วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ได้รับประทานแล้วด้วยดี

นึกถึงชื่อพันเภา คำว่า เภา เราใช้กันหมายความว่าเล็กก็มี เช่น นางเภาสุดท้อง น่าจะเป็นคำเขมร เพราะมีนักพระองค์เภาพันศุกร์ ได้ความว่าเป็นหัวพันมหาดไทยฝ่ายเหนือ พร้อมด้วยอีกสามคนอันมีชื่อ ท่วงทีไม่เป็นเทวดานพเคราะห์เลย แต่ที่โปรดมอบให้พระยาอนุมานพิจารณานั้นดีแล้ว ลางทีจะได้เค้า

ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดอธิบายชื่อ ศรีธนญชัย และศรีปราชญ์ประทานนั้นเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ตามที่สงสัยนั้นเป็นอันนับว่าถูก เคลื่อนไปแต่ชื่อศรีปราชญ์นิดหนึ่งเท่านั้น

พระดำรัสตอบข้อถามพระยาอินทรมนตรีได้อ่านแล้ว ข้อตอบในเรื่องยศไม่มีสดุดใจเลย เห็นว่าถูกทุกอย่าง รู้สึกพอใจอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้ทรงถือเอาข้อที่มีในกฎหมายเป็นต้นบัญญัติ เหมือนมีคนเป็นอันมากเข้าใจว่ากฎหมายเป็นต้นบัญญัติ ซึ่งเกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วยเลย เชื่อว่ากฎหมายซึ่งปรากฏในฉบับพิมพ์สองเล่มนั้นเป็นแต่ตราขึ้นใหม่ โดยเก็บเอากฎหมายซึ่งมีอยู่ก่อนเป็นกระท่อนกระแท่น กับทั้งประเพณีซึ่งเคยมีแต่ก่อน อันยังไม่ได้เขียนลงเป็นหนังสือ เอามาตกแต่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นเท่านั้น ยังมียิ่งไปกว่านั้น ความในบานแพนก ท่านแต่งไว้ใช้คำกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินตามชอบใจ เช่น ใช้คำเอกาทศรถเป็นต้น มีคนถือเอาว่าสมเด็จพระเอกาทศรถองค์ที่เป็นพระอนุชา แห่งสมเด็จพระนเรศวรทรงบัญญัติขึ้นทั้งนั้น ด้วยไม่ได้เหลียวแลดูศักราชเลย น่าสมเพช

คำว่า ออก ซึ่งใช้นำหน้ายศ เห็นจะมาทางเขมรเป็นแน่ น่าสงสัยว่า ออกพระ ออกหลวง ออกขุน จะเป็นยศใหญ่กว่า พระ หลวง ขุนเฉยๆ ด้วยใช้ปะปนอยู่ในสมัยอันเดียวกัน แต่คำออกญานั้นประหลาดกว่าเพื่อน ที่คำ ออก เข้าไปแทน พ หรือ พระ เสียทีเดียว คัดเอาคำ พ หรือพระกระเด็นหายไป

เมื่อวันอังคาร ชายดิศพาน้องชายดำไปหา เธอเข้าไปจากปีนังวันนั้นเอง เอาของประทานไปให้ ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ดูลักษณะชายดำผิดคาดไปมาก นึกว่าเธอจะครึแต่เปล่าเลย เธอแจ่มใสเฉลียวฉลาดน่ารัก ทั้งไปอยู่เมืองฝรั่งตั้งแต่เด็กมาถึง ๑๔ ปี เธอก็ไม่โก้เก้งดูขวางไปเลย เด็กคนนี้คงจะดำรงตัวอยู่ได้ดีเป็นแน่แท้

ในหนังสือพรรณนาถึงกรุงเก่า ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดตรัสสั่งให้พระยาอนุมานคัดส่งไปให้ฉบับหนึ่งนั้น มีความประโยคหนึ่งในตอนท้ายว่า “กับพระประธานวัดแจ้งพะแนงเชิง ของพระเจ้าสามโปเตียงช่าง ปิดกรามดวงแก้วยอด พระเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทป่าแก้วตก” นี่จะโปรดให้เข้าใจว่าอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นสองเรื่อง ว่า พระเจ้าพะแนงเชิงเป็นของพระเจ้าโปเตียง เรื่องหนึ่ง กับช่างขึ้นไปทำอะไรแก่ลูกแก้วพระเจดีย์วัดเจ้าพระยาไท แล้วลูกแก้วหรือตัวช่างตกลงมา อีกเรื่องหนึ่ง หนังสือนี้คงจะแต่งที่กรุงเทพฯ นี้เอง คงมีใครอยากรู้ว่ากรุงเก่าเป็นอย่างไร แล้วคงมีใครที่เคยเห็นกรุงเก่าครั้งบ้านเมืองดีแต่งให้ เสมียนผู้เขียนไว้ระยะผิดเพราะไม่เข้าใจความ นามพระเจ้าพะแนงเชิง ก็เป็นความว่า พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเท่านั้นเอง สงสัยว่าคำนี้จะเป็นคำเก่า แต่ครั้งยังทำพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทและนั่งขัดสมาธิเป็นคู่คี่กันอยู่ จะใช้หมายเรียกชื่อพระเท่านั้นเอง พระเจ้าโปเตียงเป็นใคร ไทยหรือเจ๊ก พระเจดีย์วัดเจ้าพระยาไท เข้าใจว่าที่เราเรียกว่าพระเจดีย์วัดใหญ่ เข้าใจว่าเพียงอยู่ในแขวงป่าแก้ว ไม่ใช่วัดป่าแก้ว

เรื่องวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งเขียนถวายมาในหนังสือเวรก่อน เห็นจะคาดผิดไปเสียหน่อย เพื่อจะกราบทูลแต่สั้นๆ แต่ให้เข้าพระทัยได้ดี จึงเขียนแผนผังหยาบๆ ถวายมาด้วย พระเจ้าทรงธรรมเห็นจะทรงสร้างเพียงเสาในมณฑปโปร่งๆ โดยฐานะที่พระมงคลบพิตรเป็นพระโตเคยตั้งอยู่กลางแจ้ง ผนังอ้อมนอกจะสร้างเมื่อพระเจ้าเสือทรงแก้เป็นพระวิหาร เสารายนอกแนวกับฐานทักษิณสองชั้นนั้น ทำเติมเมื่อปฏิสังขรณ์แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศอย่างที่กราบทูลมาแล้วนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ