วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

Cinnamon Hall

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม แล้ว

คติที่คนโบราณคิดประดิทิน และตำราอื่น ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ นั้น หม่อมฉันออกจะชมความคิด และคนในสมัยนั้นมีน้อยที่อ่านอักษรออก ถึงที่อ่านได้ก็คงน้อยคนที่จะเข้าใจ ที่ทำเป็นรูปสัตว์เห็นแล้วจำได้ง่าย

คติเรื่องแม่ซื้อนั้น หม่อยฉันได้เคยพิจารณาพบในบทเสภาตอนขุนช้างเกิด แสดงเค้าความเชื่อของคนแต่ก่อน ว่ามนุษย์ที่จะเกิดนั้นผีปั้นรูปขึ้นอย่างปั้นหุ่นก่อน แล้วหาวิญญาณใส่เข้าในหุ่นให้มาสู่ครรภ์ พิเคราะห์ประเพณีที่ทำพิธีเมื่อเด็กเกิดแล้ว ดูเหมือนในสมัยเมื่อทารกมักตายแต่เมื่อคลอดใหม่ภายใน ๓ วันมีมาก จึงเชื่อกันว่าทารกที่ตายแต่แรกคลอดนั้น เป็นเพราะผี (ผู้ปั้นหุ่น) เห็นงามชอบใจอยากจะเอาไปเลี้ยงเองจึงทำให้เด็กกลับเป็นผี ที่ไม่ชอบจึงปล่อยไว้ให้มนุษย์เลี้ยง ความเชื่ออันนี้เป็นมูลเหตุทำอุบายต่าง ๆ เมื่อทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันมิให้ผีเอาทารกกลับคืนไป บางอย่างหวังจะให้ผีกลัวเช่นวงสายสิญจน์ แขวนยันต์รอบห้องที่ทารกอยู่เป็นต้น บางอย่างหวังจะให้ผู้รังเกียจไม่อยากได้ทารกนั้น อุบายอย่างนี้เป็นมูลของการที่จะเอาทารกคลอดใหม่ใส่กระด้งร่อน มีผู้ใหญ่คนหนึ่งร้องถามว่า “สามวันลูกผีสี่วันลูกคน ลูกของใครมารับไปเน้อ” ลวงผีให้เข้าใจว่าทารกนั้นไม่น่ารักน่าชม แม้จนแม่ที่ให้บังเกิดก็ไม่ชอบ มีผู้อื่นอีกคนหนึ่งเข้าไปรับซื้อด้วยให้เบี้ย ๑๒ เบี้ย ตามตรงผู้รับซื้อทารกเป็น “แม่ซื้อ” แต่มักเรียกกันว่า “ผู้รับ” เอาคำแม่ซื้อไปเรียกนางผี ที่หน้าเป็นสัตว์เดียรฉานต่างๆ ดูไม่เข้าเรื่องเสียเลย จะเป็นเพราะเหตุใดคิดไม่เห็น อุบายที่ลวงผีให้รังเกียจทารกยังมีต่อไปอีกหลายอย่าง เช่นชมเด็กว่า “น่าชัง” ตลอดจนให้ชื่อว่า “เหม็น” ว่า “กบ ว่า “เขียด” เป็นต้น อุบายอีกอย่างหนึ่งทำให้ผีมีไมตรีจิต ด้วยเซ่นสรวง เช่นสาดข้าวข้ามหลังคาให้ผี ดูเป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้น

หม่อมฉันขอถวายอนุโมทนาพระกุศลซึ่งได้ทรงบำเพ็ญฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและองค์อื่น เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม เห็นหนังสือพิมพ์เขาชมมาลาที่ท่านทรงประดิษฐ์บูชาพระบรมรูปทรงม้าว่างามนัก หม่อมฉันก็ไม่ประหลาดใจอันใด

เมื่อ ๒ สัปดาหะที่ล่วงมาแล้ว หม่อมฉันมีกิจที่จะค้นในหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙” อันว่าด้วยแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงขอมาจากพระยาอนุมานเล่มหนึ่ง หนังสือนี้หม่อมฉันก็ได้รวบรวมให้พิมพ์เอง แต่เพราะเป็นเวลาช้านานมาแล้วลืมความในหนังสือนั้นเสียโดยมาก เมื่อเอามาอ่านพิจารณาในครั้งนี้ “หูผึ่ง” รู้สึกเหมือนอย่างมิสเตอร์อาระบาสเตอ ว่า “กินเมล็ดสะท้อน” แกว่าผิดกับลูกไม้อื่น เพราะอมไปตลอดวันก็ไม่สิ้นรส มีอะไรต่ออะไรน่าวินิจฉัยอยู่ในสมุดเล่มนั้นมากทีเดียว หม่อมฉันจึงขอให้พระยาอนุมานเขาส่งไปถวายพระองค์ท่านด้วยเล่มหนึ่ง จึงจะทูลวินิจฉัยแต่บางแห่ง พอเป็นตัวอย่างในจดหมายนี้

ตอนต้นว่าด้วยกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีบานแพนกว่า “วันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก (พ.ศ. ๒๓๒๓) เจ้าพระยาจักรีรับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่า ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฝั่นเฟือน ให้ (มีรายชื่อ) ข้าราชการคนเก่า ๒๐ คนมาพร้อมกัน ณ โรงพระแก้วมรกต บอกขนบธรรมเนียมราชการอย่างแต่ก่อน” ดังนี้ ได้ความรู้ว่าแบบกระบวนเสด็จพระราชดำเนินตำรานี้แต่งเมื่อก่อนจะสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรีเพียงปีเดียว ก่อนนั้นมาคือว่าตลอดสมัยกรุงธนบุรี ขนบธรรมเนียมในราชสำนักเห็นจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อนึ่ง เจ้าพระยาจักรี ผู้รับสั่งนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แล้วยังชื่อเจ้าพระยาจักรี ข้อนี้คงเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าสั่งราชการตามกระแสรับสั่ง เช่นมีท้องตราราชสีห์ใหญ่ ต้องใช้นามเจ้าพระยาจักรีเป็นนิจ ต่อเป็นคำสั่งของตัวเอง ประทับตราราชสีห์น้อย จึงใช้นามตามที่เป็นจริง (กระทรวงอื่นก็ดูเหมือนมีแบบอย่างเดียวกัน) ประเพณียังใช้มาตลอดเวลาหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย บางทีก็ออกขบขัน เช่นครั้งหนึ่งเวลาหม่อมฉันกำลังเที่ยวตรวจราชการอยู่ตามหัวเมือง ได้รับท้องตราจากพระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองขึ้นต้นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรี ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า” ดังนี้

ยังมิคติข้ออื่นอีกมากจะเอาไว้ทูลในจดหมายฉบับอื่นต่อไป

หม่อมฉันส่งรูปที่หญิงพิลัยฉายพระแอ๊ว กับหม่อมฉันมาถวายด้วย.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ