วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พร้อมด้วยรูปฉาย ได้รับประทานแล้ว

เรื่องทำที่ใส่ศพเป็นรูปแปลกประหลาดไป เห็นจะไม่มีทางยศศักดิ์อัครฐานปนอยู่ในนั้น เชื่อว่าเป็นทางแสดงปัญญาความคิดเท่านั้นเอง ถ้าทางยศศักดิ์จะต้องมาเกี่ยงของหลวง ของทำจริงขึ้นเองช่วยไม่ได้เลย ข้อที่มีผู้กราบทูลว่าที่ใส่ศพทำเป็นลูกกระสุนปืนใหญ่ก็มี เขาไม่เข้าใจว่าจะเอาศพไว้ในนั้นอย่างไรนั้น อาจจะไม่ใช่ศพ เป็นแต่กระดูกที่เผาแล้ว (โดยไม่กอบด้วยเกียรติยศ) เอามาใส่อะไร ทำพิธีเผาประกอบด้วยเกียรติยศอีกทีหนึ่งก็ได้ ซึ่งเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้มีพิธีเช่นนั้น การเผาชนิดนี้เป็นแต่ประชุมแขกมาทอดธูปเทียนขมาศพ ไม่มีการเปิดไฟ

เรื่องปราสาทตั้งแสดงพิพิธภัณฑ์ปารีส ตามพระราชดำรัสซึ่งตรัสไปว่าทำ “ตามเคย อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง” นั้น ไปเข้าช่องซึ่งนึกสลดใจอยู่แล้วตามที่ทราบ และจำได้ดูเหมือนได้ทำปราสาทแสดงพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งแรกนายตมาโญออกแบบทำ ถัดมานานตาเวลาออกแบบทำ ครั้งนี้ช่างไทยออกแบบทำ ช่างไทยออกแบบอย่างไทย แพ้ฝรั่งออกแบบอย่างไทยมาก่อน ๒ คราวหลุดลุ่ย ที่เป็นดังนั้นเพราะฝรั่งเขาคิดจริง ฝ่ายเราคิดทำแต่ “ตามเคย”

ฟังตรัสเล่าถึงสมเด็จพระพันวัสสามาปีนัง ดูก็พรักพร้อมเป็นพระเกียรติยศดี แม้การเสด็จไปเที่ยวทอดพระเนตรสิ่งใดๆ ก็ประกอบพร้อมด้วยยศศักดิ์อัครราชฐาน สมควรแก่พระเกียรติยศทั้งนั้น แต่เมื่อนึกถึงตัวเองก็หาอยากได้เช่นนั้นไม่ เที่ยวไปอย่างตองตอยสนุกกว่า โรคอหิวาต์ทำพิษมาก เล่นเอากำหนดการไม่เป็นไปได้ตามกำหนด ทำความหนักให้มาตกอยู่กับฝ่าพระบาท

ชายไสทำเจ็บปวด ได้ความคิดจากรูปทำด้วยฟางประดับ ซึ่งหม่อมเจิมซื้อจากปีนังเอาเข้าไปให้เป็นของฝาก เธอเอาเป็นตัวอย่างไปคิดทำบ้าง ด้วยใช้กลักไม้ขีดไฟตัดประดับ แล้วเอามาให้ทำรูปเป็นทีว่าท่าเรือกรุงเทพฯ มีรูปเรือกลไฟจอดอยู่ริมฝั่ง มีเรือประทุกของส่งลอยอยู่ในแม่น้ำ ท่วงทีดีกว่าตัวอย่างเดิมขึ้นไปอีกมาก เพราะเธอเป็นช่างนั้นก็อย่างหนึ่ง แล้วยังเลือกเอากลักไม้ขีดไฟนั้นประกอบให้มีสีต่างๆ แซมเข้าให้ด้วย เช่นตัดเอาตรงหน้ากลักไม้ขีดซึ่งตีพิมพ์ด้วยสีแดง เอามาบิดเป็นท้องเรือกำปั่นไฟเป็นต้น ดีมากทีเดียว

ยังตาเล็ก น้องแม่โต เป็นนายทหารจะไปประจำอยู่ที่โคกกระเทียม ก็ได้ส่งรูปฉายขยายใหญ่ลงมาให้ ขอบใจแกที่ตั้งใจดี แต่รูปที่ให้มานั้นไม่ทำให้เกิดปีติ เพราะเป็นรูปพระพุทธรูปเขาพระงาม ซึ่งเกล้ากระหม่อมอยากจะเติมคำเรียกว่าเขาพระไม่งาม ทั้งนั้นเป็นด้วยแกไม่มีเยื่อใยในทางช่าง นึกว่าพระ (ไม่) งามเป็นของสำคัญ ที่ลพบุรีมีของดีที่สำคัญอยู่เป็นอันมาก เช่นหากจะทำรูปพระมหาธาตุส่งมาให้ ก็จะมีใจปีติเป็นอันมาก

ข่าวในกรุงเทพฯ ไม่มีอะไรจะกราบทูล มีแต่การแต่งงานกับเผาศพ ซึ่งเป็นไปตามปกติทั้งนั้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านมาเดาคำขึ้นสองคำ เห็นเข้าทีอยู่มาก คำนั้น “ข้าวเหนียว” กับ “ข้าวจ้าว” ท่านว่าข้าวเหนียวเห็นจะเป็นของทำสำหรับกินกันทั่วพื้นเมือง ข้าวจ้าวทำจำเพาะสำหรับถวายจ้าว จ้าวคงโปรดเสวยข้าวอย่างนั้น เหตุที่มาเกิดเดาคำนี้ขึ้นเพราะเลี้ยงท่านด้วยข้าวเหนียวมะม่วง

หญิงสิบพันก็ต้องการจะรู้อะไรมากมาย มาตั้งปัญหาถามหลายข้อหลายประการเช่นพระแก้วมรกตทำที่ไหนเป็นต้น ได้ตอบเธอว่าตำนานมีกล่าวไว้ในประกาศถือน้ำยืดยาว ดูเอาสิ ถ้าจะเอาแน่นอนกันแล้วก็เหลือแต่ไม่รู้เท่านั้น แต่ให้ตักเตือนเธอว่า ถ้าอยากรู้มากต้องเรียนแต่น้อย ถ้าเรียนมากยิ่งไม่รู้มากทุกที พระยาเทวาก็อีกคนหนึ่งนั่นหนักไปในลัทธิทางโหราศาสตร์ ซึ่งต่างครูต่างอาจารย์ก็บัญญัติวิธีไว้ต่างกันขัดกัน ต้องแนะนำด้วยคำเดียวกันกับหญิงสิบพัน ว่าอยากรู้มากจงเรียนแต่น้อย แม้เรียนมากก็ยิ่งไม่รู้มากขึ้นทุกที.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ