วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

Cinnamon Hall

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ ฉบับลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม แล้ว จดหมายทูลตอบประจำสัปดาหะนี้ จะเริ่มด้วยขอถวายส่วนกุศลที่ได้ทำบุญฉลองพระแอ๊วตามรายการดังได้ทูลไปในจดหมายฉบับก่อน สำเร็จเรียบร้อยโดยพรักพร้อมและชื่นชมยินดีด้วยกันหมด ส่งเธอกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ และหญิงจงซึ่งได้ออกมาอยู่ปฏิบัติหม่อมฉันอยู่ ๒ เดือนก็กลับไปกรุงเทพฯ ด้วยในคราวรถไฟเดียวกัน อนึ่ง พวกในครัวเรือนของหม่อมฉันได้รับของประทานมีความยินดี ขอให้ขอบพระเดชพระคุณอีกโสดหนึ่งด้วย

ทีนี้จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ต่อไป เรื่องเจ้าฟ้าสุทัศน์ราชโอรส ผู้เป็นพระมหาอุปราชของสมเด็จพระเอกาทศรถ เสวยยาพิษทำลายพระชนม์นั้น ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารไม่รู้มูลเหตุที่เป็นข้อสำคัญ อันปรากฏอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุพวกฮอลันดาดูเหมือนชื่อว่า “วันเซาเต็น“Van Chouten แต่งไว้ พระยาอินทรมนตรีเห็นจะได้หนังสือนั้นมาสอบกับหนังสือพระราชพงศาวดาร ๆ กล่าวว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์เป็นพระมหาอุปราชได้ ๔ เดือน กราบทูล “ขอพิจารณาคนออก” สมเด็จพระเอกาทศรถกริ้ว ตรัสถามว่า “จะเป็นขบถหรือ” เจ้าฟ้าสุทัศน์เกรงพระราชอาญาเสวยยาพิษทำลายพระชนม์ แกจึงทูลถามท่านถึงลักษณะพิจารณาคนออกนั้นเป็นอย่างไร มูลเหตุตามคำพวกฮอลันดาเล่านั้นหม่อมฉันทราบอยู่ แต่บางทีจะลืมพลความไปเสีย ไม่มีหนังสือจะตรวจสอบที่ปีนังนี้ทูลแต่ตามที่จำได้

เนื้อเรื่องว่าเมื่อตอนปลายรัชกาลนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถประชวรพระสติอารมณ์ฟั่นเฟือนเป็นคราวๆ อย่างเราเรียกกันว่า “เดือนหงายเดือนมืด” (ข้อนี้ก็ตรงกับทูลกระหม่อมทรงพระราชนิพนธ์) ในสมัยนั้นพวกญี่ปุ่นเที่ยวเดินเรือค้าขายตามต่างประเทศเอาอย่างฝรั่งบ้าง แต่พวกญี่ปุ่นใจร้าย ไปค้าขายที่เมืองไหนมีเหตุอะไรสักเล็กน้อยก็มักใช้กำลังรุกรานตามอำเภอใจ ที่เมืองไทยนี้พวกญี่ปุ่นเข้าปล้นเมืองเพชรบุรีครั้งหนึ่ง และมาทำอุกอาจอย่างไรอย่างหนึ่งที่ในกรุงศรีอยุธยา (มีในปูมโหรจดแต่ว่า “ญี่ปุ่นเข้าเมือง” แต่มิใช่จะทำร้ายพระเจ้าทรงธรรมอย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะศักราชในปูมอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ) สันนิษฐานว่าจะเป็นในเวลาสมเด็จพระเอกาทศรถกำลังประชวร เจ้าฟ้าสุทัศน์สำเร็จราชการแผ่นดินหวาดว่า ญี่ปุ่นหมายจะตีพระนครจึงเตรียมต่อสู้ พวกฮอลันดาว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์ให้เกณฑ์กำลังเมืองลานช้างลงมาช่วย แต่ญี่ปุ่นหาอาจก่อการร้ายใหญ่โตไม่ เมื่อพวกผู้ร้ายญี่ปุ่นหนีไปจากพระนครแล้ว กองทัพเมืองลานช้างก็ยกลงมาถึง มาตั้งอยู่ที่เมืองลพบุรี เจ้าฟ้าสุทัศน์ให้ไปบอกว่าสิ้นเหตุร้ายแล้วให้กลับไปเถิด พวกกองทัพลานช้างผัดเพี้ยนยังไม่เลิกทัพกลับไป พอประจวบเวลาสมเด็จพระเอกาทศรถหายประชวรขึ้น ทรงทราบว่าพวกลานช้างยกกองทัพลงมาถึงเมืองลพบุรีก็ทรงพระพิโรธตรัสสั่งให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปรบพวกลานช้าง ครั้งนั้นเกณฑ์พวกฮอลันดาที่อยู่กรุงฯ ไปเข้ากระบวนทัพสำหรับยิงปืนใหญ่ที่เจ้าออเรนช์ Prince of Orange ผู้ครองประเทศฮอลแลนด์ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ ในจดหมายของพวกฮอลันดาเล่าเรื่องมีศุภมาสวันคืนมั่นคงเชื่อได้ว่าเป็นความจริง แต่พอกองทัพหลวงยกขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีพวกลานช้างพากันถอยหนีไปเสียก่อนจึงไม่ได้รบกัน เรื่องที่เจ้าฟ้าสุทัศน์เรียกกองทัพลานช้างมานี้ น่าจะเป็นมูลเหตุข้อที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสเป็นพระกระทู้ถามเจ้าฟ้าสุทัศน์ว่า “จะเป็นขบถหรือ” และเป็นเหตุให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ทำลายพระชนม์ด้วยเกรงพระราชอาญา แต่ข้อที่ว่า “ทูลขอพิจารณาคนออก” ดูเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่พบอธิบายเค้าเงื่อนที่ไหนนอกจากที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารเพียงเท่านั้น ถ้าพิจารณาแต่ตามคำที่กล่าวอาจหมายความว่าทูลขอให้ปลดคนพ้นจากหน้าที่รับราชการแต่อายุยังน้อยกว่าประเพณีเดิม อันเป็นเหตุที่จะลดจำนวนคนประจำราชการน้อยลง หรือมิฉะนั้น ถ้าพิจารณาประกอบกับคำมองสิเออเดอลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสพรรณนาประเพณีครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอาจจะมีแต่ก่อนนั้นมานานแล้ว กำหนดว่าไพร่หลวงต้องมาประจำรับราชการปีละ ๖ เดือน ปล่อยให้ทำมาหากินปีละ ๖ เดือน (พบในหนังสืออื่นว่าต่อมาลดเวลารับราชการลงเป็นปีละ ๔ เดือน และมาลดลงอีกเป็นเพียงปีละ ๓ เดือน ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์สืบมา) อธิบายคำที่ว่าขอพิจารณาคนออกอาจจะเป็นขอให้ลดเวลารับราชการลดให้น้อยลงกว่าปีละ ๖ เดือนก็เป็นได้ ถ้าลดเช่นนั้นจำนวนคนที่มาอยู่ประจำราชการก็ต้องลดน้อยลงเป็นธรรมดา หม่อมฉันทูลมานี้โดยเดา ที่ท่านตรัสตอบพระยาอินทรมนตรีไปว่าไม่ทรงทราบนั้นควรแล้ว เพราะแกถามจะเอาไปอ้างเป็นหลักฐาน มิใช่คิดวินิจฉัยกันเล่นเหมือนอย่างพระองค์ท่านกับหม่อมฉันไต่ถามกัน

เรื่องกฐินหลวงที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์นั้น หม่อมฉันจำได้ตงิดๆ ดูเหมือนพิจารณากันเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๗ ว่าประเพณีการทอดกฐินหลวงอยู่ข้างฟั่นเฝือ ด้วยจำนวนวัดกฐินหลวงมากนักหาผู้แทนพระองค์ไปทอดลำบากอยู่เสมอ จะควรแก้ไขได้อย่างไรบ้าง หม่อมฉันได้ทูลเสนอความเห็นว่าควรจะกำหนดวันเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ วัดสำคัญที่เป็นชั้นหลักพระนครควรทอดพระกฐินหลวงเป็นนิจ เสด็จไปทอดเองบ้าง ถ้าปีใดไม่เสด็จไปเองก็ให้มีผู้แทนพระองค์ไปทอด ประเภทที่ ๒ นอกจากวัดที่กำหนดเป็นชั้นหลักพระนครนั้นเลิกกฐินหลวงเสียทั้งหมดทีเดียว บล่อยให้ผู้อื่นทอดได้ตามศรัทธา แต่ในวัดประเภทที่ ๒ นั้น จะเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม ถ้าวัดใดมีความเจริญขึ้นอย่างวิเศษ ด้วยการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็ดี หรือจัดบำรุงให้รุ่งเรืองขึ้นด้วยอย่างอื่นก็ดี เสด็จไปพระราชทานกฐินเป็นการทรงอนุโมทนาความชอบสักปีละสองวัดสามวัด ดูเหมือนจะส่งความเห็นนี้ไปปรึกษามหาเถรสมาคม ๆ ไม่อนุมัติ หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเป็นด้วยเกรงใจพระราชาคณะวัดที่จะต้องถูกเลิกกฐินหลวง สมเด็จพระสังฆราชจึงเอาทางพระวินัยอ้างว่ากฐินเช่นทอดกันทุกวันนี้ก็ผิดกับพระวินัยบัญญัติปราศจากอานิสงส์อยู่แล้ว เลิกเสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้ ที่ประชุมฝ่ายคฤหัสถ์ไม่ควรเลิก จึงได้คงอยู่ตามเดิมจนทุกวันนี้

เรื่องเรี่ยไรหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรฯ นั้น เขาก็ส่งใบเรี่ยไรมายังหม่อมฉันเหมือนกัน คิดดูออกจะ “อั้นอ้นจนปัญญา” ด้วยไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้อำนวยการในทางศิลป จึงเขียนตอบไปยังพระยาศรีสุรสงครามผู้ที่เรี่ยไรดังสำเนาที่หม่อมฉันคัดถวายมา หวังจะเตือนให้เขาเห็นข้อสำคัญในการที่จะหล่อพระรูปนั้น

เรื่องพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น หม่อมฉันนึกได้ว่าเดิมวันหนึ่งหม่อมฉันไปวัดราชประดิษฐ์ ไปพูดขึ้นกับพระว่าแต่ก่อนเคยคิดกันว่าจะหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชมิใช่หรือ เธอบอกว่าสมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงจัดการให้หล่อขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำที่ตั้ง หม่อมฉันอยากเห็นให้เธอพาไปดูเห็นพระรูปนั้นตั้งทอดทิ้งอยู่ในกุฏิข้างพระปรางค์เขมรด้านตะวันตก หม่อมฉันพิจารณาดูพระรูปที่หล่อไว้นั้น เห็นทำอย่างสะเพร่าไม่มีเค้ารูปโฉมสมเด็จพระสังฆราชเลยทีเดียว ฝีมือหล่อก็เลว เพราะไม่มีใครอินังขังข้อเสียเลย เหมือนอย่างว่าทำขึ้นโดยเสียไม่ได้ นึกน้อยใจกลับมาทูลพระองค์ท่านซึ่งเป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ช่วยกันขวนขวายหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ เงินที่ใช้ในการนั้นเจ้านายพระองค์หนึ่ง จะเป็นพระองค์ไหนหม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว ตรัสบอกว่าได้เคยเรี่ยไรเงินหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชแต่ในรัชกาลที่ ๕ ดูเหมือนจะรวมเงินนั้นไว้ที่พระคลังข้างที่ หม่อมฉันไปสืบถามก็ได้ความจริงอย่างนั้น มีเงินอยู่สัก ๓,๐๐๐ หรือ ๔,๐๐๐ บาท ได้ใช้เงินเรี่ยไรนั้นเองจึงมิต้องเรี่ยไรใหม่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ