วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน หม่อมฉันได้รับแล้ว จดหมายของหม่อมฉันฉบับนี้จะทูลเริ่มด้วยเล่าเรื่องทางปีนังถวายก่อน

พระองค์หนูกับพระองค์พีระพงศ์ และได้ยินว่านายพุ่ม ซึ่งไปยุโรปพร้อมกับทูลกระหม่อมเล็กอีกคนหนึ่ง กลับมาด้วยเรือเมล์ปีแอนด์โออังกฤษถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ค้างอยู่คืนหนึ่งพอรุ่งขึ้นก็ขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ เธอไม่ได้มาหาหม่อมฉัน ๆ ก็ถือ “กฎซินนามอนฮอล” ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องพ้องพาน ได้ยินว่าจะเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ เดือนหนึ่ง เพื่อประกอบกิจส่วนพระองค์ กำหนดจะกลับไปยุโรปวันที่ ๕ เดือนธันวาคม

อนึ่งมีเรื่องลำบากเกิดขึ้นอย่างประหลาดเรื่องหนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ นี้ เวลาเช้าสัก ๑๐ นาฬิกา หม่อมฉันได้รับโทรเลขส่งมาจากเมืองไทรฉบับ ๑ ลงชื่อผู้มีโทรเลขว่า “บะดิฉะ” เข้าใจได้ว่าเป็นโทรเลขของราชามุดาลูกเจ้าพระยาไทร (ซึ่งเราเรียกกันว่าตนกูจ๊ะ) ความในโทรเลขสัก ๓ บันทัดดีดพิมพ์อักษรโรมันแต่เป็นภาษามลายู มีคำเข้าใจแห่งหนึ่งว่า “ตนกูมหมุดรีเยนต์” (ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองแทนเจ้าพระยาไทร) กับอีกแห่งหนึ่งข้างท้ายว่า “วันเสารเช้า ๑๐ นาฬิกา” คำอื่นนอกจากนั้นไม่เข้าใจเลยทีเดียว แม้เข้าใจเพียงเท่านั้นก็นึกหวาดว่าน่าจะเป็นบอกข่าวตนกูมหมุดตายและจะฝังศพเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา ตนกูมหมุดคนนี้เจ้าพระยาไทรเคยพาเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และโปรดฯ ให้ศึกษาอยู่กับหม่อมฉันเมื่อรัชกาลที่ ๕ จึงคุ้นกันมา และตัวเขายังมีความรักใคร่เอื้อเฟื้อต่อหม่อมฉันอยู่เป็นนิจ จนออกมาอยู่ปินังคราวนี้ก็ไปมาหาสู่อยู่เสมอ ถ้าตายจริงก็จำจะต้องไปเยี่ยมศพ แต่หาคำว่า “มาตี” Mati ซึ่งภาษามลายูว่าตายในโทรเลขไม่มี จึงเกิดลำบาก ขณะที่ปรึกษากันอยู่นั้นมีเพื่อนไทยคนหนึ่งมาหา เขาบอกว่าคนขับรถยนต์ของเขาเป็นมลายู เขาเอาโทรเลขไปอ่านให้แปล คนขับรถแปลว่าโทรเลขนั้นเป็นคำเชิญไปกินอาหาร หม่อมฉันเห็นว่าจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าตนกูมหมุดจะเชิญไปกินอาหารคงมีโทรเลขมาเอง ที่ไหนจะให้ราชามุดาผู้เป็นบุตรเขยรับคำสั่งมาเชิญ ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ได้ความจริง จึงมอบธุระให้หญิงพิลัยขึ้นรถเอาโทรเลขไปเที่ยววานพวกพ้องแปล เวลาเมื่อหญิงพิลัยไปแล้วพนักงานไปรษณีย์เอาจดหมายมาส่งฉบับหนึ่ง เปิดออกดูเป็นจดหมายของราชามุดาเขียนถึงหม่อมฉันเป็นหนังสือไทยแต่วันก่อน บอกข่าวว่าตนกูมหมุดป่วยอาการเพียบมาก แต่ในท้ายจดหมายว่าอาการค่อยคลายขึ้นสักเล็กน้อย ส่อว่าโทรเลขที่มีมาทีหลังจดหมายเห็นจะบอกข่าวตาย พอหญิงพิลัยกลับมา บอกว่าได้เอาโทรเลขไปถามที่หอสมุดและตามบ้านพวกพ้องหลายแห่ง คือที่บ้านพระยารัตนเศรษฐีเป็นต้น ก็ไม่มีใครแปลได้ แต่เขาบอกให้ทราบว่ามีหญิงมลายูคนหนึ่งซึ่งเป็นครูในโรงเรียน มีชื่อเสียงว่ารู้ภาษามลายูมาก เธอถามชื่อและที่สำนักรู้แล้วเลยไปถามครูคนนั้น แกแปลให้ฟังว่าบอกข่าวตาย แต่ภาษาที่เขาใช้ในโทรเลขเป็นภาษาราชาศัพท์ คนชาวปินังพูดภาษามลายูกันแต่อย่างปากตลาดจึงไม่รู้ความในโทรเลขนั้น (คงเป็นความเดียวกับโทรเลขที่มีบอกเจ้าเมืองมลายูเมืองอื่นๆ จึงใช้ภาษามลายู) เมื่อรู้เรื่องแน่ตกตอนบ่ายเสียแล้ว จะหาบุบผามาลัยก็ไม่ทัน ซ้ำซุยปิ๊คนขับรถของหม่อมฉันวันนั้นก็ป่วย ถ้าหายไม่ทันยังจะต้องเที่ยวขอยืมหรือว่าเช่ารถยนต์ไปเมืองไทรด้วย อีกประการหนึ่งนึกว่าตนกูมหมุดเป็นรีเยนต์มียศศักดิ์สูง การฝังศพเห็นจะเป็นการใหญ่มีผู้คนทั้งแขกและฝรั่งไปช่วยมาก เราไปพร้อมกับเขาดูออกจะกีดด้วยบรรดาศักดิ์ (ความข้อนี้ก็เป็นดังคาด หม่อมฉันได้ตัดรูปฉายงานศพจากหนังสือพิมพ์ถวายมาทอดพระเนตรด้วย) จึงมีโทรเลขตอบราชามุดาไปว่าเตรียมตัวไปช่วยฝังศพไม่ทัน จะไปต่อวันอาทิตย์ที่ ๗ ออกจากปินังเวลาเช้า ๙ นาฬิกา เผอิญซุยปิ๊หายมาทันจึงไปรถของหม่อมฉันเองด้วยกันกับหญิงพูนและหญิงเหลือ นึกไปกลางทางว่าพวกเมืองไทรเขากำลังทุกข์โศกทั้งเป็นเวลาเขาถือบวช (ไม่กินอะไรในเวลากลางวัน) จะให้เขาต้องเลี้ยงกลางวันอย่างหาควรไม่ จึงตั้งใจว่าไปพอวางพวงมาลาณที่ฝังศพแล้ว จะกลับมาซื้ออาหารกินกลางวันที่เรือนพักคนเดินทาง ณ ตำบลสุไหงปัตตานี ซึ่งอยู่ราวครึ่งทางระหว่างอะลอสะตาร์ที่ตั้งเมืองไทรกับปินัง ไปแวะถามที่เรือนพักนั้นว่าจะมากิน lunch ในวันนั้นได้หรือไม่ จีนผู้จัดการไม่รู้ศัพท์ lunch บอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าจะกิน tiffin ทำให้กินได้ จึงนัดว่าถ้าจะกินจะมีโทรศัพท์บอกมาให้ทราบ ครั้นไปถึงเมืองไทรพบราชามุดาที่ศาลารัฐบาล แสดงความเสียใจด้วยตัวเขากับทั้งเจ้าพระยาไทรและวงศ์ญาติ แล้วขอให้เขาจัดคนนำหม่อมฉันไปยังที่ฝังศพ วางพวงมาลาแล้วจะกลับทีเดียวอย่าเลี้ยงกลางวันให้ลำบากเลย ราชามุดาตอบว่าตัวเขาเองก็ได้ลาบวชชั่ววันเพื่อจะได้กินกลางวันด้วยกัน ก็เป็นอันต้องยอมตามความประสงค์ หม่อมฉันขึ้นรถของราชามุดานำหน้า เจ้าหญิง ๒ คนขึ้นรถของเราตามไปยังสุสานที่ฝังศพเจ้าเมืองไทรกับญาติวงศ์อันอยู่ที่ตำบลลังคาร์ Langgar ห่างอลอสะตาร์ที่ตั้งเมืองไประยะ ๖ ไมล์ ที่ฝังศพแห่งนี้ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองไทรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เสด็จไปเยี่ยมศพเจ้าพระยาไทรอะหมัดบิดาของเจ้าพระยาไทรเดี๋ยวนี้ ทอดพระเนตรเห็นอนุสรณ์ตรงที่ฝังศพทำแต่ด้วยอิฐปูนมีหลักไม้จำหลักปักหัวท้าย เหมือนอย่างที่ฝังศพเจ้าเมืองไทรคนก่อนๆ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างอนุสรณ์พระราชทานใหม่ทำด้วยศิลาขาวให้อย่างสั่งไปทำที่ประเทศอิตาลี ครั้งนั้นหม่อมฉันตามเสด็จไปได้เห็นตลอดบริเวณที่ฝังศพ แต่ตัวอนุสรณ์ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานนั้นยังหาเคยเห็นไม่ จึงตั้งใจจะไปดูด้วย ไปคราวนี้พอรถเข้าเขตสุสานก็ประหลาดใจ ด้วยแต่ก่อนเป็นแต่มีกำแพงเก่าแก่ล้อมรอบ ข้างในตรงกลางปลูกเป็นศาลาโถงหลังใหญ่ครอบที่ฝังศพเรียงรายกันไปในศาลานั้น ตรงที่ฝังศพเจ้าเมืองและญาติผู้ใหญ่แต่ละศพก่อเป็นรูปหีบหลังอกไก่อย่างเช่นหีบใส่ศพ มีหลักไม้จำหลักปักทางหัวนอนหลัก ๑ ทางปลายตีนหลัก ๑ คล้ายๆ กันทั้งนั้น ถ้าเป็นชั้นญาติผู้น้อยก็เป็นแต่พูนดินมีหลักไม้ปักที่หัวนอนกับปลายตีน แต่เดี๋ยวนี้เขาแก้ไขตกแต่งทั่วทั้งเขตสุสาน ลานรอบชั้นล่างทำเป็นสวนปลูกต้นไม้ดัดและดอก มีถนนทางรถและทางเดิน และมีเรือนที่พักสำหรับเจ้าภาพไปทำบุญด้วย ตัวบริเวณที่ฝังศพซึ่งอยู่กลาง ก็ทำกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีประตูบันไดทางขึ้น ในนั้นรื้อโรงใหญ่ที่ครอบศพเสีย ทำเป็นที่เปิด และศพที่ฝังชั้นหลังมาทำอนุสรณ์ตรงที่ฝังศพด้วยศิลาขาวโดยมาก แต่อนุสรณ์ตรงที่ฝังศพเจ้าพระยาไทรอะหมัด ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานนั้นใหญ่และงามกว่าเพื่อน เพราะมีคฤหศิลาขาวครอบชั้นหนึ่ง รูปหีบศพอย่างที่ว่ามาทำด้วยศิลาขาวตั้งอยู่ในคฤหนั้น หลักที่ปักหัวนอนปลายตีนก็ทำด้วยศิลาขาวมีลายจำหลักรูปดวงดารากับสายตะพายมหาสุราภรณ์ เป็นเครื่องประดับที่หลักทางหัวนอน ฝีมือทำก็เกลี้ยงเกลางามต้องตากว่าที่ฝังศพเจ้าเมืองคนอื่นๆ ทั้งนั้น ราชามุดาถึงออกปากอวดว่า ให้ไปเที่ยวหาจนตลอดแหลมมลายูก็ไม่มีที่ฝังศพแห่งไหนจะงามเหมือนที่ฝังศพเจ้าพระยาไทรอะหมัด เมื่อวางดอกไม้คำนับศพตนกูมหมุดแล้วราชามุดาพาไปกินกลางวันที่บ้าน พอกินแล้วหม่อมฉันก็รีบลากลับมา เพราะหมู่นี้ฝนชุกตามฤดูเกรงจะถูกฝนกลางทาง กลับมาถึงซินนามอนฮอลเวลาบ่าย ๑๗ นาฬิกา รวมเวลาแต่ไปจนกลับ ๘ ชั่วโมง ออกจะฟก แต่นอนพักคืน ๑ แล้วก็หาย หม่อมฉันไปเมืองไทรครั้งนี้ แต่งตัวเครื่องเฝ้าอย่างครึ่งยศ ได้ยินคนที่มาจากกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้คนหนึ่ง เขาบอกว่าเครื่องเฝ้านั้นในกรุงเทพฯ ประกาศเลิกเสียแล้ว จริงหรืออย่างไร

เรื่องรูปทรงพระเจดีย์วัดกันมาตุยาราม ซึ่งตรัสถามเรื่องตำนานมานั้น หม่อมฉันยังจำได้เป็นเงาๆ ว่าครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดียเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๕ เสด็จไปถึงเมืองพาราณสีได้ไปบูชาถึงสถานที่พระพุทธองค์ประทานปฐมเทศนา ณ ตำบล อิสี ปัตนมิคทายวัน (ฝรั่งเรียกว่าตำบลสารนาถ Sarnath) ในเวลานั้นมีแต่พระมหาสถูปองค์ ๑ ปรากฎเป็นพระประธานอยู่ในที่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงได้รูปฉายพระมหาสถูปนั้นมาถวายสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ๆ ทรงพิจารณาเห็นว่ารูปทรงตรงตามที่กล่าวไว้ในพระบาลี ว่ารูปทรงพระสถูปเหมือนลอมฟาง เป็นแบบพระสถูปอันแท้จริงก็เลื่อมใส ดูเหมือนถึงกับเอารูปถ่ายนั้นเข้ากรอบกระจกตั้งไว้บนโต๊ะบูชา ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ หม่อมฉันได้เห็นรูปนั้นตั้งแต่บวชเป็นสามเณร ถ้าหม่อมฉันไม่หลง พระองค์ท่านก็คงได้ทอดพระเนตรเห็นเหมือนกัน เป็นเริ่มแรกที่จะเกิดนับถือพระเจดีย์แบบนั้น ในมณฑลธรรมยุติกา ถึงมีใครศรัทธาสร้างถวายสมเด็จพระวันรัตน (ทับ) ที่วัดโสมนัสวิหารองค์ ๑ ท่านเองก็เลื่อมใส จึงยอมอนุญาตให้สร้างที่ลานกุฏิที่ท่านอยู่จนบัดนี้ ขนาดดูเหมือนจะเท่าๆ กับพระเจดีย์วัดกันมาตุยาราม แต่หม่อมฉันไม่ทราบความอยู่ข้อหนึ่งว่าเอายอดแบบมาจากไหน เพราะพระเจดีย์องค์เดิมที่เมืองพาราณสีก็ไม่มียอดเหลืออยู่ สันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ทรงค้นมาจากพระเจดีย์ที่วัดกันมาตุยารามจะถ่ายแบบมาจากวัดโสมนัสก็เป็นได้ หรือมิฉะนั้นนางกลีบวานใครคิดแบบพระเจดีย์ตามที่พวกธรรมยุติกานิยมสร้างขึ้นที่วัดกันฯ ก่อน แล้วถ่ายอย่างไปสร้างถวายสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ) ก็เป็นได้ ข้อนี้บางทีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จะรู้เพราะท่านเคยอยู่วัดกันฯ เมื่อเป็นสามเณร

จะทูลอธิบายเรื่องพระเจดีย์แบบนั้นต่อไป หม่อมฉันไปอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปถึง ๑๙ ปี ไปที่มิคทายวันก็ยังเห็นมีแต่พระมหาสถูปองค์นั้นซึ่งเรียกกันว่า “ธะเมกสถูป” Dhamek Sthupa (มารู้อธิบายภายหลังว่าย่อมาแต่ “ธรรมเทศกสถูป”) เป็นประธานอยู่เป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นแต่กองดินกับเศษศิลาและอิฐปูนเปนพะเนินเทินทึกทั่วไป มีพระสถูปขนาดย่อมลงมาอยู่ห่างๆ อีกองค์หนึ่ง เรียกว่า “ชคัตสิงห์สถูป” Jagat Singh Sthupa เหลืออยู่แต่ทรากรู้ไม่ได้ว่ารูปโฉมเมื่อยังดีจะเป็นรูปอย่างไร แต่เวลาเมื่อหม่อมฉันไปนั้น รัฐบาลเริ่มให้เก็บชิ้นศิลาจำหลักที่ยังดีรวบรวมไว้บ้างแล้ว หม่อมฉันจึงขอพระพุทธรูปปางลีลา จำหลักด้วยศิลาทรายสีแดงมาได้องค์หนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ เมื่อไปดูหม่อมฉันก็ยังไม่มีความรู้เรื่องโบราณวัตถุสถานในอินเดียเท่าใดนัก แต่ได้พิจารณาดูพระธรรมเทศกเจดีย์เห็นว่า ที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศเข้าพระทัยว่าเป็นพระเจดีย์เดิม เพราะรูปทรงเหมือนลอมฟางอย่างว่าในพระบาลีนั้น เข้าพระทัยผิดด้วยเห็นแต่รูปฉาย ที่จริงพระเจดีย์นั้นตอนล่างก่อประกอบด้วยศิลาแห่งใหญ่ๆ ตอนบนที่หลดหลั่นเข้าไปเป็นแต่ก่อด้วยอิฐเป็นแกนในทำค้างอยู่ หม่อมฉันกลับมาแล้วได้ ๔ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๘ กรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียจึงเริ่มลงมือขุดค้นและตรวจต่อมาจนบัดนี้ ในหนังสือคู่มือสำหรับคนเที่ยวอินเดียห้างมุเรพิมพ์ Murray ’s Handbook for Travellers in India ฉะบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ (A.C. 1913) เก็บเนื้อความจากรายงานของกรมตำรวจโบราณคดี เล่าเรื่องตำนานวัดที่อีสีปัตนมิคทายวันพิมพ์ไว้ ดังจะทูลโดยย่อดังต่อไปนี้

ชื่อเดิมของวัดพบในศิลาจารึก เรียกในภาษาสันสกฤตว่า “ธรรมจักรปรวารตตนวิหาร Dharma Chakra Pravarttana Vihara มีเค้าเงื่อนตามแผนผังว่าเป็นวัดใหญ่โตกว่าวัดพระพุทธศาสนาแห่งอื่นๆ ที่ในอินเดีย ทั้งเป็นที่พุทธศาสนิกชนนับถือและทำนุบำรุงสืบกันมา ตั้งแต่สิ้นพุทธกาลจนสิ้นพระพุทธศาสนาในอินเดีย ข้อนี้รู้ได้ด้วยวัตถุที่ทำตามแบบศิลปของชาวอินเดีย สมัยต่างๆ คือ สมัยโมรีย (ราชวงศ์พระเจ้าอโศกมหาราช) สมัยกุศาน (ราชวงศ์พระเจ้ากนิษกะ ซึ่งครองคันธารราษฎร์) สมัยคุปต (ราชวงศ์พระเจ้าจันทรคุปตในมัชฌิมประเทศ) และสมัยอื่นๆ ต่อนั้นมา มีสร้างไว้ในวัดธรรมจักรฯ นี้ทุกสมัย ตัวพุทธเจดีย์ที่เป็นประธานของวัดมีสถูป (ชคัตสิงห์) กับมหาวิหารอยู่ข้างตะวันตกของธรรมเทศกสถูป ห่างสัก ๕๐ ก้าว มีชาลาทางทักษิณ และมีพระสถูปบริวารกับวิหารน้อยๆ รายรอบนอกชาลา นอกบริเวณออกไปมีพระสถูปขนาดใหญ่ ทำนองพระธรรมเทศกสถูปเหลือแต่รากอีก ๓ องค์ มีสังฆารามที่พระสงฆ์อยู่ข้างนอกถึง ๓ วัด

ส่วนเรื่องตำนานนั้น ว่าครั้งพวกแขกอิสลามตีได้เมืองพาราณสี ให้รื้อทำลายทั่วทั้งวัดธรรมจักรนี้ ด้วยถือว่าการทำลายเจดีย์วัตถุของศาสนาอื่นให้สูญไปเป็นการกุศล แต่นั้นวัดธรรมจักรก็ร้างกลายเป็นป่ามาช้านาน จนถึงสมัยมุคล Mugol ครองอินเดีย เอาใจราษฎรด้วยยอมให้ถือศาสนาได้ตามชอบใจ พราหมณ์ชคัตสิงห์ (เห็นจะเป็นเจ้าเมืองพาราณสี) จะสร้างและซ่อมแซมเทวสถานที่ในเมือง ให้เที่ยวหาอิฐและหินตามวัดร้างจึงขุดรื้อพระเจดีย์วิหารในวัดธรรมจักรเมื่อเป็นวัดร้างอยู่ แล้วเอาอิฐและศิลาไปสร้างเทวสถาน วัดธรรมจักรก็ยิ่งทรุดโทรม ยังต่อมาเมื่ออังกฤษได้อินเดียตอนมัชฌมประเทศเป็นเมืองขึ้นแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ พวกฝรั่งไปพบของโบราณที่ยังมีหมกอยู่ในวัดธรรมจักร ก็เลยเกิดเลื่องลือว่าที่วัดนั้นเป็นขุมทรัพย์ของโบราณ มีคนไปขุดกันมาก ได้ของโบราณจากวัดธรรมจักรเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ที่ตกเป็นของตัวบุคคลพาเอาไปต่างประเทศเสียก็มาก ถึงกระนั้นเมื่อกรมโบราณคดีไปขุดค้นทำแผนผังก็ยังพบของงามของดี จนถึงรัฐบาลตั้งพิพิธภัณฑ์สถานขึ้นที่มิคทายวันนั้นอีกแห่ง

ว่าเฉพาะธรรมเทศกสถูป ตอนที่ก่อด้วยหินชั้นล่างวัดผ่ากลาง Diameter ๙๓ ฟุต สูง ๔๓ ฟุต ต่อนั้นขึ้นไปที่ก่อด้วยอิฐสูง ๑๔๓ ฟุต รวมแต่ฐานล่างจึงสูงเปน ๑๘๓ ฟุต ด้วยกัน พวกนักปราชญ์โบราณคดี เขาสันนิษฐานแต่เดิมเห็นจะมีพระเจดีย์อยู่ที่ตรงนั้น จะเป็นเพราะหักพังหรือเพราะเหตุอื่น มีผู้ศรัทธาไปสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ยังอยู่เดี๋ยวนี้ ครอบอยู่ข้างนอก ข้อนี้รู้ได้ด้วยลวดลายที่จำหลักศิลาเป็นลายสมัยคุปตะ ซึ่งชอบใช้ในระหว่าง พ.ศ. ๘๗๓ จน ๙๙๘ เจตนาของผู้สร้างเห็นจะสร้างให้เป็นพระสถูปศิลาทั้งองค์ ก่อแกนในด้วยอิฐขึ้นไปถึงที่แล้วเอาศิลาประกอบข้างนอกขึ้นไปได้เพียง ๔๓ ฟุตแล้วไปค้างเพียงนั้น ข้อนี้เขาอ้างว่าตอนประกอบศิลานั้น ปรากฎว่าคิดทำซุ้มคูหาแบบองค์ระฆัง ๘ ทิศ สำหรับตั้งพระพุทธรูป แต่การจำหลักๆ แล้วแต่ลายคาดครอบองค์ระฆัง ที่ซุ้มเป็นโกลนอยู่ยังไม่ได้จำหลักทั้ง ๘ ทิศ ส่อให้เห็นว่าการที่สร้างมีเหตุติดขัดจึงค้างอยู่เพียงนั้น

จดหมายฉบับนี้เขียนเพลินมาอยู่ข้างจะยืดยาว พอถึงวันพฤหัสที่ ๑๑ กำหนดส่งไปรษณีย์จึงต้องหยุดเพียงนี้ เรื่องอื่นจะรอไว้เขียนคราวเมล์หน้าต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ