วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ประทานรูปมณฑลพระพุทธบาทกลับคืนไป ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

ข่าวในกรุงเทพฯ ในหมู่นี้ มีงานเฉลิมพระชนมพรรษาอันเป็นงานประจำปี มีพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทคับคั่ง การโดยมากเป็นทำตามเคย ซึ่งฝ่าพระบาทย่อมเคยทรงทราบอยู่แล้ว ว่าจัดทำเป็นประการใด จึ่งจะกราบทูลแต่ลางอย่างที่เป็นของจัดขึ้นใหม่ ซึ่งฝ่าพระบาทยังไม่เคยทอดพระเนตรเห็น และเป็นสิ่งที่ควรจะกราบทูลต่อไปนี้ :-

๑. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งตั้งที่พระที่นั่งบรมพิมานนั้น เป็นพระบรมรูปบัสต์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เห็นจะเป็นองค์ที่อาจารย์ ดู กวง ทำ จัดตั้งบนพระราชยานกง ซึ่งถอดคานนำมาตั้งแทนพระเก้าอี้ มีโต๊ะตั้งเครื่องราชูปโภคสองข้าง ตรงออกมาข้างหน้าตั้งโต๊ะสามตัว วางพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ ต่อออกมาตั้งพระแท่นทรงกราบ ทั้งนี้จัดตั้งในห้องประทับรับแขกชั้นบนพระที่นั่งบรมพิมาน อนึ่ง สำนักพระราชวังนัดว่า ในการบูชาพระบรมรูป ณ ที่นี้ให้ใช้ดอกไม้ ธูป เทียนแพ โดยอรรถว่าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งดำรงพระชนม์อยู่ไม่เคยใช้ธูปเทียนจุดไฟถวาย

๒. ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งพระชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๕ บนพระแท่นเศวตฉัตร สองข้างตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปกับเทวรูปองค์ที่ประจำพระชนมพรรษา (เข้าใจว่าพระแท่นเทวดาในพระที่นั่งไพศาลยกเลิก) ดูน่ารำคาญที่โต๊ะหมู่เทวดานี้ แลไปก็เห็นมีแต่เครื่องบูชา ส่วนรูปเทวดานั้นไม่เห็น เพราะองค์เล็กกว่าหัวแม่มือ ซึ่งจัดตั้งไว้บนพานทองสองชั้นประกอบด้วยดอกไม้ขึ้นบังหมด ได้เกิดความคิดขึ้นว่าจัดให้ดูดีได้ด้วยเลิกไม่ใช้พานทองรอง ทำเป็นลับแลท่วงทีอย่างลับแลโต๊ะจีน ติดพุกเข้ากลางลับแลตั้งเทวรูป จะต้องดาดสีพื้นลับแลให้คอนทราสกับองค์เทวรูป จะได้เห็นเด่นชัดดี นึกว่าสีม่วงแก่

๓. ที่หน้าพระราชอาสน์ในพระที่นั่งอมรินทรเหมือนกัน ตั้งพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระบรมรูปบัสต์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ทำส่งมาแต่เมืองนอก แต่จะเป็นฝีมือใครหาทราบไม่ ประดิษฐานไว้บนหลักศิลาสีเขียว ประดับด้วยพวงดอกไม้

๔. พระสงฆ์สวดคาถาซึ่งตัดตอนมาจากท้ายบทแห่งนวัคคหายุสมธัมม์ใช้แทนอติเรก ในงานเฉลิมพระชนมพรรษานี้ด้วย ดั่งได้ตัดคาถานั้นพร้อมทั้งคำนำจากหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ ประจำเดือนสิงหาคม ถวายมาเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยแล้ว

๕. กลดที่กั้นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นของทำใหม่ ดูจะตั้งใจยักเยื้องไม่ให้เข้าแบบ ทำเป็นพ่อมพระกลดคันสั้น มียอดรูปเดียวกันกับพระกลดเจ้านาย แต่ไม่ฉลักฉลายปิดทองประดับกระจก หรือไม่หุ้มผ้าไม่ทาสี ละเป็นไม้ไว้เฉย ๆ ผ้าที่หุ้มกลดนั้นใช้ผ้าขาวย้อมสีเขียวแก่ชุบขี้ผึ้ง

ต่อจากงานเฉลิมพระชนมพรรษาไป มีงานเล็กๆ อีก ซึ่งไม่มีสิ่งซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ นอกจากว่ามีงานอะไรอีกบ้าง ตามหมายสำนักพระราชวังเท่านั้น

วันที่ ๒๓ กันยายน สมเด็จพระพันวัสสาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระพันปีหลวง ตามที่ทรงคำนึงถึงวันพระราชสมภพ ที่พระที่นั่งนงคราญสโมสร

วันที่ ๒๖ กันยายน ทำขวัญขึ้นระวางเรือตอร์ปิโด กับเรือสลุปหลวง รวม ๕ ลำ ซึ่งไปต่อมาแต่ญี่ปุ่น ที่ท่าราชวรดิฐ

วันที่ ๒๘ เย็น และที่ ๒๙ เช้า กันยายน จะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ที่พระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ วัดราชบพิธ

ต่อไปนี้จะได้กราบทูลถึงวัดโกโรโกโส ซึ่งมีพระดำรัสไปในลายพระหัตถ์แต่ก่อน ตั้งใจว่าจะทูลตอบแต่ลืมพลัดไปเสีย เพิ่งนึกขึ้นได้ จึ่งจะกราบทูลในที่นี้ อันเรื่องวัดโกโรโกโสนั้นเกล้ากระหม่อมก็ได้ยินมาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยินจากพระโอษฐ์เสด็จพระอุปัชฌาย์ ได้ยินใครเล่าอ้างถึงพระนามก็จำตัวไม่ได้เสียแล้ว ตามราวเรื่องที่เล่านั้นชวนจะให้คนนึกไปเป็นทางตลก ว่าเขาทำเสาลางต้นผอม ลางต้นป่อง ลางต้นคอด บัวปลายก็เป็นรูปต่างกันไป เช่นเป็นบัวบานบ้างตูมบ้าง ให้รู้สึกเห็นเป็นว่าน่าเกลียด ถ้าคิดดั่งนั้นแล้วก็คิดผิด ใครจะทำได้นอกจากคนบ้า ซึ่งจะไม่มีใครเขายอมให้ทำ เกล้ากระหม่อมเข้าใจดีพอที่จะกราบทูลได้ว่า เป็นของทำดีโดยทางที่ช่างผู้ทำตั้งใจจะอวดฝีมือ ว่าทำได้หลายกระบวนไม่จนกลอน คือเขาทำเสาเท่านั้นบัวปลายเสาทำรูปเหมือนกัน เป็นแต่ยักลายไปให้ต่าง ๆ กันเท่านั้น เสร็จแล้วจะดูงามพริ้งเพริศไม่ขัดตาเลย ตามที่กราบทูลนี้ไม่ใช่ว่าทูลแต่โดยเดา ทูลตามที่เคยเห็นองค์พยานมีอยู่ เช่นเสาไต้ ซึ่งทำไว้หน้าพระระเบียงพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก รูปร่างเสานั้นก็เป็นอย่างเทียนวรรษาเหมือนกันหมด แต่ลายที่บัวและลายเชิงกรวยตาข่ายก้นบัวเขาปั้นยักย้าย บรรดาที่มีเหลืออยู่ทำลายต่างกันไปทุกต้น เล่นเอาเกล้ากระหม่อมดูเพลิดเพลินเกือบไม่กะพริบตาจำอย่างของเขา ยังลายฝาที่วิหารวัดไลยเมืองลพบุรีก็อีกเหมือนกัน เขาทำเลียนฝากระดานแบ่งเป็นช่องลูกฟัก ลายในช่องจะได้เหมือนกันสักช่องหนึ่งก็ไม่มี แต่ถ้าดูไม่สังเกตแล้วก็ไม่เห็น เพราะเขาทำท่าลายเป็นอย่างเดียวกัน เป็นแน่ว่าทั้งสองแห่งนี้ได้ทอดพระเนตรเห็น แต่จะได้ทรงสังเกตจนตระหนักพระทัยหรือไม่นั้นไม่แน่ จึงจะกราบทูลถึสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรสังเกตเห็นเป็นแน่อีกต่อไป สิ่งนั้นคือตู้พระธรรมลายรดน้ำซึ่งครูวัดเชิงหวายเขียน หน้าตู้เขียนลายบานซ้ายกับบานขวาก็ไม่เหมือนกัน ข้างตู้ซ้ายขวาลายก็ต่างกัน หลังตู้ก็ทำลายไปอีกอย่างหนึ่ง ทำไมของท่านจึงดูดีไม่น่าเกลียด ถ้าวัดที่ยักลายได้ชื่อว่าวัดโกโรโกโสแล้ว ตู้ของครูวัดเชิงหวายก็ควรได้ชื่อว่าตู้โกโรโกโสเหมือนกัน

มีปัญหาที่ข้องใจเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ นี้ พระสาธุศีลสังวร ท่านมาหาเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขในการไปเที่ยว ท่านเอาสมุดเรียกชื่อว่า พุทธเจดีย์ที่ควรบูชา (ในอินเดีย) มาให้เล่มหนึ่ง ในนั้นมีรูปปรางค์พระพุทธคยา ถามท่านว่าทำด้วยอะไร ท่านบอก (และชี้ให้ดู) ว่า ชั้นล่าง (แค่นี้) ทำด้วยหิน ตอนบนขึ้นไปทำด้วยอิฐ เกล้ากระหม่อมก็ตกใจ พูดกับท่านว่าถ้าเช่นนั้นก็เป็นของก่อต่อขึ้นไปใหม่นั่นสิ ท่านว่าถูก พระเจ้าปะดุงเป็นผู้ก่อปฏิสังขรณ์ จึ่งเกิดเป็นปัญหาสงสัยขึ้นใหญ่โต ว่าพระเจ้าปะดุงเอาแบบที่ไหนเป็นอย่างทำ ตัวอย่างในอินเดียมีหรือ หรือว่าเอาอย่างพระปรางค์พม่าเช่นอานันทวิหารไปทำ ถ้าเช่นนั้นก็เป็นอันเข้าใจผิดหมด ที่คิดว่าพระปรางค์ในเมืองพม่าจำอย่างพระพุทธคยามาทำ กลายเป็นพระพุทธคยาจำอย่างพระปรางค์พม่าไปทำ เป็นการกลับตรงกันข้าม หวังว่าฝ่าพระบาทจะทรงอธิบายแก้ปัญหานี้ได้ จะรู้ได้ด้วยสอบศักราชกระมัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ