วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ เมษายน ได้รับประทานแล้ว

ขออนุโมทนาพระกุศล ซึ่งได้ทรงประชุมบูชาพระพุทธรูปและพระบรมรูปในวันที่ ๖ นั้น อันเป็นทางกระทำโดยกตเวทิตาคุณ ควรแก่บัณฑิตจะพึงปฏิบัติอย่างยิ่ง ส่วนทางกรุงเทพ ฯ เกล้ากระหม่อมก็พร้อมด้วยภรรยาและบุตรหลาน ไปนมัสการถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร กับทั้งพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ด้วยเหมือนกัน ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์นั้น ได้ทำโคมพวงมาลาไปตั้งถวายบูชาด้วย ดั่งได้เกิดความขลุกขลักประดักประเดิดเป็นอันมาก เช่นได้กราบทูลรายงานในหนังสือฉบับก่อนนั้นแล้ว

เมรคุณหญิงนิ่ม ไกรเพชร นั้น ทำเป็นตึกฝรั่งหลังคาตัด อาจรับประกันก็ได้ว่าผู้ออกแบบไม่ได้เอาอย่างเมรุหม่อมเฉื่อยมาทำ เพราะผู้ออกแบบเกิดไม่ทันเห็นเมรุนั้น คงจะเอาอย่างการปลูกสร้างสมัยใหม่ซึ่งทำกันอยู่ในสมัยนี้เอง เช่นเมื่องานฉลองรัฐธรรมนูญ การปลูกสร้างร้านรวงทั้งหลายทำปลอม เป็นตึกหล่อคอนกรีตหลังคาตัดเกือบทั้งสิ้น ที่ทำหลังคาตัดก็เพราะปกติร้านมักเป็นปะรำ หากจะทำหลังคามุงกระเบื้อง ก็เห็นจะทำปลอมให้เหมือนได้ยากอยู่

ตามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต้องพระทัยตรัสชมที่ไว้อัฐิหม่อมเฉื่อยนั้น จำจะต้องถูกพระทัยอยู่เอง ด้วยฝ่าพระบาททรงพระดำริให้ทำโดยชอบ เพราะของใหญ่เป็นเครื่องประดับศพ เมื่อทำร่นเล็กลงเป็นเครื่องประดับกระดูก ก็ยอมเป็นของควรโดยทางที่เป็นมาได้แนวกัน จะต้องดีกว่าแพเป็นแน่นอน เพราะว่าแพเป็นที่อยู่ของคน ไม่ใช่เครื่องประกอบศพหรือเป็นเครื่องประดับกระดูก

เวลานี้เขากำลังทำที่ใส่ศพให้แปลกประหลาด ประกวดประชันกัน เช่นรายหนึ่งทำวันเดียวกันกับงาานศพชายถึก ทำเป็นพานรองดอกบัวบานตั้งบนแท่นเป็นที่ใส่ศพ เกล้ากระหม่อมได้ถามผู้ที่ไปเห็นมา ว่าเอาศพไว้ที่ไหน ไว้ที่ดอกบัวหรือที่พาน หรือที่แท่น ผู้ที่เห็นก็ไม่สามารถจะบอกได้ แล้วยังได้ยินมาว่าวันที่ ๑๙ ก็จะมีงานศพอีก งานนั้นที่ใส่ศพจะทำเป็นสังข์มังศรีรอง เกล้ากระหม่อมก็นึกอ่อนใจ ด้วยศพนั้นเคยใส่หีบ จะคิดทำให้วิจิตรพิสดารประการใดก็ควรจะให้เป็นหีบ ซึ่งจะทำที่ใส่ศพเป็นกระโถนคนทีอะไรไปนั้นเห็นไม่ไหว

ตามความในลายพระหัตถ์ ปรากฏว่าต้องพระประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรเห็นรูปฉายสิ่งต่างๆ ในงานศพชายถึก กับทั้งต้องพระประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรเห็นหนังสือแจกด้วยนั้น หนังสือถวายลงวันที่ ๑๐ ได้เขียนจดหมายรายงานโดยละเอียดส่งถวายมากับรูปฉายด้วยแล้ว และได้ส่งหนังสือแจกให้ชายดิศนำมาถวาย เมื่อเธอออกมาวันที่ ๑๔ นั้นแล้ว หวังว่าป่านนี้คงจะได้ทอดพระเนตรเห็นหมดแล้ว ปะรำที่ชมกันว่างามนั้นเพราะเหตุด้วยใบไม้ดอกไม้สีต่างๆ สลับซับซ้อนกัน อันจะดูรูปฉายเห็นไม่ได้ ด้วยถ่ายติดเป็นสีเดียว ในคราวนี้ได้ถวายรูปมาอีก ๑๓ แผ่นตามที่ทูลไว้ว่ายังพิมพ์ไม่เสร็จ ได้จดบันทึกไว้ที่หลังรูปเพื่อได้ทราบฝ่าพระบาทด้วยแล้ว

ข้อความในลายพระหัตถ์ ซึ่งตรัสถึงหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเรื่องคนคุกเป็นข้อใหญ่นั้น ทำให้เกิดสงสัยขึ้นในใจ ว่าการเลี้ยงนักโทษแต่ก่อนนั้นเขาทำอย่างไรกัน ไม่ใช่มีแต่นักโทษคุก นักโทษตารางก็ยังมีอีกในที่ต่างๆ มาก ไม่เคยทราบว่ามีการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงนักโทษที่ไหนเลย สันนิษฐานว่าการกินของนักโทษนั้นญาติต้องส่ง ถ้าไม่มีญาติพัสดีให้กินบ้าง สมมตว่าตามราคางานซึ่งเกณฑ์ให้ทำของ เช่นที่เขาเล่ากันว่านักโทษทุกคนถูกเกณฑ์ให้สานกะบุง วันหนึ่งคนละใบถ้าสานไม่เป็นเอาสองใบ

หนังสือเรื่องขุนข้างขุนแผนดีอย่างไร ป่วยการที่จะกราบทูล เพราะตระหนักในพระทัยอยู่หมดแล้ว แต่เห็นประหลาดที่ความรู้สึกกันว่าดีในหนังสือแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ผิดกันมาก หนังสือแต่ก่อนถ้าแต่งให้เห็นจริงที่ความเป็นไปในบ้านเมืองแล้วจัดว่าเป็นหนังสือดี เดี๋ยวนี้ถ้าแต่งให้เมืองไทยเป็นเมืองฝรั่งแล้วจัดว่าดี ไม่ต้องมีความจริงอยู่ในนั้น

ขอทูลรายงานการตรวจปราสาทแสดงพิพิธภัณฑ์ปารีส ได้ขอแบบเขามาดู ได้มาทั้งแบบกระดาดเขียวและรูปถ่าย ตรวจเห็นปราสาทนั้นเล็กมาก เป็นจตุรมุขยื่นออกไปเพียงทิศละ ๖๐ เซ็นติเมตร เสมอกันทั้ง ๔ มุข มีขนาดจากที่สุดแห่งมุขอันตรงกันข้ามเพียง ๔.๔๐ เมตรเท่านั้น (ใกล้กับ ๙ ศอก) ภาคหลังคาเห็นว่าเอามาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาคเรือนเสาเอามาแต่แบบเมรุ ดูไม่ค่อยดีที่เอาของใหญ่มาทำของเล็กไม่เหมาะเลย เป็นเรือนตุ๊กตามากกว่าเป็นเรือนที่ใช้การ ในแบบมีฐานสามชั้น แต่ในรูปฉายมีชั้นเดียว เขาว่าอีกสองชั้นให้ไปทำเติมเอาที่เมืองนอก กลางปราสาทตั้งบุษบกรองม้าขางุ้มสามชั้น คงจะไต่ตามบุษบกรองแว่นฟ้ามา บุษบกนั้นว่าเป็นของเก่าซึ่งหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ทำไปตั้งแสดงพิพิธภัณฑ์ที่คานาดา ในบุษบกว่าตั้งพระเจดีย์งาของเก่าที่ได้ทำไปคราวนั้น บนม้ารองสามชั้นผู้คิดแบบเตรียมให้ตั้งของมีตัวอย่างข้าวเป็นต้น เป็นแต่ว่าคนคิดทำปราสาทไม่รู้ไม่เข้าใจว่าทำทำไม ให้คิดก็คิดไปตามกรรมเท่านั้น

เมื่อวันที่ ๑๕ ได้พบพราหมณ์ศาสตรี นึกขึ้นมาได้ถึงคำ ฉัตตี (chatty) อันมีในกฎมนเทียรบาลพม่า ฝ่าพระบาทไม่ทรงทราบว่าหมายถึงสิ่งไร ทรงแปลไม่ออก พระยาอนุมานก็ใฝ่ใจจะหาความเข้าใจในคำนั้นอยู่ เขาได้สอบถามพวกพม่า ทั้งพระยาอินทรมนตรีด้วย ต่างก็ไม่มีใครรู้แปลไม่ออกกันทั้งนั้น จึงต้องปล่อยไปตามไม่รู้ ภายหลังเมื่อตีพิมพ์แล้วเกล้ากระหม่อมจึงนึกขึ้นมาได้ ว่าเคยเห็นคำนั้นในเรื่องอินเดียแฟรีเตล เมื่อหัดอ่านภาษาอังกฤษ ในเรื่องมีว่าพวกยักษ์เอาเจ้าหญิงไปสาปให้เป็นนกปรอท ใส่กรงประกอบเครื่องป้องกันไว้ในสวน เจ้าชายคู่รักไปติดตามแหกเครื่องป้องกัน มีอ้ายฉัตตีหกคะเมนลงมาน้ำท่าเลอะเทอะ เป็นเหตุให้พวกยักษ์รู้สึกลุกขึ้นรบกับเจ้าชาย แต่ก็ไม่ทราบว่าอ้ายฉัตตีนั้นเป็นอะไร ค้นหาพจนานุกรมก็ไม่มี นึกเอาว่าคงเป็นร่มแต่รู้สึกในใจว่าคำนั้นคงเป็นคำแขก ครั้นได้พบพราหมณ์ศาสตรีจึงถามดู แกบอกว่าหม้อดิน เป็นคำทมิฬ จึงเอามาปรับเข้ากับคำในกฎมนเทียรบาลพม่าที่มีว่า ยืนบนหลังม้าวิ่งฟันฉัตตีมิให้ตกลงถึงดิน วิธีปฏิบัติคงจะมีคนถือหม้อดินคอยดักอยู่ข้างหน้า เวลาเมื่อม้าวิ่งไปถึงก็โยนหม้อดินขึ้นไปบนอากาศ ทหารม้าก็ฟันหม้อดินให้แตกในอากาศ มิให้ตกดินด้วยฟันผิด อย่างเดียวกับคนแม่นปืนในเซอคัส ซึ่งเขาว่านายโรงโยนลูกแก้วขึ้นไปบนอากาศ แล้วคนแม่นปืนก็ยิงลูกแก้วให้แตกบนอากาศมิให้ตกลงดินทั้งลูกฉะนั้น

รู้สึกประหลาดในถ้อยคำอีกคำหนึ่ง เห็นในบทสักวาเขาแต่งลงหนังสือพิมพ์ ใช้คำว่ากำแหงแทนชื่อหณุมาน ทำให้นึกถึงกรมหมื่นวรวัฒน์ ท่านเคยตั้งปัญหาถามเล่น ว่าทำไมคำกำแหงจึงประกอบใช้แต่หณุมานคนเดียว เป็นกำแหงหณุมาน กำแหงวายุบุตร จะประกอบเป็นกำแหงองคตบ้างไม่ได้หรือ เกล้ากระหม่อมก็จน ได้แต่หัวเราะ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ