วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑ มกราคมนั้นแล้ว

เมื่อวันที่ ๑ มกราคม นั้นเองชายดำกาฬวรรณดิศ ลูกหม่อมฉันมาถึงปีนัง การไปรับที่เรือกำปั่นยนต์ลำชื่อฟิโอเนียประดักประเดิดจนเห็นขัน เดิมเมื่อเรือลำนั้นมาถึงโคลัมโบ กัปตันมีโทรเลขมาบอกห้างอีสต์เอเซียติคที่นี่ ว่าจะมาถึงปีนังวันที่ ๑ แต่เช้า นายห้างเขามาบอกหม่อมฉัน ๆ จึงนัดว่าจะไปลงเรือยนต์ลำเล็กของห้างออกไปรับชายดำ เวลาเช้า ๘ นาฬิกา ต่อมาถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม นายห้างมาบอกว่าได้รับวิทยุโทรเลขว่าเรือฟิโอเนียจะมาถึงต่อ ๙ นาฬิกา เพราะประสบเวลาต้องทวนสายน้ำแรง หม่อมฉันก็นัดเลื่อนเวลาว่าจะไปลงเรือต่อ ๑๐ นาฬิกา ครั้นวันที่ ๑ มกราคมหม่อมฉันลงไปถึงท่าลงเรือเวลาก่อน ๑๐ นาฬิกา เห็นใบแจ้งความของห้างอิสต์เอเซียติคปิดบอกไว้สำหรับผู้มีกิจเกี่ยวข้องกับเรือฟิโอเนียว่าเรือนั้นจะมาถึงต่อเมื่อเวลาเที่ยง ก็ต้องกลับมาบ้าน ครั้นถึงเวลาใกล้เที่ยงลงไปอีกเห็นในใบแจ้งความ แก้เวลาเป็น ๑๓ นาฬิกาจึงจะถึง ปรึกษากับลูกหญิงที่ไปด้วยกันว่าจะทำอย่างไรดี จะคอยอยู่ที่ท่าชั่วโมงหนึ่งก็ร้อนนัก จะกลับบ้านก็จะมีเวลาพักสักครึ่งชั่วโมง หญิงพูนแนะให้เลยไปซื้ออาหารกลางวันกินที่โรงเลี้ยงของกรมรถไฟซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับท่าเรือ ก็พากันไปว่าซื้ออาหารกินด้วยกัน ๓ คน พอเขาจัดอาหารเสร็จยกมาเลี้ยงกินซุบกับของคาวได้ ๒ สิ่ง ซุยบี๊คนขับรถก็เข้าไปบอกว่าเรือฟิโอเนียถึงแล้ว ต้องเลิกกินอาหารรีบมาลงเรือยนต์เล็กให้ทันเวลา เพราะมีพวกอื่นที่เขาจะลงไปรับพวกพ้องของเขาอีกหลายราย กว่าจะรับชายดำได้ต้องไปถึง ๓ หน กลับมาถึงบ้านจนถึง ๑๔ นาฬิกา ตัวหม่อมฉันได้เคยพบกับเธอเมื่อไปถึงเมืองเดนมาร์ค ๗ ปีมาแล้ว เห็นแต่เธอสูงใหญ่ล่ำสันผิดแต่ก่อน แต่แม่ของเธอมีลูกคนเดียวต้องพรากกันมาถึง ๑๔ ปี พอเห็นลูกก็เข้ากอดร้องไห้ด้วยความปีติน่าสงสาร จนหม่อมฉันกลั้นน้ำตาไม่ได้ ชายดำนั้นดูอัชฌาศัยใจคอเรียบร้อย เป็นผู้ลากมากดีน่าเอ็นดู การเรียนก็ได้รับการยกย่องว่าดีมาก เมื่อเข้าไปกรุงเทพฯ คงไปเฝ้าท่าน แต่จะไปเมื่อไรยังไม่ทราบแน่ด้วย หลวงสินธุ์บอกแก่เธอว่าจะพาไปดูสถานีทหารเรือที่สัตหีบด้วยตนเอง เธอยังถามกำหนดที่หลวงสินธุ์จะไป จะเข้าไปให้ทันกำหนดนั้น ชายหยดเกิดเมื่อชายดำไปยุโรปแล้ว แต่พอพี่มาถึงก็รักติด เดี๋ยวนี้ไปไหนไปด้วยกันทุกวัน เลยเป็นล่ามภาษามลายูของชายดำด้วย ชายปานที่ตรัสถึงนั้น พวกพี่ๆ เขาบอกมายังหม่อมฉันว่ามีอุปนิสัยชอบโบราณคดี เป็นต้นว่าชอบอ่านหนังสือพงศาวดารยิ่งกว่าหนังสืออื่นๆ แต่หม่อมฉันยังไม่ได้ทดลองให้ประจักษ์แก่ใจเลย

จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ต่อไป จะย้อนทูลวินิจฉัยเรื่องพัดพระอีก อันตาลปัตรที่พระใช้นั้นหม่อมฉันเห็นว่าเดิมมิใช่ของพระคิดขึ้น หรือคิดขึ้นสำหรับพระ คงเป็นของประดิษฐ์ขึ้นสำหรับพัดรำเพยลม และใช้กันเป็นสามัญในอินเดียมาแต่ก่อนพุทธกาลข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยพัดวาลวิชนี และพัดโบกก็ทำด้วยใบตาลทั้งนั้น และเป็น ๒ อย่างมาแต่เดิม คือเอาด้ามไว้ข้างตัวพัดเช่นวาลวิชนีและพัดโบกคงทำรูปอย่าง ๑ เอาด้ามไว้กลางเช่นพัดต้มน้ำร้อนอย่าง ๑ พระเป็นแต่เอาตาลปัตรที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นเครื่องบังตา ตาลปัตรพระพม่ายังเป็นรูปอย่างวิชนีจนบัดนี้ เป็นแต่ตัดด้ามให้สั้นแลขยายขนาดใบพัดให้ใหญ่ ตาลปัตรพระไทยเอาแบบพัดอย่างต้มน้ำร้อนมาใช้ ทำขนาดใหญ่ขึ้นก็ต้องมีตับคาบใบตาลตลอดยอด พัดพระอย่างเป็นพื้นแผงก็คือเอาแผงใช้แทนใบตาล พัดพระอย่างที่หุ้มผ้าก็ยักเยื้องมาแต่แบบพัดอย่างต้มน้ำร้อนนั่นเอง เป็นแต่ทำรูปเป็นโครงมีขอบแล้วเอาผ้าหรือแพรหุ้มข้างนอกโครงจึงต้องคาบตับรักษารูปพัด

เรื่องพระมงคลบพิตรที่ตรัสถามมานั้น มีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ๓ แห่ง

ในเล่ม ๑ หน้า ๒๕๙ ตอนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ว่าเมื่อปีเถาะจุลศักราช ๙๖๕ (พ.ศ. ๒๑๔๖) ให้ชักพระมงคลบพิตรอยู่ฝ่ายตะวันออกมาไว้ฝ่ายตะวันตก แล้วให้ก่อมณฑปใส่

ในเล่ม ๒ หน้า ๑๗๔ ตอนรัชกาลพระเจ้าเสือ ว่าเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๐๖๒ (พ.ศ. ๒๒๔๓ ภายหลังชักมาทำมณฑปใส่ได้ ๙๖ ปี) อสนิบาตตกต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้เครื่องบนหล่อลงมาถูกพระมงคลบพิตร พระเศียรหักสะบั้น จนพระศอพระเศียรตกลงมาอยู่ที่พื้น พระเจ้าเสือดำรัสสั่งให้รื้อมณฑปสร้างเป็นมหาวิหารสูงใหญ่ยาวเส้นเศษ สำเร็จในปีมะเมียจุลศักราช ๑๐๖๔ (พ.ศ. ๒๒๔๕ ไม่กล่าวถึงต่อพระเศียร) มีการฉลอง ๓ วัน

ในเล่ม ๒ หน้า ๒๒๖ ตอนรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่าเมื่อปีระกาจุลศักราช ๑๑๐๓ (พ.ศ. ๒๒๘๔) โปรดให้กรมพระราชวังบวร (เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นแม่การต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรซึ่งตกอยู่นั้นให้คืนดีดังเก่า มณฑปนั้นให้รื้อต่อใหม่แปลงเป็นพระมหาวิหาร

ความในหนังสือพระราชพงศาวดารที่คัดถวายมานี้แย้งกันเองก็มี ยังเป็นข้อฉงนสนเท่ห์ก็มี จะทูลพระวินิจฉัยต่อไป

๑. พระมงคลบพิตรนั้นใครสร้าง ข้อนี้ตอบได้เป็นยุติว่าผู้สร้างต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงสามารถสร้างพระหล่อขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นๆ บรรดามีในพระนครศรีอยุธยา หรือจะว่าทั้งเมืองไทยก็ได้

๒. พระมงคลบพิตรนั้นสร้างเมื่อใด ข้อนี้มีหลักฐานเป็นข้อสังเกตได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือต้องสร้างเมื่อภายหลังตั้งพระนครศรีอยุธยาแล้ว แต่ว่าก่อนรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม หรือถ้าว่าโดยศักราชต้องสร้างในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ กับ พ.ศ. ๒๑๔๕ อีกอย่างหนึ่งนั้นสังเกตลักษณะพระพุทธรูปเอง ดูเป็นแบบพระสุโขทัยกับแบบพระอู่ทองระคนกัน ไม่ใช่แบบอู่ทองแท้เหมือนพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ที่วัดธรรมิกราช (ซึ่งเหลือแต่พระเศียรรักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์สถาน) ถ้าวินิจฉัยโดยเค้าเงื่อนนี้ก็ส่อว่า สร้างในสมัยตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมา คือ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ กับ พ.ศ. ๒๑๔๕ ช้ามาสัก ๑๐๐ ปี

๓. พระมงคลบพิตรนั้น สร้างด้วยเจตนาจะให้มีหลังคาครอบไว้ในร่ม หรือจะตั้งไว้กลางแจ้ง ข้อนี้พิเคราะห์ดูชอบกล ตามสังเกตมา การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่แต่โบราณดูมีเจตนาเป็น ๒ อย่างต่างกัน อย่างหนึ่งซึ่งเราเรียกกันว่า “พระโต” จะเป็นพระนั่งขัดสมาธิอย่างพระเจ้าแพนงเชิงก็ตาม พระนอนอย่างพระนอนจักรศรีก็ตาม หรือพระนั่งห้อยพระบาทประทานเทศนา เช่น (องค์ซึ่งมาเรียกกันภายหลังว่าพระป่าเลไล) ณ เมืองสุพรรณบุรีก็ดี ดูสร้างด้วยเจตนาจะให้อยู่กลางแจ้ง เช่นเดียวกับพระสถูปเจดีย์ทั้งนั้น (ที่เมืองพม่าก็ยังมีอยู่หลายองค์) ในเมืองเราพระป่าเลไลที่เมืองสุพรรณทำแปลกอย่างหนึ่ง เพราะองค์พระสูงกว่าส่วนกว้าง เขาเกรงจะล้มจึงก่อเป็นซุ้้มติดกับองค์พระ ดูเหมือนหนึ่งพระนั่งในซุ้มห้อยพระบาทออกมาข้างนอก เห็นได้ว่าเดิมสร้างไว้กลางแจ้ง เพราะฉะนั้นบรรดาพระโตไม่เลือกว่าอย่างใด คนภายหลังไปสร้างวิหารครอบจึงเสียงามหมดทุกองค์ การสร้างพระอีกอย่างหนึ่งนั้นสร้างขนาดย่อมลงมา ด้วยเจตนาจะตั้งเป็นพระประธานในวิหาร เขาคิดแบบวิหารด้วยกันกับแบบองค์พระ เช่น พระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกจึงดูสง่างามเพราะทำวิหารประกอบกับองค์พระ ไม่ใช่ทำวิหารครอบองค์พระเมื่อภายหลัง พระมงคลบพิตรนั้นถ้าว่าโดยขนาดก็ควรนับว่าอยู่ในพวกพระโต ผิดกับพระโตองค์อื่นๆ แต่สร้างเป็นพระหล่อ จึงน่าคิดว่าเดิมเจตนาจะตั้งกลางแจ้ง (เหมือนอย่างที่เมืองญี่ปุ่น) หรือจะให้มีหลังคาอย่างใดอย่างหนึ่งปกคลุม เรื่องนี้จะกล่าววินิจฉัยในข้ออื่นต่อไป

๔. ในหนังสือพงศาวดาร เริ่มกล่าวถึงพระมงคลบพิตรว่า พระเจ้าทรงธรรมให้ “ชัก” พระมงคลบพิตรจากทางตะวันออกไปไว้ทางตะวันตกของพระราชวัง ตามคำที่ว่าชวนให้เข้าใจว่าย้ายพระมงคลบพิตรจากด้านหนึ่งไปไว้อีกด้านหนึ่งของพระราชวัง ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระราชวังกรุงศรีอยุธยาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังวังไปทางทิศตะวันตก การย้ายพระมงคลบพิตรเป็นเลื่อนจากข้างตอนหน้าวังถอยเข้าไปไว้ตอนหลัง หรือว่าให้เข้าใจได้ง่ายด้วยเปรียบแผนผังกรุงเทพฯ ว่าเดิมพระมงคลบพิตรอยู่ราวที่หลักเมือง ย้ายเอาไปไว้ที่ตรงมุมวัดพระเชตุพนเท่านั้น ข้อวินิจฉัยสำคัญอยู่ตรงคำว่า “ชัก” (คือเลื่อน) องค์พระจากที่เดิมเอาไปยังที่ใหม่ พระใหญ่โตปานนั้นชักไปด้วยอาการอย่างใด การชักพระขนาดใหญ่ย้ายที่ที่มีปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่าพระราชสงครามสามารถย้ายพระนอนวัดป่าโมกไปได้ทั้งองค์ แต่พระนอนเป็นของเตี้ย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เชิญพระศรีศากยมุนี ซึ่งขนาดเล็กกว่าพระมงคลบพิตรมาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย มาทางบกแต่เมืองสุโขทัยเก่าจนถึงบ้านธานีที่ตั้งเมืองสุโขทัยใหม่ตอนหนึ่ง แล้วเอาลงแพล่องน้ำมาลงจนถึงกรุงเทพฯ อีกตอนหนึ่ง แล้วเอาขึ้นตะเฆ่แห่ทางบกไป ณ วัดสุทัศน์เป็นตอนที่สุด การที่เชิญพระศรีศากยมุนีมาครั้งนั้น เห็นจะเชิญติดกันมาทั้งองค์อย่างช่างเขียนรูปภาพเมื่อรัชกาลที่ ๕ คือดังเช่นเห็นตั้งอยู่ที่วัดสุทัศน์ทุกวันนี้ไม่ได้ เพราะเป็นพระขนาดใหญ่ คงต้องเลาะองค์พระออกเป็นท่อนๆ ตามรอยต่อเมื่อแรกหล่อ ถึงวัดสุทัศน์แล้วจึงกลับคุมเข้าอย่างเดิม พระมงคลบพิตรใหญ่โตกว่าพระศรีศากยมุนี การที่เชิญย้ายที่ไปคงต้องเลาะองค์พระออกเป็นชิ้นๆ ก่ออิฐเป็นแกนแล้วเอาชิ้นทองหล่อประกอบกลับ เป็นองค์พระขึ้นอีก ดูเป็นทั้งการใหญ่และยากลำบากมิใช่น้อย ข้อนี้ชวนให้เห็นว่าต้องมีเหตุสำคัญถึงเห็นสมควรจะทนความลำบาก และสิ้นเปลืองในการย้ายพระมงคลบพิตรอย่างว่า เพียงจากตรงที่หลักเมืองไปไว้ตรงมุมวัดพระเชตุพน หรือมิฉะนั้นอาจจะเป็นด้วยเหตุตรงกันข้าม คือเวลาเมื่อจะย้ายนั้นพระมงคลบพิตรยังสร้างค้างอยู่ พอขนย้ายไปได้ง่าย พระเจ้าทรงธรรมทรงพระราชดำริเห็นว่าตรงที่กะไว้เดิมไม่เหมาะ จึงให้ย้ายไปที่อื่น ถึงเป็นอย่างว่าข้างหลังนี้มีเค้าที่จะเดาต่อไป โดยคำพระยาโบราณเคยปรารภว่า วัดวรเชษฐารามที่ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถสร้างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรนั้น เป็นวัดเล็กนิดเดียวดูไม่สมกับเป็นวัดสร้างเฉลิมพระเกียรติเลย น่าเดาว่าพระมงคลบพิตรนี่ที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวร และสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่สร้างค้างอยู่ พระเจ้าทรงธรรม (เป็นพระราชบุตรของสมเด็จพระเอกาทศรถ) ทรงสร้างต่อ จึงให้ย้ายไปสร้างตรงที่ทรงพระราชดำริเห็นเหมาะ

๕. มณฑปพระมงคลบพิตรแรกมีเมื่อใด ข้อนี้อาจจะเป็นความคิดเดิม หรือเดิมคิดจะตั้งพระไว้กลางแจ้ง พระเจ้าทรงธรรมทรงพระราชดำริสร้างมณฑปก็เป็นได้

เมื่ออสุนีบาตตกไฟไหม้มณฑป พระเศียรพระมงคลบพิตรหักสะบั้นลงมา ในพงศาวดารกล่าวแห่งหนึ่งว่า พระเจ้าเสือต่อพระเศียรให้คืนที่และรื้อมณฑปแปลงเป็นวิหาร และมีการฉลอง ๓ วัน อีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อรัชกาลพระเจ้าบรมโกศให้ต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรแลให้สร้างพระมหาวิหาร แย้งกันอยู่นั้น หม่อมฉันเห็นว่าต้องต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรเมื่อรัชกาลพระเจ้าเสือ เพราะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิสังขรณ์ แต่มหาวิหารที่เหลืออยู่เดี๋ยวนี้ ดูเป็นฝีมือครั้งพระเจ้าบรมโกศ จะรื้อมณฑปหรือวิหารที่พระเจ้าเสือทรงสร้างไว้แล้วทำใหม่ก็เป็นได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ