บันทึกทักพระวิจารณ์ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ (ท่อนที่ ๒)

บันทึกทักพระวิจารณ์ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ (ท่อนที่ ๒)

ในตามหมายเลข ซึ่งว่าด้วยกระบวนเสด็จประพาสนั้น เห็นข้อความเรียบร้อยดีแล้ว เว้นแต่หัวพันนายเวรกระทรวงกลาโหมมีชื่อแต่ ๖ คน ตกไป ๒ คน คือพันอินทราช กับนายบริบาลบรรยงก์ และหน้าที่กล่าวไขว้เป็นพันพรหมราชหน้าที่จ่ายเครื่องสรรพยุทธ แต่ที่ถูกพันพรหมราช กับนายบริบาลบรรยงก์ เป็นเวรเรือ พันอินทราช กับ นายฤทธิรงค์อาวุธ เป็นเวรเครื่องสรรพยุทธ อนึ่งซึ่งนายวิสูทธมนเฑียร เรียกกันเป็นเสียงยาวเช่นนั้น แต่เห็นว่าท่านผู้ขนานนามนั้นท่านตั้งใจขนานเป็นเสียงสั้น คือ นายวิสุทธมณเฑียร เพราะได้สัมผัสชื่อนายฤทธิรงค์อาวุธ และตรงตามภาษาบาลีด้วย หากจะแก้ตีนอูเป็นตีนอุเสียก็เห็นจะไม่รู้สึกขวางหูขัดตาด้วยเป็นส่วนน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นจึงควรแก้เป็นดังนี้

กระทรวงกลาโหม พันพรหมราชกับนายบริบาลบรรยงก์ เป็นพนักงานสั่งเกณฑ์เรือ พันอินทราช กับ นายฤทธิรงค์อาวุธเป็นพนักงานสั่งจ่ายเครื่องสรรพยุทธ พันทิพราชกับนายวิสุทธมณเทียรเป็นพนักงานสั่งทำตำหนักพลับพลาและฉนวนน้ำ พันเทพราชกับกับนายจำเนียรสารพลเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์คน ถึงเวลาจัดกระบวนหัวพัน ๘ คนนั้นมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจกระบวนที่เกี่ยวกับหน้าที่แผนกของตนด้วย จึงมีชื่อในตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ในตอนหมายเลข ๔ ซึ่งว่าด้วยเรือกระบวนเสด็จ ให้นึกครั่นคร้ามเป็นอันมาก เต็มไปแต่ด้วยความสงสัย กลัวจะเป็นการวิจารณ์ผิดเพราะเข้าใจผิดด้วยเรือต่างๆ ที่เราได้เห็นลำและได้ยินคนเรียกนั้นก็ส่วนหนึ่ง ได้เห็นหนังสือเขียนมาแต่บรมโบราณเรียกไว้นั้น ก็อีกส่วนหนึ่ง เมื่อจะเอาทั้งสองส่วนเข้าปรับให้ลงกันนั้นแหละ เห็นว่าเป็นยากมาก เรือแต่ละลำเรียกได้เป็นหลายอย่าง เรียกตามตำแหน่งหน้าที่เป็นเรือดั้งเรือแซงก็ได้ เรียกตามชนิดเรือ เช่นเรือกราบเรือรูปสัตว์ก็ได้ หรือเรียกถี่เข้าไปอีกเป็นเรือหงส์เรือครุฑก็ได้ เรียกตามชื่อตั้งไว้ให้แก่เรือเช่นสมรรถชัย ไกรสรมุขก็ได้ หรือเรียกตามชื่อผู้กำกับเรือ เช่นเรือทหารในหรือเรือพระราชโยธาเทพก็ได้ เช่นนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงจะตั้งปัญหาทูลถามตามข้อที่สงสัย เพื่อได้ทรงพิเคราะห์ประทานพระดำริให้เข้าใจดีเสียก่อน จึงจะทำวิจารณ์ให้เป็นไปด้วยดีได้ ข้อสงสัยอันจะพึงตั้งปัญหาทูลถามมีดังนี้

๑. เรือพระที่นั่งกิ่ง ตรัสอธิบายไว้ในวงเล็บว่า มีเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ เป็นต้น ตามที่ทรงอธิบายนี้มีหลักฐานมาแต่ที่ใด ไม่เคยพบที่ไหนเลยซึ่งเรียกเรือกิ่งสุพรรณหงส์ พบแต่เรียกเรือชัยสุพรรณหงส์ แท้จริงเรือหงส์เป็นเรือรูปสัตว์ ถ้าเรือสุพรรณหงส์เป็นเรือกิ่ง เรือราชสีห์ เรือเลียงผา ก็ต้องเป็นเรือกิ่งหมดนั่น

๒. เรือชัยกับเรือกิ่ง ฟังตามที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ดูประหนึ่งเป็นเรืออย่างเดียวกัน ด้วยประเดี๋ยวก็เรียกเรือชัย ประเดี๋ยวก็เรียกเรือกิ่ง เกล้ากระหม่อมก็อยากทราบแน่ เคยค้นมาพักหนึ่งแล้ว ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรมีว่า “ทรงรัตนพิมานชัย กิ่งแก้ว” มีคำชัยกับกิ่งรวมอยู่ในที่เดียวกันจะฟังว่าเรือชัย คือเรือกิ่ง หรือชื่อเรือชื่อว่า “รัตนพิมานชัย” แต่ตัวเรือเป็นเรือกิ่ง อีกบทหนึ่งมีว่า “เรือชัยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม เสียงส้าวเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน” ในที่นี้กล่าวลักษณะเป็นเรือดั้ง ควรจะฟังว่าเรือดั้งเรียกเรือชัยก็ได้หรือไร หรือแต่ก่อนโน้นใช้เรือกิ่งเป็นเรือดั้งทั้งหมด อันนี้ก็มีหลักที่ได้เห็นใช้เรือชัยเหิรหาว หลาวทองเป็นคู่ชัก เกล้ากระหม่อมเคยนึกวินิจฉัยมาแล้ว แต่จะผิดหรือถูกก็ยังไม่ทราบแน่ นึกว่าคำเรือชัยก็แปลว่าเรือชนะ หากว่าเรือชนิดไรที่ใช้การเข้ารบเห็นจะเรียกว่าเรือชัยได้ทั้งสิ้นกระมัง เรือกิ่งนั้นเป็นชนิดเรือจำเพาะแต่อย่างที่มีหัวเป็นกิ่งกนกตั้งขึ้นไป ซึ่งในพระราชพงศาวดารว่าทำตามอย่างพระเจ้าทรงธรรมตรัสสั่งให้เอากิ่งดอกเลาเข้าประดับเรือ ฝ่าพระบาทตรัสอ้างถึงรูปเรือฉลักที่พระนครวัด อันได้ทำมาแล้วตั้งพันปีมีรูปเรือกิ่งกนกอยู่ที่นั่นเป็นหลักฐานที่แน่นแฟ้นมาก ถึงทำให้ความซึ่งกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารตกเป็นไม่จริงไป

๓. เรือศรี จะหมายความอย่างไร สิริ หรือสีแดงเขียว นึกว่าไม่ใช่สิริ เพราะมีเรือศรีสักหลาดเป็นคู่เทียบอยู่ แม้ว่าเป็นสีแดงเขียวก็ยังเป็นไปได้อีกสองทาง คือลำเรือทาสีอย่างหนึ่ง หลังคาดาดสีอีกอย่างหนึ่ง และที่ชื่อว่าเรือศรีนั้น จะเป็นอย่างเดียวกับเรือศรีสักหลาดหรือมิใช่ ดาดดูน่าจะหมายถึงหลังคาดาดสีเสียแหละมาก เพราะเป็นยศอยู่ที่หลังคามากกว่าที่ลำเรือ และเมื่อพูดถึงสีก็มักจะหมายถึงหลังคา เช่นกลอนว่า “ทรงพระวอช่อฟ้าหลังคาสี” อันชื่อว่าเรือศรีสักหลาดนั้นบอกชัดว่าเป็นผ้า ผ้าสีก็มีทางอย่างเดียวแต่หุ้มหลังคา จะเป็นได้หรือไม่ว่า ก่อนโน้นดาดสีหลังคาด้วยผ้าทำในเมืองไทย มีผ้าแดงยอเป็นต้น ซึ่งเป็นสีแดงมัว ครั้นมีสักหลาดเข้ามา สีสดใส จึงเปลี่ยนใช้สักหลาดดาดหลังคาแทนผ้าเมืองไทยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นได้หรือไม่ว่า ถ้าดาดหลังคาด้วยผ้าเมืองไทย จะเรียกว่าเรือสี แม้ดาดหลังคาด้วยผ้าสักหลาดซึ่งมาแต่นอก จะเรียกว่าเรือสีสักหลาด ข้อที่จะหมายถึงลำเรือทาสีนั้นเห็นห่างไกลอยู่มาก และมีเรืออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเรือ “โขมดยา” ซึ่งหมายความว่าหัวทาน้ำยา เป็นสิ่งเทียบให้เห็นเค้าอยู่ ว่าลำเรือทาสีนั้นใช้คำอย่างอื่น

๔. หัวหมื่นมหาดเล็กลงเรือพระที่นั่ง ซึ่งผิดกับประเพณีเดี๋ยวนี้ ที่หัวหมื่นมหาดเล็กเฝ้าอยู่ในกัญญานั้น ในสมุดเล่มที่วิจารณ์อยู่เดี๋ยวนี้เอง ตอนที่ว่าด้วยหน้าที่มหาดเล็ก หน้า ๓๙ มีความไขให้ปรากฏว่า “ถ้าข้างในลงเรือด้วย และให้หัวหมื่นนายเวร ๆ รับสั่งลงเรือพระที่นั่งคน ๑ กับชาวแสงปืนคน ๑ - - ถ้าแลข้างในมิได้ลงเรือด้วย ให้หัวหมื่นนายเวร จ่าเวรรับสั่งลงหมอบเฝ้าหน้าพระที่นั่ง ให้หุ้มแพรเวรรับสั่งลงหน้าเรือ” เห็นจะเป็นการเปลี่ยนแปรไปตามเหตุการณ์อันจำเป็นโดยสมควรกระมัง

๕. เรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า ซึ่งทรงพระวิจารณ์ว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเข้ารบนั้นดีนัก พาให้เห็นปรุโปร่งไปทีเดียว ว่าเรือพระที่นั่งซึ่งทรงอยู่ในเวลาปกตินั้นควรใช้เรือใหญ่ เพราะจะประทับอยู่สบาย แต่ถ้าเอาใช้เข้ารบด้วยแล้วจะอุ้ยอ้ายไม่ทันท่วงที ทั้งกีดม่านอันกั้นไว้เพื่อปกปิดรุงรังไปด้วย เวลาเสด็จเข้าประจญศึกจะต้องเปลี่ยนเรือพระที่นั่งทรง เป็นเรือเพรียวเรือเร็วไล่หนีได้คล่องแคล่ว และเป็นเรือโถงไม่มีม่านราวกีดขวาง เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมที่ต้องจัดเรือพระที่นั่งเป็นหลายลำหลายอย่าง ที่จัดเรือเพรียวเรือเร็วเป็นเรือคู่ชักนั้นเหมาะอย่างยิ่ง เวลาประทับอยู่โดยปกติ จะใช้เรือใหญ่เช่นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ขนานเป็นดุจพลับพลาทีเดียวก็ได้ ใช้เรือคู่ชักจูง ถ้าถึงเวลารบศึกเสด็จลงเรือคู่ชักนั้นเอง ไปเข้าสู้ศึกสะดวกอย่างยิ่ง อันเรือพระที่นั่งนั้น ไม่จำเป็นว่าทรงลำไหนจึงจะเรียกลำนั้นว่าเรือพระที่นั่ง แม้เป็นเรือที่เคยทรง หรือเรือที่เตรียมสำหรับทรงก็เรียกว่าเรือพระที่นั่งทั้งนั้น จะใช้เรือพระที่นั่งสำหรับเข้าศึกชักเรือพระที่นั่งพลับพลานั้น ดูไม่มีอะไรขัดข้องที่ไม่สมควรอยู่เลย ทั้งจัดเป็นเรือคู่ชักอยู่ใกล้ชิดติดกับเรือพระที่นั่งที่ประทับ จะตรัสเรียกทรงเมื่อไรก็ได้ทันท่วงทีรวดเร็วด้วยเป็นการสะดวกทุกอย่าง แต่ที่เรียกชื่อเรือว่า “แขวนฟ้า” นั้นต่างกันไปกับที่เคยได้ยินมาว่า “ขวานฟ้า” เมื่อคิดชั่งน้ำหนักกันเข้าดู นึกชอบชื่อ “ขวานฟ้า” มากกว่า เพราะความเป็นไปในข้างดุ สมควรเป็นชื่อเรือรบ ส่วนชื่อ “แขวนฟ้า” นั้นความเป็นไปข้างเป็นเรืองามเอาแขวนไว้อวดโลก คำ “ขวาน” กับ “แขวน” ก็ใกล้กันมาก อาจฟังมาผิดแล้วก็พูดผิดไปได้ง่ายที่สุด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ