วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

หนังสือเวรฉบับนี้ จะกราบทูลตอบลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๓ มิถุนายน อันไม่มีช่องจะกราบทูลตอบได้ตามเวลาอันควรนั้นสืบเนื่องไป

เรื่องราชาภิเษก เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าที่ทรงพระอุตสาหะติดตามหาหนังสือมาแปลประทานให้ทราบเกล้า การกระทำในอินเดียมาตรงกับที่เราทำนั้นไม่ประหลาด เพราะพราหมณ์เขานำประเพณีอินเดียมาทำให้ ประหลาดที่การนานมาแล้วมากก็ยังคงรูปอยู่ได้ ผิดเพี้ยนกันไปแต่เล็กน้อย

คราวนี้จะกราบทูลให้ทราบฝ่าพระบาท ตามความเห็นเป็นจำเพาะลางข้อดั่งต่อไปนี้

ในข้อเลือกพระเจ้าแผ่นดินของเรา เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเทวดาเลือกไม่ใช่มนุษย์เลือก ผู้ควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น เทวดาย่อมสร้างสรรมาให้มีบุญเพียบพร้อมควรแก่ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ถึงมนุษย์ได้เลือกก็เลือกสวมรอยเทวดานั้นเอง คำที่ว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมต” ก็ว่าไว้เพียงให้ฟังไพเราะ ที่จริงคนคนเดียวหรือเพียงสี่ซ้าห้าคนเลือก การประชุมก็ทำแต่พอเป็นที ไม่ถึงอเนกชนนิกรสโมสร

คำ “อภิเษก” ตรงกับที่เราเรียกว่า “ราชาภิเษก” คำ “อินทร” ตรงกับที่เราเรียก “อินทราภิเษก” เป็นแน่ ดีใจที่เดาถวายว่า “อินทราภิเษก” คืออภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถูก ไม่ใช่พระอินทรเขียวๆ ลงมาอภิเษกถวาย

พระที่นั่งภัทรบิฐ เห็นว่าตรงกับราชสีหาสน์ของอินเดีย และเป็นอันเดียวกับพระแท่นเศวตฉัตร เป็นของตั้งประจำท้องพระโรง ไม่ใช่เครื่องสดอันทำขึ้นชั่วแต่สำหรับการพิธี พระที่นั่งอัฐทิศนั่นแหละเป็นเครื่องสด ทำขึ้นจำเพาะใช้ในการพิธี สำหรับเป็นที่ประทับรับน้ำอภิเษก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยทรงพระราชดำริวินิจฉัยไว้ว่าตำราราชาภิเษกของไทยเรา คงจะว่าไว้เป็นสองอย่าง คืออย่างใหญ่กับอย่างย่อ เหตุว่ามณฑปพระกระยาสนานกับพระที่นั่งอัฐทิศ เป็นที่ประทับสรงน้ำอภิเษกเหมือนกัน พระที่นั่งภัทรบิฐกับพระแท่นเศวตฉัตรเป็นที่ประทับนั่งเมืองเหมือนกัน เป็นของซ้ำกัน เพราะฉะนั้นจึ่งทรงพระราชดำริว่า สรงด้วยมณฑปพระกระยาสนานกับประทับพระแท่นเศวตฉัตรนั้น เป็นการทำอย่างใหญ่ ประทับรับอภิเษกบนพระแท่นอัฐทิศกับประทับพระที่นั่งภัทรบิฐนั้น เป็นการทำอย่างย่อ แต่ผู้อำนวยการพิธีไม่เข้าใจจึงทำเสียหมดทุกอย่าง

โดยพระราชดำริเช่นนี้ เมื่อครั้งเสด็จเถลิงพระที่นั่งอัมพรสถานจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดร่วมกันเสีย ให้ทำที่ทรงเป็นพระแท่นแปดเหลี่ยมปักเสามีเพดานเศวตฉัตร ไว้ทุ้งสหัสธาราเบื้องบน สรงสหัสธาราก่อนแล้วพราหมณ์ก็เข้าถวายน้ำแปดทิศติดไปทีเดียว เสด็จขึ้นทรงเครื่องแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ประทับพระแท่นซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นพระแท่นรัตนสิงหาสน์อยู่เบื้องล่าง ตั้งซ้อนด้วยพระเก้าอี้อันใช้พระที่นั่งกงแก้ฐานเป็นสิงห์ยาวสี่ขา ลาดด้วยหนังเสือ (บัณฑุสีห์) เบิกข้าราชการฝ่ายหน้าเข้าเฝ้าก่อนแล้วถอยออก ข้าราชการฝ่ายในเข้าเฝ้าต่อไปภายหลัง แล้วเสด็จกลับเป็นเสร็จการ

หากจะวินิจฉัยไปอีกอย่างหนึ่งก็ไปได้ การสรงที่มณฑปพระกระยาสนานนั้น เป็นการสรงเพื่อชำระพระองค์ให้สะอาดก่อนเข้าพิธีตามคัมภีร์ “พระอวิสูตร” การเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศนั้นเป็นการขึ้นตั่งรับอภิเษก การเสด็จขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐหรือพระแท่นเศวตฉัตรนั้น เป็นการนั่งเมืองออกมุขมาตยา การเสด็จเลียบพระนครนั้น เป็นการที่จะให้พลเมืองรู้จักพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เลียบทางสถลมารคให้ผู้อยู่บกได้เห็นพระองค์ เลียบทางชลมารคให้ผู้อยู่น้ำเห็นพระองค์

ตามที่เข้าใจกันว่า พระเจ้าแผ่นดินแล้วพระยศจะต้องกั้นฉัตร ๙ ชั้นนั้นก็เห็นจะเข้าใจกันผิดอีก ความหมายจะมีเป็นว่าทรงกั้นได้ตั้งแต่ชั้นเดียวจนถึง ๙ ชั้นเป็นที่สุด ดั่งจะเห็นได้จากพระกลดนั้นเป็นฉัตรชั้นเดียว ชุมสายเป็นฉัตร ๓ ชั้น เครื่องพระอภิรุมเป็นฉัตร ๕ ชั้น ฉัตรพระคชาธารเป็นฉัตร ๗ ชั้น ฉัตรพระแท่นเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น ควรพึงสังเกตว่าฉัตร ๘ ชั้นนั้น ไม่มีใช้ถวายอยู่งานเดินหน มีแต่ปักประจำพระแท่น ด้วยจะเป็นของใหญ่โตเกินที่จะถืออยู่งาน ตามแนวนี้ก็พอจะลงกันได้ เช่นพระมหาอุปราชกำหนดพระยศใช้ฉัตร ๗ ชั้น แปลว่าจะใช้ได้ไม่เกิน ๗ ชั้น เจ้านายใช้ฉัตร ๕ ชั้น แปลว่าจะใช้ไม่เกิน ๕ ชั้นส่วนเกินขึ้นไปนั้น แม้โปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษจึงใช้ได้ มูลเดิมทีจะเป็นดังนี้

ธรรมเนียมไทยย่อมถือเอาฉัตรเป็นหลักอันใหญ่ แม้จะพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินก็อ้างเอาเศวตฉัตรเป็นที่ตั้ง หาได้อ้างเอามงกุฎไม่ ที่มาอ้างเอามงกุฎนั้นเป็นของใหม่เอาอย่างฝรั่ง เช่นมงกุฎราชกุมาร เป็นต้น ข้อนี้ได้กราบทูลด้วยปากแล้ว แต่เพื่อจะไม่ให้หายไปเสีย จึ่งกราบทูลด้วยหนังสือซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่ง

คำ “โหตร” เราก็รู้ ดังมีในสรรพสิทธิคำฉันท์ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “อัคนิโหตรจำรูญก็จำรัสชัชชุการ” คำ “โหม” เราก็รู้ ดังเรียกกันอยู่ว่า “โหมกูณฑ์” อันชื่อว่าโหรนั้น เห็นจะหดมาแต่คำ “โหรดาจารย์” ซึ่งหมายความว่าอาจารย์ผู้ทำโหตร

พระดำริในการนุ่งผ้างานศพนั้น รับรองว่าถูกต้อง การนุ่งดำนั้นน่าสงสัยมากว่าจะมีขึ้นเมื่อไร ถ้าจะพูดให้กว้างก็จะต้องว่ามีขึ้นไม่ก่อนรัชกาลที่ ๔ เป็นแน่นอน ในลายพระหัตถ์ตรัสพรรณนาถึงการแต่งตัวไปในงานศพนี้ ทรงใช้คำว่า “ทำเสื้อแสงปักลวดลายก็เพื่อทำให้สวย เป็นเหตุให้นึกได้ถึงคนสมัยใหม่ซึ่งใช้คำผิดที่ เช่น คำว่า “สวย” โบราณเห็นใช้แต่แก่คนอย่างหนึ่ง แก่ข้าวหุงอย่างหนึ่ง นึกได้สองอย่างเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ใช้กันกว้างออกไป เช่น บ้านสวย ต้นไม้สวย ภูเขาสวย ฟังขวางหูเต็มทน

เรื่องเพิ่มระบายพระกลดเป็น ๓ ชั้นขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้น ชอบมาพากลดีอยู่หนักหนา ฉัตรพระอภิรุมชุมสายเป็นระบาย ๒ ชั้นทั้งนั้น พวกฉัตรปรุต่างๆ มักทำกรวยชั้นเดียว แสดงว่าเป็นระบายชั้นเดียว

เรื่องที่ตรัสเล่าถึงชาวอินเดียมาเฝ้า แล้วทูลขอพรนั้น เขาทำโดยประเพณีเก่ามาก แต่ลดลาวาศอกลงมาเสียมากแล้ว เคยเห็นในหนังสือหิโตประเทศ หรือสริตสาครอะไรพวกนั้น กล่าวถึงผู้น้อยจะลาไปจากผู้ใหญ่มีบิดามารดาครูบาอาจารย์เป็นต้น ได้ทำการขอพรและให้พรแก่กัน แล้วผู้น้อยควักเอาฝุ่นที่ใต้เท้าของผู้ใหญ่ โรยบนหัวตนกระทำเป็นทักษิณสามรอบแล้วจึงไป อ่านทราบก็จับใจรู้สำนึกว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” นั้นเป็นการทำกันจริง ไม่ใช่แต่เป็นการกล่าวยกยอ

หนังราชาภิเษกพระเจ้ายอชที่ ๖ เกล้ากระหม่อมก็ตั้งใจคอยดูอยู่เหมือนกัน แต่เคราะห์ร้ายพลาดไขว้เขวไป เลยไม่ได้ดูจนแล้วจนรอด

เมื่อวันที่ ๗ นี้ มีการทำบุญเจ็ดวันครั้งที่ ๒ ที่พระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เกล้ากระหม่อมถือเอาโอกาสนั้นไปบูชาเยี่ยมพระศพเห็นพระศพตั้งบนตำหนักตรงที่ตั้งพระแท่นแต่ก่อน ประกอบพระลองกุดั่นใหญ่ ส่วนพระแท่นนั้นยกย้ายไปตั้งหว่างเสาห้องเบื้องซ้ายถัดที่ตั้งพระศพไป บนนั้นก็คงตั้งพระพุทธรูปอยู่ตามเดิม เลยเป็นที่บูชาประจำพระศพไปทีเดียว เว้นแต่ฉัตรนั้นถอนออก เพราะติดเพดานเฉลียงเตี้ยปักไม่ได้ ในงานวันนั้นมีกงเต็กด้วย จัดตั้งประกอบการพิธีในวิหารซึ่งตั้งอยู่หน้าตำหนัก ดูสง่างามดี แต่จะเป็นหามาหรือพระสงฆ์คณะอานัมนิกายจะแต่งมาช่วยก็หาได้ถามไม่ การทำบุญถวายวันนั้นเป็นของพระแต่จะเป็นของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ หรือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์หาทราบไม่ เห็นท่านนั่งคู่กันอยู่ในที่เป็นพระองค์ ถ้าว่าโดยลำดับก็จะต้องเป็นของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เพราะโดยลำดับท่านเป็นใหญ่กว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านอยากรู้ลักษณะพระลองซึ่งประกอบพระศพ ถามเกล้ากระหม่อมว่า กุดั่นใหญ่กับกุดั่นน้อยมีลักษณะผิดกันอย่างไร เกล้ากระหม่อมตอบท่านว่าเหมือนกันไม่ผิดกัน ท่านย้อนถามว่าก็เช่นนั้นทำไมจึงเรียกว่าใหญ่น้อย เกล้ากระหม่อมตอบว่า ใหญ่นั้นหมายถึงองค์ที่ทำขึ้นทรงพระศพพระพี่นางพระองค์ใหญ่ น้อยนั้นหมายถึงองค์ที่ทำขึ้นทรงพระศพพระพี่นางพระองค์น้อย เป็นของทำขึ้นคู่กันเหมือนกัน ควรจะเรียกแต่ว่ากุดั่นเท่านั้น ส่วนคำใหญ่น้อยควรจะเปนส่วนของเจ้าพนักงานอันจะพึงทำความเข้าใจแก่กันเท่านั้น มีเวลาได้สนทนากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์น้อยนัก ท่านบอกว่าท่านได้ออกมาเฝ้าฝ่าพระบาทที่ปีนัง ๓ วัน ดูเหมือนฝ่าพระบาทจะยังไม่พอพระทัย

ลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งลงวันที่ ๑ กันยายน ทรงพระเมตตาโปรดประทานรูปฉายไป ๒ รูปก็ได้รับประทานแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า รูปถ่ายที่รถไฟนั้นดีจริงๆ ดูดีทั้งพระรูปฝ่าพระบาท กับทั้งเกล้ากระหม่อมและแม่โตด้วย ส่วนรูปยืนคู่นั้นเสียอยู่ที่แบกกราวน์ เป็นลูกมะหวดโตๆ ขาวโพลนเข้ามาข่มเหงรูปภาพทำให้ดูไม่ดี เกล้ากระหม่อมได้พูดกับหญิงพิลัยแล้ว คิดว่าแก้ได้ ฝ่าพระบาทตรัสสั่งให้เซนชื่อในรูปนั้น แล้วนำไปถวายสมเด็จพระพันวัสสาก็ได้ตระเตรียมตามรับสั่ง แต่ครั้นเมื่อไปเฝ้าเข้าจริงลืมเสียฉิบ ไปได้ค่อนทางจึงนึกขึ้นได้ จะกลับไปเอาก็เห็นจะเสียเวลาหนัก ต่อกลับจากเฝ้าแล้วจึงแก้ไขเขียนหนังสือนำกำกับรูปเอาเข้าซองส่งไปถวาย ในการพลาดพลั้งทั้งนี้มีความผิด ขอประทานอภัยโทษ ความลืมนี้เข้าใจว่าเป็นบาทแห่งความหลง อันจะมีมาภายหน้า

ใช้คำว่า “รับประทาน” ในที่นี้ ทำให้นึกถึงพระดำรัสประชดของทูลกระหม่อมชายขึ้นมาได้ ตรัสว่าคำ “รับประทาน” นั้นก่อนนี้ใช้แต่คำต้นว่า “รับ” เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเอาคำปลายใช้แทนว่า “ทาน” ต่อไปในการภาคหน้าเห็นจะเปลี่ยนเอาคำกลางว่า “ประ” ใช้

ท่านผู้หญิงอรุณของเจ้าพระยาวรพงศ์เสียเสียแล้วเมื่อวันที่ ๘ นี้เป็นโรคแคนเซอในลำไส้ที่ใกล้ทวารหนัก เดิมหลงว่าเป็นโรคริดสีดวงงอก ต่อแก่เข้าจึงทราบว่าเป็นโรคแคนเซอ อันเป็นโรคเยียวยาไม่ได้ ถึงกาละก็ล่วงไป ได้ประกอบการรดน้ำศพเมื่อวันที่ ๙ ได้พระราชทานโกศตั้งเหนือแว่นฟ้า ๒ ชั้น ประกอบลองราชินิกุล มีฉัตรเบญจาตั้งสี่คัน

ไปรดน้ำศพท่านผู้หญิงวรพงศ์ พบพระยาราชโกษาซึ่งถูกรถยนต์ชนขาหัก รักษาตัวหาย ไปในงานนั้นได้ แต่ดูยังเดินพล่องแพล่งเต็มที

พระเจนจีนอักษรเอาเงินเบี้ยบำนาญซึ่งเบิกได้มาให้ ปรารภคิดจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาทสักครั้งหนึ่ง แต่คิดหยั่งหน้าหลังว่าจะต้องเสียเงินมากเกินกำลัง เกล้ากระหม่อมก็รับรองกับแกว่าจะช่วยอุดหนุนบ้าง

เกล้ากระหม่อมได้ส่งรูปมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งเขาทำหลังคาใหม่ด้วยคองกรีตมาถวายทอดพระเนตร ตามที่มีพระทัยใคร่จะทรงทราบว่าทำเป็นประการใดรวม ๓ รูปด้วยกัน พระพรหมพิจิตรผู้ออกแบบเขาเอามาให้ เข้าใจว่าถ่ายทำตามรูปหลังคาเก่า เว้นแต่กะเปาะกลางเข้าใจว่าได้แก้ตัดให้ยื่นออกมาน้อยลง ด้วยเคยได้ยินเขาบ่นติหลังคาเก่า ว่ากะเปาะกลางยื่นออกมานากนัก ทำให้เสียทรง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ