ตอบคำถามที่ ๗ ของพระยาอินทรมนตรี

คำถามที่ ๗ ว่า ยศเจ้าฟ้ามาใช้ในประเทศสยามเมื่อไร

ตอบคำถามที่ ๗ ว่า คำ “เจ้า” กับคำ “ฟ้า” ๒ คำนี้ เป็นคำภาษาไทยเก่าแก่มาก น่าจะใช้มาแต่ชนชาติไทยยังอยู่ในเมืองเดิมอันตกเป็นแดนจีนในบัดนี้ พิเคราะห์คำว่า “เจ้า” เดิมเห็นจะหมายความว่า “ผู้มีกำเนิดในสกุลสูงสุด” ทำนองเดียวกับคำว่า Royal Prince หรือว่าอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเจ้าด้วยเกิด ไทยพวกอื่น เช่นไทยใหญ่ Shan เป็นต้น ตถอดจนไทยสยามข้างฝ่ายเหนือยังใช้หมายความเช่นนั้นอย่างเดียว ที่เอาคำ “เจ้า” ไปใช้หมายถึงผู้ที่มิได้เกิดเป็นเจ้า มามีขึ้นในกรุงศรีอยุธยาปรากฏในเรื่องพงศาวดารและมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินา ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งข้าราชการชั้นสูงสุดเป็น “เจ้าพระยา” เห็นจะเป็นมูลเหตุของคำที่เรียกเจ้าเป็น ๒ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า “เจ้าครอก” หมายความว่า “เจ้าโดยกำเนิด” อีกอย่าง ๑ เรียกว่า “เจ้าคุณ” หมายความว่าเป็นเจ้าโดยคุณวิเศษ ฉันเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ชั้นเก่า เช่นสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านเรียกเจ้า รวมทั้งตัวฉันเองด้วย เมื่อยังไม่ได้รับกรมว่า “เจ้าครอก” ถึงหม่อมเจ้าคนเก่าๆ ก็เรียกกันว่า “เจ้าครอก” ต่อคนชั้นเก่าหมดไปคำเจ้าครอกจึงเลยหายไปเมื่อรัชกาลที่ ๕ นี่เอง คำว่า “เจ้าคุณ” นั้น เดิมเห็นจะเรียกแต่เฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าพระยา พระสงฆ์ก็เห็นจะเรียกแต่ที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ภายหลังเรียกเจ้าคุณลงมาถึงขุนนางผู้ใหญ่ชั้นเป็นพระยาที่ได้รับพานทองเครื่องยศซึ่งมีราวสัก ๒๐ คน พระยาสามัญหาเรียกว่าเจ้าคุณไม่ ที่มาเรียกพระยาทุกชั้นว่าเจ้าคุณดูเหมือนจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๖ ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่าเจ้าคุณ เดิมทีก็จะเพิ่มลงมาเพียงพระราชาคณะผู้ใหญ่ แล้วจึงเลยเรียกพระราชาคณะทุกชั้นว่าเจ้าคุณ ยังมีบุคคลที่เรียกกันว่า เจ้าคุณอีกพวก ๑ คือ พระญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินทางฝ่ายสมเด็จพระชนนี เรียกกันว่าราชนิกูล แต่มักเรียกเจ้าคุณแต่ที่เป็นผู้หญิง เพราะที่เป็นผู้ชายเรียกตามบรรดาศักดิ์ในราชการ คำ “เจ้า” เอามาใช้เรียกเลยไปในอย่างอื่นยอมอีกหลายอย่าง เช่น เจ้ากรรม เจ้ามือ เจ้าหนี้ เจ้าบ่าว เจ้าสาว เป็นต้น แต่ความหมายว่าเป็นหัวหน้าทั้งนั้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นคำปากตลาด เอาคำเจ้าดังอธิบายว่ามาแต่ก่อนมาเรียกเป็นอุปมาตามสะดวกปากทั้งนั้น

คำว่า “ฟ้า” นั้น ความหมายว่าสวรรค์ Heaven คือเทวโลก มิใช่หมายว่าที่ว่างที่เมฆลอยไปมา ที่ว่างเช่นนั้นเรียกว่า “ท้องฟ้า” หมายความว่าเป็นเบื้องต่ำที่สุดของฟ้า เช่นเรียกกันว่า “ท้องคลอง” “ท้องเรือ” “ท้องร่อง” เป็นต้น

ที่เอาคำทั้ง ประสมกันเรียกว่า “เจ้าฟ้า” หมายความว่าเป็นเทวดาที่จุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในมนุษย์โลก เพราะฉะนั้นพวกไทยแต่โบราณจึงเรียกผู้ที่ครองบ้านเมืองว่า “เจ้าฟ้า” ยังเรียกกันในเหล่าเมืองไทยใหญ่ ไทยลื้อ และไทยเขิน อยู่จนทุกวันนี้ เช่นเจ้าฟ้าสีปอ เจ้าฟ้าเชียงรุ้ง และเจ้าฟ้าเชียงตุง เป็นต้น คำว่า เจ้าฟ้า อังกฤษเขียนตามสำเนียงพม่าว่า “Saw Bwa” เจ้าเมืองเป็นเจ้าฟ้า ลูกหลานก็เรียกว่า “เจ้า” เจ้าจึงเป็นยศแต่กำเนิดด้วยประการฉะนี้

ประหลาดอยู่ที่ไม่ปรากฏว่า พวกไทยในประเทศสยามหรือประเทศลานช้างและประเทศลานนา ใช้คำ “เจ้าฟ้า” มาแต่แรก แต่มีคำเก่าอยู่ในหนังสือพงศาวดารประเทศลานช้างคำ ๑ เรียกเทวดาว่า “ผีฟ้า” เข้าเหมาะราวกับลูกกุญแจ ไขศัพท์ซึ่งไทยพวกอื่นเรียกเจ้าครองเมืองว่า “เจ้าฟ้า” ดังวินิจฉัยที่กล่าวมาแล้ว

ยศเจ้าฟ้าแรกมามีขึ้นในประเทศสยามเมื่อใด ข้อนี้ได้พบเค้าเงื่อนชอบกล น่าจะถือเป็นหลักฐานได้ มีในหนังสือ “มหาราชวงศ์” พงศาวดารพม่า (ดูเหมือนฉบับที่พระไพรสณฑ์สาลักษณ์ อองเทียน แปลเป็นภาษาไทย) ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา (คราวขอช้างเผือก) มีชัยชนะแล้วตั้งพระมหาธรรมราชาผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเป็นชนกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันต้องจำยอมเข้ากับพระเจ้าหงสาวดีในครั้งนั้น เป็น “เจ้าฟ้าสองแคว” (สองแควเป็นชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก มีอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และในกฎหมายลักษณะลักพาของพระเจ้าอู่ทอง) ข้อนี้พึงสันนิษฐานได้ว่าพระเจ้าหงสาวดีเอายศ “เจ้าฟ้า” ไทยใหญ่ที่เป็นประเทศราชขึ้นพม่ามาตั้งให้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีในหนังสือพงศาวดารไทย ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานประกอบปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะกบฎศึก สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ในบานแผนกกฎหมายนั้นออกพระนามสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่า

“สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครปุริโสตมบรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวร์เชษฐาธิบดี” ดังนี้ เป็นเก่าที่สุดที่พบใช้คำ “เจ้าฟ้า” เป็นยศไทยสยาม พิเคราะห์ดูก็ต้องกันกับที่กล่าวในพงศาวดารพม่า คือ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองชนะกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าฟ้าครองเมือง เปรียบเหมือนอย่างเจ้าเชียงใหม่หรือเจ้าลำพูนครั้งมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๑ ตีได้กรุงศรีอยุธยาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชออกจากราชสมบัติแล้ว ตั้งพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือ เป็นพระเจ้าประเทศราช ชั้นเดียวกันกับพระเจ้าอังวะและพระเจ้ายักไข่ พระนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏคงมีคำ “เจ้าฟ้า” อยู่ด้วย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้รับรัชทายาท คงใช้คำเจ้าฟ้าจารึกในพระสุพรรณบัฏเหมือนอย่างสมเด็จพระชนก ต่อมาจึงปรากฏในบานแผนกกฎหมายที่กล่าวมานั้น แต่ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถนั้นเอง เอาคำ “เจ้าฟ้า” ไปใช้แต่เป็นยศสำหรับลูกเธอที่เกิดด้วยพระมเหสี หรือที่พระมารดาเป็นเจ้า มิได้ใช้คำ “เจ้าฟ้า” ในพระนามพระเจ้าแผ่นดินต่อมา จะยกตัวอย่างมีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระเอกาทศรถเองทรงตั้งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เป็น “เจ้าฟ้าสุทัศน์” แต่นั้นก็ใช้คำ “เจ้าฟ้า” เป็นยศพระเจ้าลูกเธอชั้นสูงสืบมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ