วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๗ เมษายน กับรูปงานศพชายถึก ขอบพระทัยมาก รูปนั้นพอเข้ากันกับที่หญิงอามส่งมาให้หญิงพิลัยเมื่อเมล์ก่อนครบชุดพอดี หนังสือกฎมนเทียรบาลพม่าก็ได้รับและแจกไปตามรับสั่งแล้ว ถ้าพราหมณ์ศาสตรีแปล Chatty คำหม้อดินนั้น รับว่าถูกได้

เรื่องที่เดี๋ยวนี้มีคนชอบคิดแผลงทำที่ใส่ศพเป็นรูปต่าง ๆ นั้น หม่อมฉันได้ยินจากพวกที่ตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา มาเล่าว่ามีอีกอย่าง ๑ ทำเป็นรูปกระสุนปืนใหญ่จะเอาศพไว้ในนั้นอย่างไรและจะวางเทียนขมาอย่างไรเขาหาทราบไม่ แต่ดูก็จะเป็นอย่างโกศนั่นเอง คิดพิเคราะห์ดูก็ชอบกล ประเพณีเดิมเครื่องใส่ศพมีหีบอย่าง ๑ โกศอย่าง ๑ แต่ละอย่างยังต่างชั้นกันตามยศ เกณฑ์ที่ศพใดจะได้ใส่หีบชั้นใดหรือใส่โกศชั้นใด หลักอยู่ที่บรรดาศักดิ์ บรรดาศักดิ์เจ้าเอายศเป็นเกณฑ์ บรรดาศักดิ์ขุนนางเนื่องด้วยตำแหน่ง เช่นศพหม่อมเจ้าใส่หีบทองทึบ ถ้าเป็นพระองค์เจ้าใส่โกศ ศพขุนนางใส่โกศแต่เจ้าพระยากับพระยาที่ยกเป็นชั้นสูงพิเศษ ศพเจ้ายังคงอยู่ตามประเพณีเดิม แต่ศพขุนนางสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเรื่องบรรดาศักดิ์เป็นข้อสำคัญ ด้วยแต่ก่อนมาเสนาบดีมักเป็นเจ้าพระยา หรือมิฉะนั้นก็เป็นพระยาชั้นสูงศักดิ ศพจึงย่อมใส่โกศทั้งนั้น ถ้าศพขุนนางที่บรรดาศักดิ์ต่ำลงมาก็ใส่หีบตามชั้นยศ สมัยนี้รัฐมนตรีอันเทียบศักดิ์เท่าเสนาบดี มีบุคคลทุกชั้นบรรดาศักดิ์ตั้งแต่เจ้าพระยาลงมาจนคนสามัญที่เรียกว่า “นาย” ทั้งตามรัฐธรรมนูญยังอาจจะออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อใดๆ ไม่มั่นคง การที่ศพจะใส่โกศหรือหีบยังใช้ประเพณีเดิม จึงเกิดสับสน เปรียบว่า นาย ก. ถ้าตายในเวลาเป็นรัฐมนตรีหรือตายในเวลาเมื่อหลุดจากรัฐมนตรีแล้ว ศพก็ต้องใส่ได้แต่ในโลง คนเป็นตำแหน่งอื่นๆ ที่รองลงมา ถ้าว่าตามประเพณีเดิมก็เป็นเช่นกันโดยอนุโลม จะเป็นด้วยปรารภเหตุนี้ดอกกระมังจึงเกิดความคิดทำที่ใส่ศพเป็นรูปต่างๆ ให้ผิดกับโกศและหีบและโลงทั้ง ๓ อย่าง ที่ทูลมานี้โดยเดา

ปราสาทที่ทำส่งไปในการแสดงพิพิธภัณฑ์ ณ เมืองปารีสนั้น หม่อมฉันต้องทูลรับสารภาพว่าเมื่อดูแบบได้ดูแต่อย่างลวกๆ โดยไม่ตั้งใจจะพิจารณานัก พิเคราะห์ดูเป็นอย่างว่าทำ “ตามเคยอย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

การเลี้ยงนักโทษที่ติดอยู่ในคุกนั้น จะมีข้าวของหลวงจ่ายหรือไม่หม่อมฉันไม่ทราบแน่ แต่กับนั้นต้องหากินเอง มีญาติๆก็ส่ง ที่ไม่มีก็ต้องรับจ้างทำงานของผู้คุม เช่นสานกระบุงเป็นต้น หรือที่สุดในเวลาเขาจ่ายไปทำงานข้างนอก ก็เที่ยวฉกฉวยขอร้องเขากินตามแต่จะได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องอดไปทั้งวัน

จะทูลข่าวที่ปีนังต่อไป มีเรื่องรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาเป็นสำคัญ เมื่อหม่อมฉันทิ้งไปรษณีย์จดหมายถวายไปคราวก่อนแล้วในเย็นวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน สมเด็จพระพันวัสสาก็เสด็จมาถึง ไทยที่มาอยู่ปีนัง และพวกสกุล ณ ระนองพากันไปรับเสด็จถึงสถานีรถไฟก็มาก พวกนักเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาเล่นฟุตบอลล์แข่งขันก็ไปยืนแถวรับเสด็จที่ท่าขึ้น และยังมีพวกที่มาคอยรับเสด็จที่ซินนามอนฮอลอีกพวก ๑ ทั้งกงซุลเยเนอราลสยามที่สิงคโปร์และกงซุลสยามที่ปีนังก็มาจัดการรับเสด็จ เจ้าเมืองให้เรือไฟหลวงไปรับเสด็จข้ามฟาก ๒ ลำ เป็นการพรักพร้อมกันดี การรับเสด็จที่ซินนามอนฮอลหม่อมฉันได้อาศัยพวกสกุล ณ ระนองมาก เป็นต้นว่าเครื่องแต่งเรือนที่ยังขาด เช่นพรมเจียมและเครื่องโต๊ะ ตลอดจนรถยนต์เขาให้ยืมมาจนพอใช้

แต่มีเหตุเกิดขลุกขลักเป็นข้อสำคัญขึ้นเรื่องหนึ่ง ด้วยโปรแกรมเดิมกะไว้ว่าเสด็จมาถึงวันพฤหัสบดี วันศุกร์บ่ายจะเสด็จลงเรือชื่อเกดะไปประพาสเกาะสุมาตรา ๓ วัน แต่เผอิญเมื่อก่อนเสด็จมาถึงไม่ช้านัก มีฝรั่งฮอลันดาคน ๑ บินมาจากกรุงเทพฯ มาลงเรือเกดะที่เมืองสิงคโปร์ พอเรือออกมาในวันนั้นเองก็เกิดเป็นอหิวาตกโรคตายในกลางทาง เรือเกดะก็กลายเป็นอย่าง “หมาหัวเน่า” เข้าท่าไหนก็ถูกควารันตีนทุกแห่ง จะหาเรือลำอื่นก็ไม่ดีเท่าเรือเกดะ และจะกลับให้เหมาะกับกำหนดก็ไม่ได้ จะต้องเสด็จไปเตร็จเตร่อยู่ที่สุมาตราคอยเรืออยู่หลายวัน แต่การควารันตินนั้นรัฐบาลฮอลันดาเขารับมาว่า ถ้าเสด็จไปเขาจะจัดการผ่อนผันถวายมิให้ทรงเดือดร้อน หม่อมฉันคิดเห็นว่าเขารับอย่างนั้นด้วยเกรงใจ แต่ใจจริงเขาคงไม่อยากให้เสด็จไป เพราะสมเด็จฯ มีคนตามเสด็จมาก็มาก ตรงลงมาจากกรุงเทพฯ อันเป็นที่มีอหิวาตกโรคด้วยกันทั้งนั้น เขาต้องรังเกียจอยู่เอง หม่อมฉันเห็นว่างดการเสด็จไปสุมาตราเสียทีเดียวดีกว่า กราบทูลทรงพระดำริเห็นชอบด้วย จึงตกลงเป็นเสด็จประทับอยู่ปีนังแต่วันที่ ๑๕ ไปจนวันที่ ๒๔ เมษายน อันเป็นกำหนดเรือกำปั่นยนต์เมโอเนียจะออกจากปีนังไปกรุงเทพ ฯ การเสด็จประพาสที่ปีนังนี้หม่อมฉันเป็นผู้กะโปรแกรม ประพาสแต่เวลาบ่าย ตอนเช้าให้เสด็จพักสำาราญอิริยาบถที่ประพาสนั้น

วันศุกร์ที่ ๑๖ เมษายน เสด็จทอดพระเนตรสวนน้ำตกและสระประปาในสวนนั้น แล้วประทานอาหารแก่ฝูงลิง

วันเสาร์ที่ ๑๗ เสด็จทอดพระเนตรสนามบิน มิสเตอร์คู้ดแมน เจ้าเมืองปีนัง (เคยรู้จักกับทูลกระหม่อมแดง) กับนายกสโมสรการบินไปคอยรับเสด็จ และจัดเครื่องบินไว้สำหรับพาเที่ยวทางอากาศ มีหม่อมเจ้าที่ตามเสด็จสมัครขึ้น ๔ องค์

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ เสด็จขึ้นยอดเขาและกงซุลสยามที่ปินังเลี้ยงน้ำชาที่ศาลาภัตตาคารบนยอดเขานั้น

วันจันทร์ที่ ๑๙ เสด็จไปทอดพระเนตรโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐบาลที่สร้างใหม่ แล้วเลยเสด็จไปทอดพระเนตรสระประปา “คิลมาต” ซึ่งเป็นสระประปาใหญ่กว่าเพื่อน กับทั้งไปทอดพระเนตรทางไขน้ำลงสระนั้นด้วย

วันอังคารที่ ๒๐ เสด็จไปทอดพระเนตรสระน้ำจืดสำหรับคนเล่นน้ำที่บนเขา “มาวต์เปลเชอ” หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า “ฟัน” ให้เด็กๆ ที่ตามเสด็จไปเล่นน้ำ และเสวยน้ำชาที่ภัตตาคารบนเขานั้น ขากลับแวะทอดพระเนตรส่วนที่เที่ยวของเศรษฐีชื่อ “อาเน้ง” อันเป็นญาติเกี่ยวดองกับพวก ณ ระนอง

วันพุธที่ ๒๑ ทอดพระเนตรโรงเลี้ยงเด็กตาบอด แล้วเลยไปประพาสสวนน้ำตกในวันประชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ ๒๒ (วันเขียนจดหมายนี้) เสด็จไปทอดพระเนตรปลายน้ำที่เขาปิดลำธารต่างๆ เอาน้ำมาทำประปาคิลมาต

วันที่ ๒๓ ยังไม่ได้กะโปรแกรม

วันเสาร์ที่ ๒๔ เสวยกลางวันแล้วเสด็จลงเรือ เมโอเนีย ซึ่งกำหนดว่าจะออกจากปีนังเวลา ๑๖ นาฬิกา เป็นสิ้นกิจของหม่อมฉันเพียงนี้

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมื่อเรือหยุดรับส่งสินค้าที่ท่าสะเวตเตนแฮม จะเสด็จประพาสเสวยกลางวันที่เมืองกวาลาลุมปูร

วันจันทร์ที่ ๒๖ เมื่อเรือจอดที่เมืองมะละกาจะเสด็จประพาส วันนี้ทูลกระหม่อมชายกับกรมหลวงทิพยรัตน จะเสด็จจากชวามาถึงเมืองสิงคโปร์

วันอังคารที่ ๒๗ เรือเมโอเนียถึงสิงคโปร์ เห็นจะออกจากเมืองสิงคโปร์ไปกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๙ หรือที่ ๓๐

หม่อมฉันส่งรูปหมู่ชายดิศถวาย เมื่อเสด็จประพาสสนามบินมาถวายรูป ๑ ฝรั่งที่อยู่ในรูปนั้นคือเจ้าเมืองปีนัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ