วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงสุนทรภู่ คิดคะเนดูท่านผู้นั้น ทั้งเนื้อทั้งตัวจะมีดีอยู่ที่ฝีปากเท่านั้น ความประพฤติเห็นจะเต็มที เป็นอย่างคุ้มครองตัวเองไม่ได้ จะอยู่ได้ก็แต่อาศัยพึ่งบุญผู้มีบุญ ด้วยคนเกรงบุญของท่านผู้มีบุญ ไม่กล้าทำอะไรแก่สุนทรภู่ได้ ผู้มีบุญพอใจที่จะปกครองไว้ก็เพราะมีฝีปากดีเท่านั้นเอง

ในลายพระหัตถ์ตรัสเล่า ถึงการที่เขาตั้งเครื่องมหัครภัณฑ์อวดกันที่ต่างประเทศตามที่ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นมาโดยพิสดาร เชื่อว่าพระดำรัสถึงเรื่องนั้นโดยทรงพระปรารภมาแต่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเราจะจัดอวดแก่เขาบ้างเป็นเหตุ จึงจะกราบทูลความเป็นไปในเรื่องนั้นให้ทราบฝ่าพระบาทเท่าที่รู้มา การอวดมหัครภัณฑ์นั้นเป็นความคิดของสมาชิกแห่งกรรมการ อันเป็นผู้อยู่นอกพระราชฐาน ซึ่งในบัดนี้ในพระราชฐานดำเนินการด้วยคณะกรรมการ ข้าราชการในพระราชฐานจะได้ริขึ้นเพื่อเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านเหมือนหนังสือพิมพ์ว่านั้นหามิได้ ในการนี้คิดกันมานานแล้ว จะเป็นเมื่อไรนั้นไม่ได้ใส่ใจจำ แต่ไม่ใช่ในปีนี้ ถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ยินว่ามีอะไรดำเนินไปเลย

เรื่องทองคำหุ้มยอดพระมหาธาตุเมืองไชยาหายนั้น ได้ทราบแล้วจากหนังสือพิมพ์เขาลงข่าว จะกราบทูลต่อไปถึงความกระทบกระเทือนใจเห็นเป็นของประหลาดอยู่หนักหนา ทูลกระหม่อมชายตรัสเล่าว่า ได้ทรงหนังสือของศาสตราจารย์โกรเนมันแต่ง แกกล่าวยกย่องโบโรบุดูร์ ว่าเป็นโบราณวัตถุสถานอันดีที่หนึ่งในตะวันออก พระนครวัดก็สู้ไม่ได้ เกล้ากระหม่อมรู้สึกว่าเป็นความเห็นที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่เห็นพ้องด้วยเลยต้องถือหางพระนครวัดวันยังค่ำ เพราะแต่พอไปเห็นเข้าก็กระทบกระเทือนใจจนขนหัวลุก แต่ไปเห็นโบโรบุดูร์ขนหัวไม่ลุก จะว่าเป็นด้วยพระนครวัดเป็นของกว้างใหญ่หน้าตื่นเต้นก็เห็นหาใช่ไม่ เพราะเมื่อไปเห็นพระมหาธาตุเมืองไชยานี้เข้า องค์นิดเดียวก็ทำให้ขนหัวลุกได้เหมือนกัน มิใช่ตื่นที่ยอดหุ้มทองคำแต่ตื่นอะไรก็แปลไม่ออกเลย

ศาสตราจารย์ โกรเนมันแกบ่นว่า ทำไมช่างชวาจึงทำสถานมืดหนักเป็นต้นว่าปราสาทเมนดุต หากว่าหลังคามุขหน้าไม่มีเพราะพังเสียแล้ว เมื่อหลังคายังมีในปราสาทคงจะมืดเกือบไม่เห็นอะไรเลย มองสิเออมาชาลก็มาบ่นว่า มีปราสาทในเมืองเขมรที่เตี้ยเล็กจนช่องประตูแม้คนจะเข้าก็ต้องมุดคลานเข้าไป ทำไว้ทำไมกัน ท่านทั้งสองนั้นต่างไม่เข้าใจ แต่เกล้ากระหม่อมพอจะคิดเห็นแปลได้ เพราะชาวตะวันออกเรากับชาวตะวันตก ปฏิบัติต่อรูปศักดิ์สิทธิ์ผิดกัน พวกเราชาวตะวันออกเดินทางซ่อนรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้เห็น แม้จะเปิดให้ได้เห็นบ้างลางเวลาก็ให้เห็นแต่มัวๆ คลับคล้ายคลับคลา เป็นทางช่วยให้รู้สึกศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น จึ่งเก็บไว้ในที่เล็กมืดให้รู้สึกน่ากลัวเมื่อได้เห็นรัวๆ ส่วนทางชาวตะวันตกนั้น เขาเดินทางตกแต่งรูปศักดิ์สิทธิ์ให้สุกใสงดงาม ทำความปิติให้บังเกิด แล้วก็เลื่อมใสพาใจให้นับถือได้เหมือนกัน เพราะเหตุที่เดินอยู่คนละทางอย่างนั้น ท่านศาสตราจารย์เป็นชาวตะวันตกจึงไม่เข้าใจในทางข้างตะวันออกของเรา

เรื่องทรงพระวิจารณ์ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ นั้นเป็นของแห้ง ทรงมีเวลาว่างเมื่อไรก็ค่อยทำไป ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งรัดถึงมีกำหนดวันที่ต้องให้แล้ว หนังสือฉบับนั้นมิใช่ไม่เคยอ่าน แต่เป็นธรรมดาการอ่านหนังสือที่เป็นแก่นสาร แม้อ่านหนแรกก็ได้ความรู้อะไรตามสมควร ใช่ว่าอ่านอีกหนที่สองที่สามจะเปล่าจากประโยชน์ก็หาไม่ ย่อมได้ความรู้อะไรใหม่เพิ่มขึ้นทุกที อ่านคราวนี้ก็ได้ความรู้อะไรอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่าเทียนประจำกัณฑ์ เราเข้าใจกันเดี๋ยวนี้เป็นว่าเทียนที่ติดเงิน แต่ในหนังสือนั้นมีทรงจุดเทียนประจำกัณฑ์นั้นด้วย เห็นไปได้แก่เทียนดูหนังสือ ส่วนเทียนชะนวนเรียกว่าเทียนฉลองพระหัตถ์ สมควรอย่างยิ่ง

ที่กรุงเทพฯ ขณะนี้มีงานมาก ส่วนทางราชการ ณ วันที่ ๑๐ มีเปิดสภาผู้แทนราษฎร และ ณ วันที่ ๑๑ ที่ ๑๒ มีพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ รายละเอียดแจ้งอยู่ในหมายกำหนดการ ซึ่งได้ถวายมาเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยนี้แล้ว ส่วนทางนอกราชการจัดการฉลองที่ท้องสนามหลวง และจัดมี “แฟ” ที่สวนสราญรมย์ นอกจากจัดในสวนแล้ว ยังปิดถนนอีกสองสายคือถนนสนามชัย แต่ที่ต่อกับถนนท้ายวังไปถึงที่ต่อกับถนนบำรุงเมือง รายละเอียดเป็นอย่างไรเกล้ากระหม่อมจะพรรณนาถวายไม่ได้ถี่ถ้วนเท่าหนังสือพิมพ์ ซึ่งคงจะได้ทอดพระเนตรทราบฝ่าพระบาทดีแล้ว จับมีงานตั้งแต่วันที่ ๘ และต่อไปเป็นงานกี่วันก็ลืมเสียแล้ว แจ้งอยู่ในหนังสือพิมพ์

จะกราบทูลข่าวให้ทรงทราบว่าตางั่วสึกออกมาเสียแล้ว แต่วันที่ ๕ เดือนนี้ เสียดายเหลือเกิน เธอคงจะมีหนังสือมาถวายพระกุศลแด่ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. คือ Fair

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ