วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

เรื่องตนกูมหมุดตายนั้นการใหญ่มาก เมืองปินังเป็นเมืองมลายู ไม่นึกเลยว่าจะหาคนแปลภาษามลายูยากเย็นอย่างเช่นตรัสเล่าไปนั้น ต่อคิดไปจึงเล็งเห็นว่าเมืองปีนังนั้นเป็นที่มั่วสุมประชุมชนตั้ง ๑๒ ภาษา ล้วนแต่งูๆ ปลาๆ อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ซ้ำการเล่าเรียนภาษาพื้นเมืองก็เห็นจะไม่มีใครบำรุงด้วย จึงได้บกพร่องไปมาก

การบำรุงป่าช้าของเมืองไทร เห็นจะเป็นด้วยฝรั่งพาไป พาไปด้วยเขาบำรุงป่าช้าของเขา พวกแขกนึกอายก็ต้องบำรุงบ้าง

มีข้อสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง ในเรื่องที่ฝังศพเจ้าพระยาไทรอาหมัด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างที่ฝังศพพระราชทานใหม่ด้วยศิลาขาวนั้น คงเป็นแต่พระราชทานพระบรมราชานุญาตจ่ายเงิน ก็ใครเล่าเป็นผู้คิดทำที่ฝังศพนั้นให้เป็นไปตามที่เป็น ตลอดจนหลักปักหมายที่ฝังศพจำหลักเป็นเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ จนงามไม่มีใครสู้

ในการเสด็จไปเมืองไทร ต้องใช้เวลาถึง ๘ ชั่วโมง รู้สึกว่าหนักหนามากเกินควร แต่ไม่ทำเหตุให้ฝ่าพระบาทเป็นอะไรก็รู้สึกยินดี

ข่าวที่ว่าประกาศยกเลิกเครื่องเฝ้านั้นไม่จริง กลับจะมีการอุดหนุนให้จำเริญขึ้นเสียอีก โดยได้ยินว่าจะออกพระราชบัญญัติเรื่องแต่งตัวใหม่ เครื่องแบบในราชการจะให้แต่งได้แต่ผู้ที่ประจำอยู่ในราชการ ผู้ที่ออกจากราชการแล้วแต่งไม่ไม่ได้ ต้องไปแต่งเครื่องเฝ้า ตามข่าวลือเช่นนี้ถ้าเป็นจริงเครื่องเฝ้าก็จะดกดื่นขึ้นอีกมาก ตามที่ว่านี้เห็นจะเป็นจำเพาะแต่ทางพลเรือน

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาตรัสเล่าถึงพระธรรมเทศกสถูปให้ได้ทราบเรื่อง ออกจะเสียใจที่ได้ทราบว่าเป็นพระเจดีย์ก่อใหม่ในชั้นหลัง และเป็นของทำค้างไม่ใช่ของเก่าพัง เกล้ากระหม่อมเคยเห็นรูปฉายที่ถ่ายชิดจำเพาะตรงที่ทำด้วยศิลา เห็นเป็นแต่ทรงตรงขึ้นไป บนรอมเขาน้อยๆ และยกเป็นกระเปาะเห็นจะแปดทิศ ตรงกับที่ตรัสเล่าว่าเขาตั้งใจจะทำซุ้มพระพุทธรูป ที่ฐานศิลานั้นมีลายจำหลักอันควรเรียกว่าลายประแจจีน แต่เป็นประแจจีนชนิดที่ไม่เคยเห็นเลย เล่นเอาผึ่ง ยังได้คัดใส่สมุดพกไว้

ตามที่ตรัสเล่าถึงพราหมณ์ชคัตสิงห์ ให้รื้อเอาอิฐหินที่วัดธรรมจักรไปก่อเทวสถานในเมืองพาราณสี ทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงปราสาทบายนที่นครธมจะได้กราบทูลแล้วหรือยังจำไม่ได้ เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวดูที่ปราสาทนั้น พบหินที่ก่อหลังคาไว้ด้านข้างในมีลายจำหลัก เห็นได้ด้วยเพดานพังไปเสียแล้ว ทำให้รู้สึกขึ้นได้ในใจ ว่าการสร้างปราสาทหินนั้นไม่ใช่ว่าหินใหม่มาสร้างเสมอไป เล่นรื้อเอาสิ่งก่อสร้างเก่าๆ มาสร้างใหม่ก็มี ปราสาทบายนก็เข้าใจว่าเก่าเต็มทีแล้ว ยังปรากฎเป็นไปรื้อเอาหินปราสาทเก่าที่ไหนมาทำอีกชั้นหนึ่ง เลยคิดไปไม่เห็นว่าเมืองเขมรจะได้สร้างปราสาทหินมาแล้วนานสักเพียงไร

การก่อแกนในด้วยของเลวๆ ที่หาได้ง่ายนั้น ทำกันมาเป็นประเพณีเหมือนที่พระนครวัด แกนในก็ก่อด้วยแลง เอาหินปะนอกไว้เท่านั้น

หนังสือคราวก่อนได้กราบทูลมาถึงรูปสัตว์ที่หมายอะไรต่างๆ นึกต่อไปได้อีกคือสัตว์นาม เช่นวันอาทิตย์ครุฑนามเป็นต้น แปลกอยู่ ไม่ใช่สัตว์พาหนะของเทวดาสัตตเคราะห์ เป็นของมาทางพิชัยสงคราม กับสัตว์อีกพวกหนึ่งมีสี่อย่าง คือช้างม้าโคราชสีห์ที่พ่นน้ำ ณ เขาไกลาส มาแต่ไหนยังไม่พบที่มาเลย พบแต่ในเรื่องพระชัยสุริยามีว่า “ไหลมาแต่ในคอโค” แต่ก็มีแต่โคอย่างเดียว นอกจากนี้เห็นลายจำหลักหินอัฒจันทร์ที่เมืองอนุราฐปุร มีรูปสัตว์สี่อย่างที่ว่าอยู่ในหินนั้น รู้ได้ว่าเป็นของมีเป็นแบบแผนมาเก่าแก่ ได้ทรงพบคำอธิบายในที่ใดที่หนึ่งมาบ้างหรือไม่

ในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยงานนานา ต่างก็มาลากจะเอาตัวไป หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็มาลากให้ไปเผาศพภรรยาที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ เขารื้อเอาเมรุของพระซึ่งปลูกไว้หลังศาลาดำรงธรรม ไปปลูกที่หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ แต่ไม่ได้เปิดพลับพลา ศพประกอบหีบทองลายเครือองุ่น มีเครื่องขมาศพของหลวง มีหนังสือแจกในงานนั้นมัดหนึ่ง ๘ เล่ม คือ

๑. ไว้อาลัยเป็นของเจ้าภาพตีพิมพ์แจกในนั้น แบ่งเป็นสามภาค (๑) ประวัติ (๒) สำเนาหนังสือแสดงความเสียใจ (๓) ธรรมเทศนา

๒. กฎหมายและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เจ้าภาพตีพิมพ์แจก

๓. ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทบวงการเมือง คณะข้าราชการกรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีตีพิมพ์ช่วย

๔. แนวสอนจริยศึกษาสำหรับตำรวจ คณะหนังสือพิมพ์ตำรวจตีพิมพ์ช่วย

๕. มิตรพลี คณะสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ตีพิมพ์ช่วย

๖. เอกสารเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ สมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงวิจิตรวาทการตีพิมพ์ช่วย

๗. การทำสวนผลไม้และสวนครัว นางวรกิจบรรหารตีพิมพ์ช่วย

๘. ความมุ่งหมายของการศึกษา นายฮ้อ รัชชัยบุญ และนายคลาย สุวรรณนาคร ตีพิมพ์ช่วย

งานศพพระยาศิริจุลเสวก แจกหนังสือ ๒ เล่ม

๑. ประชุมพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงตีพิมพ์แจก

๒. ปัจจุบันพยาบาล หลวงสุริยพงศ์พิสุทธแพทย์ตีพิมพ์ช่วย

หนังสือเหล่านี้ แม้ว่ามีพระทัยใฝ่จะทอดพระเนตรฉบับไหนก็จะจัดส่งมาถวายได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ