อธิบายตอบคำถามพระยาอินทรมนตรี ตอนที่ ๕

คำถามที่ ๕ ว่าคำ “กลาโหม” กับคำว่า “พลัมภัง” มาแต่อะไร

ตอบคำถามที่ ๕ ต้องเพิ่มอธิบายคำ “มหาดไทย” อันเป็นคู่กับคำ “กลาโหม” ด้วยอีกคำหนึ่ง ลักษณะการปกครองราชธานีเดิมแบ่งราชการฝ่ายพลเรือนเป็น ๔ แผนก (หรือถ้าเรียกตามคำที่ใช้ในชั้นหลัง ก็เป็น ๔ กระทรวง) คือกรมเมืองสำหรับรักษาสันติสุขแผนก ๑ กรมวังสำหรับรักษายุติธรรมและราชสำนักแผนก ๑ กรมพระคลังสำหรับรักษาราชทรัพย์ผลประโยชน์ของบ้านเมืองแผนก ๑ และกรมนาสำหรับรักษาเศรษฐกิจของบ้านเมือง อันเกิดแต่ทำไร่นาเป็นพื้น แต่ละแผนกมีข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นสูงสุดบังคับบัญชาแผนกละคน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกรวมกันว่า “จตุสดมภ์” เป็นหัวหน้าข้าราชการ หากจะมีผู้สงสัยว่าไฉนถึงไม่มีกรมฝ่ายทหาร ข้อนี้วินิจฉัยว่าในสมัยนั้น การปกครองเป็นอย่างทหารอยู่แล้วทั้งนั้น ข้าราชการและไพร่ในกรมถึงจะนับว่าเป็นฝ่ายพลเรือน ก็เป็นแต่ในเวลาบ้านเมืองเป็นปกติ ถ้าเกิดศึกสงครามก็ต้องออกรบเป็นทหารด้วยกันหมด ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในหนังสือพงศาวดาร ปรากฏว่าหัวหน้ากรมฝ่ายพลเรือน เช่นเจ้าพระยาธรรมา (แต่โบราณยังเป็นแต่ “ออกญา”) หัวหน้ากระทรวงวังและเจ้าพระยาคลังเป็นแม่ทัพก็มีเนืองๆ คำที่เรียกว่า “เสนาบดี” ก็หมายความว่าเป็นแม่ทัพ Chief of the army หาใช่ Minister ไม่

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงแก้ไขระเบียบตำแหน่งข้าราชการใหม่ (ในสมัยเดียวกับตั้งกฎหมายทำเนียบศักดินา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ นั้น) ให้แยกกรมต่างๆ เป็น ๒ ฝ่ายตามหน้าที่ในเวลาปกติ เป็นพลเรือนฝ่าย ๑ ทหารฝ่าย ๑ จตุสดมภ์ทั้ง ๔ ซึ่งกล่าวมาแล้วเป็นทางพลเรือน กรมทหารต่างๆ เป็นฝ่ายทหาร ทรงตั้งตำแหน่งเจ้าพระยาชั้นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าชั้นจตุสดมภ์ขึ้น ๒ ตำแหน่ง มีราชทินนามว่า “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิรีย์ปรากรมพาหุ” เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน เรียกชื่อกรมของเจ้าพระยาจักรีฯ ว่า กรมมหาดไทยกรม ๑ ทางฝ่ายทหารก็ทรงตั้งตำแหน่งหัวหน้าเป็นอัครมหาเสนาบดีอีกคน ๑ มีราชทินนามว่า “เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยภักดีบดินทรสุรินทรฤๅชัย อภัยพิรีย์ปรากรมพาหุ” เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารทั้งสิ้น เรียกชื่อกรมของเจ้าพระยามหาเสนาฯ ว่ากรมกลาโหม มีมูลมาดังนี้

ทั้งคำว่า “มหาดไทย” และคำว่า “กลาโหม” มิใช่คำภาษาไทย สงสัยว่าจะเป็นคำซึ่งพวกพราหมณ์พามาจากภาษาในอินเดีย ฉันได้ลองค้นดูในหนังสือ พจนานกรมภาษาบาลีของอาจารย์ชิลเดอ Professor Childer พบศัพท์ Kalaho แปลความว่า Quarrel, Strife, Battle และพบคำว่า Mahadayo แปลว่า Very compassionate, All-merciful ยิ่งชวนให้เห็นว่าคำกลาโหมและมหาดไทยจะมาแต่ ๒ คำที่ว่ามานี้ ฉันได้เคยสืบทางอื่นๆ ตั้งแต่แรกฉันว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้ความ ว่ามูลของคำว่ามหาดไทยและกลาโหมมาจากไหน

คำว่า “พลัมภัง” นั้นเป็นชื่อกรมน้อยกรมหนึ่ง ซึ่งมีทั้งในกรมมหาดไทยและกรมกลาโหม กรมพลัมภังของมหาดไทยเจ้ากรมเป็น “พระยาจ่าแสนบดี” กรมพลัมภังของกลาโหมเจ้ากรมเป็นที่ “พระยาศรีสรราชภักดี” เมื่อฉันแรกว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยถามข้าราชการที่เขาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาก่อน ถึงหน้าที่กรมพลัมภังแต่เดิม มีผู้สูงอายุบอกว่าเคยได้ยินว่ากรมพลัมภังนั้นเดิมเป็นพนักงานปืนใหญ่ เขาอ้างว่าตราตำแหน่งของพระยาจ่าแสนฯ ก็เป็นรูปช่างบรรทุกปืนใหญ่ สืบถามให้ความแต่เท่านี้ แต่พบศัพท์ในพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอศัพท์ ๑ ว่า Balam แปลว่า An army, Troop, Forces ดูคล้ายกับ พลัมภัง เหมือนอย่างศัพท์ Kalaho คล้ายกับกลาโหมแล Mahadayo คล้ายกับมหาดไทย คงเป็นชื่อใช้มาเก่าแก่ทั้ง ๓ ชื่อเป็นแน่ บอกอธิบายชื่อ ๓ กรมนั้นได้แต่เพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ