วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ได้รับประทานแล้ว

รูปสัตว์ประจำปี เข้าใจว่าเป็นคติของจีน มิใช่ประเทศที่ใกล้เคียงกับจีน เป็นความคิดที่ดีจริงๆ เกล้ากระหม่อมชมเขามานานแล้ว ศักราชผ่านมาไม่เห็นจำได้สักทีหนึ่ง ยังได้ยินใครเล่าให้ฟังอีก ว่ารถไฟที่อเมริกา (เมืองไหนก็ไม่ทราบ) เขาเขียนหมายหลังรถเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้ฟังก็นึกชอบเต็มที เห็นว่าดีกว่าหมายเลขเป็นอันมาก จำได้ง่ายที่สุดว่าเรามารถช้าง จะไม่มีลืมได้เหมือนจำนำเบอร์เลย อ่านหนังสือราชสกุลวงศ์ค้นหาอะไรก็ลืมเสียแล้ว พบพระนามเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒ มีพระองค์เจ้าเสือยังไม่สะดุดใจ อ่านต่อไปอีกสองพระนามพบพระองค์เจ้ากระต่าย ทีนี้สะดุดใจว่าท่านจะประสูติปีเถาะเสียดอกกระมัง ดูปีก็จริงๆ ทำให้สงสัยพระองค์เจ้าเสือ ว่าจะเรียกพระนามตามปีเหมือนกันเสียดอกกระมัง ย้อนกลับไปดูก็จริงๆ ประสูติปีขาล ทำให้รู้สึกว่าตั้งชื่อตามวิธีนี้ดีอยู่ ย่อมรู้ปีเกิดได้ง่าย แล้วทำให้นึกต่อไปถึงคุณเถาะว่าแกจะเกิดปีเถาะเสียดอกกระมัง ยังวิธีที่ตั้งชื่อตามวรรคบริวารนั้นก็ดีอีก พอได้ยินชื่อก็รู้ทีเดียวว่าเกิดวันไร เหล่านี้เป็นคติอันดีของคนโบราณตามที่ตรัสชมทั้งสิ้น เสียทีแต่เดือนเป็นนำเบอร์ไปเสีย ขัดขวางที่จะเอาเข้าเป็นชื่อ

ตามที่ทรงพระวินิจฉัย ว่าคนที่รับเด็กเมื่อร่อนเป็นแม่ซื้อนั้น สมควรแก่เหตุผลอย่างยิ่ง ที่เอาไปยกให้ผีเป็นแม่ซื้อนั้นไม่มีมูลเลย คำร่อนที่ว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน” นั้นก็ได้ยินมาหนักต่อหนักแล้ว แต่ไม่เคยคิดเลยว่ามีความหมายอะไรอยู่ในนั้น จนกระทั่งได้มาฟังพระวินิจฉัยในครั้งนี้ ว่าเด็กแรกคลอดมักตายในสามวัน จึ่งรู้สำนึกในข้อความที่กล่าวนั้น พูดถึงคำร่อนทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงหมออาดัมซันทำแผลง เมื่อหญิงไอคลอด หญิงปลื้มจิตรปรารถนาจะเป็นผู้รับ ไม่ใช่ปรารถนาจะรับเล่น คิดจะรับเอาน้องคนนี้ไปเลี้ยงจริงๆ หมอตำแยเขาจะร่อนก็ไม่เอา เคี่ยวเข็ญให้หมออาดัมซันร่อน ตาหมอก็ใจดีทำให้ตามประสงค์ แต่แกจะเห็นคำเก่าไม่ดีหรืออย่างไร แกจึงแปลงเสียใหม่ว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกกษัตริย์ ครอบครองสมบัติอยู่เย็นเป็นสุข” เกล้ากระหม่อมรู้สึกแปลกใจมากที่สุดจึ่งจำไว้ได้ นึกว่านี่เป็นกลอนสดคิดโดยปัจจุบันที่แกไม่ทันรู้ตัว ถ้าได้รู้ได้เตรียมตัวแกจะผูกความดีกว่านี้มาก

ข้อคำใดๆ ซึ่งเราใช้ไปตามเคย โดยไม่นึกถึงข้อความมีอยู่มาก เหมือนคำที่ส่งท้ายหนังสือว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” นั้นเป็นต้น ไม่ว่าหนังสืออะไรก็ใช้ได้อย่างนั้น เกล้ากระหม่อมไปได้สติมาแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเล่าว่าอาจารย์ท่านสั่งนักหนาว่า ถ้าพระราชทานสิ่งใดออกมา จะเขียนหนังสือถวายพระราชกุศลเข้าไป จงอย่าใส่ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเป็นอันขาด เพราะพระราชกุศลเป็นของควรรับเสมอ ที่ไม่ควรนั้นไม่มี เกล้ากระหม่อมตรองตามเห็นว่าถูกที่สุด คำควรมิควรนั้นมีจำกัดที่ใช้ เช่นขออะไรท่าน หรือถวายความเห็นให้ท่านเลือก นั่นแหละจึงต้องที่ใช้คำควรมิควรได้

เมื่อรัชกาลที่ ๖ พระมหามนตรี เวลานั้นเป็นจมื่นมหาดเล็ก เขาจะต้องอ่านรายงานกราบบังคมทูลจำนวนพระในเวลาเสด็จไปพระราชทานกฐิน เขาหนักมาปรึกษาถึงถ้อยคำที่จะใช้ ได้แนะนำเขาไปว่ามีสำคัญอยู่นิดเดียว ที่ตรงว่า “ได้เล่าเรียนตามสติปัญญา ขอถวายพระราชกุศล” แล้วก็ “ขอเดชะ” อย่าใส่ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมเข้าไป เขาไปทำตามสะดุดพระทัยเจ้านาย หันมาปักหน้าถามเกล้ากระหม่อมว่าทำไมไม่ใช้ “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ราวกับทรงทราบว่าเกล้ากระหม่อมแนะนำไป แต่ที่จริงเห็นจะเปล่า เป็นแต่ทรงรู้สึกว่าเกล้ากระหม่อมเป็นเจ้าถ้อย เกล้ากระหม่อมก็ทูลตอบได้ทันที ว่าพระราชกุศลนั้นเป็นของพระสงฆ์ถวาย ไม่ใช่ของมหาดเล็กถวาย ถ้าใส่ถวายพระราชกุศลด้วยตนเองไปเสีย แท้จริงมหาดเล็กไม่มีพระราชกุศลจะถวาย ต่างก็เข้าพระทัยและพอพระทัยทุกองค์

ในวันเดียวกับที่ได้รับลายพระหัตถ์ พระยาอนุมานก็ส่งสมุดลัทธิธรรมเนียมภาคที่ ๑๙ มาให้ตามที่ลายพระหัตถ์ระบุไป เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า เขารวดเร็วหนักหนา

พระรูปทรงฉายพร้อมด้วยพระแอ๊ว ซึ่งโปรดประทานไปนั้นดูดีมาก ได้ที่แบกกราวนด์เหมาะเสียด้วย ส่งให้พระรูปดีขึ้นอีก

จะกราบทูลรายงานเรื่องสร้างพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ข่าวว่าเขาตกลงกันว่าต้องเป็นฝีมือคนไทยทำ (Patriotic) ข้อนี้ก็ไม่รู้สึกเห็นเป็นทางวิเศษมาใหม่ รูปท่านขรัวตอบ รูปสังฆราชไก่เถื่อน ก็ได้ทำมาอย่างนั้น และจะจัดทำพระรูปนั้นด้วยวิธีให้แข่งขันกัน (Competition) ข้อนี้แหละใหม่ดีที่จะรู้ได้ว่าเด็กไทยได้เรียนปั้นขึ้นมีมากหรือน้อย ด้วยเด็กนักเรียนจะพากันเข้าแข่งขันชิงรางวัลยี่สิบสามสิบบาทแก่กัน เงินใช้ในการสร้างพระรูปประมาณกันว่าราวพันบาท แต่เวลานี้ยังไม่มีเอกชนคนใดคนหนึ่งเอาเงินมาส่งให้เป็นแต่เปิดตู้เรี่ยรายไว้ ได้เงินแล้วประมาณสี่ห้าบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ