วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ได้รับแล้ว

พระดำริวินิจฉัยคำ ขุน นั้นดี ได้ตรองหาข้อค้านก็ไม่พบ พบแต่ข้อไขในศัพท์ซึ่งเกิดความเห็นขึ้น แต่จะผิดหรือถูกก็ย่อมเป็นไปโดยธรรมดาแห่งความเห็น แม้จะปล่อยความเห็นให้ผ่านไปก็จะหายเสีย จึงจะกราบทูลไว้ให้ทรงทราบ อย่างน้อยก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทรงพิจารณาเล่น

จักรพรรดิ กับ ราชาธิราช ดูจะมีความเป็นไปอย่างเดียวกัน คือเป็นใหญ่เหนือราชาสามัญ ที่ใช้ติดกันว่า จักรพรรดิราชาธิราช ก็มี อันคำจักรพรรดินั้นมืดมัว จะต้องมีผู้ถามกันมาก จึ่งมีคำอาจารย์อธิบายไปต่างๆ หนังสือทางสํสกฤตอธิบายว่า พระราชาองค์ใดมีกำลังมากอยากเป็นจักรพรรดิก็จัดม้าผูกเครื่องเปล่าปล่อยไป (ในเรื่องรามเกียรติ์ เรียกว่าม้าอุปการ) อุทิศถวายให้พระเป็นเจ้า (องค์ไหนก็ไม่ทราบ) ซึ่งไม่เห็นพระองค์ทรง แล้วพระราชาผู้อยากเป็นจักรพรรดิก็ยกทัพตามม้าไป ด้วยหวังว่าพระเป็นเจ้าซึ่งทรงม้านำทัพเห็นควรจะตีเมืองไหนก็จะทรงม้านำทัพไป (แต่ในเรื่องรามเกียรติ์มีแต่แต่งให้หนุมานทหารเอกตามไปคนเดียว) เมื่อม้านำทัพเข้าถึงเมืองไหนก็รบกับเมืองนั้น อันความแพ้ชนะนั้นเป็นของธรรมดา ถ้าแพ้ก็เป็นอันเสียพิธีทำไม่สำเร็จ ถ้าชนะก็เป็นพิธีสำเร็จ ได้บ้านเมืองอันมีพระราชาครองมาอยู่ใต้อำนาจ เมื่อตีเมืองได้โดยรอบจนกลับถึงพระนครแห่งพระองค์ จึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้อธิบายความข้อนี้หมายเอาคำจักร ว่าเป็นล้อรถ ซึ่งพระราชาองค์นั้นทรงคุมทัพไปเที่ยวตีบ้านเมือง ครั้นกลับถึงพระนครแล้วก็ฆ่าม้าบูชายัญถวายพระเป็นเจ้า เรียกว่าพิธีอัศวเมธ แล้วเอาล้อรถประดิษฐานไว้ที่ประตูวัง เป็นที่หมายว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าถือเอานัยนี้ คำจักรพรรดิ ควรจะใช้แต่แก่พระราชาองค์ที่เที่ยวตีบ้านเมืองได้มาไว้ใต้อำนาจ พระราชาองค์ที่รับรัชทายาทต่อไปควรจะใช้ได้แต่คำราชาธิราช จะใช้คำจักรพรรดิหาควรไม่

ขุนหลวงคำนี้ เห็นตรงกับคำมหาราชา ควรจะเป็นอันเดียวกับคำจักรพรรดิ หรือราชาธิราชนั้นเอง

พระ พญา เพี้ย (ของไทย) ห๎วา (ของเขมร เช่น ห๎วาทลหะ) และ พ๎วา หรือ ภ๎วา (ของพม่า) เข้าใจว่าตั้งใจจะเขียนคำว่า ฟ้า หากหนังสือของตนไม่มีตัวจะเขียนจึงต้องผสมตัวขึ้นเขียน ต่อมาก็หลงว่าตัว พ ซึ่งนำหน้า ญา เป็น พระ จึงเขียนพระญา แล้วก็เห็นว่าเขียนผิด ควรจะเป็น พระยา แต่ที่จริงก็ไม่ได้ความอะไรทั้งนั้น ที่เขียน พ เป็น พระ นั้นไม่ประหลาด ก เป็น กระ ป เป็น ประ มีถมไป

เถ้า และ ท้าว เห็นว่าเป็นคำเดียวกับ เจ้า นั้นเอง หากออกสำเนียงต่างกันไปด้วยต่างประเทศกัน คำว่า เจ้า ไม่ใช่ Prince หมายความว่าผู้เป็นใหญ่เท่านั้น มีอย่างอยู่เช่น เจ้าทรัพย์ เจ้าสำนัก เจ้ามือ เป็นต้น จีนเรียกเจ้ามือก็ว่า เถา คือ เถ้านั้นเอง คำว่า เถ้าแก่ คิดว่าจะหมายว่า เจ้าแก่จึงมีอำนาจคุมเจ้าสาวคือนางในออกนอกวังได้ ถ้าคำ เถ้า แปลว่า แก่ ก็ไปซ้ำกับคำ แก่ ข้างหลัง เป็น แก่แก่ ซ้อนกัน จะได้ความอย่างไร สมัยนี้เขียนเป็น เฒ่าแก่ เห็นว่าผิดถึงสองชั้น ฒ ตัวนี้สำหรับเขียนภาษาบาลี ไม่มีที่ใช้ในภาษาไทย ท่านผู้ที่ตั้งชื่อว่า ฒ ผู้เถ้า นั้น ท่านหมายถึงคำใช้ในภาษาบาลีว่า พฤฒา เอามาเขียนคำไทยเป็น เฒ่า นั้น เห็นเป็นผิดชั้นหนึ่งแล้ว และที่เข้าใจคำ เถ้า ว่า แก่ จนกระทั่งเขียน เถ้า เฒ่า แก่แก่ ซ้อนกัน นั่นก็เป็นเข้าใจผิดอีกชั้นหนึ่ง

เรื่องหลักเมือง ได้ตรองตามพระดำริซึ่งตรัสประทานไปนั้นแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ได้เห็นหลักเมืองที่นางรองมา เขาทำด้วยศิลารูปเหมือนเห็ด ที่หัวเห็ดมีหนังสือจารึกวนไป ดูเหมือนสองบรรทัด ลักษณะเป็นหนังสือขอม แต่ไม่มีเพียรไม่มีเวลาที่จะตะบอยอยู่อ่านเอา ความเลยไม่ทราบว่าเขาจารึกไว้ว่ากระไร เมื่อได้เห็นหลักนั้นทำรูปเหมือนเห็ดก็พาให้นึกไปถึงเห็ดโคน โคน เห็นจะแปลว่าเสา ว่าหลัก ตัวอย่างเช่นคำ เสาประโคน (ประ เป็นคำนำเข้าไปให้ฟังพริ้งเพริศ เช่น จบ เป็นประจบ จวบ เป็น ประจวบ ชุม เป็นประชุม เป็นต้น) ถ้าสันนิษฐานถูกว่าเห็ดโคนหมายความว่ารูปเหมือนเสาหลักแล้ว หลักเมืองจะต้องมีรูปเหมือนกับเห็ดโคนเป็นแบบมาแต่เก่าก่อนทีเดียว ในเรื่องหลักเมือง เกล้ากระหม่อมได้เอาใจใส่ดูมาหลายเมืองแล้ว พบแต่หลักไม้ทำใหม่ๆ ชั้นกรุงเทพฯ มียอดเป็นเม็ดทรงมัณฑ์ อย่างไรก็ดีที่เข้าใจเอาเจว็ดฉลักรูปเทวดาเป็นหลักเมืองนั้นเข้าใจผิดแน่ ตามที่ตรัสบอกว่าหลักเมืองเรียกกันว่า โดรณบ้าง ขีละบ้าง อินทขีลบ้างนั้น ได้เปิดพจนานุกรมของอาจารย์จิลเดอรส์สอบดู เห็นคำโดรณนั้นไกลมาก ขีลค่อยใกล้เข้าไปหน่อย อินทขีลเป็นใกล้มากที่สุด แต่ก็ไม่ตรงนั้น ชะรอยหลักเมืองในมคธราษฎร์จะไม่มี จึงไม่มีคำมคธที่จะพึงหยิบยกเอามาเรียกหลักเมืองของเราให้ตรงได้

เมื่อร่างหนังสือนี้มาถึงเพียงนี้ก็หยุดพักไว้ ไปวัดเทพศิรินทร์เยี่ยมพระแอ๊ว และเข้าหาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เล่าให้ท่านฟังถึงที่ฝ่าพระบาทตรัสบอก ว่าทางเชียงใหม่เขาเรียกหลักเมืองว่าหลักอินทขีล ศัพท์นี้มีในมหาสมยสูตต์ว่า อินทฺขีลํ โอหจฺจมเนชา ถามท่านว่าแปลว่ากระไร ท่านบอกว่าศัพท์อินทขีล อาจารย์สอนไว้ให้แปลว่า ตาปูพระอินท์ เกล้ากระหม่อมสะดุ้ง และออกอุทานอันไม่เป็นภาษาคน ทำให้ท่านตกใจถามหาเหตุ จึงได้ชี้แจงให้ท่านทราบว่า ได้ไปเห็นหลักเมืองนางรอง ทำไว้เป็นรูปตาปูหัวเห็ดตรงกับที่ท่านแปลนี้ ท่านบอกว่าท่านก็ได้เห็นพิพิธภัณฑ์สถาน ทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ดเหมือนกัน เข้าใจว่าหลักที่ท่านกล่าวถึงนี้เป็นหลักเมืองศรีเทพ ตามที่ฝ่าพระบาทตรัสบอกว่าทรงนำเอาลงมาไว้ แล้วถามท่านว่า ทำไมจึงทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด จักแหล่นจะจำนน แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ จึงให้ความเห็นแก่ท่านว่า เดิมทีหลักเก่าจะทำด้วยไม้ เวลาปักใช้วิธีตอกหัวหลัก ทำให้หัวหลักยู่เยินบานดุจตาปูหัวเห็ด แล้วก็เป็นธรรมเนียมมา แม้ทำด้วยหินก็ยังทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด ท่านเห็นชอบด้วย ท่านอธิบายว่าท่านเรียนพบศัพท์อินทขีลใช้ในที่กล่าวถึงอวิชชา ว่าตาปูพระอินท์ปักขัดหัวใจเสีย ไม่ให้คิดเห็นสิ่งที่จริงที่ชอบ

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๖ กันยายน โปรดประทานจดหมายบันทึกของนายเซียวฮั่น บอกราคาพจนานุกรมของอาจารย์โมเนีย วิลเลียมส์ไป ได้รับประทานแล้ว ขอประทานโทษที่ไม่ได้กราบทูลเรื่องพจนานุกรมนั้นให้เข้าพระทัยแจ่มแจ้ง สาเหตุเกิดแต่ทูลกระหม่อมชายทรงเรียนภาษาชวามลายู ได้ทรงพบคำซึ่งคาบเกี่ยวเข้าไปถึงเมืองไทย เช่นคำ ข้าวบุหรี่ ภาษาชวาก็มีเรียก กะบุลี ทำให้จับพระทัยถึงได้ทรงจดจำเหล่านั้นไว้เป็นบัญชีฉบับหนึ่ง ตรัสสัญญาแก่เกล้ากระหม่อมว่าจะคัดประทานฉบับหนึ่ง เกล้ากระหม่อมก็ยินดีที่จะได้รับประทาน เพราะใฝ่ใจอยู่ในคำต่างๆ มาก และคำไทย คำชวามลายูนั้นย่อมคลุกคละปะปนอยู่กับภาษาบาลี สํสกฤต แยกไม่ออก บรรดาคำที่เกี่ยวกับคำบาลี ทูลกระหม่อมชายท่านมีพจนานุกรมของอาจารย์จิลเดอรส์อยู่ที่จะทรงสอบได้ แต่พจนานุกรมทางภาษาสํสกฤตของท่านไม่มีที่จะใช้สอบสวน เกล้ากระหม่อมจึงคิดจะหาถวายอุดหนุนไปสักฉบับหนึ่ง อันพจนานุกรมภาษาสํสกฤตนั้นมีของอาจารย์ต่างๆ อยู่หลายฉบับ เกล้ากระหม่อมได้ดูแล้วหลายฉบับ เห็นสู้ฉบับของอาจารย์โมเนียวิลเลียมส์ไม่ได้ทั้งนั้น ที่ว่าสู้ไม่ได้ก็เพราะฉบับของอาจารย์โมเนียวิลเลียมส์มีคำอธิบายยาว ทำให้เราได้ความรู้มากกว่าฉบับอื่น จึ่งคิดจะหาฉบับนั้นถวาย แต่ได้ทราบตามที่บัณฑิตเขาเคยสั่งซื้อกันที่ร้ายขายหนังสือในกรุงเทพ ฯ ถูกเรียกเอาราคาตั้ง ๘๐ บาท เห็นว่าแพงเกินควร จึ่งกราบทูลมาขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง ให้ลองตรัสถามนายเซียวฮั่น ก็ได้รับลายพระหัตถ์โดยพระกรุณาตรัสบอกราคา ตามคัตตาลอกว่า ๓๗ ชิลลิง ๖ เปนส์ คิดเป็นเงินไทยตกเล่มละราว ๒๐ ๑/๒ บาท เป็นราคาย่อมเยามาก ดีใจก็ดีใจ แต่ก็สงสัยอยู่ว่าจะมีอะไรพลั้งพลาด ต่อมาเมล์หลัง จึงได้รับลายพระหัตถ์ประทานจดหมายบันทึกของนายเซียวฮั่นบอกราคาว่า ๓ ปอนด์ ๑๓ ชิลลิง ๖ เปนส์ คิดเป็นเงินไทยตกราวเล่มละ ๔๐ บาท สูงขึ้นไปราวสองเท่า แม้กระนั้นก็ดี ยังเป็นราคาที่เยาว์กว่าจะสั่งซื้อที่ร้านในกรุงเทพฯ ตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอได้โปรดสั่งให้เขาซื้อมาเถิด แต่ต้องเข้าใจกันเป็นอย่างดี ด้วยหนังสือนั้นมีคู่ เป็นสํสกฤตแปลเป็นอังกฤษฉบับ ๑ อังกฤษแปลเป็นสํสกฤตฉบับ ๑ ที่ต้องการนี้ต้องการฉบับที่แปลสํสกฤตเป็นอังกฤษเล่มเดียว เพราะมีธุระจะรู้ทางแปลคำสํสกฤต ไม่ใช่ธุระที่จะหาคำสํสกฤต ในการที่ทรงพระเมตตาโปรดอนุญาตให้เรียกฉบับที่วังวรดิศมาใช้พลางนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าแล้ว แต่เกล้ากระหม่อมมีใช้อยู่แล้ว ที่หาอีกฉบับหนึ่งนี้เพื่อจะถวายทูลกระหม่อมชาย

เรื่องซ่อมวัดเก่าในมณฑลพายัพ ตามที่ตรัสบอกข่าวไปให้ทราบนั้น ดูการก็ได้อำนวยไปดีแล้ว เหมือนในเมืองเขมร เช่น วัดโลไลย (เขียน ลไลย แต่เขมรเขาอ่าน ล ว่าโล) กับวัดภูมปราสาท ที่นั้นเขายอมให้สร้างกุฎีโบสถ์วิหารตามใจใหม่เอี่ยมหมด ห้ามแต่ไม่ให้ซ่อมปรางค์ปราสาทซึ่งเป็นของเก่าเท่านั้น ดูก็ลงรอยกับที่เขาทำกันมาดีแล้ว

พระแอ๊วฉวยเวลามาปีนังได้ในวันออกวรรษา ให้ฝ่าพระบาทได้ฉลองตามพระทัยปรารถนาแล้ว กลับทันวันเวลารับกฐินเสด็จพระราชดำเนิน แล้วสึกไปรายงานตัวที่กระทรวงกลาโหมได้ทันวันกำหนดสิ้นเดือน ได้โชคดีอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปเลย น่ายินดี ขออนุโมทนาด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ