วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ มกราคม ได้รับประทานแล้ว

ตามความในลายพระหัตถ์ตรัสเล่าเรื่องเสด็จไปรับชายดำ ดูพิโยคพิเกณฑ์มากแต่ก็ไม่เป็นไร ฝ่าพระบาทกับทั้งมวลพระญาติคงได้รับความเบิกบานใจคุ้มกันกับที่ต้องพิโยคพิเกณฑ์นั้น ให้รู้สึกสงสารหม่อมอบเป็นกำลัง จะทายไม่ถูกเลยว่าใจคอจะเป็นอย่างไร ชายหยดตามที่ตรัสเล่าประทานไปก็ด้วยอำนาจสาโลหิต เช่นเดียวกับหลานมดหลานตุ๊ดตู่ ตามที่ทรงพระดำริพรรณนาไปนั้นแล

เรื่องพัดพระตามพระดำรัสพรรณนานั้น ถูกต้องทุกประการ ปรากฏตามหนังสือที่มาทางพระไตรปิฎก มีเครื่องโบกพัดทำด้วยอะไรต่างๆ หลายอย่าง ทำด้วยใบไม้ก็มีตั้งแต่ใบตาลจนถึงใบแฝก ทำด้วยเปลือกไม้ ด้วยไม้ไผ่ ด้วยงาช้าง ด้วยขนนก มีทั้งนั้น และลักษณะแห่งเครื่องโบกพัดนั้นมีหลายอย่าง เป็นพัดก็มี เป็นแส้ก็มี เป็นที่กำดุจไม้ยุงกวาดก็มี เครื่องปัดที่เป็นกำเราทุกวันนี้ไม่ได้ใช้ แต่ยังมีกำหางนกยูงปรากฏอยู่ ใช้แต่ฟ้อนบนหลังช้างและประเลงรำหางนกยูงเล่นโขน โขนรำหางนกยูงก็ได้แก่จีนรำพัดนั้นเอง

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดค้นเรื่องพระมงคลบพิตรประทานให้ทราบเกล้า ตามเนื้อความที่ค้นได้ ก็เป็นอันได้ความพอใจแล้วเป็นส่วนมาก จะกราบทูลพรรณนาแลสันนิษฐานต่อไป

๑. ทำไมพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ๆ จึงต้องหล่อเป็นท่อนๆ เหตุด้วยเครื่องมือมีไม่พอที่จะหล่อให้เป็นแท่งเดียวได้

๒. ในท่อนหนึ่งซึ่งหล่อขึ้นนั้น โดยมากในชิ้นที่จะเอาเข้าประกบกัน เขามักทำเป็นลิ้นสวมกัน ดุจฝากับตัวตลับดังนั้น เมื่อเอาเข้าประกบกันแล้ว เขาตรึงหมุดไว้ห่างๆ เพื่อไม่ให้เคลื่อนออกจากกันไปได้

๓. ในการที่จะรื้อออกเป็นท่อนๆ นั้นไม่ยาก ตัดหมุดที่ตรึงไว้ออกเสียเท่านั้น ก็จะถอดออกได้เป็นชิ้นๆ แล้วเอาคุมเข้าใหม่ก็ตรึงหมุดเสียตามเดิมเท่านั้น

๔. ในการชักพระพุทธรูปหล่อจากที่แห่งหนึ่ง ไปในอีกแห่งหนึ่งควรที่จะรื้อออกเป็นท่อนๆ เช่นว่ามี ๑๐ ท่อนก็ประทุกด้วยตะเข้ ๑๐ ตัวลากเอาไป ไม่จำต้องชักไปทั้งองค์ดุจชะลอพระนอนวัดป่าโมก เชื่อว่าพระศรีสักยมุนีก็ชักด้วยวิธีรื้อออกเป็นท่อนๆ เช่นกล่าวมาแล้วนั้นเอง

๕. ที่ตั้งพระมงคลบพิตรอยู่แต่เดิม คงจะกีดอะไรเป็นที่สุด จึงจำต้องชักย้ายไปไว้ในที่ใหม่

๖. เดิมพระมงคลบพิตรจะตั้งอยู่อย่างไรก็ตามที แต่ที่พระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างมณฑปขึ้นปกนั้น สร้างแต่เพียงครอบมิดเท่านั้น ด้านหน้าด้านหลังฐานพระห่างเสาอยู่เพียง ๕ ศอก ด้านข้างห่าง ๒ ศอกเท่านั้น ทั้งนี้ก็น่าเห็นใจ ด้วยองค์พระพุทธรูปใหญ่โตเต็มที่ แม้ทำกระเบียดกระเสียนอย่างนั้นมณฑปก็สูงใหญ่พอการอยู่แล้ว

๗. ที่พระเจ้าเสือทรงสร้างแก้เป็นหลังคาคฤห์นั้น ไม่ได้ก่อแก้เสาและผนังอย่างไรเลย นอกจากก่อเสริมผนังด้านหน้าหลังเฉียงขึ้นไปรับที่ขื่อจั่วเท่านั้น ไม่ฉะนั้นจะทูลอย่างไรถูกว่าเดิมเป็นมณฑป

๘. พระเศียรพระพุทธรูปซึ่งหักตกลงมานั้น ต้องเอาขึ้นไปต่อคืนดีในครั้งเดียวกับที่ทำหลังคา จะทำแต่หลังคา ละพระเศียรพระพุทธรูปให้ทิ้งกลิ้งอยู่นั้นไปไม่ได้

๙. หลังคาวิหารพระมงคลบพิตร นับแต่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าเสือมาถึงที่ว่าซ่อมในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เป็นระยะ ๔๑ ปี ไม่ควรแก่กำหนดที่หลังคานั้นจะพัง พระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์โดยพระราชประสงค์จะให้ดีขึ้น ตามแนวที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์อะไรต่างๆ มาเป็นอันมากนั้นไม่ได้รื้อผนังเดิมก่อใหม่ สิ่งที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นในครั้งนั้นอาจชี้ได้ว่าที่เป็นส่วนใหญ่ก็คือมุขหน้าอย่างหนึ่ง กับเสารายรอบผนังด้านนอกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ภายในวิหารมืดลงมาก นอกกว่านั้นก็เป็นการซ่อมแต่ส่วนเล็กน้อย เช่นบัวฐานหัวเม็ดกำแพงแก้วเป็นต้น

มีเหตุที่จะกราบทูลถึงพระป่าเลไลสุพรรณบุรี ว่าที่ทำซุ้มประกอบองค์พระไว้นั้น ทำอย่างพระพิมพ์ พระพิมพ์ที่มีซุ้มประกอบองค์พระนั้น โดยมากเป็นพระที่ทำในชั้นกรุงเก่า หรือพระพิมพ์จะเอาอย่างพระป่าเลไลมาทำก็ไม่ทราบ

ชื่อพระป่าเลไลนั้นก็สงสัย ที่ว่ากันว่าเป็น “ปาลิลยก” นั้น เกรงว่าจะเป็นลากเอาเข้าไปสู่บาลีด้วยขอไปที คำ “ปาลลยก” นั้นก็เป็นแต่ชื่อช้าง จะเอามาเป็นชื่อพระดูก็หาควรไม่ ที่วัดป่าเลไลสุพรรณบุรีมีรูปช้างก็มาปั้นแบนๆ ไว้ที่เสา ทั้งเห็นได้ว่าเป็นของทำใหม่คนละรุ่น เดิมทีองค์พระก็มีช้าง เชื่อว่าท่านตั้งใจจะทำปางปฐมเทศนา อย่างที่พระปฐมเจดีย์หรือวัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า ฉะนั้นพระปางเก่าๆ ซึ่งมีรูปช้างติดอยู่ด้วยก็มีแต่ปางปล่อยช้างนาฬาคิรีหามีช้างถวายคนโทน้ำไม่

อนึ่งชื่อ “เลไล” ก็ได้เคยพบมาสู่ญาน จะเป็นเรื่องอะไรก็ลืมเสียแล้ว มีชื่อพระมหาเถรลไลหรือ เลไล หรือไลลาย อะไรอย่างหนึ่ง กับวัดพระทางเมืองเขมรในแขวงสูตรนิคมก็มี เรียกว่าวัดโลเลย เป็นเสียงเขมร ถ้าเขียนหนังสือจะเป็นวัดลไลย ได้ถามศาสตราจารย์เซเดส์ว่าแปลว่ากะไรก็ติด แปลไม่ออก เกรงว่าชื่อพระป่าเลไลจะเป็นชื่ออื่น ไม่ใช่ “ปาลิลยก” แต่จะเป็นชื่อมาแต่อะไรยังคิดไม่เห็น ที่เมืองสุพรรณบุรีก็เรียกกันว่าวัดป่า สงสัยจะเป็นสองคำคือ ป่าคำหนึ่ง เลไลคำหนึ่ง แต่อาจเป็นเรียกตัดให้สั้นก็ได้ หรือจะเป็นวัดป่าเรไร

เมื่อวานนี้ พระยาธรรมจรรยาส่งหมวกมาให้ใบหนึ่ง ทอด้วยอะไรก็ไม่ทราบ ดูทีเป็นป่าน เนื้อห่างโปร่งไปทั้งใบ เห็นได้ว่าเขาคิดสำหรับเมืองร้อน เพื่อไม่ให้ไอร้อนซึ่งออกจากหัวขังอบอยู่ได้ นึกถึงครั้งไปเที่ยวขุดอ้ายพังๆ ที่กรุงเก่าเพื่อดูอะไรเล่น เกล้ากระหม่อมไปเป็นลม พิจารณาหาเหตุก็เห็นว่าคงเป็นด้วยใส่หมวกสักหลาดมันเป็นหมวกสำหรับใส่เมืองหนาว โดยปรารถนาจะให้ไอร้อนซึ่งออกจากหัวขังอยู่อบหัวให้มีความสุข เอามาใช้เมืองเราผิดประเทศ จึงทำให้เจ็บ สังเกตเห็นแม่ค้าชาวเรือเขาใส่งอบพายเที่ยวไปกลางแดดวันยังค่ำ ดูเขายิ้มแย้มแจ่มใสดี นึกดูก็เห็นเหตุว่าเพราะงอบไม่ได้ครอบหุ้มศีรษะ มีลมพัดผ่านรังงอบไปได้ จึ่งได้ซื้องอบไว้ใส่ไปเที่ยว ตั้งแต่นั้นก็ไม่เป็นลมอีกเลย นึกถึงธรรมเนียมไทย การปิดหัวมีอยู่สองอย่าง โพกหัวด้วยผ้าอย่างหนึ่ง ซึ่งเมืองใกล้เคียงก็ทำกันอยู่ทั่วไป กับใส่งอบอีกอย่างหนึ่ง โพกผ้าคงเป็นวิธีเก่า ใส่งอบคงเป็นวิธีใหม่

ในบางกอกเวลานี้หนาวเต็มที่ ไม่สบายเลย ร่างกายมันทรุดโทรมไม่มีเลือดฝาดจะต่อสู้กับความหนาวได้ รอดตัวนิดเดียวที่ความหนาวมันไม่อยู่นานเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ