราบ คุณหญิงอมเรศรสมบัติเกิดความเลื่อมใสในพระมงคลบพิตรแก่กล้า วันหนึ่งให้สามีพามาหาหม่อมฉันที่วังวรดิศ มาขออนุญาตปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร หม่อมฉันว่าแก่พระยาอมเรศร ว่าพระวิหารนั้นใหญ่โตเห็นจะต้องใช้เงินนับแสน พระยาอมเรศรก็นิ่งยิ้มอยู่ หม่อมฉันเข้าใจว่าเป็นความศรัทธาของคุณหญิงฝ่ายเดียว หม่อมฉันจึงตอบว่าจะปฏิสังขรณ์ก็ได้ แต่ต้องทำให้เหมือนอย่างเดิม จะแก้ไขให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การที่ว่าจะปฏิสังขรณ์ก็เลยเงียบไป ความคิดเดิมเห็นจะรื้อวิหารของเก่า ทำวิหารอย่างแบบสมัยใหม่ด้วยคอนกรีต หม่อมฉันจึงนึกว่าที่ห้ามไว้ได้นั้นเป็นกุศล

ชายนิพัทธไปถึงเมืองมัทรราฐเขียนไปรษณีย์บัตรบอกข่าวมายังหม่อมฉันใบหนึ่ง รูปฉายที่เขาทำไปรษณีย์นั้นเป็นรูปเทวสถานแบบอินเดียฝ่ายใต้ คล้ายเบบเขมร เห็นได้ว่าเขมรได้แบบอย่างไปจากอินเดียฝ่ายใต้ หม่อมฉันส่งไปรษณีย์บัตรนั้นถวายมากับจดหมายฉบับนี้ให้ทอดพระเนตรด้วย

ชายดำเข้าไปในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ ป่านนี้คงจะได้ไปเฝ้าท่านแล้ว เมื่อเธอไปประจวบเวลามีลูกปี๊ชขนาดใหญ่มาขายในตลาดปีนัง หม่อมฉันจึงฝากเธอให้นำไปถวายท่านด้วย แต่รสชาติจะดีหรืออย่างไรหม่อมฉันไม่กล้ารับรอง ด้วยเมื่อแรกไปพบลูกปี๊ชในยุโรปเจ้าพระยาเทเวศรลองกินก่อนเพื่อน ออกปากว่า “ลูกไม้อย่างนี้สำหรับนกกิน” ส่งถวายไปคราวก่อนนี้หม่อมฉันก็ไม่ได้ลองชิมก่อน ส่งไปแล้วจึงนึกขึ้นได้ว่าลูก “โถ” ของจีนนั่นเอง บางทีจะเป็นเพราะรสดีตาซิ่วจึงชอบถือ แต่ถ้าเจ้าพระยาเทเวศรยังอยู่ จะลงเนื้อเห็นว่าตาซิ่วแกถือไว้สำหรับเลี้ยงนกยางที่แกเลี้ยงก็ได้เหมือนกัน

ที่ปีนังเมื่อกลางเดือนยี่พวกทมิฬทำพิธีไทปุดสำ ๓ วันตามเคย แต่ปีนี้รัฐบาลไม่อนุญาตให้จุดดอกไม้ไฟ เพราะเมื่อคราวปีกลายพวกทมิฬโขลกดินดำทำดอกไม้ไฟ ประมาทจนดินดำระเบิดตายไปหลายคน ฝ่ายหม่อมฉันก็เคยดูมาเสียจนเบื่อแล้ว จึงมิได้ไปดูแห่และที่ในเทวสถาน เป็นแต่ให้ขับรถผ่านร้านขายของเครื่องโลหะอย่างอินเดีย เห็นอะไรแปลกน่าซื้อก็จะซื้อส่งไปถวายเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ของแปลกในคราวนี้เห็นแต่เอาทองเหลืองทำถัง เหมือนอย่างถังสังกะสีที่ใช้กันในพื้นเมือง ก็เลยไม่ซื้อ

หม่อมฉันส่งสำเนาคำตอบปัญหาของพระยาอินทรมนตรี ถวายมากับจดหมายฉบับนี้ให้ทรงอ่านอีกตอนหนึ่ง ยังอีก ๒ ตอนจึงจะหมดปัญหา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ