วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ได้รับประทานแล้ว

ในลายพระหัตถ์นั้นมีพระดำรัสถึงคำว่า “ผีฟ้า” ทำให้นึกถึงคำ “ผี” ว่าจะหมายความอย่างไร เกล้ากระหม่อมเคยใช้คำว่า “ผี” ติดจะเป็นผรุสวาทในเมื่อดูเรื่องพระเตมีย์ คราวเริ่มที่คิดจะเขียนรูปรับรดน้ำสงกรานต์ ด้วยคิดจะย่อเรื่องให้ตลอดตีพิมพ์กำกับไปกับรูปด้วย แต่เพื่อนช่างเขาตักเตือนว่า ถ้าทำดังนั้นหนังสือก็เป็นประธานไป รูปกลายเป็นเครื่องประกอบ ที่ตั้งใจจะทำรูปเป็นประธานหนังสือก็ต้องน้อยที่สุด เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วย จึ่งได้เขียนหนังสือติดไปกับรูปจำเพาะแต่ธัมมะตรงที่เขียนรูปเท่านั้น จะกลับกล่าวย้อนต้น เมื่ออ่านเรื่องพระเตมีย์จบลงก็นึกว่า จะดำเนินเรื่องอย่างไรดี จะดำเนินให้เป็นคนก็ได้ คือพระเตมีย์ได้เห็นพระราชบิดาลงโทษแก่ผู้ร้าย เป็นเหตุให้เกิดความสลดพระทัย รู้สึกว่าเมื่อได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องทำอย่างเดียวกัน ทรงพระดำริจะหลีกเสียจากหน้าที่นั้นจึงแกล้งทำเป็นใบ้บ้า ถ้าดำเนินเรื่องอย่างนี้ก็จะเป็นทางดีสำหรับพระโพธิสัตว์พอทีเดียว แต่โบราณาจารย์ไม่เดินทางอย่างนั้น คือเดินทางแต่งให้พระโพธิสัตว์เดินทางผิดจากมนุษย์ ให้มีเทวดาลงมาเตือนแล้วพระโพธิสัตว์ก็ได้สติเห็นตั้งแต่ยังไม่รู้เดิน ออกจะฉุนแล้วพูดออกมาว่าจะแต่งให้เป็นคนก็ไม่ได้ ต้องแต่งให้เป็นผี แล้วก็คิดเห็นว่าคนแต่ก่อนย่อมนับถือความศักดิ์สิทธิ์ที่ผิดมนุษย์เป็นหลัก พระดำรัสประทานคำ “ผีฟ้า” คราวนี้จึงทำให้รู้สึกได้ว่า ที่ใช้คำ “ผี” นั้นถูกแล้ว “ผี” ไม่ได้หมายถึงคนที่ตายแล้ว แต่หมายถึงผู้ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีฤทธิ์มีอำนาจ ควรบันดาลอะไรให้เป็นไปผิดจากปกติได้ ซึ่งคนเราต้องการสิ่งนั้น แม้พระเจ้าในศาสนาอื่นก็ต้องเป็นผีหมดด้วยกันทั้งสิ้น จึงจะเป็นที่นับถือของคนทั้งปวงได้ ชายเจริญใจเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อเรียนอยู่เมืองนอก มีเพื่อนนักเรียนคนหนึ่ง เขาอ่านหนังสือทางพุทธศาสนา แล้วแร่มาถามว่า “พระเจ้าของเจ้านั้นเป็น God หรือเป็นคน” เธอตอบว่าเป็นคน ปัญหาก็เป็นอันสิ้นไป โดยเขาตั้งใจมาว่าถ้าตอบว่าเป็น God คือ ผี แล้วเขาจะเถียง

บรรดาคำใดๆ ซึ่งเราพูดกันเข้าใจอยู่ แม้จะแปลเข้าจริงแล้วยากทั้งนั้น

พระยาอนุมานเขียนหนังสือถามมาว่า คำที่เรียกว่า “เขื่อนเพชร” ซึ่งเป็นของมีอยู่ในพระราชวังนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ปัญหานี้ตอบได้ กำลังจะเขียนตอบบอกให้เข้าใจอยู่ แต่อีกปัญหาหนึ่ง ทางพระยาอินทรมนตรีมีหนังสือมาว่า กำลังแต่งวินิจฉัยข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าอยู่ อยากทราบว่าคำอันหนึ่งซึ่งกล่าวตอนแผ่นดินพระเอกาทศรถว่า “กราบทูลขอพิจารณาคนออก” นั้นหมายความว่ากระไร คนชนิดไรออกไปทางไหน คำถามอันนี้พ้นความรู้ เช่นเดียวกับที่ฝ่าพระบาทกับเกล้ากระหม่อมเคยคิดคำแปลคำในกฎมนเทียรบาลกันมาแล้วเหมือนกัน ได้ตอบไปว่าไม่ทราบ และอยากทราบอยู่เหมือนกัน

ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ล่วงมาแล้วมีงานราษฎร์สองงานซึ่งเขามาลากเอาตัวไป คือเมื่อวันที่ ๒๐ พระยาวิสูตรสาครดิฐทำบุญอายุ ๖ รอบ มีเลี้ยงและมีละครลูกหลานเล่น วันที่ ๒๑ หญิงอัปษรทำบุญอายุ ๕ รอบ มีเทศน์และมีการตั้งร้านเลี้ยงต้อนรับแขก เผลอๆ ไปหน่อยเดียวหญิงอัปษรมีอายุถึง ๖๐ แล้ว

วันนี้เป็นวันงานประจำปี ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เกล้ากระหม่อมจัดทำดอกไม้ร้อยเป็นธง จะนำไปถวายสักการะพร้อมทั้งครอบครัว แล้วในพระบรมมหาราชวังจะมีงานหลวงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ตามที่ได้ถวายหมายกำหนดการมาแล้ว

วันที่ ๒๖ ที่ ๒๘ ที่ ๒๙ จะมีการพระกฐินหลวง มีรายละเอียดดั่งหมายกำหนดการซึ่งได้ถวายมาให้ทราบฝ่าพระบาทนี้แล้ว ส่วนเกล้ากระหม่อมได้รับหมายพระราชทานกฐิน วัดราชประดิษฐ์ อันการกฐินนั้น ถ้าว่าตามเนื้อพิธีแล้วเป็นโคมลอยใบใหญ่อย่างยิ่ง อย่าหาว่าใครเลย แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้ายังทรงพระดำริเห็นว่าควรเลิก แต่ที่จริงเป็นงานอันเป็นโอกาสที่ราษฎรเขายินดีไปประชุมกัน เห็นจะเลิกยาก

เขาออกใบเรี่ยไรหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทำให้นึกขึ้นถึงการหล่อพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และกรมพระยาวชิรญาณวโรรส จำได้ว่าทั้งสองพระรูปนั้นสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ทรงเป็นพระภาระกับพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สา) ฝ่าพระบาททรงเป็นพระภาระ แต่จะสร้างด้วยเงินเรี่ยไรหรือเงินอะไรจำหาได้ไม่

ฝ่าพระบาทได้ทรงฉลองพระแอ๊ว หวังว่าคงจะได้ความปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ