บันทึกการตรวจพระวิจารณ์ หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙

ได้ตรวจพระวิจารณ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ ท่อนที่ประทานไปให้ตรวจนั้นแล้ว ในทางข้อความเห็นชอบว่าถูกต้องทุกข้อแล้ว เพราะฉะนั้นก็เหลือแต่ทางถ้อยคำกับอักษรซึ่งจะพึงกราบทูลตามความเห็นดังต่อไปนี้

(๑) ในหน้าต้นคาบหน้า ๒ ตอนที่มีความว่า “วันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก (พ.ศ. ๒๓๒๓) เจ้าพระยาจักรีฯ รับสั่งใส่เกล้าว่า ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน ให้ (ข้าราชการอันมีรายชื่อ คือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาราชาบริรักษ์ เจ้าพระยาราชนายก เป็นต้น กับพระยา พระ หลวง หมื่น พัน อีกหลายคน ตลอดจนนายหงส์เสมียนนครบาลแต่ก่อนเป็นที่สุด รวมเป็นจำนวน) คนเก่า ๒๐ คนมาพร้อมกัน ณ โรงพระแก้วมรกต บอกขนบธรรมเนียมราชการตามอย่างแต่ก่อน” นั้นเห็นว่าคำในวงเล็บเบื้องต้น ไม่กินกันกับคำนอกวงเล็บ หากว่ากลับคำเสียดั่งที่เขียนแก้ด้วยตัวแดงไว้จะดีขึ้น กับที่ใส่ฟันหนูเข้าไว้อีก ๒ แห่ง เห็นไม่ชอบที่ควรจะใส่

อนึ่งมีความเห็นเป็นไขข้อ ต่อความที่ทรงพระวิจารณ์ไว้ว่า ขนบธรรมเนียมที่เอามาแต่งตำรา ดูเหมือนตั้งใจจะเอาระเบียบครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศมาตั้งเป็นตำรานั้น เห็นว่าจำต้องเป็นเช่นนั้นอยู่เอง เพราะราชการเป็นปึกแผ่นอยู่ในรัชกาลนั้น ซึ่งพวก “คนเก่า” จะพึงทราบได้ เหนือนั้นขึ้นไปก็พ้นความรู้ ต่ำลงมากว่านั้นก็ยับย่อย แต่นี่เป็นความเห็นอันเป็นพลความ ไม่ควรเขียนเข้าไป เท่าที่ทรงพระวิจารณ์ไว้นั้นพอแล้ว

(๒) ในหน้า ๓ คาบหน้า ๔ ทรงพระวินิจฉัยในภาคที่ ๒ แบ่งความไว้เป็น ๓ ข้อ ข้อ ๑ กับข้อ ๒ นั้นเขียนร้อยติดกันไปกับข้อความทั้งปวง แต่ข้อ ๓ นั้นรื้อตั้งเป็นตอนใหม่ เห็นว่าเป็นการเขียนลักลั่นอยู่ ควรเขียนข้อ ๑ กับข้อ ๒ ตั้งเป็นตอนหนึ่งในข้อนั้นเสียเหมือนกัน

(๓) ในหน้า ๔ เขียนชื่อเจ้าพระยาจักรีตกตัว ย การันต์ ควรเป็นดั่งนี้ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิรีย์ปรากรมพาหุ” สุดชื่อควรลงฟันหนูด้วย ให้ได้ระเบียบกันกับที่ลงไว้แล้วในต้นชื่อ

(๔) ในหน้าเดียวกันตรงความว่า เสนาบดีกระทรวงอื่นก็เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน ตามเส้นแดงเป็นคำแก้ ด้วยสงสัยคำทำนอง ว่าจะควรใช้ไปในความซึ่งกล่าวถึงเสียงมากกว่าในที่อย่างนี้

อนึ่งมีความเห็นว่า สารตราที่ตรัสอ้างถึง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสให้หาฝ่าพระบาทนั้น ที่ใช้คำต่อพระนามฝ่าพระบาทว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น นึกว่าทำผิด ไม่ควรลงคำนั้น และคำนั้นก็เป็นคำใหม่ไม่ใช่ลงไปตามธรรมเนียมบุราณ แม้ครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็คงเป็นสารตราเจ้าพระยาจักรีถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไม่มีคำเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อ แต่ก็เป็นการเก่าอันล่วงมาแล้ว ผิดก็เป็นผิด ไม่ใช่ทางที่จะพึงแก้ไขอะไรในที่นี้ หรือจะทักไว้เสียหน่อยก็แล้วแต่จะโปรด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ