วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๒ มีนาคม แล้ว

วันพระชันษาทูลกระหม่อมชาย เท่าพระชันษาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ดูเหมือนจะตรงในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม หม่อมฉันก็ตั้งใจจะไปถวายพรด้วยตนเอง แต่เห็นจะไปเมื่อตรงกับประสูติที่ ๒๙ มิถุนายน ให้คลาดกับวันที่พระองค์ท่านจะเสด็จไป เพราะเกรงว่าไป ๒ พวกพร้อมกันทูลกระหม่อมท่านจะลำบากด้วยเรื่องจัดที่ให้อยู่ หม่อมฉันจะทูลถามทูลกระหม่อมดูเสียก่อน ถ้าทูลกระหม่อมท่านให้ไปพร้อมกันก็จะได้พบกันอีก

เรื่องเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ กับพระนางสุวัฒนาไปยุโรปนั้น หม่อมฉันสังเกตดูในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ เขาลงชื่อผู้ไปส่งไว้บ้าง เห็นชื่อคนเก่าๆ หลายคน นึกอนุโมทนาว่าเขาคงไปส่งด้วยรำลึกพระเดชพระคุณสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นอกจากนั้นพวกลูกเสือไปส่งทั้งที่สถานีกรุงเทพฯ และตามสถานีรายทางตลอดมาจนปลายแดน ดูเป็นการสนองพระคุณสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เหมือนกัน ตอนเสด็จมาถึงปีนังมีขลุกขลักสักหน่อย นัยว่าเดิมเธอกะจะมาประทับแรมที่ปีนังคืน ๑ สำหรับร่ำลาพระญาติที่อยู่นี่ โดยเข้าใจว่าเรือกำปั่นยนต์ยุตแลนเดียจะออกจากปีนังวันศุกร์ แต่เรือนั้นมาถึงปีนังวันพฤหัสบดีเวลาเช้า และเขากำหนดจะไปจากปีนังเวลา ๒๐ นาฬิกาในวันนั้น เจ้าฟ้าหญิงมีเวลาเสด็จอยู่ปีนังได้เพียง ๒ ชั่วโมง เดิมหม่อมฉันคิดจะไปรับที่รถไฟ ให้ไปถามกงสุลว่าเขาจะยืมเรือไฟหลวงไปรับเสด็จข้ามมาเมืองปีนังหรือไม่ ถ้ามีหม่อมฉันจะอาศัยไปเรือนั้น เพราะถ้าไปเรือของกรมรถไฟละต้องไปคอยอยู่ที่สถานีถึง ๒ ชั่วโมงนานนัก แต่กงสุลบอกว่าไม่ได้ยืมเรือหลวง เพราะท่านตรัสบอกมาว่าจะข้ามมาด้วยเรือของกรมรถไฟ เหมือนคนโดยสารสามัญ หม่อมฉันจึงตกลงว่าจะไปรับเพียงปลายสะพานท่าเรือกรมรถไฟจอด พวกพระองค์หญิงอาภาก็ไปอย่างนั้นเหมือนกัน และยังมีพวกข้าหลวงเรือนนอก ออกมาส่งเสด็จจากสงขลาก็ไปคอยอยู่ด้วยหลายคน เผอิญวันนั้นรถไฟช้าด้วย เจ้าฟ้าหญิงเสด็จข้ามมาถึงต่อเวลา ๑๘.๔๕ นาฬิกา มีเวลาก่อนเรือออกเพียงชั่วโมงครึ่ง แต่บริษัทอิสต์เอเซียติคเขาเตรียมเรือไฟช่วงพิเศษไว้ลำ ๑ พอเรือของกรมรถไฟมาถึงเขาก็เอาเรือช่วงลำนั้นเข้าเทียบเตรียมรับเจ้าฟ้าหญิงกับพระนางสุวัฒนาตรงไปเรือยุตแลนเดีย แต่เธอเห็นพวกไปส่งก็เสด็จลงจากเรือกรมรถไฟมาที่สะพานก่อน ได้รับรองและร่ำลากันที่นั่น ในเวลาพวกโดยสารเกลื่อนกลุ้ม พระนางสุวัฒนาเธอส่งห่อกระดาษให้หม่อมฉันห่อ ๑ หม่อมฉันรับใส่กระเป๋าเสื้อไว้ กลับมาถึงบ้านแก้ห่อออกดูเห็นมีผ้าผูกคออย่างสากล ๒ อัน ก็เข้าใจว่าเป็นของเตรียมมารดน้ำปีใหม่ ได้รับส่งกันเพียงสัก ๕ นาทีเธอก็เสด็จลงเรือช่วงพิเศษของบริษัทไปยังเรือยุตแลนเดีย ได้ยินว่าทางยุโรปสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็จะเสด็จมารับเมื่อเรือไปถึงเมืองมาเซ แล้วจะเสด็จพาไปให้พักที่เมืองคานคงเป็นอันเรียบร้อย หม่อมฉันส่งเจ้าฟ้าหญิงแล้ว ก็มาส่งชายดำที่สะพานท่าเมืองลงเรือช่วงสามัญของบริษัทอิสต์เอเซียติคไปยังเรือยุตแลนเดีย ชายดำไปแล้วอยู่ข้างรู้สึกเหงาสักหน่อย

คำว่า “เจ้าคุณ” ที่ทรงปรารภมานั้น หม่อมฉันจะทูลอธิบายตำนานที่ผู้หญิงเป็นเจ้าคุณต่อไป เมื่อหม่อมฉันตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรีไปแล้ว นึกขึ้นว่าเคยเห็นใช้คำว่า “เจ้าคุณ” ในหนังสือพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ค้นดูก็พบในรัชกาลพระเจ้าเสือ (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ หน้า ๑๘๕) เมื่อเสด็จไปโพนช้างที่เมืองนครสวรรค์ ตรัสสั่งพระบัณฑูรใหญ่กับพระบัณฑูรน้อย ให้ทำถนนข้ามบึงหูกวางให้แล้วในคืนเดียว ดินพูนถนนยังไม่ทันแห้งช้างพระที่นั่งไปถลำหล่มลงกลางทาง กริ้วพระบัณฑูรทั้ง ๒ พระองค์นั้น ให้จำไว้และเฆี่ยนทุกวัน พระบัณฑูรให้คนลงมาเชิญเสด็จกรมพระเทพามาศราชชนนีเลี้ยงเสด็จขึ้นไปทูลขอโทษ ในหนังสือพงศาวดารว่า พอพระเจ้าเสือทอดพระเนตรเห็นกรมพระเทพามาศ ตรัสถามว่า “เจ้าคุณขึ้นมาด้วยกิจธุระอันใด” พิเคราะห์ที่ใช้คำว่า “เจ้าคุณ” (หรือ “เจ้าปรคุณ” ตรงนั้นดูก็เหมาะเจาะดี เห็นจะมีประเพณีใช้คำเจ้าคุณ ทำนองนั้นมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา)

ยศ “เจ้าคุณ” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้หม่อมฉันเคยพิจารณามาแต่ก่อน เคยได้ยินพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ได้ทรงยกย่องพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีให้วิเศษอย่างใด ตรัสเล่าเรื่องที่ได้ทรงสดับมาเป็นตัวอย่างว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ก่อน ถึงรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นแต่เสด็จเข้ามาอยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระอมรินทรอย่างเงียบๆ จนตลอดพระชนมายุ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานโกศทรงพระศพ สมเด็จพระอมรินทรทรงยินดีถึงออกพระโอษฐ์ว่า “แม่ข้าเป็นเจ้าๆ” ตรัสเล่าดังนี้ ถึงกระนั้นก็พึงคิดเห็นได้ว่าพระพี่น้องของสมเด็จพระอมรินทรฯ ที่ยังมีตัวอยู่ในสมัยนั้น เช่น ท่านผู้หญิงนวล ภรรยาเจ้าพระยามหาเสนาฯ (บุนนาค) เป็นต้น คนทั้งหลายย่อมต่องนับถือว่าทรงศักดิ์สูงกว่าท่านผู้หญิงภรรยาข้าราชการอื่นๆ เพราะเป็นพี่น้องของอัครมเหสี คงเป็นเพราะเหตุนั้นจึงเรียกกันว่า “เจ้าคุณ” แทนที่เคยเรียกว่า “คุณหญิง” หรือ “คุณ” มาแต่ก่อน

ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงยกย่องพระญาติสมเด็จพระอมรินทรฯ เป็นราชินิกูล ที่เป็นพี่น้องของสมเด็จพระอมรินทรเป็นชั้นลุงป้าอาว์น้าเธอ คนทั้งหลายเห็นจะเรียกกันว่า “เจ้าคุณราชินิกูล” นับเป็นเจ้าคุณชั้นที่ ๑ (หม่อมฉันไม่มีหนังสือราชินิกูลจะสอบ ต้องว่าแต่ตามที่จำได้) เจ้าคุณชั้นที่ ๑ ที่มีลูกได้เป็นเจ้าคุณต่อลงมา นับเป็นชั้นที่ ๒ หม่อมฉันจำได้แต่ลูกท่านผู้หญิงนวล ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันเมื่อเป็นราชินิกูลว่า “เจ้าคุณโต” มีลูก ๕ คน คือบุตรชื่อดิศคน ๑ ชื่อทัตคน ๑ ที่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยในรัชกาลที่ ๔ แต่เรียกชื่อตามบรรดาศักดิ์ขุนนาง แต่ธิดาทั้ง ๓ คนนั้น เรียกกันว่าเจ้าคุณ คน ๑ ชื่อนุ่น เรียกกันว่า “เจ้าคุณวังหลวง” คน ๑ ชื่อคุ้ม เรียกกันว่า “เจ้าคุณวังหน้า” คน ๑ ชื่อต่าย เรียกกันว่า “เจ้าคุณปราสาท” เหล่านี้นับเป็นเจ้าคุณราชินิกูลชั้นที่ ๒

ในรัชกาลที่ ๒ มีผู้ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่าเจ้าคุณแต่มิได้เป็นราชินิกูลอีก ๓ คน คือ เจ้าจอมมารดาตานี รัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่า “เจ้าคุณวัง” (เป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เกิดด้วยภรรยาเดิม) คน ๑ เจ้าจอมมารดาสี รัชกาลที่ ๒ เรียกกันว่า “เจ้าคุณพี” (เป็นธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์) ซึ่งได้แต่งงานกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่สมัยกรุงธนบุรีคน ๑ ท้าวศรีสัจจา (ชื่อไรสืบไม่ได้ความ) เรียกกันว่า “เจ้าคุณประตูดิน” คน ๑ (คนนี้ที่ทูลกระหม่อมโปรดให้จำหลักรูปไว้ในคูหาใต้บันไดขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาฝ่ายในที่พระมหาปราสาท)

ถึงรัชกาลที่ ๓ คนเรียกเจ้าจอมมารดารัชกาลที่ ๒ ว่า “เจ้าคุณ” อีก ๒ คน คือ เจ้าจอมมารดาศิลา ของกรมพระพิพิธ และกรมพระพิทักษ์ คน ๑ เจ้าจอมมารดาปราง ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท คน ๑ เห็นจะเรียกเพราะเจ้าจอมมารดาทั้ง ๒ คนนั้นเป็นเชื้อสายราชินิกูล “บางช้าง” แต่เป็นเหตุให้เกิดเข้าใจผิดไปอีกอย่าง ๑ ว่าเจ้าจอมมารดาเจ้านายผู้ใหญ่เป็นเจ้าคุณ เรียกกันอย่างนั้นแพร่หลาย

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบัญญัติให้ศักดิ์ “เจ้าคุณ” เป็นยศผู้หญิงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงตั้ง ที่ทรงบัญญัติอย่างนั้นคิดดูตามพฤติการณ์ในสมัยนั้นก็พอจะเข้าใจได้ว่า คงอยู่ในเหตุ ๒ อย่างนี้ คือ อย่าง ๑ สมเด็จเจ้าพระยาทั้งองค์ใหญ่และองค์น้อยมีบุตรธิดามาก ผู้คนบ่าวไพร่คงเรียกกันว่า “เจ้าคุณ” เพราะว่าเป็นลูกสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นหลานสืบสายราชินิกูลลงมาจากเจ้าคุณโต อีกอย่างหนึ่ง คงเป็นเพราะเรียกเจ้าจอมมารดาว่า “เจ้าคุณ” กันแพร่หลาย ว่าโดยย่อเกิดเรียกเจ้าคุณกันฟั่นเฝือนัก จึงทรงบัญญัติยศเจ้าคุณให้เป็นยุติ ด้วยต้องทรงตั้งจึงเป็นเจ้าคุณได้ นอกจากนั้นทรงบัญญัติชั้นเจ้าคุณราชินิกูลที่มีมาแล้ว ชั้นที่ ๑ ให้เรียกว่า “เจ้าคุณพระอัยยิกา” ชั้นที่ ๒ ให้เรียกว่า “เจ้าคุณพระประพันธวงศ์” ชั้นต่อลงมาเป็นแต่ “เจ้าคุณ” คิดดูน่าชมว่าเป็นพระบรมราโชบายอันสุขุมคัมภีรภาพ เพราะถ้าเป็นแต่ประกาศห้ามมิให้เรียกบุคคลพวกนั้นหรือชั้นนั้นว่าเป็นเจ้าคุณ ก็คงเกิดแค้นเคืองขุ่นหมองในสกุลของบุคคลซึ่งคนทั้งหลายเคยเรียกว่าเจ้าคุณ เมื่อมีพระราชบัญญัติแล้ว การเรียก เจ้าคุณ กันตามใจก็เสื่อมหายไปเองโดยมิต้องขัดใจใคร ในรัชกาลที่ ๔ นั้น ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่แต่เฉพาะเกิดด้วยท่านผู้หญิงเป็นเจ้าคุณ ๓ คน คือ เจ้าคุณแขเรียกกันว่า “เจ้าคุณตำหนักใหม่” คน ๑ เจ้าคุณปุก เรียกกันว่า “เจ้าคุณกลาง” คน ๑ เจ้าคุณหรุ่น เรียกกันว่า “เจ้าคุณน้อย” คน ๑ ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยแต่เฉพาะเกิดด้วยท่านผู้หญิง เป็นเจ้าคุณ ๓ คน คือ เจ้าคุณนุ่ม เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักเดิม คน ๑ เจ้าคุณเป้า คน ๑ เจ้าคุณคลี่ คน ๑ นับเป็นเจ้าคุณชั้นที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเจ้าจอมมารดารัชกาลที่ ๔ เป็น “เจ้าจอมมารดา” ๒ คน คือ เจ้าคุณจอมมารดาสำลี คน ๑ และเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม คน ๑ (ซึ่งทรงสถาปนาพระนามอัฐิว่าสมเด็จพระปิยมาวดี ในรัชกาลที่ ๖) และทรงตั้งเจ้าจอมมารดารัชกาลที่ ๕ เป็น “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” คน ๑ กับทรงตั้งเจ้าจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อันเป็นชนนีของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นเจ้าคุณจอมมารดาอีกคน ๑ ที่เพิ่มคำ “จอมมารดา” เข้าด้วยนั้น น่าชมว่าเป็นความคิดดีนัก เพราะแต่ลำพังคำว่าเจ้าคุณ ๆ ก็เป็นได้ แต่คำว่า “จอมมารดา” ต้องเป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดินและเป็นชนนีของพระเจ้าลูกเธอด้วย เพราะฉะนั้นที่มาเปลี่ยนนาม เจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในรัชกาลที่ ๖ ดูไม่แสดงว่าศักดิ์สูงขึ้นกว่าเป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ เพราะความหมายแต่ว่าเป็นพระญาติเท่านั้น

เขียนมาเพียงนี้จำต้องหยุดจดหมายฉบับนี้ เพราะหม่อมเจิมเขาจะกลับไปกรุงเทพฯ คราวเมล์วันศุกร์ที่ ๑๘ นี้ หม่อมฉันจะต้องเขียนจดหมายตอบขอบใจผู้ที่เขามีแก่ใจฝากเสบียงอาหารมาให้หลายคน

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา หม่อมฉันหมายจะเขียนตอบวินิจฉัยพระนามที่จารึกพระสุพรรณบัฏถวายคราวนี้ ต้องขอผัดเขียนถวายในจดหมายสัปดาห์หน้าต่อไป

หม่อมฉันถวายคำตอบปัญหาที่ ๙ ของพระยาอินทรมนตรีมาถวายทอดพระเนตรอีกตอน ๑

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ