อธิบายยศศักดิ์ของไทย

แต่งตอบคำถามของพระยาอินทรมนตรี

คำถามข้อ ๑ ประเพณียศศักดิ์ของไทยมีมาแต่เมื่อใด และมูลเหตุมาจากที่ไหน

ตอบความข้อ ๑ ว่ายศศักดิ์ของไทยเช่นที่ใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีตำราอยู่ในกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนเรียกว่า “ทำเนียบศักดินา” ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ แห่ง ๑ และมีในตอนเรียกว่า “กฎมณเฑียรบาล” พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวกันทรงตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๑ ว่าเฉพาะยศศักดิ์เจ้าในราชตระกูลอีกตอน ๑ แต่พิเคราะห์ดูตำรายศศักดิ์ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งนั้น ดูเหมือนจะเอายศศักดิ์ที่มีอยู่แต่ก่อนแล้ว มาเรียบเรียงเข้าทำเนียบและเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง ไม่ได้คิดขึ้นใหม่ทั้งหมด ข้อนี้มีที่สังเกตในศิลาจารึกครั้งสุโขทัย กับทั้งที่ปรากฏในหนังสือของไทยพวกอื่นอันมิได้ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้คำอันเป็นยศเครื่องหมายยศพ้องกันมีอยู่เป็นอันมาก พิจารณาดูตามภาษาที่ใช้เรียก น่าจะมียศศักดิ์ของชนชาติไทยมาแต่เดิมอย่าง ๑ ไทยมารับเอายศแบบเขมรใช้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่รุกอาณาเขตละโว้ลงมาตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีอีกอย่าง ๑ เอายศอย่างไทยกับอย่างเขมรระคนปนกันใช้เป็นตำราสืบมา ซึ่งคิดเห็นเช่นนั้นเพราะยศแบบเขมรมักใช้คำภาษาสันสกฤตส่อว่าพวกเขมรคงได้แบบอย่างอินเดีย ซึ่งพวกพราหมณ์นำมาสอนให้ใช้ก่อนแล้วไทยจึงรับต่อมา ส่วนยศอย่างไทยนั้นไทยนำลงมาจากเมืองเดิม จะยกตัวอย่างดังปรากฏในหนังสือตำนาน (แต่ฉบับพิมพ์ครั้งหลังเรียกว่าพงศาวดาร) โยนก ที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) แต่ง แต่ชั้นเดิมไทยเรียกเจ้าครองเมืองว่า “ขุน” แล้วเรียกชื่อตัวต่อ เช่นว่า “ขุนเจือง” และขุนงำเมืองเป็นต้น ต่อมาเมื่อก่อนตั้งกรุงสุโขทัยมียศ “พ่อขุน” เพิ่มขึ้น คงหมายความว่าเจ้าเมืองใหญ่ซึ่งมี “ขุน” เป็นเจ้าเมืองขึ้นหลายคน แรกที่ไทยเอายศเขมรมาใช้นั้นมีอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (ซึ่งศาสตราจารย์เซเดสรวบรวมให้หอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗) เล่าเรื่องตั้งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย ว่าเมื่อเขมรปกครองเมืองสุโขทัย มีไทยเป็นเจ้าเมืองขึ้น ๒ คน คน ๑ ชื่อ “พ่อขุนผาเมือง” เป็นเจ้าเมืองราด พระเจ้ากรุงกัมพูชาสถาปนาให้เป็นเจ้าประเทศราช ประทานนามตามยศเขมรว่า “กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์” และพระราชทานพระราชธิดาทรงนามว่าสิขรมหาเทวีให้เป็นชายา อีกคน ๑ ชื่อ “พ่อขุนบางกลางเทา” เจ้าเมืองราด พ่อขุนทั้ง ๒ นี้ร่วมคิดช่วยกันตีเมืองสุโขทัยได้จากเขมรแล้ว พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางเทาขึ้นครองเมืองสุโขทัย ขนานนาม (เป็นเจ้า) เหมือนกับนามของตนว่า “กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์” เป็นแรกที่ปรากฏว่าไทยเอายศแบบเขมรมาใช้ แต่ในจารึกต่อมาไทยเรียกกันแต่ว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เห็นได้ว่าคงใช้ยศว่า “พ่อขุน” อย่างไทย ไม่ใช้ยศ “กมรเตงอัญ” อย่างเขมร คงแต่เรียกชื่อแบบเขมรว่า “ศรีอินทราทิตย์” ต่อมาปรากฏในศิลาจารึก (พ่อขุนรามคำแหง) ว่าเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองเมืองสุโขทัยนั้น “ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด” (เดี๋ยวนี้เรียกว่าด่านแม่สอด) ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองตากอันเป็นอาณาเขตของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไปรบ แต่ชนช้างเสียทีขุนสามชน ลูกชายคนหนึ่ง (ไม่ปรากฏนามเดิม) เข้าช่วยแก้บิดาพ้นภัยได้ แล้วตีทัพขุนสามชนแตกพ่ายไป พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงตั้งบุตรคนนั้นให้มีนามว่า “พระรามคำแหง” เป็นบำเหน็จความชอบ นามที่ตั้งนี้น่าจะเป็นแบบยศแบบเขมรที่ไทยมาคุ้นเมื่อครองกรุงสุโขทัย คำ “พระ” ใช้เป็นยศ ซึ่งเรามาเรียกภายหลังว่า “บรรดาศักดิ์” คำว่า “รามคำแหง” เป็นชื่อ ที่เราเรียกกันชั้นหลังว่า “ราชทินนาม” ตามที่กล่าวมานี้พึงเห็นได้ว่า แบบยศที่มีคำแสดงบรรดาศักดิ์อยู่ข้างหน้า และมีราชทินนามซึ่งมักใช้คำภาษาสันสกฤตอยู่ข้างหลัง ดังปรากฏในทำเนียบศักดินาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตั้ง เป็นประเพณีมาแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในพวกศิลาจารึกครั้งสุโขทัยนั่นเอง ปรากฏว่าเมื่อพระรามคำแหงได้ครองเมืองสุโขทัย นับเป็นรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วง ยังใช้พระนามตามแบบเดิมว่า “พ่อขุนรามคำแหง” ในรัชกาลนี้แผ่อาณาเขตสุโขทัยออกไปได้กว้างขวาง จนเป็นประเทศใหญ่จะแก้ไขกระบวนยศศักดิ์อย่างไรบ้างไม่ปรากฏ แต่ต่อมาอีก ๒ รัชกาลถึงสมัยเมื่อราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง (อันทรงนามว่าลิทัยหรือฤไทย) ครองกรุงสุโขทัย มีศิลาจารึกใช้คำยศศักดิ์แปลกกับแต่ก่อน ในจารึก (หลักที่ ๓) ทำไว้ที่วัดมหาธาตุเมืองนครชุม (คือเมืองกำแพงเพ็ชรเก่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพิง) ใช้พระนามว่า “พระญาลิทัยอันเป็นลูกพระญาเลอไทย เป็นหลานพระญารามคำแหง” (คือพ่อขุนรามคำแหง) ในจารึกนี้ว่าถึงสมัยนี้เลิกใช้คำ “พ่อขุน” เปลี่ยนเป็นคำ “พระญา” แทน มีศิลาจารึกในรัชกาลนั้นเองเป็นภาษาไทยหลัก ๑ ภาษาเขมรหลัก ๑ ความตรงกัน (ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าที่เมืองสุโขทัยในสมัยนั้น พลเมืองมีทั้งไทยและเขมรปนกันอยู่มาก) ว่าพระญาลิทัยราชาภิเษกทรงพระนามว่า “ศรีสุริยพงศมหาธรรมราชาธิราช” ส่อให้เห็นว่าถวายพระนามใหม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือ เปลี่ยนชื่อเมื่อเลื่อนยศ อันเป็นต้นประเพณีมีราชทินนาม ตามอธิบายที่กล่าวมานี้พึงเห็นได้ว่า ไทยมีระเบียบยศศักดิ์ของตนเองมาแต่เดิม ครั้นมาได้ประเทศสยามอันพวกเขมรปกครองอยู่ก่อนช้านาน ไทยมารับระเบียบยศศักดิ์อย่างเขมรผสมกับยศศักดิ์ของไทยใช้เป็นแบบสำหรับบ้านเมืองต่อมา

คำถามข้อ ๒ ว่าคำ “ออก” ที่ใช้เรียกนำหน้าบรรดาศักดิ์ เช่น ออกญา ออกพระ และออกหลวง ออกขุน นั้นมีมูลมาอย่างไร

ตอบคำถามข้อ ๒ ว่าคำ “ออก” นั้น เห็นจะเป็นภาษาเขมร ตัวศัพท์ “ออก” จะแปลว่ากระไรฉันไม่ทราบแน่ ถ้าอยากรู้ขอให้ทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ดูเถิด ท่านเอาพระทัยใส่ภาษาเขมรมากบางทีจะทรงทราบ แต่ที่ใช้คำ “ออก” นำหน้าบรรดาศักดิ์นั้นสันนิษฐานว่า จะใช้เป็นประเพณีมาแต่เมื่อครั้งเขมรยังปกครองประเทศสยามทางฝ่ายใต้ บางทีจะตั้งแต่งขุนนางในเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวง เพราะฉะนั้นเมื่อไทยลงมาได้เป็นอิสระ ณ เมืองสุโขทัย จึงไม่ปรากฏว่าเอาคำ “ออก” ไปใช้ แต่พวกไทยที่ลงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ข้างใต้แต่ก่อนมา เช่นพวกเมืองสุพรรณคุ้นกับประเพณีเขมร ครั้นได้เป็นใหญ่กรุงศรีอยุธยารับเอาประเพณีเขมรมาใช้ คำว่า “ออก” จึงมาเป็นยศศักดิ์ของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

พิจารณาดูระเบียบยศข้าราชการไทย ก็ปรากฏอยู่ในทำเนียบศักดินาครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ บรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นสูงสุดเป็น “เจ้าพระยา” มีแต่ ๕ คน คือ “เจ้าพระยามหาอุปราช” (มาเปลี่ยนเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” เมื่อชั้นหลัง) คน ๑ เจ้าพระยาอัครมหาเสนา สมุหกลาโหม หัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหาร คน ๑ เจ้าเมืองเอก คือ เจ้าพระยาพิษณุโลก คน ๑ กับเจ้าพระยานครศรีธรรมราชอีกคน ๑ รองจาก ๕ ตำแหน่งนี้ลงไปเป็น “ออกญา” เช่นเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ หัวหน้า กระทรวงเมือง กระทรวงวัง กระทรวงคลัง (ภายหลังมาเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) กระทรวงนาเป็นต้น ต่อนั้นลงมาข้าราชการที่เป็นเจ้ากรมใหญ่ และเจ้าเมืองชั้นเมืองโทและเมืองตรี ก็มีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญา” บรรดาศักดิ์ “พระยา” หามีในทำเนียบไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาชั้นต้นขุนนางผู้ใหญ่ใช้บรรดาศักดิ์ “ออกญา” อย่างเขมรทั้งนั้น มาเพิ่มยศเจ้าพระยาขึ้นต่อภายหลัง ข้อนี้มีเค้าเงื่อนในพงศาวดารว่า ตำแหน่งสมุหนายกและสมุหกลาโหม เริ่มมีขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อาจจะตั้งเป็นเจ้าพระยาในครั้งนั้นเอง เพื่อให้ปรากฏว่ายศสูงกว่าออกญาก็เป็นได้ เจ้าพระยาจึงเป็นทำเนียบแต่เพียง ๕ คน รองเจ้าพระยาลงมาให้คงมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญา” ตามเดิม คำ “ออก” ใช้นำนามลงถึงชั้น “ออกพระ” “ออกหลวง” และ “ออกขุน” ก็มี แต่ตำแหน่งขุนนางโดยมากนั้นเรียกแต่ว่า “พระ” “หลวง” “ขุน” ต่อบางตำแหน่งจึงมีคำ “ออก” นำ แต่ต่อลงมาถึงชั้น “หมื่น” ชั้น “พัน” หามีคำ “ออก” นำไม่ พิจารณาหากฎเกณฑ์ว่าตำแหน่งพระ หลวง ขุน อย่างไร จึงมีคำ “ออก” นำ และตำแหน่งอย่างไรไม่มีคำ “ออก” นำก็ไม่เห็นเค้าเงื่อน นอกจากสังเกตเห็นว่าในคำ “ออก” ชั้นพระยามากกว่าพระ พระมากกว่าหลวง หลวงมากกว่าขุน ที่ว่ามานี้ตามที่พิจารณาดูในกฎหมายทำเนียบศักดินา

สันนิษฐานไปถึงคำว่า “พระยา” เห็นว่าคงใช้อยู่ทางสุโขทัยก่อน (เช่นมีในศิลาจารึก) เอามาเพิ่มขึ้นในทำเนียบยศศักดิ์กรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จกลับขึ้นไปตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตอนปลายรัชกาล หรือมิฉะนั้นก็น่าจะเริ่มใช้เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้เป็นรัชทายาทครองเมืองเหนืออยู่หลายปี ก่อนเสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ชั้นเดิมเห็นจะถือว่ายศ “พระยา” เหมือนกันกับ “ออกญา” ต่อมาใช้คำพระยามากขึ้น คำออกญาจึงสูญไป

แต่ที่ใช้คำ “ออก” ลงมาจนถึงเป็น ออกพระ ออกหลวง และออกขุนนั้น ประหลาดอยู่ที่ในทำเนียบศักดินามีคำออกนำแต่บางตำแหน่ง นอกนั้นเป็นพระ หลวง ขุน ไม่มีคำ “ออก” นำเป็นพื้น หรือจะหมายว่าบรรดาศักดิ์ชั้น พระ หลวง ขุน ที่มีคำ “ออก” เพิ่มเข้าข้างหน้าสูงกว่าพระ หลวง ขุน ที่ไม่มีคำ “ออก” นำ ชื่อขุนนางชั้นพระ หลวง ขุน ก็มีคำ “ออก” นำ ยังใช้มาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่นคณะทูตที่ไปเมืองฝรั่งเศส ตัวราชทูต (คือโกษาปาน) เป็น “ออกพระยาวิสุทธสุนทร” อุปทูตเป็น “ออกหลวงบวรเสน่หา” ตรีทูตเป็นออกหลวง (หรือออกขุนจำไม่ได้แน่) “กัลยาณราชไมตรี” ดังนี้ แต่ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ใช้คำ “ออก” ในยศศักดิ์เลยทีเดียว จะเลิกมาแล้วแต่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้

เรื่องยศที่ใช้คำ “ออก” นี้ น่าจะตรวจแบบแผนทางกรุงกัมพูชาสอบดูอีกทางหนึ่ง ศาสตราจารย์เซเดสบางทีจะรู้ ว่าแต่ตามที่ฉันรู้เอง เสนาบดีเขมรยังใช้ยศเป็นออกญา ชั้นรองลงมาเป็นพระยา เมื่อฉันไปเมืองเขมรได้พบกับออกญาจักรี (ผล) ซึ่งฉันเคยรู้จักเมื่อเขาเข้ากรุงเทพฯ แต่ยังเป็น “พระยาราชเดชะ” และได้พบขุนนางเขมรที่เป็นชั้น พระ หลวง ซึ่งน่าจะเอาแบบไทยไปใช้ก็หลายคน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ