วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาบรรยายเรื่องพระพุทธนรสีห์ไป ได้ทราบถ้วนถี่ดีเป็นอย่างยิ่ง นอกจากฝ่าพระบาทแล้ว จะไม่มีใครบรรยายให้ทราบตลอดเรื่องได้เช่นนั้นเลย อ่านแล้วนึกชมพระเปี่ยมว่าฉลาดดี ถ้าไม่คิดเจียดเอาทองเก่าจะประสมทองใหม่ใช้ซ่อมแล้วตายเปล่า จะเหมือนไม่ได้เลย

อ่านเรื่องพระพุทธวิวาทแล้วนึกขัน พระพุทธเจ้าย่อมประกอบพร้อมทศบารมี ก็ไฉนเล่าจึงจะบันดาลพุทธานุภาพให้คนวิวาทกัน อันผิดทางดำเนินแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การวิวาทเป็นของธรรมดา วิวาทกันในที่ซึ่งมิได้มีพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่ด้วยจะว่ากระไรเล่า คนเราเขลาเสมอ เหมือนสาบาลว่า “ให้พระแก้วพระกาฬหักคอ” จะเชื่อว่าพระกาฬหักคอได้ก็ตามที แต่พระแก้วนั้นไม่หักคอใครเป็นอันขาดทีเดียว

เรื่องพระบาง เพิ่งได้ทราบตามพระดำรัสเล่าว่า มีองค์เก่า องค์เดี๋ยวนี้เป็นองค์แทน หนังสือ “พระราชธรรมเนียมลาว” อ่านรู้สึกเหมือนกันว่าเป็นของเรียงใหม่ แต่เอาโครงเก่ามาเรียงแก้ไข ยังเห็นรูปเก่าอยู่มากไม่น่าจะข้ามไปเสีย ตามพระดำรัสยกย่องพระพรหมมุนี (อ้วน) เกล้ากระหม่อมก็นับถือท่านเหมือนกัน ท่านรู้อะไรมาก ทั้งความเห็นก็มีดี แต่งหนังสือสั่งสอนก็มีดีเสมอ ตรงกันข้ามกับพระอุบาลี (จันท) ซึ่งตรัสเล่าไปในเรื่องสร้างพระ (ไม่) งาม พระอุบาลีองค์นั้น เกล้ากระหม่อมพิจารณาไม่เห็นว่ามีดีที่ตรงไหนเลย แม้ฟังเสียงพระเถรานุเถระ ก็ติดจะมีแต่ดูหมิ่น แต่เหตุไฉนจึงมีคนนับถือกันมากนักไม่ทราบ

เกล้ากระหม่อมได้เฝ้าสมเด็จพระพันวัสสา ได้ทราบความตามที่ตรัสสนทนาว่า ที่เขากะจะเสด็จกลับถึงวันที่ ๕ แล้วเลื่อนเป็นวันที่ ๗ ไปนั้น เพราะเรือมาถึงต้องจอดเกาะสีชังเพื่อถ่ายสินค้าออกให้เรือเบา เขาจัดเรือเล็กออกไปรับเสด็จ แต่ทรงพระดำริเห็นว่าเป็นการลำบากไม่จำต้องรีบร้อนจึงไม่เสด็จกลับเรือเล็ก มีพระประสงค์จะใคร่เสด็จไปศรีราชาประทับแรมที่โรงพยาบาลเพื่อได้ทอดพระเนตรโรงพยาบาลกับการงานที่นั้น แต่ก็ทรงพระดำริท้อถอยไปเสีย ด้วยเกรงทางบ้านเมืองเขาจะวุ่นวาย บางทีทหารจะต้องยกกองจากสัตหีบมาตั้งล้อมวงกงกำ ลำบากแก่เขาเปล่าๆ จึงเลยประทับอึดอยู่เสียในเรือใหญ่ ทอดพระเนตรเขาถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงจนวันที่ ๗ จึงเสด็จมากับเรือใหญ่เข้าสู่กรุงเทพ ฯ

ตามลายพระหัตถ์ซึ่งตรัสว่า จะรับเกล้ากระหม่อมอยางต๊อกต๋อยนั้นเป็นอันถูกใจอย่างยิ่ง ข้อที่ทรงพระวิตกกลัวเกล้ากระหม่อมจะอยู่ไม่นานนั้น อย่าได้ทรงพระวิตกคงจะอยู่หลายวันให้พอพระทัย เกล้ากระหม่อมก็คิดถึงฝ่าพระบาท อยากอยู่ให้นานพอใจเหมือนกัน หากวันที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปนั้นสิ้นสุดลง จะมีโทรเลขหรือหนังสือเข้าไปกราบถวายบังคมลาต่อไปอีกก็ได้ ไม่ขัดข้องเลย

พระดำรัสเล่าถึงชาวพายัพนึ่งข้าวเหนียวเวลาเดียวในวันหนึ่งนั้นไปลงรอยเดียวกับเจ้าพระยาเทเวศร ท่านตามเกล้ากระหม่อมขึ้นไปเที่ยวโคราช คราวขึ้นไปปลูกพลับพลารับเสด็จเมื่อเปิดรถไฟ อาหารซึ่งเอาไปกินกลางทาง กลางรถไฟ ท่านเอาข้าวหลามกับปลาแห้งห่อกระดาษไปกิน ท่านอธิบายว่าเป็นแบบของกรมม้า เวลาคุมม้าล่วงหน้าไปรับเสด็จประพาสหัวเมือง ในทางกลางป่าเขากินข้าวหลามกันทั้งนั้น เวลาเย็นหยุดพักนอนก็เผาข้าวหลาม รุ่งเช้าก็แจกข้าวหลาม ต่างเอายัดใส่ย่ามกับกับตามมีตามได้แล้วก็ขึ้นม้าไป หยุดที่ไหนก็กินที่นั่น ไม่ต้องหุงต้องต้มให้ลำบากเสียเวลา อยากกินเป็นคาวก็กินกับปลาแห้งปลาสลิด อยากกินเป็นของหวานก็จิ้มน้ำตาล ยักย้ายไปได้ทั้งนั้น จนถึงที่พักนอนจึงตั้งกองเผาข้าวหลามกันใหม่ เทียบด้วยพระดำรัสก็เป็นวิธีของชาวเหนือนั้นเองมายักย้ายไปตามวิธีที่มีทางใต้ ได้ถามชายเจริญใจด้วยเคยไปทำการทางภาคพายัพ ว่าข้าวเหนียวเขาเรียกอะไร ข้าวจ้าวเขาเรียกอะไร เธอบอกว่าข้าวเหนียวเขาเรียกข้าวนึ่ง ข้าวจ้าวเขาเรียกข้าวจ้าว แต่เหตุผลนั้นเธอไม่รู้

งานราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ เห็นจะชุลมุนกันไม่ว่าที่ไหน ที่ในกรุงเทพฯ ก็ชุลมุนกันไม่น้อย เมื่อเย็นวานนี้ที่สถานทูตอังกฤษก็มีแอดโหม เกล้ากระหม่อมก็ได้ไปเยี่ยมส่งก๊าดหักมุม เห็นในลานสถานทูตแต่งโคมญี่ปุ่น เห็นมีโรงงิ้วปลูกอยู่ มหรสพอย่างอื่นก็คงมีอีก พวกสัพเยกจัดมาช่วย สิ่งเหล่านี้มีพรรณนาอยู่ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์โดยละเอียดแล้ว การจุดโคมญี่ปุ่นน่ากลัวไม่สำเร็จเพราะฝนลงเม็ดอยู่เรื่อยๆ หลายวันมาแล้ว ก็ดีไปอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนเป็นอหิวาตกโรค มีจำนวนลดน้อยลงไปมาก แต่ข้อนี้เป็นความเห็นของคนหัวเก่า เมื่อวันที่ ๑๑ หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์เขาลงเรื่องพิธีราชาภิเษกมากมาย ดูริ้วกระบวนแห่เห็นใหญ่โตเหลือล้น เจ็บปวดที่ท่านโดมิเนียนเอาตำรวจและทหารในประเทศแห่งตนไปเข้ากระบวนแห่ด้วย ดูจะเป็นอย่าง ๙ ทัพซึ่งละครยี่เกเล่น เพราะเช่นนั้นเองจึงมีคนตื่นละครจนพากันไปดูมากมาย คิดดูการแห่เสด็จออกไปสวมมงกุฎ แล้วแห่กลับของอังกฤษเทียบได้ตรงกับแห่เลียบพระนครของไทยเรานี่เอง ทำโดยปรารถนาจะให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็นพระองค์ พระมหากษัตริย์ซึ่งขึ้นเสวยราชสมบัติใหม่ ประกอบพร้อมทั้งมีเกียรติยศปรากฏพระพลานุภาพเพียงไรด้วย

อนึ่งเจ้าพระยายมราชได้ส่งหนังสือพิมพ์ Illustrated Weekly of India มาให้ดู ในนั้นมีรูปราชาภิเษกอินเดียแบบโบราณ เป็นรูปฝรั่งเขียนผูกขึ้นใหม่ๆ แต่เชื่อว่าก่อนที่จะเขียนผูกขึ้นนั้น คงจะได้ไต่ถามสอบสวนได้ความจากท่านพวกอาจารย์ผู้รู้มาแล้ว เกล้ากระหม่อมได้ให้ช่างชักรูปเขาถ่ายถอนออกเอาไว้ดู เป็นรูปขนาดโปสต์ก๊าด ได้ส่งถวายมาทอดพระเนตรเล่นบัดนี้ด้วยรูปหนึ่งแล้ว

เรื่องนุ่งผ้าอย่างต่างๆ ตามที่ตรัสบอกว่า ในตำราขี่ช้างที่หอพระสมุดมีหลายอย่างนั้น เกล้ากระหม่อมพบพระยาอนุมานได้ขอให้เขาช่วยตรวจคัดมาให้ เขารับไปนานแล้ว แต่เพิ่งคัดส่งมาให้ ขอโทษว่าเอาไปลืมเสีย ในสำเนาที่คัดมา ได้อ้างว่าคัดจากหนังสือของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถซึ่งซื้อมา ทำให้เกิดสงสัยว่าหนังสือของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถเพิ่งซื้อมาใหม่ ฉบับที่ฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตร จะเหมือนกันหรือไม่ จึงได้คัดส่งมาถวายเพื่อทรงตรวจดูฉบับหนึ่ง อยู่ข้างมืดแปดด้าน ในตำรานั้นเองก็กล่าวไว้ว่าถ้าไม่เห็นนุ่งก็รู้ไม่ได้ เกรงว่าเวลานี้จะไม่มีใครบอกได้เสียแล้ว ทางพระยาอุทัยธรรมก็ได้ไล่เลียงดูแล้ว ท่านรู้วิธีนุ่งผ้าแต่สี่อย่างเท่านั้น คือบ่าวขุน เกี้ยวเกไล นุ่งสมปักชักพก กับนุ่งจีบโจง สามอย่างข้างต้น ได้กราบทูลมาแล้วได้ความมากออกไปแต่นุ่งจีบโจงอีกอย่างเดียว ไล่เลียงดูวิธีนุ่งก็ได้ความเหมือนเช่นพราหมณ์นุ่งเมื่อรัชกาลที่ ๖ นั้นเอง

จะกราบทูลเรื่องพระสงฆ์ใช้สวด โสอตฺถลทฺโธ กับ สพฺพพุทฺธาแทนอติเรกต่อไป ด้วยเกล้ากระหม่อมเก็บเอามาหนักหัวเห็นว่าแทนไม่ได้ เพราะสวดให้แก่ใครๆที่ไหนๆอยู่เสมอ ไม่มีคำจำเพาะเจาะจงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนอติเรก ซึ่งมีคำว่า สุขิโต โหตุ มหาราชาอยู่ในนั้น นึกไปนึกมานึกขึ้นได้ถึงท้ายสวดมนต์เสดาะพระเคราะห์ มีคำว่ามนุสฺลินเทมหาราชาอยู่ในนั้น แต่ข้อความจะมีในคาถานั้นว่ากระไรบ้างไม่ได้ใส่ใจสังเกตไว้ ถ้าเป็นถวายพระพรแล้วควรจะใช้ได้ดีกว่าสองบทซึ่งใช้อยู่แล้วนั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านมาฉันเมื่อวันเกิด จึงถามท่านว่าท่านเคยรู้หรือไม่ ท่านว่าเคยสวดมาแล้วซ้ำ แต่ว่าสวดนอกๆ ข้อความเป็นถวายพระพร แต่ท่านจำได้ไม่แม่นที่จะใช้ได้ ครั้นต่อมาอีก ๗ วัน ได้ไปที่วัดเทพศิรินทร์ช่วยหญิงไอประกอบการบุญบวชสามเณรเป็นภิกษุ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านเห็นหน้าท่านก็ให้พระไปหยิบคัมภีร์สวดเสดาะพระเคราะห์มาตรวจดูทีเดียว คาถาท้ายสูตรเบื้องต้นอ้างถึงสูตรที่สวด และออกชื่อเทวดาองค์ที่บูชา แต่ตอนท้ายเป็นถวายพระพรต่อพระราชาโดยตรง ท่านเลือกตัดเอาตอนท้ายสามคาถาว่าควรใช้แทนอติเรกได้ จะนำความไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในพรุ่งนี้ ต่อมาอีกสองวันพระงั่วมาที่บ้าน บอกรายงานว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าโปรดแล้วทรงรู้สึกอยู่เหมือนกันว่า บทที่ใช้อยู่นั้นห่างเหินทรงดำริหาอะไรเปลี่ยน จะหาบทที่ใช้อยู่แล้วไม่แต่งใหม่ แต่ยังทรงนึกไม่ได้ มาได้คาถาท้ายสวดเสดาะพระเคราะห์นั้นดีแล้ว ให้นัดหมายไปถึงพระสงฆ์ให้ใช้คาถานั้นทั่วกัน สาธุ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ