คำตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรีที่ ๑๐

คำถามข้อ ๑๐ ว่า เหตุใดสารตรากระทรวงมหาดไทยจึงใช้นาม “เจ้าพระยาจักรี” เป็นนิจ ไม่ว่าใครเป็นตัวเสนาบดี และถามว่าเสนาบดีกระทรวงอื่นๆ มีนามสำหรับใช้เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยหรือไม่

ตอบคำถามข้อ ๑๐ จะต้องกล่าวพิสดารสักหน่อยจึงจะเข้าใจได้ชัดเจน ยศขุนนางไทยแต่โบราณมีองค์ ๔ ประกอบกัน

องค์ที่ ๑ คือ “บรรดาศักดิ์” ซึ่งเป็นเจ้าพระยา หรือพระยา พระ หลวง

องค์ที่ ๒ คือ “นาม” เช่นเรียกว่า เจ้าพระยา “จักรี” พระยา “ราชสุภาวดี” พระ “มหามนตรี” หลวง “อินทรมนตรี” เป็นต้น

องค์ที่ ๓ คือ “ตำแหน่ง” เช่นพระยาจักรีเป็นตำแหน่ง “สมุหนายก” (ภายหลังเรียกว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย) พระยาราชสุภาวดีเป็น “ตำแหน่งอธิบดีกรมพระสุรัสวดี” พระมหามนตรีเป็น “ตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจในซ้าย หลวงอินทรมนตรีเป็น “ตำแหน่งเจ้ากรมสรรพากรนอก”

องค์ที่ ๔ คือ “ดวงตรา” สำหรับประทับ (แทนลงชื่อด้วยมือของตนเอง) เป็นสำคัญในหนังสือสั่งราชการตามหน้าที่

องค์ทั้ง ๔ ที่พรรณนามานี้ องค์ที่ ๑ (บรรดาศักดิ์) นั้น อาจจะเปลี่ยนตามตัวบุคคลเป็นครั้งเป็นคราว เช่นพระมหามนตรีคนใดมีความชอบเป็นพิเศษ อาจจะเปลี่ยนเป็นพระยามหามนตรีได้ แต่องค์ที่ ๒ (คือนาม) กับองค์ที่ ๓ (คือตำแหน่ง) นั้น ชั้นเดิมไม่มีเปลี่ยนเลยทีเดียว ยกตัวอย่างดังใครเป็นตำแหน่งสมุหนายก ก็ต้องได้นามว่า เจ้าพระยาจักรี ใครเป็นเจ้าพระยาจักรี ก็ต้องเป็นตำแหน่งสมุหนายก ถึงขุนนางชั้นอื่นและกรมอื่น นามกับตำแหน่งก็ติดกันเช่นนั้น ยกตัวอย่างดังตำแหน่งเจ้ากรมสรรพากรนอก ใครเป็นก็ต้องมีนามว่าหลวงอินทรมนตรีทุกคนไป

องค์ที่ ๔ คือ“ดวงตรา” นั้น ก็ต้องประจำอยู่กับตำแหน่งเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกัน ผิดกันแต่ตราหลวงมีสำหรับเพียงบางตำแหน่ง ดังจาระไนไว้ในกฎหมาย “ลักษณะพระธรรมนูญ” และ “ทำเนียบศักดินา” หามีทุกตำเหน่งไม่ ยกตัวอย่างดังสมุหนายกมีตราสำหรับตำแหน่ง ๒ ดวง ดวง ๑ เรียกว่า “ตราจักร” สำหรับประทับเป็นสำคัญในสารตราสั่งให้ประหารชีวิตในหัวเมือง (ถึงประหารชีวิตคนในหัวเมืองที่ขึ้นกลาโหม หรือกรมท่า เจ้ากระทรวงนั้นๆ ก็ต้องมาขอให้มหาดไทยประทับตราจักร ลงตรงชื่อนักโทษที่จะต้องประหารชีวิต จึงจะประหารชีวิตได้) เพราะตราจักรเป็นตราอาญาสิทธิสำคัญเช่นนั้น สมุหนายกผู้ถือตราจึงมีนามว่า “เจ้าพระยาจักรี” (ภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ถือจักร”) ตราสำหรับตำแหน่งสมุหนายกยังมีอีกดวง ๑ เรียกว่า “ตราพระราชสีห์” สำหรับประทับในหนังสือสั่งราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีกลาโหมก็มีตราพระคชสีห์ สำหรับประทับหนังสือสั่งราชการฝ่ายทหารทั่วไป เจ้ากระทรวงและกรมอื่นอันมีตราหลวงสำหรับตำแหน่ง ก็ประทับตราหลวงสั่งราชการตามหน้าที่เป็นทำนองเดียวกัน เช่นตรา “พระอุเทนดีดพิณ” เป็นตราเจ้ากรมสรรพากร เป็นต้น

ประเพณีที่กล่าวมา ถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่งก็คือ ตำแหน่งกับนามของข้าราชการคงที่อยู่เสมอ เปลี่ยนแต่ตัวคน คิดดูก็สะดวกดีอยู่บ้าง เพราะประชาชน The Public ไม่ต้องสืบถามว่าใครเป็นตำแหน่งใด หรือกระทรวงใดกรมใดใครเป็นผู้บังคับบัญชา ใครรับตำแหน่งสมุหนายกก็เปลี่ยนนามเป็น “เจ้าพระยาจักรี” เหมือนกันทุกคน ผู้ที่ได้เป็นตำแหน่งอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นชื่อในสารตรากระทรวงมหาดไทยจึงใช้ว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรี” เป็นนิจ กระทรวงอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน สารตรากระทรวงกลาโหมใช้นามว่า “สารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ฯ” สารตรากรมท่าใช้นามว่า “สารตราเจ้าพระยาศรีธรรมราช ฯ” แบบชั้นเดิมเป็นดังกล่าวมานี้ แต่มามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖ เพราะเกิดรบพุ่งเป็นศึกกลางเมืองก่อนจึงได้ครองราชสมบัติ ครั้งนั้นต้องเปลี่ยนเสนาบดีเก่าเอาผู้ที่ได้ช่วยรบพุ่งตั้งเป็นบำเหน็จความชอบ ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าทรงตั้งขุนชำนาญชาญนรงค์ นายทหารเอกที่อาสาออกรบตัวต่อตัวกับพระธนบุรีมีชัยชนะ ให้เป็น “เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์” (มียศเช่นสมเด็จเจ้าพระยา) และ “ว่าที่โกษาธิบดี” (กรมท่า) ด้วย นอกจากนั้นทรงตั้งหลวงจ่าแสนยากร อธิบดีมหาดไทยวังหน้าเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ที่ “สมุหนายก” ปรากฏว่าใช้นามอื่นแทนนามเจ้าพระยาจักรีเป็นทีแรก แต่นั้นมาสมุหนายกก็มีนามอื่น มิได้ตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี มาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยกรุงธนบุรี กลับตั้งสมุหนายกให้มีนามว่าเจ้าพระยาจักรีอีก มีเจ้าพระยาจักรีมาหลายคนจนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเปนที่สุด แต่ต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์กลับไปใช้แบบอย่างครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ตั้งสมุหนายกให้มีนามอื่น ไม่มีใครเป็นเจ้าพระยาจักรีต่อมาจนเลิกตำแหน่งสมุหนายกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่ประหลาดอยู่ที่การเปลี่ยนนามไปต่างๆ เปลี่ยนแต่สมุหนายกตำแหน่งเดียว เสนาบดีตำแหน่งอื่นแม้จนสมุหกลาโหม (อันเป็นอัครเสนาบดีคู่กันกับสมุหนายก) ก็ใช้นามเดิมว่า “เจ้าพระอัครเสนาบดี” ตลอดมา เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นนามเฉพาะตัวตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อภายหลัง) ส่วนเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ก็เพิ่งเปลี่ยนจากเจ้าพระยาพระคลังเป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (เพราะแยกกรมท่าออกเป็นกระทรวงการต่างประเทศต่างหากจากกระทรวงพระคลัง) แต่นามเสนาบดีกรมเมืองคงเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมวังคงเป็นเจ้าพระยาธรรมา และเสนาบดีกรมนาคงเป็นเจ้าพระยาพลเทพตลอดมา หาปรากฏว่าได้เปลี่ยนนามเสนาบดี ๓ คนนั้นในสมัยใดไม่ แต่การที่เปลี่ยนนามสมุหนายกสมุหกลาโหม และเจ้าพระยาพระคลัง เป็นนามเฉพาะตัวดังกล่าวมานั้น มิได้ให้เปลี่ยนนามที่ใช้ในสารตรา หรือในหมายรับสั่ง แม้สมุหนายกจะมีนามว่ากระไร หรือจะเป็นเจ้า หรือเมื่อเลิกตำแหน่งสมุหนายกเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็คงใช้นามในสารตราและหมายรับสั่งว่า “เจ้าพระยาจักรี” เหมือนอย่างเดิม สมุหกลาโหมก็คงใช้นามเดิมว่า เจ้าพระยาอัครเสนาบดีอย่างเดิมเช่นเดียวกัน ข้อนี้มีหลักฐานอยู่ในหมายรับสั่งครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งหอสมุดฯ พิมพ์สำเนาไว้ในหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙” ว่า

“วันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๓) ปีชวด โทศก เจ้าพระยาจักรีรับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่าขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (และมีรายชื่อผู้อื่นอีก ซึ่งเคยเป็นข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาเรียกในหมายว่า) คนเก่า ๒๐ คน มาพร้อมกัน ณ โรงพระแก้วมรกต บอกขนบธรรมเนียมราชการอย่างแต่ก่อน”

ก็จุลศักราช ๑๑๔๒ ที่ลงในหมายรับสั่งฉบับนี้เป็นเวลาก่อนสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรี ๓ ปี เจ้าพระยาจักรีผู้รับสั่งนั้นมิใช่คนอื่น คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่เวลานั้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและคงเป็นสมุหนายกอยู่ด้วย มาแต่ปีระกาจุลศักราช ๑๑๓๙ ได้ถึง ๓ ปีแล้ว ที่ใช้พระนามว่า “เจ้าพระยาจักรี” ในหมายรับสั่งนี้ บ่งให้เห็นชัดว่าตามประเพณีที่ใช้มาแต่กรุงศรีอยุธยา สมุหนายกในกรุงรัตนโกสินทร์จึงถือเป็นแบบนั้นสืบมา แม้เลิกตำแหน่งสมุหนายก เปลี่ยนเป็น “เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” ก็คงใช้นามว่าเจ้าพระยาจักรีในสารตราเพราะคงถือตราจักรและตราพระราชสีห์อยู่อย่างเดียวกันกับสมุหนายก

มีกรณีในเรื่องใช้นาม เจ้าพระยาจักรี อย่างประหลาดครั้ง ๑ เกี่ยวกับตัวฉันด้วย ปีหนึ่งฉันออกไปตรวจราชการในมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ในเวลาเมื่อเดินทางขากลับจะมาขึ้นรถไปที่เมืองนครราชสีมา เผอิญเกิดโรคแปลกขึ้นที่เมืองนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นห่วงฉัน ดำรัสสั่งให้พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ปลัดทูลฉลอง ซึ่งเป็นผู้รักษาราชการกระทรวงมหาดไทยอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ห้ามฉันอย่าให้เข้ามาพักแรมที่ในเมืองนครราชสีมา พระยาราชวรานุกูลจะมีโทรเลขหรือมีเพียงจดหมายไปห้ามก็ได้ แต่ท่านเป็นถือขนบธรรมเนียมเคร่งครัดถือว่าการที่ห้ามเป็นพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง จึงให้ทำเป็นสารตราขึ้นต้นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรีฯ ทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” ดูเหมือนเจ้าพระยาจักรีกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็น ๒ คนต่างกันใครไม่รู้เค้าก็น่าจะเห็นขบขัน แต่ที่จริงทำถูกต้องตามลักษณะสารตรา ซึ่งจะกล่าวอธิบายต่อไปนี้

หลักการปกครองประเทศสยามตั้งแต่โบราณมา การบังคับบัญชาสิทธิขาดอยู่ในพระเจ้าแผ่นดิน เสนาบดีเป็นแต่ผู้ทำการตามรับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน ตราพระราชสีห์ และตราพระคชสีห์ สำหรับประทับเป็นสำคัญในหนังสือรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน ก็แต่มีการอย่างอื่นอันเป็นหน้าที่เสนาบดีจะต้องมีหนังสือของตนเองสั่ง หรือชี้แจง เสนาบดีจึงมีตราตำแหน่งเป็น ๒ ดวง อธิบายเฉพาะกระทรวงมหาดไทยคือ มีตราพระราชสีห์ใหญ่สำหรับประทับหนังสือรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินดวง ๑ ตราพระราชสีห์น้อยสำหรับประทับตัวหนังสือคำสั่งของตัวเสนาบดีเองอย่าง ๑ สมุหกลาโหมก็มีตราพระคชสีห์ใหญ่และตราพระคชสีห์น้อยอย่างเดียวกัน เพราะหลักการเป็นเช่นว่ามา จึงเกิดคติที่ถือกันเป็นตำราในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมว่า

๑) หนังสือซึ่งเชิญพระราชโองการ ต้องประทับตราพระราชสีห์ใหญ่ และเรียกหนังสือเช่นนั้นว่า “สารตรา”

๒) เสนาบดีจะมีชื่อว่ากระไรก็ตาม หรือจะเป็นผู้รักษาการชั่วคราว ถ้ามีสารตราต้องขึ้นชื่อว่า “เจ้าพระยาจักรีฯ” แบบสารตราจึงขึ้นต้นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ” ดังนี้เป็นนิจ

๓) หนังสือซึ่งประทับตราพระราชสีห์น้อยนั้นคล้ายกับจดหมายนามของเสนาบดีตามที่เป็นจริง และเรียกหนังสืออย่างนี้ว่า “ท้องตรา”

๔) มีคติที่ถือกันตามเข้าใจง่ายอีกอย่างหนึ่ง ว่าตราพระราชสีห์ใหญ่นั้น ต้องอยู่ประจำ ณ ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินเสนาบดีไปไหนเอาติดตัวไปได้แต่ตราพระราชสีห์น้อย ข้อนี้ก็สมควรตามลักษณะที่ใช้ตราใหญ่กับตราน้อยต่างกันดังว่ามาแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ