วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม แล้ว

หม่อมฉันจะทูลสนองเรื่องพัดพระต่อไป ในครั้งพุทธกาลพระภิกษุเห็นจะใช้พัดใบตาลอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพัดพระจึงได้นามเรียกเป็นสาธารณะว่า “ตาลปัตร” ดูเหมือนมีในหนังสือเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องไหนก็จำไม่ได้ ว่าพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ใดอื่นได้ทำพัดงา (สาน) ถวายพระพุทธองค์ ถ้าจริงเช่นว่าก็จะมีแต่ของพระพุทธเจ้าเล่มเดียว พัดของพระภิกษุอื่นคงเป็น “ตาลปัตร” พัดใบตาลอยู่นั่นเอง พัดพระอย่างเอาไม้ผูกโครงขึ้นผ้าที่เรียกกันว่า “พัดรอง” เป็นของประดิษฐ์ขึ้นต่อภายหลัง สำหรับเป็นเครื่องยศพระเถระ (แม้พัดงาสานก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน) ที่ทูลนี้มีหลักฐานอยู่ในหนังสือ “จารึกกัลยาณี” (หอพระสมุดฯ พิมพ์ทั้งอรรถและแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ หน้า ๑๒๘) ความว่าพระเจ้าหงสาวดีรามาธิบดี (ธรรมเจดีย์ ปิฎกธร) ซึ่งเสวยราชย์ร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสงค์จะฟื้นพระศาสนาในรามัญประเทศ แต่งทูตพาพระเถระมอญ ๒๒ รูปไปยังสิงหฬทวีป ให้ไปบวชแปลงเป็นนิกายลังกาวงศ์ เมื่อบวชแปลงเสร็จแล้วพระเจ้าภูวเนกพาหุซึ่งครองกรุงสิงหฬอยู่ ณ เมืองโคลัมโบเป็นราชธานี ทรงตั้งพระเถระมอญเหล่านั้นให้มีราชทินนามต่างๆ จะยกพอเป็นตัวอย่าง เช่นตั้งพระโมคคัลลานะเถระเป็นที่พระศิริสังฆโพธิสามิเป็นต้น และพระราชทาน “ของควรแก่สมณะ” หลายอย่าง อย่างหนึ่งในคำแปลว่า “ตาลปัตรมีด้ามอันแล้วด้วยงา อันนายช่างกลึงผู้ฉลาดกลึงเป็นอันดีแล้วองค์ละอันหนึ่ง” ตาลปัตรลังกาอย่างที่ว่านี้เป็นของโบราณ มีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ เป็นพัดพื้นแพรรูปคล้ายกับพัดรองไทยด้ามงากลึงสั้นกว่าแต่ใหญ่กว่าด้ามพัดรองของไทย ความที่ว่ามานี้ส่อว่าการที่ทรงตั้งพระเถระให้มีราชทินนามก็ดี ให้มีพัดยศก็ดี ไทยเราได้แบบอย่างมาจากลังกา

พบหลักฐานอีกกระทงหนึ่ง อยู่ในจดหมายเหตุของทูตลังกาที่มาขอคณะสงฆ์ไปตั้งสมณวงศ์ให้กลับมีในลังกาทวีป เมื่อรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ฉบับท่านโปรดให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ในงานพระศพเสด็จแม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ หน้า ๑๒๗ ทูตลังกาพรรณนาถึงไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุ ว่าในตำหนักที่รับแขกมีบัลลังก์ตั้งพัดยศด้ามงา ๒ เล่ม เล่ม ๑ พื้นพัดสานด้วยงา อีกเล่ม ๑ พื้นกำมะหยี่สีแดงปักเป็นลวดลายด้วยทองและเงิน พอหม่อมฉันอ่านก็นึกขึ้นให้ทันทีว่า ราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ ที่ลงท้ายสร้อยนามว่า “คามวาสีอรัญวาสี” คงมีพัดยศ ๒ เล่มทุกองค์ พัดงาสานเป็นเครื่องหมายฝ่ายคามวาสี หม่อมฉันไปทูลสมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นชอบด้วย ตรัสว่าเสียดายที่หม่อมฉันทูลช้าไป ท่านทรงจัดแบบตราขาดสมเด็จพระราชาคณะ ให้เขียนรูปพัดแฉกเสียทั้ง ๒ ข้าง ถ้าหม่อมฉันไปทูลเสียก่อน ก็จะให้ทำเป็นรูปพัดหน้านางข้างหนึ่ง ตามที่ทูลมาได้หลักแต่ว่าไทยได้แบบพัดหน้านางมาแต่ลังกา พัดแฉกและพัดพุดตาลอาจจะเป็นแบบไทยคิดแก้ไขก็เป็นได้ แต่พัดเปรียญนั้นหม่อมฉันเห็นว่าเดิมคงถือพัดใบตาลขลิบทองดังทูลไปในจดหมายฉบับก่อน เห็นได้ด้วยแบบพัดเปรียญพื้นแพรอย่างเก่าตั้งใจทำเลียนพัดใบตาล ลายอย่างเช่นใช้เดี๋ยวนี้พระองค์ท่านเองทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อคิดแบบพัดเปรียญ ๙ ประโยค แรกมีในรัชกาลที่ ๕

เรื่องพัชนีนั้นหม่อมฉันพบอธิบายอย่างดีทีเดียว ด้วยมีพระราชนิพนธ์ทูลกระหม่อมทรงไว้ หอพระสมุดฯ พิมพ์ในหนังสือ ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณกะ ส่วนที่ ๑ หน้า ๕๓ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จะเก็บแต่ใจความมาทูลในจดหมายนี้ ขอแนะนำให้ตรัสเรียกสมุดนั้นจากพระยาอนุมานฯ มาทรงอ่านให้ตลอดด้วยน่าอ่านมาก ใจความในพระราชนิพนธ์ว่า แต่ก่อนมาพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะฐานานุกรม และเจ้าอธิการชอบใช้พัชนี (คลุ่ม) แทนตาลปัตร ก็พัชนีนั้นทางฝ่ายคฤหัสถ์เดิมนั้นถือเป็นเครื่องยศตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ให้คนนำพัดรำเพยลมเวลาอยู่เคหสถานและถือตามเมื่อแห่แหน ทรงสันนิษฐานว่าเหตุที่พระเอาพัชนีไปใช้แทนตาลปัตรนั้น มูลเหตุน่าจะเกิดด้วยเวลาเมื่อผู้มีบรรดาศักดิ์สิ้นชีพลูกหลานจะใช้พัชนีไม่ได้ ก็ถวายพระบางองค์ที่มีบรรดาศักดิ์ พระได้ไปเห็นว่าเป็นของดีที่เขานับถือก็เอาไปให้ศิษย์หาพัดวีเหมือนอย่างคฤหัสถ์ หรือถือเองใช้แทนตาลปัตร จึงเกิดเข้าใจกันว่าพัชนีเป็นพัดสำหรับพระที่มีบรรดาศักดิ์ ใครมีถือก็พอใจ เลยมีผู้ทำพัชนีถวายพระ และที่สุดทำขายในท้องตลาดพระก็ชอบใช้กันแพร่หลาย ทรงอ้างว่ามีพระราชาคณะองค์หนึ่งชื่อพระญาณสมโพธิ (ด้วง) วัดนากกลาง ถือพัดใบตาลเป็นพัดรองเสมอ (เห็นจะเป็นแบบเดิม) ไม่ยอมใช้พัชนีว่ารูปน่าเกลียด การที่พระชอบใช้พัชนีเป็นพัดรอง เลยเป็นเหตุให้เกิดรังเกียจทางฝ่ายคฤหัสถ์ว่าใช้พัชนีเหมือนพัดพระ จึงเปลี่ยนเป็นใช้พัดขนนก (ขนาดใหญ่) แทนสืบมา ข้อนี้ส่อว่าพัดรองรูปหน้านางเห็นจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เห็นได้โดยพระบรมราชาธิบายที่ทูลมา ว่าพัชนีมีเรื่องไม่เกี่ยวกับแบบพัดพระ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ พระองค์หนูกับพระองค์พีระพงศ์และนายพุ่ม (ที่เป็นเพื่อนเรียนกับทูลกระหม่อมเล็ก) มาด้วยรถยนต์จากเมืองสงขลาถึงปินังก็มาหาหม่อมฉันในวันนั้น รุ่งขึ้นวันเสาร์หม่อมฉันเลี้ยงกลางวันถวายในครัวเรือนที่ซินนามอนฮอล และได้ไปส่งเธอถึงในเรือที่จะไปยุโรป เธอตรัสบอกหม่อมฉันว่าเมื่อเธออยู่ในกรุงเทพฯ ได้สืบถามเรื่องรถยนต์ที่แรกมีในกรุงเทพฯ นั้น ทราบว่าเรียกรถทรงหนุมาน จะเป็นรถของใครก็ไม่รู้ หม่อมฉันต้องทูลคัดค้านทันทีว่าที่เขาทูลนั้นผิดหมด เลยต้องรับจะแต่งตำนานรถยนต์แรกมีในเมืองไทยส่งตามไปถวาย

หม่อมฉันได้รับความรู้แปลกอย่างหนึ่ง ที่จะทูลให้ทรงทราบ วันหนึ่งซุยบี๊คนขับรถยนต์ของหม่อมฉัน เอาขนมเป็นเครื่องเลื่อนมาให้ หม่อมฉันถามว่ามีงานอะไรหรือ ตอบว่าลูกเกิดใหม่อายุครบเดือน หม่อมฉันเพิ่งรู้ว่าจีนมีประเพณีทำขวัญเดือนเด็กใหม่เหมือนกับไทยเรา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ