วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

พอหม่อมฉันรับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๔ เมษายน ก็ลงมือเขียนตอบในเช้าวันจันทร์ที่ ๒๖ ที่ได้รับนั้น หมายว่าจะเขียนให้เสร็จในวันเดียว เพราะวันอังคารที่ ๒๗ หม่อมฉันจะแปรสถานขึ้นไปพักอยู่โฮเต็ลแครก Crag Hotel ที่บนเขา แต่พนักงานพิมพ์ดีดเขาจะอยู่ที่ซินนามอนฮอล หม่อมฉันจึงรีบเขียน แต่ก็ไม่แล้วในวันเดียว ต้องเอาขึ้นมาเขียนบนเขาอยู่นั่นเอง เหตุที่หม่อมฉันจะแปรสถานนั้น เพราะตึกซินนามอนฮอลจะต้องเปลี่ยนกระดานพื้นเรือนซึ่งผุอยู่หลายแห่ง จึงหนีเสียงปึงปังมาหาที่สงัดอยู่อย่างหนึ่ง กับจะให้พวกแม่ครัวและคนรับใช้ซึ่งเหน็ดเหนื่อยมาก เมื่อรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา ได้พักสำราญอิริยาบถสักคราวหนึ่งด้วย หม่อมฉันกะว่าจะไปอยู่บนเขาสัก ๒ สัปดาห์ พอให้เสร็จการซ่อมแซมเรือนแล้วจะกลับลงมา แต่จดหมายเวรไม่ต้องทรงหยุดในระหว่างนั้น

เรื่องรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา นับว่าเป็นการเรียบร้อยอย่างดีที่สุดซึ่งจะเป็นได้ ด้วยโปรดทั้งที่ประทับและอากาศที่ปีนัง ตลอดจนกระบวนที่จัดรับเสด็จทุกอย่าง พอประทับแรมตลอดราตรีก็ออกพระโอษฐ์ชมว่าที่ซินนามอนฮอลนี้อยู่สบายมาก สังเกตดูพระฉวีตั้งแต่เสด็จมาก็เปล่งปลั่งขึ้นทุกวัน เขาว่าน้ำหนักพระองค์ก็เพิ่มขึ้นสักสองสามปอนด์ ประทับอยู่ ๙ วัน จึงเสด็จลงเรือกำปั่นยนต์ฟิโอเนียไปจากปีนังเมื่อวันที่ ๒๔ เรือจะไปแวะเมืองกวาลาลุมปูรและเมืองมะละกาก่อน จะไปถึงสิงคโปร์วันที่ ๒๗ เจ้านายที่บันดุงก็จะเสด็จมาถึงสิงคโปร์วันที่ ๒๖ คอยเฝ้าอยู่ที่นั่น จากเมืองสิงคโปร์เรือฟิโอเนียจะตรงไปกรุงเทพฯ เห็นจะเสด็จกลับไปถึงราววันที่ ๑ หรือที่ ๒ พฤษภาคม

แขกของหม่อมฉันที่จะมีต่อไปตอนนี้คือพระนางสุวัฒนากลับจากชวา ว่าจะพาเจ้าฟ้าหญิงมารดน้ำสงกรานต์ประทานหม่อมฉัน แต่พระองค์ธานีมีจดหมายบอกมาจากเมืองสิงคโปร์ ว่าเธอจะไม่มาพักที่ซินนามอนฮอลด้วยเกรงจะเป็นทำเทียมสมเด็จพระพันวัสสา หม่อมฉันจึงคิดว่าเมื่อมาถึงจะเชิญขึ้นไปเลี้ยงกลางวันที่บนเขา นางในที่เคยมาพัก ณ ซินนามอนฮอลแต่ก่อนนั้น พระสุจริตสุดาเคยมาอยู่ครั้งหนึ่ง ๒ วัน พระองค์หญิงวัลลภาเคยมาอยู่ครั้งหนึ่ง ๔ วัน หม่อมฉันก็รับอย่างเป็นลูกให้อยู่กับเจ้าหญิงก็เรียบร้อยดีไม่มีความลำบากอย่างใด ต่อมาพระนางลักษมีมาเมื่อเร็วๆ นี้ก็เปนแต่แวะมาหาครู่หนึ่งแล้วก็กลับไป ไม่มีครั้งใดที่ต้องจัดมากเหมือนสมเด็จพระพันวัสสาเสด็จมา แต่ก็ไม่มีครั้งใดจะทำให้หม่อมฉันกับทั้งครัวเรือนรื่นรมย์ยินดีเหมือนกับรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา ด้วยเห็นท่านทรงสบายและชอบพระหฤทัยจริง ถึงออกพระโอษฐ์ตรัสแก่ลูกหญิงแล้วมาตรัสแก่หม่อมฉันว่า ปีหน้าถ้าไม่มีอะไรขัดข้องจะเสด็จมาอีก การสิ้นเปลืองทางหม่อมฉันก็ไม่หนักหนาอย่างไร ด้วยท่านตรัสสั่งให้ใช้เงินท้ายที่นั่งทั้งหมด อย่าให้หม่อมฉันต้องเข้าเนื้อ จนต้องกราบทูลวิงวอนขอถวายเครื่องเสวยเป็นส่วนที่หม่อมฉันสนองพระคุณ ทั้งการแจกจ่ายก็ประทานทั่วหน้าถึงตา

หม่อมฉันขอขอบพระคุณท่านที่ทรงพระอุตสาหะไปประทานเพลิงศพใหญ่ภรรยาหม่อมนั้น รายการที่ทรงเล่ามาก็ถูกใจหม่อมฉันมาก

เรื่องมีผู้คิดทำที่ใส่ศพแผลงไปต่างๆ นั้น หม่อมฉันไม่ติเตียนเพราะเห็นว่าตรงตามหลักความคิดคนในสมัยนี้ ซึ่งนิยมการทิ้งแบบเก่าทุกอย่าง ถ้าจะว่าดูกลับเป็นคุณโดยนัยอันหนึ่ง ซึ่งให้เกิดสนุกในการคิดรูปร่างที่ใส่ศพประกวดกัน คงจะทำกันแพร่หลายขึ้น โกศและหีบศพหลวงอย่างโบราณจะได้ผ่อนพักไม่สึกหรอ

เรื่องนุ่งขาวนุ่งดำในการศพนั้น ถ้าว่าตามความเห็นของหม่อมฉันเห็นว่าควรจะใช้แต่ในการศพญาติที่นับอยู่ใน ๗ ชั่วโคตร แม้เพียงใน ๗ ชั่วโคตร บางทีก็เกิดลำบาก หม่อมฉันนึกได้ถึงครั้งพระศพทูลกระหม่อมปราสาท พระองค์เจ้าจันทรสุเทพไม่กล้าไปถวายพระเพลิงเพราะเธอเป็นชั้นที่ ๓ ทูลกระหม่อมปราสาทเป็นชั้นที่ ๔ แต่ถ้านับญาติก็ยังชิดกันอยู่ใน ๗ ชั่วโคตร เกิดปัญหาอีกครั้งหนึ่งเมื่อศพสมเด็จพระพุทธโฆษา (ม.ร.ว. เริญ อิศรางกูร) วัดระฆัง เจ้านายผู้ชายบางพระองค์จะทรงขาว เพราะนับลงมาจากสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ท่านเป็นเชื้อสายลูกพี่ แต่เจ้านายผู้หญิงท่านไม่ยอมทรงขาว ด้วยท่านนับทางสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาฯ เป็นเชื้อสายลูกน้องแม้นับทางโคตรกลับห่างออกไปถึง ๘ ชั่ว

เรื่องรกเจ้านั้นหม่อมฉันได้เล่าถวายสมเด็จพระพันวัสสา ว่าพระองค์ท่านเคยตรัสถามหม่อมฉันถึงคำที่เรียกราชาศัพท์ หม่อมฉันเข้าตาจนต้องรับว่าไม่รู้ พระองค์ท่านตรัสแก่พระองค์ธานี เธอไปถามคุณท้าววรจันทร์ก็ไม่รู้ ต่อไปทูลถามสมเด็จพระพันวัสสาจึงได้ความว่า เรียก “พระสกุล” พระองค์ท่านเคยตรัสเล่ามาให้หม่อมฉันทราบ ได้ทรงฟังทรงพระสรวล ตรัสว่าอะไรสืบสวนยากถึงเพียงนั้น หม่อมฉันทูลว่ายังเห็นจะมีแต่พระองค์เดียวที่เป็นผู้รู้

ปัญหา ๓ ข้อที่ตรัสถามมานั้น หม่อมฉันขึ้นมาอยู่่บนเขา ไม่มีหนังสือจะสอบ จะทูลอธิบายถวายแต่ตามที่จำได้ ข้อ ๑ เรื่องพระพุทธสิหิงค์เคยมาอยู่วัดพระแก้วนั้น มีในเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ผู้ร้ายงัดเข้าไปลักของเครื่องพุทธบูชาที่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจึงดำรัสสั่งให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และยังอยู่ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้เชิญกลับไปวังหน้า รู้ได้ด้วยปรากฏ (ดูเหมือนจะเป็นในพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมเรื่อง ๑) ว่ากรมพระราขวัง ฯ รัชกาลที่ ๒ ตั้งพระแท่นเศวตฉัตรที่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่ได้เชิญกลับขึ้นไป รู้ได้ด้วยพบร่างประกาศการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (เห็นจะสำหรับจารึกแผ่นศิลา) แต่ฉบับที่หอพระสมุดฯ ได้มาความค้างเขินอยู่ ถึงกระนั้นตอนพรรณนาถึงในอุโบสถ มีความปรากฏว่า พระพุทธสิหิงค์ตั้งอยู่บนฐานชุกชีทางด้านใต้ (ได้พบที่ไหนอีกแห่งหนึ่งแต่จำไม่ได้) ว่าเมื่อพระบางอยู่ในกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๑ ตั้งบนฐานชุกชีทางด้านเหนือ อาจจะเป็นมูลเหตุที่ทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริ ตั้งพระสัมพุทธพรรณีบนฐานชุกชีทางด้านตะวันออก ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กลับคืนไปวังหน้าเมื่อทรงตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อนี้มีรูปภาพกระบวนแห่เขียนไว้ที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นสำคัญ

เรื่องสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสนั้น เรื่องเบื้องต้นมีอยู่ในพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมทรงพรรณาถึงสิ่งซึ่งกรมพระราชวังฯ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง ว่าตรงที่สร้างวัดบวรสถานฯ นั้น เดิมเป็นวัดรูปชีสร้างประทานนักชี ผู้เป็นมารดาของนักองค์อีและนักองค์เภา อยู่ด้วยกันกับพวกชีที่เป็นบริวาร ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อไม่มีชื่ออันสมควรจะทรงอุปการะ กรมพระราชวังฯ จึงโปรดให้รื้อวัดชีทำเป็นสวนเลี้ยงกระด่าย ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างวัดบวรสถานขึ้นตรงที่นั้น เพราะเหตุใดจึงทรงสร้างวัดบวรสถาน ข้อนี้ไม่ปรากฏได้แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างใช้บนหรือเฉลิมพระเกียรติที่เสด็จเป็นจอมพลไปปราบขบถเวียงจันทน์ได้สำเร็จ ข้อที่สร้างขึ้นในวังหน้า ก็น่าจะเป็นด้วยทรงพระดำริว่าที่ตรงนั้นเคยเป็นวัดอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ ไปรื้อเสีย จึงเป็นอัปมงคล พระชนม์สั้น ควรจะสร้างให้กลับเป็นวัดอย่างเดิมจะได้เป็นศิริมงคล ที่วังหน้ากรุงศรีอยุธยา (คือวังจันทน์เกษม) ก็มีวัดอยู่ในบริเวณวังถึง ๒ วัด คือวัดเสนาสน์ (เดิมเรียกวัดเสือ) กับวัดขมิ้น จะสร้างวัดขึ้นในวังหน้าก็ไม่ผิดประเพณีโบราณ แต่พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสแผนผังเป็นจตุรมุขผิดกับวัดอื่น เคยได้ยินเล่ากันมาว่าเจตนาเดิมจะให้มียอดเป็นปราสาท จนปรุงตัวไม้เครื่องยอดแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งห้าม ว่าไม่เคยมีปราสาทในวังหน้ามาก่อน จึงต้องทำเป็นหลังคาจตุรมุข นัยว่าแต่นั้นกรมพระราชวังบวรฯ ก็หมองหมางกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาจนตลอดพระชนมายุ ข้อที่เรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” นั้น เห็นว่าเป็นคำคนทั้งหลายเรียกกัน เพราะเห็นว่าเป็นวัดอยู่ในวังเหมือนวัดพระแก้ววังหลวง มิใช่นามขนานและไม่เกี่ยวข้องอย่างใดด้วยพระแก้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าเมื่อครั้งจะแก้เป็นพระเมรุพิมาน ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนขนาดสูงสัก ๖ ศอกไว้องค์ ๑ สำหรับจะตั้งในพระอุโบสถวัดบวรสถานฯ พระองค์นั้นยังไม่ทันสำเร็จ กรมพระราชวังบวรฯ ประชวรหนัก ประทานแพรทรงสพักผืน ๑ มอบให้แก่พระองค์เจ้าดาราวดี พระอัครชายา ดำรัสสั่งต่อว่าไปภายหน้า ท่านผู้ใดมีศรัทธาทำให้สำเร็จ ให้ถวายแพรทรงสพักแก่ท่านผู้นั้นให้ห่มพระยืน พระองค์ดาราฯ ได้นำแพรทรงสพักนั้นถวายแก่ทูลกระหม่อม เมื่อทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานสุทธาวาส และโปรดให้ประดิษฐานพระยืนองค์นั้นไว้ที่ริมผนังด้านตะวันออกของพระอุโบสถ ปัญหาข้อสำคัญในเรื่องวัดบวรสถานมีอยู่อีกข้อหนึ่งที่ทำแผนผังพระอุโบสถเป็นจตุรมุข เจตนาเดิมจะทรงตั้งสิ่งอันใดเป็นประธานที่ตรงศูนย์กลางข้อนี้ไม่พบเค้าเงื่อน คิดก็ไม่เห็น พระพุทธรูปยืนที่ว่ามา ส่วนพระก็ย่อมไม่พอกับขนาดที่ การที่ทูลกระหม่อมทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานสุทธาวาสนั้น หม่อมฉันสันนิษฐานว่า ทำเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ทูลกระหม่อมเสด็จขึ้นไปประทับแรมที่วังหน้าเนืองๆ เหมือนอย่างทรงปกครองพระบวรราชวังด้วยอีกแห่งหนึ่ง ชะรอยจะเป็นพระบรมราโชบายป้องกันมิให้พวกวังหน้าแตกเป็นพวกหนึ่งต่างหากเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ อย่างไรก็ตามทูลกระหม่อมทรงเลื่อมใสพระพุทธสิหิงค์มาก ถึงโปรดให้ถ่ายแบบหล่อจำลองด้วยทองคำ เป็นขนาดย่อมไว้ในพระพุทธมนเทียรองค์ ๑ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เท่าองค์เดิมเป็นพระประธานวัดราชประดิษฐ์องค์ ๑ คงทรงปรารภถึงวัดบวรสถานสุทธาวาสที่ยังว่างพระประธาน จึงทรงพระราชดำริจะเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่วัดนั้นเหมือนอย่างเช่นพระแก้วมรกตในวังหลวง รายการที่ทูลกระหม่อมทรงบูรณะว่าตามที่ปรากฏอยู่ต่อมา คือทำพระพุทธรูปยืนของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพให้สำเร็จอย่าง ๑ เขียนฝาผนังเป็นรูปภาพเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ที่หว่างช่องประตูหน้าต่างข้างบน (ดูเหมือน) เขียนรูปภาพเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ หรือ ๒๘ พระองค์ หลังบานประตูหน้าต่างเขียนเทวรูป “อย่างฮินดู” เช่นเดียวกับวัดสุทัศน์อย่าง ๑ ก่อฐานชุกชีขึ้นที่ศูนย์กลางสำหรับตั้งเบญจาหรืออะไรต่อขึ้นไป เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์อย่าง ๑ การค้างอยู่เพียงนั้น ก็สิ้นรัชกาลที่ ๔

ข้อ ๒ ที่ตรัสถามว่ามี “พระแก้ววังหน้า” หรือไม่นั้น เมื่อสมัยหม่อมฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ พบร่างหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ฉบับหนึ่ง ว่าด้วยการแห่ “พระแก้วผนึก” จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นไปยังพระบวรราชวัง แต่ในเวลานั้นหม่อมฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวนต่อไป มาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดฯ ให้ราชบัณฑิตสภาจัดพิพิธภัณฑ์สถาน หม่อมฉันไปเห็นพระแก้วผลึกมีเครื่องประดับองค์ ๑ ขนาดเท่าๆ กับพระพุทธบุษยรัตน์ เป็นแต่เนื้อแก้วไม่ใสสะอาดเหมือนพระพุทธบุษยรัตน์ตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธสิหิงค์ ก็หวนนึกขึ้นได้ในทันใด ว่าพระแก้วผลึกองค์นั้นเองที่แห่ไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อรัชกาลที่ ๔ แลคิดเห็นต่อไปตลอดเรื่อง ว่าพระแก้วองค์นั้นเดิมคงตั้งเรียงกับพระแก้วองค์อื่นที่บนชั้นเบญจาบุษบก พระแก้วมรกตแต่รัชกาลที่ ๓ หรือก่อนนั้น ทูลกระหม่อมพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะได้ขนาดและละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธบุษยรัตน์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้ไปเป็นอย่างพระพุทธบุษยรัตน์ในวังหน้า หม่อมฉันคิดเห็นว่าสิ้นกรณีทั้งปวงอันหนึ่งในประวัติของพระแก้วองค์นั้นหมดแล้ว จะรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานต่อไปดูเสี่ยงภัยด้วยเป็นของมหัครภัณฑ์ หม่อมฉันจึงได้ส่งคืนกลับไปไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างเดิม

ทูลมาเพียงนี้ก็มากอยู่แล้ว ปัญหาข้อ ๓ ซึ่งว่าด้วยพระพุทธนรสีห์อธิบายอยู่ข้างยืดยาวมาก ขอประทานผัดไว้ทูลต่อไปสัปดาห์หน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ