วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๙ มีนาคม แล้ว

เรื่อง เมืองพระประแดง กับทั้งศาลเจ้าพระประแดงซึ่งทรงปรารภนั้น หม่อมฉันเคยพบเงื่อนพอจะทูลเรื่องเดิมได้ เมืองพระประแดงนั้นเป็นเมืองตั้งเมื่อสมัยพวกขอมครองเมืองละโว้ สำหรับรักษาปากน้ำ ปากน้ำในสมัยนั้นก็เรียกว่า “ปากน้ำพระประแดง” ยังปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตถ์เลขา เล่ม ๑ หน้า ๑๐๑) ตอนรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ตัวเมืองพระประแดงตั้งที่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก อยู่ใกล้ๆ กับวัดมหาธาตุและศาลเจ้าพระประแดงดังทรงพระดำริ และเคยเป็นเมืองมีปราการก่ออิฐ ข้อนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ พระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓ หน้า ๕๘) ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีให้ไปรื้อเอาอิฐกำแพงเมืองพระประแดงมาก่อปราการพระนคร เมื่อแรกตั้งเมืองพระประแดงนั้น ชายทะเลเห็นจะยังอยู่ใกล้เมืองพระประแดง แต่จำเนียรกาลนานมาแผ่นดินงอกรุกชายทะเลห่างเมืองพระประแดงลงไปโดยลำดับ จนเมืองพระประแดงไม่เหมาะสำหรับรักษาปากน้ำ จึงตั้งเมืองสมุทรปราการขึ้นแทนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรียกปากน้ำ เปลี่ยนชื่อไปเป็น “ปากน้ำบางเจ้าพระยา” (ปรากฏในหนังสือ “ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” หน้า ๓๙๑) เพราะตั้งเมืองสมุทรปราการที่บางเจ้าพระยา เมื่อย้ายพนักงานปกครองเมืองลงไปอยู่ที่เมืองสมุทรปราการแล้ว เมืองพระประแดงเดิมก็เป็นเมืองร้างต่อมา

เรื่องศาลเจ้าพระประแดงนั้น มีเค้าในพงศาวดารชัดเจนทีเดียว ปรากฏ (ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ หน้า ๑๓) ว่าเมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๘๖๐ (พ.ศ. ๒๐๕๑) ขุดชำระคลองสำโรง ได้เทวรูปทองสัมฤทธิ์ ๒ องค์ตรงที่คลองสำโรงต่อคลองทับนาง และเทวรูปนั้นมีอักษรจารึกชื่อว่าพระยาแสนตาองค์ ๑ บาทสังขกรองค์ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดให้สร้างศาลประดิษฐานไว้ที่เมืองพระประแดง (ยังเป็นเมืองอยู่ในสมัยนั้น) ต่อมา (ปรากฏในพงศาวดารเล่มเดียวกันนั้นหน้า ๑๐๐) เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองราชสมบัติ พระยาละแวก (เจ้ากรุงกัมพูชา) ยกกองทัพเรือมาตีกรุงศรีอยุธยา ในปีมะแม จุลศักราช ๙๒๑ (พ.ศ. ๒๑๐๒) ตีไม่ได้ดังปรารถนา เมื่อล่าทัพกลับไป ให้เอาเทวรูป ๒ องค์ที่เมืองพระประแดงไปเมืองเขมรด้วย คนนับถือเทวรูปนั้นมาก จึงยังพากันไปบวงสรวงที่ศาลเดิม ครั้นศาลเดิมหักพังก็สร้างศาลขึ้นแทนจึงเปลี่ยนรูปมาต่างๆ แต่ประหลาดอยู่ที่คนยังนับถือเจ้าพ่อพระประแดงยิ่งกว่าเจ้าผีตนอื่นมาจนทุกวันนี้

แต่นี้จะทูลวินิจฉัยเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วยพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏต่อไป ที่หม่อมฉันทูลผัดเขียน อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยามาหลายนัดนั้น ไม่ใช่แต่เพราะติดแต่งหนังสืออื่นเท่านั้น ติดในตัววินิจฉัยเองด้วยยิ่งค้นหนังสือมากเรื่องขึ้น ก็ยิ่งเห็นอธิบายในหนังสือต่างๆ แตกต่างกันหนักขึ้น จึงไม่รู้ว่าจะลงความเห็นยุติอย่างไร จะทูลได้แต่พอเป็นเค้า

อันพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น ดูความแยกกันได้เป็น ๓ ตอน คือต้นพระนามตอน ๑ สร้อยพระนามตอน ๑ ท้ายพระนามตอน ๑

ต้นพระนามเช่นคำว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” นี้ เชื่อได้เป็นแน่ว่า ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อพระเจ้าอู่ทองประกาศตั้งอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระ จึงถวายพระนามว่า “พระรามาธิบดี” เทียบกับพระนารายณ์รามาวตารครองกรุงอโยธยาแต่ก่อนมา เพราะพระนามรามาธิบดีเกี่ยวกับชื่อกรุงศรีอยุธยาดังนี้ พระเจ้าแผ่นดินซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาต่อมา ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องเปลี่ยนต้นพระนามเป็นอย่างอื่น ก็คงใช้พระนามรามาธิบดีอยู่ตามเดิม เปลี่ยนแต่สร้อยพระนาม มีตัวอย่างเช่น พระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในบานแผนกกฎมนเทียรบาลใช้ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ” ดังนี้ พระนามที่เปลี่ยนจากรามาธิบดีในครั้งแรกน่าจะเป็นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา เปลี่ยนใช้ต้นพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์” พระนามนี้ทูลกระหม่อมทรงใช้ในหนังสือพระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขา คงเป็นเพราะทรงพบหลักฐานมาแต่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันไม่ทราบ หลักฐานที่หม่อมฉันทราบนั้น คือชั้นแรกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตั้งพระมหาธรรมราชา เมื่อยังครองเมืองพิษณุโลก เป็น “เจ้าฟ้าสองแคว” (อันเปนชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก) ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ให้ราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา คงให้มีพระนามอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิใช่รามาธิบดี แต่ยังไม่รู้พระนามนั้น มาจนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าฟ้าลื้อเมืองเชียงแขง ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับพม่ามาขอสามิภักดิ์ ในศุภอักษรใช้นามว่า “เจ้าหม่อมมหาศรีสัพเพชัง กุลวงศา” สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสทักขึ้นก่อนว่า คำ “ศรีสัพเพชัง” นั้นตรงกับที่ไทยเราเขียนว่า “ศรีสรรเพชญ์” นั่นเอง จึงคิดเห็นว่า พระเจ้าบุเรงนองคงเอาคำนี้เอง มาตั้งเป็นต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ต่อนั้นมามีพระนามอื่นอีกพระนามหนึ่ง ซึ่งใช้ในบานแผนกกฎหมายและพระราชโองการ คือพระนามว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” พระนามนี้ใช้ตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรม (อันสอบได้หลักฐานเมื่อภายหลัง ว่าเป็นราชบุตรพระองค์ ๑ ของสมเด็จพระเอกาทศรถ มิใช่พระราชาคณะที่เป็นตำแหน่งพระพิมลธรรม ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร) พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์ปราสาททองแม้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ใช้พระนามขึ้นว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” มาทุกพระองค์ มาถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเจ้าบรมโกศก็ใช้พระนามว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (มีอยู่ในศุภอักษรซึ่งมีในเมืองลังกาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป) พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ใช้พระนามว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (มีอยู่ในพระราชโองการตั้งเจ้านครศรีธรรมราช พิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาล) มีพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า “พระบรมราชาธิราช” คงใช้ขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์ แต่ยังจับไม่ได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนใช้พระนาม บรมราชาธิราชขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏเป็นทีแรก เห็นในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า (หน้า ๒๔๕) ลงพระนามพระเอกทัศไว้แต่ต้นจนตลอดสร้อย (ตามพม่าเขียน เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง) แต่ขึ้นต้นพระนามเข้าใจได้ชัดว่า “บรมราชาธิราช” ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้ขึ้นต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” ทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนรัชกาลที่ ๓ ว่าโดยย่อเดิมมามีพระนามที่ขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏแต่ ๕ พระนามคือ รามาธิบดี ๑ ศรีสรรเพชญ์ ๑ เอกาทศรถ ๑ บรมราชาธิราช ๑ บรมราชาธิราชรามาธิบดี ๑ ในจดหมายฉบับนี้ทูลเพียงเท่านี้ที ฉบับหน้าจะถวายวิสัชนาว่าด้วยสร้อยพระนามกับท้ายพระนามต่อไป

กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ด้วยได้รับลายพระหัตถ์ของพระองค์หญิงประเวศตรัสบอกมา ว่าคุณจอมมารดาทับทิมบ่นถึงเกือบจะทุกชั่วโมง และอาการป่วยของคุณจอมมารดาทับทิมนั้นดูยังก้ำกึ่งอยู่ ทางข้างเสียมีอยู่ด้วยอายุมากถึง ๘๒ ปี อุจจาระไปวันละ ๒ หน ๓ หน ธาตุผิดปรกติ หัวใจอ่อนและมือบวมเท้าบวม แต่ทางข้างยังดีนั้นยังนอนหลับเป็นปรกติไม่เบื่ออาหาร ขึ้นไปพักอยู่ที่บางปะอินเพราะเป็นที่เธอชอบไปแต่ไรๆ โดยว่าสบายกว่ากรุงเทพฯ ไม่ให้ไปก็ขัดใจ จึงพาไปรักษาพยาบาลที่บางปะอิน

พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม เขาฝากหนังสือตำราต้นไม้ดัดที่เขาแต่งขึ้นใหม่ และพิมพ์แจกในงานศพภรรยาให้หม่อมฉันกับลูกหญิงคนละเล่ม อ่านดูเขาอุตส่าห์พยายามมาก มีตำราที่เข้าใจง่ายพิมพ์ขึ้นใหม่เช่นนี้ เห็นจะชักนำให้คนเล่นต้นไม้ดัดมากขึ้น

หม่อมฉันแต่งคำตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรีที่ ๑๐ เป็นเสร็จคำถามของแกไปตอน ๑ ทั้งหมดได้ส่งสำเนาไปถวายทอดพระเนตรด้วยแล้ว ออกสงสารที่แกพูดมาในจดหมาย ว่าข้อความที่แกอยากรู้เหล่านี้ไม่รู้ว่าจะไปถามใครจริงๆ จึงมารบกวนหม่อมฉัน แต่รู้อยู่ว่าทำความลำบากให้หม่อมฉันที่ต้องเขียนตอบ แกคิดจะหาโอกาสออกมาเช่าบ้านอยู่ที่ปีนังสักเดือนหนึ่ง สำหรับมาถามความที่แกอยากรู้ต่อหม่อมฉัน จะได้บอกอธิบายเพียงด้วยวาจาไม่ต้องเขียนหนังสือ แต่ความลำบากของแกมีพิกล ด้วยตัวแกจักษุมืดต้องมีคนจูง ออกมาปีนังจะต้องพาคุณหญิงอินทรมนตรีมาด้วย สำหรับจะได้ปฏิบัติและจูงพาไปไหนๆ แต่ขากลับเกรงจะเกิดลำบากด้วยคุณหญิง เพราะกฎหมายคนเข้าเมืองต้องสอบความรู้ คุณหญิงเป็นไทยโดยกำเนิด แต่สัญชาติเป็นอังกฤษโดยสมรส ถ้าถูกถือว่าเป็นคนอังกฤษ สอบภาษาอังกฤษ คุณหญิงไม่รู้ก็จะกลับเข้าไปไม่ได้ ขัดข้องอยู่อย่างนี้ หม่อมฉันก็มิรู้ที่จะช่วยแก้ไขอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ