วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ได้รับประทานแล้ว

ได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ว่า นายประสิทธิ์ รองกงสุลสยามที่ปีนัง เป็นบุตรพระยาทิพโกษา (สอน) ทำให้อุ่นใจมาก หากไม่รู้จักกับเขาก็หวังได้ว่าต้องมีอัธยาศัยดี เพราะอยู่ในตระกูลที่ดีได้อบรมมาดี ส่วนภรรยานั้นได้ทราบโดยบังเอิญก่อนได้รับลายพระหัตถ์ ว่าเป็นลูกพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) เพราะชายงั่วหลงไปส่งตาหมู (พูลเพิ่ม) ลูกพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม) ผิดวันด้วยเขาเลื่อนกำหนดวันไป ไปพบพระยาอนุรักษ์ ว่าไปส่งน้องสาวซึ่งเป็นเมียรองกงสุล เลยแนะนำให้รู้จักกัน เธอกลับมาเล่าจึงได้ทราบ

เรื่ององค์หญิงประเวศเสด็จกลับเข้ากรุงเทพฯ ได้ทราบต่อเมื่อได้รับลายพระหัตถ์ เธอเสด็จไปถึงเสียไหนๆแล้ว ไม่ได้ไปรับเสด็จ แล้วเธอก็เสด็จขึ้นไปบางปะอิน ด้วยเจ้าจอมมารดาทับทิมเจ็บอยู่ที่โน่น จะมีอาการหนักเบาเพียงไรยังหาทราบไม่

เรื่องฉลองการบินมีเครื่องบินมากมายหลายแห่งออกน่าดู แต่การดูนั้นออกจะเสี่ยงภัย ไม่ต้องอะไร บินไปโดนกันเข้าเท่านั้นก็อาจแฉลบไปตกลงที่ไหนก็ได้ ยิ่งมากเข้าด้วยกันก็ยิ่งอยากส่งเดชอวดกัน อาศัยที่มีคนจัดการดีนั่นแหละจึ่งจะห่างภัยไปได้ ถ้าจัดไม่ดีจะต้องเกิดพิบัติง่ายที่สุด

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินจำเพาะพระองค์ คิดอย่างเลวๆ เท่าที่ได้เห็นหลักฐานผ่านหน้าไปโดยไม่ได้ตรวจค้น ก็เห็นมีสองอย่างเท่านั้น คือ ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏอย่างหนึ่ง กับที่คนตั้งขึ้นเรียกเมื่อรัชกาลล่วงไปนานแล้วอีกอย่างหนึ่ง ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏเห็นจะเหมือนๆ กันเป็นฟอร์ม เทียบได้จากพระสุพรรณบัฏชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเข้าใจว่ารับประเพณีกรุงเก่ามาทำ ในสามรัชกาลข้างต้นก็จารึกเหมือนกันทุกพระองค์ เพราะเหมือนกันทุกพระองค์ทราบไม่ได้ว่าใครเป็นใครนั้นแหละ จึ่งเป็นเหตุให้คนภายหลังตั้งพระนามเรียกไปต่างๆ เพื่อให้รู้กันว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหน องค์ที่ไม่นับถือก็เลือกเอาคำที่ร้ายมาสมมติถวาย คำที่ดี ก็เช่นพระอินทราชาเป็นต้น หมายความว่าพระองค์ที่ทรงดำรงตำแหน่งพระอินทราชามาก่อน แต่ความจริงเมื่อพระองค์ได้ดำรงราชสมบัติแล้ว จะต้องเปลี่ยนพระนามไปตามอย่างพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นฟอร์มซึ่งรู้ไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ส่วนที่ร้ายก็เช่น ขุนหลวงเสือ หมายความว่าดุ ขุนหลวงทรงปลา หมายความว่าโปรดจับปลา แต่ความจริง พระองค์ก็มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏเป็นฟอร์มอย่างเดียวกัน อันรู้ไม่ได้ว่าใครเป็นใครเหมือนกัน ที่เป็นพระนามโดยจำเพาะนับได้เพียงสองอย่างเท่านั้น ส่วนที่ใช้ในปัจจุบันกาล มีเรียกพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างง่ายที่สุด หรือเรียกว่าพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง เป็นอย่างพิเศษ ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง จะนับว่าเป็นพระนามหาได้ไม่ เป็นแต่พูดกันให้รู้ว่า หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าบรมโกศก็ไม่ใช่พระนาม หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน ซึ่งพระบรมศพอยู่ในพระโกศเท่านั้น ยังพระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างเนียม อะไรเหล่านั้น ก็เป็นคำกวีที่ตั้งใจจะพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นเหมือนกัน ไม่ใช่พระนาม แต่คนภายหลังอาจเด็ดเอาคำกวีนั้นลางคำมาสมมติถวายเป็นพระนามก็ได้เหมือนกัน ในที่สุดเกล้ากระหม่อมเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่มีพระนาม หรือมีก็ใช้การไม่ได้

สำเนาพระนิพนธ์ตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรี อธิบายคำว่า กุมฦาแดง และ ประแดง คราวนี้อยู่ข้างรัวเต็มที จะกราบทูลนอกเรื่องเพราะพระนิพนธ์นั้นนำไป ที่ใต้ปากคลองเตยลงไปหน่อยเดียว มีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง และเจ๊กทำไร่ที่หน้าบ้าน ขุดได้ทวนเล่มหนึ่ง เกล้ากระหม่อมได้ซื้อไว้ แปลกกว่าทวนสามัญที่เขาเซาะคม มีลักษณะดุจตีนกา ถ้าดูตัดขวางจะเป็นดังนี้ <img> ประโยชน์จะใช้ได้อย่างทวนสามัญ แต่จะเบากว่าเท่านั้น จะเป็นของใครครั้งไหนสุดคาด แต่เข้าใจว่าน่าจะได้เป็นสนามรบกันที่นั่น ทั้งสามสิ่งที่กราบทูลมาแล้วนี้ ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมตั้งอยู่ที่คลองเตย ไม่ใช่ที่ปากลัด ที่วัดและที่ศาล เกล้ากระหม่อมก็เคยไปเห็น วัดก็ดูเป็นวัดใหม่ๆ มีพระเจดีย์อยู่ ซึ่งควรจะถือว่าเป็นพระธาตุก็ไม่ใหญ่ ทั้งเป็นพระเจดีย์ลังกาอย่างสมัยใหม่เสียด้วย ศาลเจ้าก็เป็นตึกอย่างเจ๊ก ไม่มีอะไรเป็นซากเก่าอยู่ในที่นั้น ถ้าเป็นเมืองตั้งอยู่ที่นั้นจริงเหมือนคาด เมืองพระประแดงคงจะเล็กเต็มที วัดก็คงเป็นไม้ ศาลเจ้าก็คงเป็นศาลไม้

วันที่ ๑๗ ไปเผาศพพระยาศรีศักดิ์ธำรง (จุณ) ที่วัดมงกุฎกษัตริย์ พระยาศรีธรรมาธิราชบิดาเขาทำที่เผาศพแปลก ได้คาดไปทีเดียวว่าคงจะเห็นแปลก เพราะทราบนิสัยอยู่ว่าพระยาศรีธรรมาธิราชเป็นผู้มีความคิด ชอบทำอะไรแปลกๆ และความคิดของท่านนั้นไม่ปล่อยให้แปลกไปจนผิดหลัก ศพพระยาศรีศักดิ์ก็ทำหีบศพตั้งบนตาราง แต่ซ่อนตารางไว้ในฐาน เมื่อดูภายนอกเห็นเหมือนตั้งหีบศพโดยปรกติเหนือฐานสองชั้น แต่ฐานชั้นบนตัดกลางเป็นช่อง ในช่องมีตารางเหล็กประกอบหยวก มีกองฟืนโดยปรกติติดต่อกับหีบศพ หีบศพก็เป็นหีบไม้สักขัดเงาลอกเป็นหลังเจียด ไม่ใช่หีบยศของหลวงซึ่งดูหยาบคายกว่ามาก รู้สึกถูกใจ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ