วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรที่ทรงเริ่มใหม่ตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายนนั้นแล้ว ท่านเสด็จกลับไปถึงกรุงเทพฯ เร็วกว่าพวกหม่อมฉันคาดกัน พูดกันในเวลากินอาหารเช้าเกือบทุกกัน ว่าป่านนี้ท่านจะเสด็จไปถึงไหน และป่านนี้จะเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้วหรือยัง มิรู้ว่าเรือภาณุรังษีแล่นจากสงขลาตรงไปกรุงเทพฯ ทีเดียว ธรรมดานายเรือทะเลเขาชอบแล่นให้ไกลฝั่ง เพราะต้องระวังน้อยลงและตัดทางตรงถึงเร็วขึ้นด้วย ฝ่ายคนโดยสารมีเวลาอ้างว้างมาก ถ้าเป็นฝรั่งกลางวันก็มักเล่นกีฬาและเสพสุราเมรัยกัน กลางคืนก็ชวนกันรำเท้าเข้ากับคราโมโฟน แต่ไทยเราเช่นพระองค์ท่านกับหม่อมฉัน ไม่ออกสนุกในการเหล่านั้น ก็ได้แต่นอนอ่านหนังสืออ่านจนเมื่อยตาก็เลยหลับไป หม่อมฉันลงไปสิงคโปร์จากกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งก็นอนวันละหลายหนเช่นตรัสเล่ามา จึงหวังว่าทั้งพระองค์ท่านและผู้โดยสารเสด็จจะถึงกรุงเทพฯ โดยชื่นบานทั่วกัน

การเที่ยวดูโบราณวัตถุสถานตามต่างประเทศ ได้ประโยชน์แน่นอนที่ได้เห็นรูปสัณฐานด้วยนัยตา แต่ส่วนเครื่องตำนานของวัตถุสถานเหล่านั้นรู้ได้เพียงเท่าที่นักโบราณคดีในถิ่นนั้นเขาบอก แต่เมื่อคิดดูว่าถ้าไม่ได้ความรู้จากเขา ได้ฟังแต่เรื่องนิทาน เช่นเรื่องตาแสนปมก็จะรู้เชื่อนหนักไป จึงต้องฟังอธิบายของพวกนักโบราณคดีพอรู้ใกล้กับความจริง

ข่าวทางปีนังนี้ ตั้งแต่ท่านเสด็จกลับไปแล้ว มีกรมขุนชัยนาทเสด็จมาพักอยู่ที่โฮเต็ลรันนิมิดคืนหนึ่ง หม่อมฉันเชิญเสด็จมาเสวยเวลาค่ำที่ซินนามอนฮอลเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน วันที่เสด็จมาถึงนั้น เธอเสด็จลงไปรับหม่อมอิลิซาเบธ กับเจ้าหญิงลูกของเธอที่สิงคโปร์แล้วกลับมาทางรถไฟ บ่นว่าเขาเอารถนอนพ่วงห่างรถจักรเพียง ๒ ชั่วรถ ถูกทั้งผงและกลิ่นถ่านหินบรรทมไม่หลับยังรุ่ง หม่อมฉันก็ว่าเช่นนั้นเหมือนกัน ว่ารถไฟไทยยังดีกว่า ดูเป็นบุญที่ท่านไม่เสด็จมาจากสิงคโปร์โดยทางรถไฟ

เมื่อสองสามวันมานี้หม่อมฉันมีกิจเปิดดูหนังสือประกาศพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระศพกรมพระสมมต ในเล่มพิธีจะมีพรรณนาการพิธีบรรจุดวงชตาพระนครและติดเทวะรูปที่หลักเมืองในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ว่าใช้ “ศาลหลวง” เป็นที่ทำราชพิธี ความตรงนี้บ่งว่าเราเข้าใจผิดอยู่ดังจะทูลต่อไป ตามที่รู้กันอยู่แล้วว่าเมื่อสร้างพระนครในรัชกาลที่ ๑ สร้างศาลาที่ประชุมลูกขุน ๓ หลัง ศาลาลูกขุน มหาดไทยกับกลาโหมสร้างในพระราชวัง จึงเรียกกันว่า “ศาลาลูกขุนใน” เรียกคณะข้าราชการที่มีตำแหน่งนั่งประชุมว่า “ลูกขุนณศาลา” ศาลาลูกขุนอีกหลังหนึ่ง เป็นที่พิพากษาคดี สร้างข้างนอกพระราชวังเรียกว่า “ศาลาลูกขุนนอก” หรือ “ศาลหลวง” ก็เรียกคณะผู้มีตำแหน่งนั่งประชุมว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” มาชั้นหลังเรียกแต่ว่า “ลูกขุน” ปรากฏมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง ว่าศาลาลูกขุนนอกนั้นสร้างใกล้กับศาลหลักเมือง และศาลาสารบาญชีกรมพระสุรัสวดี ศาลาถูกขุนเดิมสร้างเป็นเครื่องไม้ทั้ง ๓ หลัง รื้อสร้างใหม่เป็นก่ออิฐถือปูนเมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้เป็นความเดิม

ความที่เป็นวินิจฉัยขึ้นใหม่นั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเปลี่ยนเป็นตึกแต่ศาลาลูกขุนใน ๒ หลัง เพราะใช้เป็นที่แขกเมืองพักเมื่อก่อนเข้าเฝ้าด้วย แต่ศาลาลูกขุนนอกยังคงเป็นเครื่องไม้อยู่อย่างเดิม ถ้าได้เปลี่ยนเป็นตึกคงไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นเค้าจนพวกชั้นเราได้ทันเห็นเหมือนศาลาสารบาญชี และคงไม่ย้ายลูกขุน ณ ศาลหลวงเข้ามานั่งประชุม ณ ศาลาลูกขุนใน ความในประกาศพิธีส่อให้เห็นว่า ศาลาถูกขุนนอกยังอยู่และเป็นศาลหลวงมาจนรัชกาลที่ ๔ ต่อภายหลังปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงได้รื้อ สันนิษฐานว่าเพื่อจะสร้างเปลี่ยนใหม่ให้เป็นก่ออิฐถือปูนเหมือนอย่างศาลาลูกขุนใน จึงให้ลูกขุนณศาลหลวงย้ายเข้าไปนั่งประชุมพิพากษาคดี ณ ศาลลูกขุนในฝ่ายขวาชั่วคราว แล้วจะเป็นด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งทำให้การที่จะสร้างศาลหลวงขึ้นใหม่นั้นรั้งรอมา ศาลหลวงของเดิมก็เลยสูญไปเพราะรื้อหรือหักพังเองก็เป็นได้ ส่วนศาลาลูกขุนในเมื่อรัชกาลที่ ๔ ไม่มีการประชุมลูกขุน ณ ศาลา คือประชุมเสนาบดีที่ศาลาลูกขุนเหมือนแต่ก่อน ใช้แต่เป็นห้องเวรประจำการของกรมมหาดเล็กและกลาโหมแต่ทางเฉลียงข้างด้านใต้หน่อยหนึ่งศาลาลูกขุนในจึงกลายเป็นศาลหลวง

ยังมีวินิจฉัยข้อขำ ที่หม่อมฉันเคยเล่าถวายแต่ก่อนแล้วว่า ในศาลาลูกขุนเมื่อเป็นศาลหลวงมีกองน้ำหมากและชานหมากบ้วนทิ้งไว้บนบนศาลาที่ลูกขุนนั่งสักเท่ากะด้งถึง ๒ กอง ข้อนี้สันนิษฐานว่าในสมัยเมื่อลูกขุนนั่ง ณ ศาลาลูกขุนเก่า คงมีร่องสำหรับบ้วนน้ำหมากลงไปถึงพื้นดิน บ้วนกันมาจนเคยตัวมาหลายชั่วคน เมื่อย้ายมานั่ง ณ ศาลาลูกขุนในไม่มีร่องเช่นนั้น ซ้ำพื้นปูเสื่อผืนใหญ่ ความเคยตัวก็ทำให้บ้วนน้ำหมากใกล้ตัวตามเคย โดยไม่รู้สึกว่าน่าเกลียด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ