วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

เมื่อวันอังคารพระเจนกลับเข้าไป นำผลแปของประทานไปให้ได้รับประทานพร้อมทั้งลูกๆ ด้วยแล้ว คราวนี้อร่อยมาก เห็นจะเป็นด้วยสุกพอดีไม่ห่ามไม่งอม เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท

พระเจนดูแกรื่นเริงมากที่ได้ออกมาเฝ้า คุยเอ็ดตะโรออกจะหยอดพระยารัษฎามากว่ามีเลี้ยงให้ด้วย ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดให้นายชิตเป็นผู้นำ แต่แกไม่เอานั้น พยจะคาดได้ว่าแกไม่ต้องการไปชมสถานที่อันงดงาม แกคงต้องการไปเที่ยวคบคุยกับเจ๊กๆ แป๊ะๆ ซึ่งนายชิตคงไม่สามารถนำได้ และแม้ว่าไปด้วยก็ไปขวาง แกจึ่งไม่เอา

เรื่องทูลกระหม่อมชาย ประทานพจนานุกรมศัพท์ภาษาชวา ซุนดา มลายูซึ่งทรงรวบรวมขึ้นนั้น ฉบับซึ่งประทานถึงเกล้ากระหม่อม ในลายพระหัตถ์นำมีตรัสบ่นถึงพจนานุกรมอีกว่าไม่มีพจนานุกรมภาษาสํสกฤตจะสอบ มีแต่พจนานุกรมภาษาบาลีของอาจารย์จิลเดอร์อยู่เล่มเดียวใช้ดูสอบเดาๆ ไปกระนั้นเอง ลางศัพท์ก็ไม่ได้ความแน่นอน ตามที่เกล้ากระหม่อมขอพระบารมีฝ่าพระบาทเป็นที่พึ่งให้ช่วยตรัสสั่งซื้อพจนานุกรมของอาจารย์โมเนียวิลเลียมส์ด้วยตั้งใจจะส่งไปถวายนั้น หาได้กราบทูลให้ท่านทรงทราบไม่ คิดจะสงบความไว้ไม่ให้ทรงทราบจนพจนานุกรมไปถึงพระหัตถ์ แต่เห็นจะเป็นไปไม่ได้ ได้รับลายพระหัตถ์ตรัสบ่นมาคราวนี้เห็นจะต้องกราบทูลให้ทรงทราบ

คำ โต้หลง เกล้ากระหม่อมก็สำคัญว่าเป็นภาษาจีน เพิ่งจะได้ทราบว่าเป็นภาษามลายู เจ๊กจำเอาไปใช้เสียมากมาย จนเข้าใจว่าเป็นภาษาเจ๊ก สำเนียงก็สมเป็นเจ๊กด้วย ทูลกระหม่อมชายจึงทรงจำหน่ายไปว่าคำนั้นเป็นเจ๊กด้วย เข้าพระทัยผิดเช่นเดียวกัน ฝ่าพระบาทควรจะทูลไปให้ทรงทราบ จะได้ทรงแก้เสียให้ถูกต้อง

เหมือนคำ กบาล ศาสตราจารย์เซเดส์ กราบทูลฝ่าพระบาทว่า เป็นคำเขมร แปลว่าหัวนั้นก็เข้าใจผิด ที่จริงเป็นภาษามีทั้งบาลีและสํสกฤตว่า กปาล แปลว่ากะลาหัว (Scalp) เขมรจำเอาไปใช้อีกต่อหนึ่ง และคำนั้นเองเรารับมาใช้ก็คิดจะหลงเลือนไปเป็นสองทาง คือเสียกบาลแปลว่า เสียหัวทางหนึ่ง ถึงทำตุ๊กตาขึ้นต่อยเอาหัวออก อีกทางหนึ่งไปเข้าใจเอาว่ากะบะหยวกที่ใส่เครื่องเช่นนั้นเป็นกบาล อันนี้เข้าใจผิดไปมาก เห็นจะเข้าใจผิดมาแต่คำว่าทูนกบาล กบาลจึ่งกลายเป็นกะบะหยวกไป แต่ที่จริงจะมาแต่นำกะบะหยวกเครื่องเซ่นทูลหัวไปทอดที่ป่าช้า หรือทางสามแพร่งแบบแขกที่ใช้ทูนหัวแทนกระเดียด แม้ไทยที่สงขลาก็เห็นทูนหัวอย่างแขกเหมือนกัน

ข้อพระดำริที่ว่าคำ เจ้าข้า น่าจะมาเป็นคำ เจ้ากู นั้น ยังสงสัยอยู่คำ กู เป็นแน่ว่าหมายถึงตัว แต่คำ ข้า จะหมายว่าผู้รับใช้ (Servant) กู คำเขมรเป็นอัญ ถูกแล้ว ส่วนคำ ข้า เขามีอีกต่างหากว่า ขญม ใช้ติดกันเป็น อัญขญม (ไทยเขียนอัญขยม) แปลว่า กูข้า ก็มีอยู่ ในการที่มลายู มอญ เขมร มีคำว่า เจ้ากู ตามภาษาแห่งตนเหมือนกับไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะเป็นศิษย์ครูเดียวกัน เอาคติครูมาผูกใช้ตามภาษาแห่งตน ทูลกระหม่อมชายได้ทรงแสดงพระดำริไว้ว่า สิ่งใดที่ต่างภาษามีเหมือนกัน จะต้องพิจารณาสิ่งนั้นไปเป็นสามทางคือต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำแต่เผอิญมาโดนกันเข้านั่นอย่างหนึ่ง เรียนมาแต่ครูเดียวกัน ต่างทำไปตามคติของครูนั้นอย่างหนึ่ง เอาอย่างกันไปอีกอย่างหนึ่ง พระดำริอันนี้เห็นว่าชอบยิ่งนัก

ดีใจที่ทราบว่า ได้ทรงพระดำริในคำควรมิควรมาแล้ว และพระดำริยังมีกว้างออกไปถึงคำควรมิควรนั้น แม้จะได้ใช้โดยถูกต้องกับความในหนังสือแล้ว ยังควรใช้แต่แก่บุคคลที่จะพึงสั่งแก้ไขได้อีกด้วยอีกนั้น เป็นถูกที่สุดทีเดียว

ข่าวในกรุงเทพฯ วันที่ ๒ ที่ ๓ เดือนหน้า จะมีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลร้อยวันที่พระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ถวายหมายกำหนดการมาด้วยฉบับหนึ่ง เพื่อจะได้ทราบฝ่าพระบาทว่ามีการอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนนี้ พระยานครราชเสนี บุตรพระยาสิงหเสนีถึงแก่กรรม ได้ไปรดน้ำศพให้เขา ไปเห็นหอนั่งเจ้าคุณยมราชแก้ว ซึ่งเห็นมาไม่รู้กี่ครั้งแล้วก็ยังรู้สึกชอบใจอยู่มาก แล้วยังนึกประหลาดใจที่ว่ายังคงยืนยงมาจนถึงบัดนี้ แล้วยังวิตกว่าจะอยู่ยืนยงต่อไปอีกไม่ได้นาน คงจะถูกรื้อสร้างเป็นเรือนสมัยใหม่ด้วยชาวเราไม่ชอบของเก่า ทำอะไรให้เป็นของใหม่ที่สุดแล้วเป็นมีหน้ามีตา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ