วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ได้รับประทานแล้ว

คำ สามโปเตียง กับ สามปากง น่าสงสัยว่าจะเป็นคำเดียวกันจริง ได้ปรึกษาพระเจนจีนอักษรแล้ว บอกได้แต่คำ สามป๊อกง สามก็แปลว่าสาม ป๊อว่าแก้ว กงว่าพระ เป็นภาษาฮกเกี้ยน ความก็ว่าพระไตรรัตน์นั้นเอง ถ้าจะหาทางว่าพระเจ้ากรุงจีนองค์ใดสร้างพระเจ้าพแนงเชิงก็มีท่วงทีอยู่องค์หนึ่ง คือพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์ฮั่นองค์ที่ ๒ เสด็จหนีจากบ้านเมืองถือเอาเพศเป็นภิกษุ มาท่องเที่ยวอยู่ทางเมืองมลายู มีข้าราชการคณะหนึ่งมาตามหาแต่ไม่พบ ข้าราชการคณะนั้นเรียกกันโดยสมยาว่า สามป๊อ แต่อักษร ป๊อ ในที่นี้ผิดกันกับอักษร ป๊อ ในนาม สามป๊อกง แตไม่เป็นเหตุจะพึงสงสัย ว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น หรือข้าราชการคณะนั้นจะเป็นผู้สร้างพระเจ้าพแนงเชิง เพราะพระเจ้าพแนงเชิงสร้างก่อนกรุงเก่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่หนีมานั้น มาภายหลังพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงเก่า ส่วนคำ สามโปเตียง นั้นบอกอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีตัวหนังสือจีนอยู่

เรื่องกรุงเก่า เกล้ากระหม่อมก็เห็นมานานแล้วว่าเป็นเมืองเก่าอยู่ก่อน โดยปรากฏหลักฐานอยู่หลายอย่าง ไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองมาหักร้างถางป่าสร้างขึ้นเป็นบ้านเมือง

อันชื่อ เวียงเหล็ก ตามที่ทรงพระวินิจฉัยนั้น ทำให้นึกเรื่องตัวอย่างขึ้นมาได้ พระยารัษฎา (ซิมบี้) เล้าให้ฟังว่าเมื่อคุณมนตรีออกไปเป็นข้าหลวงเมืองภูเก็ตนั้น เขาแต่งนายศรีแก้วกรรมการผู้น้อย ให้มาอยู่ประจำคอยรับใช้ วันหนึ่งคุณมนตรีสั่งว่า ไปหาเรือเล็กมาลำไป๊ นายศรีแก้วเรียนว่าเรือเล็กไม่มี เจ้าคุณมนตรีเชื่อด้วยสำคัญว่าภูเก็ตเป็นเมืองในทะเล เรือเล็กหาไม่ได้เขาไม่ใช้กัน แต่ที่จริงนายศรีแก้วเข้าใจว่าเจ้าคุณมนตรีต้องการเรือเล็ก อยู่มาวันหนึ่งคุณมนตรีไปเที่ยว ไปเห็นเรือเล็กเข้าก็โกรธ ต่อว่านายศรีแก้วว่าเรือเล็กมีนี่ยังไง นายศรีแก้วเถียงว่านี่เรือเอี๊ยด ไม่ใช่เรือเล็ก (หมายถึงเหล็ก)

อันชื่อเมืองเก่านั้น หากว่าชื่อ เมืองอโยธยาแล้ว เจ้าผู้ครองเมืองจะต้องชื่อ รามาธิบดี หรือมิฉะนั้นก็ ราเมศวร ด้วยเป็นนามคู่เมือง พระเจ้าอู่ทองมาริบเอา ในหนังสือจุลยุทธการวงศ์ว่าพระเจ้าอู่ทองถือเอาชื่อยายศรีอายุกับตาอุทยายายกะตา ซึ่งอยู่มาก่อนเป็นนามเมืองเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา ช่างเถอะ

เรื่องเอาแก้วลูกใหญ่ใส่ยอดพระเจดีย์นั้นสำคัญ เลยเป็นแฟชั่นจนถึงบัดนี้ บรรดายอดพระเจดีย์ออกจะขาดลูกแก้วไปไม่ได้ จำต้องมี เช่น พระศรีรัตนเจดีย์เป็นต้น

ถ้าหากผู้สร้างพระเจดีย์วัดใหญ่เป็นสมเด็จพระนเรศวร พระเจ้าแผ่นดินซึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผนเรียกว่า สมเด็จพระพันวัสสานั้นก็ตีวงแคบเข้าได้มาก ต้องเป็นสมเด็จพระนเรศวรหรือพระเจ้าแผ่นดินองค์ภายหลังแต่นั้นลงมา มีที่สังเกตคือองค์ที่เอาลูกแก้วขึ้นใส่ยอดพระเจดีย์ สมเป็นพระเจ้าทรงธรรม เพราะพระองค์ฝักใฝ่ในทางพระศาสนาคงจะทรงนึกถึงพระเจดีย์ได้ก่อนสิ่งอื่น นี่เป็นชั้นขุนแผนเกิด เมื่อขุนแผนโตแล้ว มีเรื่องไปรบเชียงใหม่ สมเป็นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

พระเจดีย์วัดใหญ่เคยเห็นแต่ในทุ่ง ยังไม่เคยไปถึงองค์พระเจดีย์เลย ได้ยินแต่เขาพูดกันว่าแถบนั้นคับคั่งไปด้วยวัดวาที่ใหญ่ๆ เห็นได้ว่าทำเลที่นั้นเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนมาก จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ

พระเจดีย์ภูเขาทอง เคยไปถึงองค์หลายครั้ง แต่ไปตามเสด็จพระราชดำเนิน ทีหลังยังติดหน้าที่ต้องประจำกระบวนข้างใน ด้วยไม่มีโอกาสได้เที่ยวซุกซนดูอะไรเล่นตามชอบใจได้เหมือนไปเที่ยวตามลำพัง ได้สังเกตเห็นแต่ว่าฐานชั้นทักษิณลักษณะบัวฐานเป็นบัวต่างประเทศไม่ใช่บัวไทย แต่องค์พระเจดีย์บนฐานทักษิณนั้นเป็นพระเจดีย์ไทยมีแผ่นศิลาจารึกติดไว้ด้วย แต่ไม่ได้อ่าน ผู้ที่เขาได้อ่านเขาว่า พระยาชัยวิชิตสร้าง ตามที่เห็นเป็นอย่างนี้ จะต้องเป็นว่าพระเจดีย์เก่าพังลงเสียแล้วเพียงฐาน อย่างพระมุเตาที่เมืองหงสา พระยาชัยวิชิตก่อแก้ฐานทักษิณ แล้วสร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่บนฐานทักษิณนั้น องค์พระเจดีย์เห็นจะย่อมจะต่ำกว่าองค์เดิมมาก

คราวนี้จะกราบทูลเสริมพระดำรัส ซึ่งตอบข้อถามของพระยาอินทรมนตรี อันกรมของเจ้านายนั้นจัดเป็นกรมทหารอาสาสมัครโดยตรง เหตุว่าเจ้านายที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่คนย่อมนิยมชมชอบที่จะเข้าพึ่งพระบารมี เป็นทางที่จะเกลี้ยกล่อมหาคนสมัครได้มากโดยง่ายเวลามีราชการสงคราม เจ้าต้องเสด็จไปคุมข้าในกรมไปทำการสงครามไม่ต้องจ่ายทหารถวาย ซ้ำได้คนเพิ่มเข้าตาทัพอีกด้วย เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว จึงจำต้องยุบกรมเลิก แต่เพื่อจะไม่ให้คนแตกฉานซ่านเซ็นไปเสีย จึงโยกย้ายเอาไปเข้าทางกรมอื่น ส่วนกรมฝ่ายในอันพระองค์เจ้าไม่มีโอกาสที่จะไปทัพจับศึก เห็นจะเกณฑ์เจ้ากรมปลัดกรมคุมคนเข้าไปเข้าตาทัพ

เมื่อวันพฤหัสบดี หญิงจงพาชายดำไปลากลับออกมาปีนัง หม่อมอบก็ไปด้วย ดูแช่มชื่นมาก แต่คิดดูเห็นว่าจะไม่แช่มชื่นไปได้กี่วัน พอถึงกำหนดที่ลูกจะต้องจากไปก็จะกลับได้ทุกข์อีก น่าสงสาร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ