วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม และหญิงพิลัยนำลายพระหัตถ์ที่ท่านประทานมาถึงเธอในคราวเดียวเมล์เดียวกันมาให้ด้วย

หม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ที่มีถึงหญิงพิลัยก่อน ทราบข่าวที่พระองค์บุษบันประชวรอาการหนักก็ตกใจ ต่อมาได้เห็นในลายพระหัตถ์ ฉบับถึงหม่อมฉันซึ่งทรงเขียนภายหลังว่า อาการค่อยคลายขึ้นจึงค่อยทุเลาเบาใจ ขอให้มีพระชันษายั่งยืนต่อไปอีกเถิด เหลืออยู่ด้วยกันน้อยตัวนักแล้ว

เรื่องภาพแม่ซื้อหม่อมฉันก็ได้สังเกตที่เขียนไว้ตามศาลารายที่วัดพระเชตุพน ว่าเป็นตัวนางอย่างมนุษย์แต่หัวเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ได้เคยนึกอยากรู้อธิบายในเวลาเมื่อมาอยู่ปีนังนี้ ค้นดูในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ที่พิมพ์ในงานพระศพพระวิมาดาก็ไม่มี คงเป็นเพราะหม่อมฉันสั่งให้งดเสียด้วยกันกับรูปผีฝีดาดต่างๆ เพราะเห็นไม่เป็นประโยชน์คุ้มค่าสิ้นเปลือง ครั้นจะขอฉบับเขียนที่มีในหอพระสมุดฯ มาดูก็เกรงใจเขา ด้วยเป็นหนังสือหายาก จึงระงับความประสงค์มา เมื่ออ่านอธิบายที่ประทานมาในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ รู้สึกเหมือนกับทรงเปิดหน้าต่างให้แลเห็นแต่งสว่าง ว่าบรรดารูปภาพที่เขาคิดทำขึ้นแต่โบราณ เช่นรูปท้าวเวสวัณเขียนแขวนเปลเด็กที่ประทานอธิบายมาก็ดี รูปแม่ซื้อก็ดี รูปเทพธิดามหาสงกรานต์ก็ดี ตลอดจนเทวรูปนพเคราะห์ก็ดี ล้วนเอาความรู้โหราศาสตร์มาผูกขึ้นทั้งนั้น หากคนอื่นไม่รู้เท่า จึงเห็นว่าเหลวไหลหรือขบขัน

หนังสือเรื่อง “ยักษ์หรืออสูร” นั้น พระยาอนุมานเขาก็ส่งมาให้หม่อมฉันเล่มหนึ่งเหมือนกัน หม่อมฉันได้อ่านและตอบชมไปแล้ว ความที่แกแต่ง “คว่ำไพ่” เอาเทวดาเจ็บแสบมาก จะคัดค้านก็ยาก หม่อมฉันได้คิดเห็นมานานแล้วอย่างหนึ่ง เนื่องจากคำถามเจ้านาคเมื่ออุปสมบทว่า มนุสโสสิ ก็เมื่อแลเห็นอยู่แก่ตาโทนโท่ว่าเป็นมนุษย์แล้วต้องถามทำไม ที่อธิบายมูลเหตุว่าเพราะนาคเคยจำแลงตัวมาขอบวช ก็ไม่เห็นสม หม่อมฉันเห็นว่าอมนุษย์นั้นต้องเป็นคนเรานี่เอง ครั้งนั้นเห็นจะถือว่าคนสามัญเป็นมนุษย์ เหมาเอาคนป่าเถื่อนที่เข้ากันไม่ได้ว่า เป็นอมนุษย์เหมือนอย่างผี ลองคิดหาหลักที่จะชี้ให้เข้ากับธรรมดาได้ เห็นคนจำพวกเช่นอ้ายคะนังเงาะ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลี้ยงไว้นั้นเป็นต้น ควรนับว่าเป็นอมนุษย์ได้ เพราะต่างชาติต่างภาษา ต่างอาริยธรรมไม่สามารถจะรู้พระธรรมวินัยได้ จึงไม่ยอมให้บวช มูลแห่งคำถามว่า มนุสโสสิ น่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น เพราะฉะนั้น จึงนับพวกบริวารของจาตุมหาราชว่าเป็นอมนุษย์ ประหลาดอยู่ที่ยังมีชาวป่าทางอินเดียจำพวกหนึ่งเรียกว่า “นาคะ” Naga อยู่จนทุกวันนี้ ที่พระยาอนุมานเขาลงเนื้อเห็นว่า พวกอมนุษย์เป็นคนนั้นหม่อมฉันเห็นพ้องด้วย

เรื่องหนังสือไตรภูมิเขมรที่มหาเยาว์ให้หอพระสมุดฯ พระยาอนุมานก็เคยบอกให้หม่อมฉันทราบ แต่พ้นวิสัยที่หม่อมฉันตรวจดู ที่ท่านได้ทอดพระเนตรดีแล้ว มูลของหนังสือไตรภูมิมีความปรากฏอยู่ในอธิบายข้างต้นเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ชัดเจน ว่าพระมหาธรรมราชา (พระยาลิทัย) ซึ่งครองกรุงสุโขทัยรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งขึ้น บอกจาระไนชื่อคัมภีร์ต่างๆ ในพระไตรปิฎกที่ได้ตรวจคัดเนื้อความมาแต่งหนังสือนั้นถ้วนถี่ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งหนังสือไตรภูมิเป็นหนังสือซึ่งไทยคิดแต่งขึ้นในเมืองไทยนี้ ไทยจึงนับถือมาก ถึงมักจะเอาไปเขียนเป็นรูปภาพตามวัดมีแต่วัดไทยเท่านั้น ในประเทศอื่นเช่นเมืองลังกาและพม่าหามีไม่ เขมรก็คงจำลองไปจากไทย และดูเหมือนมีสมุดไตรภูมิเขียนอักษรมอญหรืออักษรลานนาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณอีกเล่มหนึ่งก็คงคัดไปจากไทยเช่นเดียวกัน

อ่านลายพระหัตถ์ตรัสประทานอธิบายลักษณะเรือนไทยมายังหญิงพิลัย เตือนให้หม่อมฉันนึกขึ้นถึงของแบบไทย ๒ อย่างที่หม่อมฉันเห็นว่าประหลาดอย่างยิ่ง คือ เรือนอย่าง ๑ กับเกวียนอย่าง ๑ ลักษณะเรือนแบบไทยประหลาดอย่างไร ท่านประทานอธิบายมายังหญิงพิลัยแล้ว จะเล่าเรื่องรับรองพระดำริเรื่องหนึ่ง เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจหัวเมืองเหนือครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเมืองอ่างทองเห็นโรงเลื่อยจักรตั้งขึ้นใหม่โรงหนึ่ง หม่อมฉันสืบถามได้ความเป็นของห้างกิมเสงหลี ครั้นหม่อมฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ พบหลวงอุดรภัณฑ์พานิช (อากรเต็ง) เจ้าของห้างนั้น ถามแกว่าเหตุใดจึงขึ้นไปตั้งโรงจักรเลื่อยไม้ลึกซึ้งถึงเพียงนั้น แกบอกว่าโรงเลื่อยนั้นไม่ใช่สำหรับเลื่อยไม้เหลี่ยม หรือไม้กระดานขายอย่างโรงเลื่อยในกรุงเทพฯ คิดจะทำแต่ฝาเรือนขาย หม่อมฉันไม่เข้าใจถามแกว่าทำแต่ฝาเรือนไฉนจึงถึงตั้งเป็นโรงจักร แกตอบว่าประเพณีตามหัวเมืองเมื่อจะแต่งงานสมรสเจ้าบ่าวต้องปลูกเรือนหอ มักทำเป็นเรือนฝากระดาน การทำเรือนนั้นพวกชาวบ้านทำได้เองสะดวกแต่โครงเรือน เช่นแต่งเสาและทำตัวไม้เครื่องบนเป็นต้น แต่ฝาเรือนลูกปะกนทำยาก ต้องไปเที่ยวหาว่าจ้างช่างทำ กว่าจะสำเร็จต้องรองานเสียเวลาอยู่นาน แกเห็นว่าฝาเรือนที่ชาวบ้านนอกทำ ทำแบบเดียวกันและขนาดเดียวกันทั้งนั้น ถ้าใช้เครื่องจักรแต่งตัวไม้อาจจะทำฝาเรือนไว้ขายเป็นสำรับๆ ใครซื้อก็เอาไปปรับเข้ากับโครงเรือนได้ทีเดียว ก็ธรรมดาเจ้าบ่าวย่อมอยากรีบเร่งแต่งงาน ก็คงจะพอใจมาซื้อฝาเรือนที่ทำไว้เสร็จแล้ว ยิ่งกว่าไปเที่ยวว่าจ้างช่างทำด้วยมือให้ต้องรอคอย ข้อที่ไปตั้งโรงจักรที่เมืองอ่างทองนั้น เพราะเป็นที่ลำน้ำแยกอาจจะบรรทุกฝาเรือนเอาไปได้โดยสะดวกหลายจังหวัด หม่อมฉันได้ฟังคำชี้แจงก็ต้องยอมว่าหลวงอุดรฯ มีปัญญาความคิดรอบคอบ แกจับเอาเค้าที่เรือนอย่างไทยทำเป็นแบบเดียวกันเอาเป็นเหตุหาผลประโยชน์ได้

เรื่องเกวียนนั้นเมื่อหม่อมฉันขึ้นไปดูเมืองอู่ทอง ครั้งแรกขึ้นเดินบกที่อำเภอสองพี่น้องในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางขี่ม้าไปราว ๗๐๐ เส้น ต้องไปหยุดพักร้อนกลางทางที่บ้านกะจังยี่แส (หรือบ้านอะไรอื่นจำไม่ได้ถนัดเสียแล้ว) แต่เป็นตำบลอยู่ชายป่าไม้ ชาวบ้านตำบลนั้นโดยมากทำเกวียนขายเป็นอาชีพ เพราะหาไม้ที่สำหรับใช้ทำเกวียนได้ง่ายกว่าที่อื่น เวลาเมื่อหม่อมฉันพักร้อนอยู่นั้นเข้าไปดูทำเกวียนที่ในบ้านหนึ่ง เห็นมีไม้หลายอย่างที่สำหรับใช้ทำเกวียน ถามเจ้าของบ้าน เผอิญถูกตัวผู้ชำนาญอย่างว่าเป็นศาสตราจารย์ในการทำเกวียนอยู่ในตำบลนั้น แกบอกว่าเกวียนนั้นทำด้วยไม้แต่อย่างใดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะส่วนต่าง ๆ ของเกวียนต้องบด ฝนและรับน้ำหนักผิดกัน ยกตัวอย่างดังเพลาเกวียนอันต้องทำให้เล็กลอดรูดุมล้อมได้ แต่ต้องรับน้ำหนักตัวเกวียน ต้องใช้ไม้แข็งและเหนียวอย่างที่สุด ตัวไม้เกวียนแห่งอื่น ๆก็ต้องใช้ไม้อย่างที่เหมาะแก่ส่วนนั้นๆ ทำนองเดียวกัน หม่อมฉันได้ถามชื่อไม้อะไรสำหรับทำโครงเกวียนแห่งใดจดไว้ แล้วออกสนุกเลยพิจารณาดูเกวียนต่อไป ตรงแห่งใดสงสัยก็ถามตาคนชำนาญบอกให้เข้าใจก็ยิ่งพิศวงหนักขึ้น ด้วยดูช่างคิดเหมาะเจาะไปทุกเห่ง เป็นต้นว่า แปรก (หรือเรียกว่าอะไร) ที่สกัดอยู่ข้างนอกดุมล้อทั้ง ๒ ข้าง รูปร่างคล้ายกับที่ฝรั่งใส่วิ่งบนพื้นหิมะนั้น ก็ได้รู้อธิบายว่าธรรมดาทางเกวียนล้อเกวียนย่อมกัดดินเป็นร่อง ถึงเวลาฝนตกน้ำฝนเลยพาฝุ่นให้ไหลไปให้ร่องลึก นานเข้าร่องก็ลึกลงไปทุกทีจนแผ่นดินสองข้างทางเกวียนกลายเป็นคัน บางแห่งน้ำฝนหรือรอยล้อเกวียนกัดลึกข้างหนึ่งคงสูงอยู่ข้างหนึ่ง ตรงที่เช่นนั้นเกวียนก็เอนเอียงมากบ้างน้อยบ้าง แปรกสำหรับรับกับคันดินข้างทางมิให้เกวียนล่มและเลยเป็นเลื่อนรับเกวียนแทนล้อไปตลอดตอนนั้นด้วย หม่อมฉันถามแกอีกข้อหนึ่งว่าไฉนไม่เห็นใช้เหล็กเลย แกตอบว่าถ้าใช้เหล็ก เหล็กไปตกหายหรือหักในกลางป่าจะหาที่ไหนได้แทน ถามแกข้อใดชี้เหตุอันสมควรได้ทั้งนั้น เมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ พบมิสเตอร์ เวสเตนโฮลล์ (ท่านคงทรงรู้จัก) ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทรถราง แกเป็นเอนยิเนียชอบคิดทำอะไรแปลกๆ หม่อมฉันถามแกว่าได้เคยเห็นเกวียนไทยตามบ้านนอกแล้วหรือยัง แกตอบว่าได้เคยพิจารณาดูถ้วนถี่แล้ว เห็นความคิดที่ทำเป็นแบบเอนยิเนียอย่างดีจริงๆ แกลองหาที่บกพร่องควรจะแก้ไขไม่มีสักแห่ง ๑ เป็นความคิดเหมาะกับภูมิประเทศอย่างที่สุด

เรือนกับเกวียน ๒ อย่างนี้ เห็นจะเป็นของที่ทำและคิดแก้ไขกันมาหลายร้อยปี จนลงเป็นแบบดีถึงที่สุดแล้วจึงจำเป็นตำราทำตามกันต่อๆ มา น่าพิศวงด้วยประการฉะนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ