วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน กับของกินและของเคี้ยวที่คุณโตฝากมาให้นั้นแล้ว ขอท่านช่วยตรัสบอกคุณโตด้วยว่า ทั้งตัวหม่อมฉันและผู้อื่นที่ได้รับของนั้น ขอบคุณเธอทุกคน

ข้อที่ตรัสปรารภถึงคำว่า “ขุน” นั้น หม่อมฉันคิดวินิจฉัยเห็นชอบกล จะทูลสนองเพียงเท่าที่คิดได้ในเวลานี้ก่อน

๑) ที่เข้าใจกันว่าคำ “ขุน” ภาษาไทยจะเป็นคำเดียวกันกับ “กุ๋น” ภาษาจีนนั้น มีหลักฐานเพียงว่าคำนั้นเสียงคล้ายกัน และใช้เรียกคนชั้นเป็นตัวนายด้วยกัน ยังไม่พบเค้าเงื่อนที่จะรู้กำเนิดของคำทั้ง ๒ นั้น เห็นว่าไทยเอาคำของจีนมาใช้ หรือจะว่าจีนเอาคำของไทยไปใช้ก็ได้ทั้ง ๒ สถาน เพราะเขตแดนจีนกับไทยในสมัยดึกดำบรรพ์อยู่ติดต่อกัน และเป็นประเทศใหญ่มีอิสระอย่างเดียวกันอยู่ช้านาน แต่ไทยทุกจำพวก ทั้งไทยใหญ่และไทยน้อยใช้ว่า “ขุน” เรียกผู้เป็นใหญ่ในพวกของตนมาแต่ดึกดำบรรพ์นั้นเชื่อได้เป็นแน่ จะทูลวินิจฉัยให้พิสดารต่อออกไป เพียงที่พิจารณาดูในศิลาจารึกครั้งสุโขทัย ซึ่งหม่อมฉันมีสำเนาอยู่ที่นี่

(๒) คำว่า “ขุน” มีในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและประกอบกับคุณศัพท์ให้รู้ว่ามีชั้นต่างกันหลายแห่ง แห่ง ๑ ว่าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก ส่อว่าเรียกเจ้าเมืองว่า “ขุน” อีกแห่งหนึ่งว่าเมื่อ “พ่อขุน” รามคำแหง ครองเมืองสุโขทัย ส่อให้เห็นว่าเจ้าเมืองที่เป็นพ่อขุนนั้นครองอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล มีเมืองที่ขุนครองเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง ในจารึกหลักนั้นเองความต่อมามีว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงพระกรุณาแก่ “ลูกเจ้า” “ลูกขุน” “ไพร่ฟ้า” ความส่อว่า ลูกเจ้านั้นได้แก่พวกพระราชวงศ์ ลูกขุนได้แก่ลูกผู้มีตระกูลสูงแต่มิใช่เจ้า ตรงนี้จะต้องเอาความที่อื่นมาแทรกหน่อยหนึ่ง ด้วยมีคำโบราณอีกคำหนึ่งว่า “บ่าวขุน” ยังเรียกแต่เป็นแบบนุ่งผ้าในการพิธี คงเป็นคำเก่าชั้นเดียวกันกับที่พรรณนามาแล้ว เป็นแต่ไม่มีในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง น่าจะหมายความว่าข้าราชการ ถ้าเอาคำต่างๆ ที่ว่ามาเรียงเข้าลำดับเป็นดังนี้

พ่อขุน ตรงกับศัพท์ มหาราชา

ขุน ตรงกับศัพท์ ราชา

ลูกเจ้า ตรงกับศัพท์ ราชกุมาร

ลูกขุน ตรงกับศัพท์ กุลบุตร

บ่าวขุน ตรงกับศัพท์ อำมาตย์

ไพรฟ้า ตรงกับศัพท์ ประชาชน

๓) มีอีกคำ ๑ ซึ่งเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ขุนหลวง” พิจารณาเห็นว่าบ่อเกิดของคำนี้ เดิมไทยน่าจะใช้เรียกแต่พระเจ้ากรุงจีน อันเป็นใหญ่แก่พ่อขุนทุกประเทศ (ตรงกับศัพท์จักรพรรดิ) ต่อมาเมื่อจีนหย่อนอำนาจลง เอาคำ “ขุนหลวง” มาเรียกพระเจ้าแผ่นดินไทยแทนคำพ่อขุน คำพ่อขุนเห็นใช้ในศิลาจารึกตอนต้นสมัยสุโขทัยแต่ ๒ หลัก ต่อมาใช้ว่า “พระญา” แต่คำขุนหลวงไม่มีในศิลาจารึกครั้งสุโขทัย จึงสงสัยว่าจะเกิดใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

๔) คำว่า “ท้าว” “พระญา” และ “พระ” ที่ใช้เป็นยศก็มีมาแล้วแต่ครั้งสุโขทัย มีในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ว่าเมื่อยังเป็นลูกเธอชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แก้พระราชบิดาให้พ้นอันตรายได้ พระราชบิดาจึงทรงตั้งให้เป็น “พระรามคำแหง” ต่อมามีในจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เรียกพระองค์เองว่า พระญาฤไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานพระยารามราช (คือพ่อขุนรามคำแหง) ได้อภิเษกเป็น “ท้าว” เป็น “พระญา” ความส่อว่าสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ คำ และใช้ ๒ คำนี้ในหนังสือไทยต่อมาช้านาน เช่น เรียกท้าวทศรฐ และพระรามพระลักษณ์ ท้าวสามนต์และพระสังข์ แต่ภายหลังลดศักดิ์ของคำลงมาเป็นสำหรับเรียกแต่พวกเมืองขึ้นว่า “ท้าวพระยา” “ท้าวเพี้ย” ก็คำเดียวกันนั้นเอง ดูเป็นธรรมดาของยศศักดิ์และเครื่องยศ เมื่อสิ่งซึ่งถือว่าวิเศษกว่ามีขึ้น ของเดิมก็ลดเป็นรองลงมา จนยศ “ขุน” กลายเป็นสำหรับข้าราชการชั้นต่ำ

อธิบายคำ “ลูกขุน” เช่นเข้าใจกันชั้นหลัง หม่อมฉันใคร่จะสันนิษฐานว่าเกิดแต่เรียกศาลาลูกขุนอันเป็นที่ประชุมของเจ้ากระทรวงทบวงการ ในใบบอกหัวเมืองตอนแรก หม่อมฉันว่าการมหาดไทยเมื่อยังมิได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนั้น ยังขึ้นต้นว่า “ข้าพเจ้า (คนนั้นๆ มีรายชื่อของผู้ที่ประทับตราเซ็นชื่อ) บอกปฏิบัติมายังออกพันนายเวร ขอได้นำขึ้นเสนอ พณ หัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลา” (หาใช้ว่าให้เสนอสมุหนายกไม่) ความที่กล่าวข้างต้นใบบอกเช่นนี้ตรงกับที่ได้ยินข้าราชการเก่าเขาบอก และมีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า โดยปกติเวลาก่อนเสด็จออก เสนาบดีกับพวกข้าราชการผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้ากระทรวงทบวงการประชุมกันที่ศาลาลูกขุน ปรึกษากิจราชการที่มีมาในวันนั้นก่อน แล้วเข้าเฝ้ากราบทูลที่ในท้องพระโรง จึงมีศาลาลูกขุน (คือสถานที่ประชุมข้าราชการผู้ใหญ่) ๓ หลัง สำหรับข้าราชการฝ่ายทหารหลัง ๑ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนหลัง ๑ และข้าราชการฝ่ายตุลาการหลัง ๑ โดยนัยนี้ บรรดาเจ้ากระทรวงทบวงการอันมีตำแหน่งนั่งในศาลาลูกขุน จึงได้นามว่าลูกขุน แต่ “ลูกขุน ณ ศาลา” คือฝ่ายทหารและพลเรือน ไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับตัวราษฎรเหมือนลูกขุนฝ่ายตุลาการ คนทั้งหลายจึงเรียกว่าลูกขุนแต่พวกที่มีตำแหน่งนั่งชำระความราษฎร ณ ศาลาหลวง ลูกขุนอีก ๒ พวกมีแต่ศาลาสำหรับเรียก

คำที่เรียกว่า “ขุนนาง” ความบ่งชัดว่าเรียกรวมทั้งชายและหญิงคือ ข้าราชการกับภรรยา กำเนิดของคำ “ขุนนาง” น่าจะเกิดแต่การพระราชพิธีบางอย่าง ซึ่งเรียกไปเข้ากระบวนทั้งสามีภรรยา พิธีเช่นนั้น มีปรากฏอยู่ในพิธีสิบสองเดือนในกฎมนเทียรบาลไทยแลกฎมนเทียรบาลพม่า อาจจะเขียนโดยย่อหรือพูดตามสะดวกปากว่า “หมายเรียกขุนนางไปเข้าพิธี” เป็นต้น ครั้นภายหลังมาแม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้หญิงนอกวังเกี่ยวข้องในการพิธีน้อยลงจนแทบจะไม่มีทีเดียว ยังเหลือพิธีถือน้ำอย่างเดียวซึ่งภรรยาข้าราชการต้องไปถือ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกันกับสามี แต่คำว่า “ขุนนาง” เคยพูดกันติดปากมาเสียนานแล้ว จึงกลายเป็นเรียกข้าราชการผู้ชาย ทูลนี้โดยเดาขอให้ทรงพิเคราะห์ดูเถิด

เรื่องซ่อมศาลหลักเมืองสุพรรณนั้น หม่อมฉันเห็นชอบด้วยดังทรงพระดำริ เทวรูปนั้นทูลยืนยันได้ว่ารูปพระวิษณุทั้ง ๒ รูป เพราะหม่อมฉันได้พิจารณาแล้ว หม่อมฉันมีวินิจฉัยที่จะทูลในเรื่องหลักเมืองต่อไปอีกหน่อย คือ ในประกาศพระราชพิธีที่หลักเมืองในรัชกาลที่ ๔ เรียกหลักเมืองในภาษามคธว่า “โตรณ” หม่อมฉันเคยได้ยินแปลศัพท์โตรณอีกอย่างหนึ่งว่าเสาไต้ (ประทีป) แต่หลักเมืองเมืองเชียงใหม่เขาเรียกว่า “หลักอินทขีล” เมื่อหม่อมฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ไปได้หลักเมืองศรีเทพลงมา (อยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณบัดนี้) มีจารึกอักษรคฤนถ์แตกเสียมาก แต่ยังเหลือคำว่า “ขีลํ” ปรากฏอยู่ หม่อมฉันค้นดูในอภิธานภาษาบาลีของอาจารย์จิลเดอ แปลศัพท์ Tora man ว่าซุ้มประตู Gateway แปลศัพท์ Khi Lo ว่า Pin หรือ Stake คือ หลัก ดังนี้ขอให้ทรงพิจารณาดู

หนังสืออภิธานภาษาสันสกฤตของ เซอร์ อาจารย์ โมเนีย วิลเลียมส์ที่ต้องพระประสงค์นั้น หม่อมฉันได้ไปพูดกับนายเซียวฮั่นบรรณารักษ์หอสมุดแล้ว เขาหยิบออกมาให้ดูเปนสมุดอย่างอยู่ข้างใหญ่ เขาเปิดคะตะลอกให้ดูด้วย ราคาเล่มละ ๓๗ ชิลลิง ๖ เปนนี หม่อมฉันเห็นราคามากให้เขารอฟังก่อน ถ้าต้องประสงค์เขารับจะสั่งถวาย ที่วังวรดิศดูเหมือนมีเล่ม ๑ ถ้าจะทรงใช้ไปพลาง โปรดสั่งชายดิศให้หยิบส่งไปถวายก็ได้

เรื่องวัดโบราณในมณฑลพายัพ ที่หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉบับก่อนนั้น หม่อมฉันได้จดหมายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ตอบมาแล้ว ว่าเขาได้ระวังอยู่แล้ว วัดจามเทวีที่พระศรีวิชัยไปอยู่นั้น เจ้าหลวงเมืองลำพูนขอให้พระศรีวิชัยทำวิหารตามแนวผนังเดิมเห็นว่าของเดิมเหลือเพียงแต่โคนผนังจึงอนุญาตให้ทำด้วยเกรงใจเจ้าลำพูน และไม่มีรูปวิหารเดิมหรือลวดลายที่จะรู้ว่าเป็นอย่างไรแล้ว แต่พระเจดีย์ละโว้ที่เป็นของสำคัญในวัดนั้นได้ห้ามแล้วมิให้ไปซ่อมแซม วัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ก็ว่าได้ห้ามไว้แล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ