วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ได้รับประทานด้วยดีแล้ว ลายพระหัตถ์ปิดสแตมป์ที่ระลึกการราชาภิเษกพระเจ้ายอชที่ ๖ ของเสตรตร เสตลเมนตส์ มาลายา ราคา ๑๒ เซนต์ เห็นผูกดีโปร่งงามพอใจ ทำให้อยากได้ครบทุกอย่างที่มีออกแม้ไม่เป็นการลำบาก จะทรงพระเมตตาโปรดหาส่งประทานไปให้ครบทั้งชุด ก็จะเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ประหลาดใจที่ทรงจำรูปชนช้างในวัดบวรสถานได้ถี่ถ้วนเท่าช่างเขียนผู้ที่มีใจใฝ่อยู่ในวิชา จะเล่าเรื่องอันน่าสมเพชถวาย ในกาลก่อนคราวหนึ่ง เกล้ากระหม่อมนัดกำหนดกับกรมหมื่นวรวัฒน์ ถึงวันอาทิตย์แล้ว พากันลงเรือเล็กเอาข้าวปลาใส่เรือให้บ่าวมันแจวไปตามแม่น้ำลำคลองไม่มีที่หมายว่าจะไปไหน เห็นวัดไหนชอบมาพากลก็แวะขึ้นเที่ยวค้นหาว่าจะมีอะไรดูบ้าง ถึงเวลากลางวันก็เลยกินข้าวเสียด้วย ในการเที่ยวไปอย่างนั้น บางคราวก็ได้พบของดีของแปลกอันพึงจำเป็นครูมาเพิ่มความรู้ได้ มีพวกช่างหลายคนที่รู้ความข้อนั้นขึ้นแต่เราพูดกัน จึงมาขอตามไปเที่ยวด้วยโดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนบ้าง เราก็อนุญาตให้ไปด้วย ครั้นเมื่อขึ้นไปดูก็ต่างคนต่างดูไม่ค่อยได้พูดอะไรกัน เพราะพะวงอยู่ในการดู ต่อกลับลงเรือแจวต่อไปเป็นเวลาว่างเปล่า เกล้ากระหม่อมกับกรมหมื่นวรวัฒน์จึงพูดกัน พูดถึงสิ่งนั้นดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนั้นตามที่ขึ้นเห็นมา แต่ช่างที่ไปด้วยแลดูตาค้างไม่พูดเข้ากุมปนีด้วย ได้ถามเขาว่าเห็นไหมก็บอกว่าไม่เห็น ให้นึกอ่อนใจว่านี้จะไปเที่ยวดูให้เสียเวลาทำไม

ข้อที่ทรงสันนิษฐานการปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานผิดนั้น ผิดแต่เวลาอ่อนแก่ หาเป็นการสำคัญไม่ แต่ทูลกระหม่อม พระองค์เป็นผู้ทรงพระราชดำริปฏิสังขรณ์เพื่อตั้งพระพุทธสิหิงค์นั้น ไม่มีข้อสงสัยว่าจะผิดไปเลย ชัอสงสัยไปมีอยู่ที่กรมศักดิ์ทรงสร้างวัดบวรสถานนั้นขึ้น มีพระประสงค์จะทรงตั้งอะไรเป็นประธานที่ในนั้น พระยืนที่ทรงสร้างก็เห็นว่าขวางหนักที่จะตั้งเป็นประธานได้

ติดใจรูปเขียนในวัดบวรสถานอยู่อีกห้องหนึ่ง เห็นว่าดีล้ำเลิศกว่าที่เคยเห็นมา เขียนเป็นรูปกำลังทิ้งผลกัลปพฤกษ์ มีคนตั้งร้อยตั้งพันโก้งโค้งโก้งขวิดแย่งกันเป็นกลุ่มๆ ไม่ได้เขียนให้เห็นลูกมะนาว แต่รู้ได้ว่าลูกมะนาวตกลงที่ตรงไหน เพราะมีรูปคนรุมกันเข้าไปที่ตรงนั้นเป็นวงๆ ที่ใกล้ต้นกัลปพฤกษ์มีคนอย่างเยียดยัดห่างออกมาค่อยบางเบาลงทีละน้อย ดูเห็นเหมือนจริงอย่างที่สุด ไม่เคยเห็นฝีมือช่างผู้นี้ที่ไหนมาก่อนเลย กรมหมื่นวรวัฒน์บอกว่าชื่อนายมั่นเป็นคนของเจ้าฟ้า ปกติของช่างเขียนมักขี้เกียจ ทำเพียงสุกเอาเผากินเป็นพื้น เขียนแต่ตัวที่เป็นเนื้อเรื่องอันจะหลบหนีไปเสียไม่ได้เท่านั้น ถ้าเนื้อเรื่องมีตัวน้อยก็ทำแต่พื้นที่ว่างไว้ เสียไม่ได้ที่ตั้งสองศอกก็เขียนคนใส่ลงไปสักสองสามคน รูปที่เขียนใส่ลงไปนั้นก็ไม่ได้คิดให้ทำอะไร กรมหมื่นวรวัฒน์เคยค่อนว่านี่เขียนคนบ้าคนใบ้ไว้ทั้งนั้น ไม่พูดกันไม่ดูกัน ไม่ทำอะไร นั่งยืนเหม่อๆ ไปตามบุญตามกรรม จริงอย่างนั้น แต่ของนายมั่นหาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงได้เห็นว่าดีนัก

ช่างที่หมั่นเขียนภาพนอกเรื่องมากมาย ประกอบด้วยความคิดลางทีก็มีบ้าง เหมือนเมื่อครั้งซ่อมวัดพระแก้วคราวร้อยปี เกล้ากระหม่อมกำลังหนุ่มรักการช่างเป็นชีวิตจิตใจ มีหน้าที่เป็นนายด้านซ่อมหอพระคันธารราษฎร์อยู่ด้วย เมื่อไปดูงานแล้วก็ออกเดินดูเขา เขาเขียนกันรอบพระระเบียง ในการไปเที่ยวเดินดูนั้น มักลากเอากรมหมื่นวรวัฒน์ ซึ่งท่านไปรับเขียนห้องพระระเบียงถวายอยู่นั้นไปด้วย ไปเห็นช่างคนหนึ่งชื่อนายอยู่ มีคนนับถือเรียกกันว่าครูอยู่ก็มี เห็นจะส่งเดชให้สมกับที่เป็นครูเขียนภาพตีนห้องมากมาย เป็นรูปช้างน้ำมันไล่คน คนแตกหนีล้มลุกคลุกคลานผ้านุ่งห่มหลุดหลุ่ย นุ่งไม่รู้จักแน่นตามเคย ผู้ชายหกล้มจมทับผู้หญิง สกปรกเหลือทน เกล้ากระหม่อมเห็นไม่ไหว แต่ไม่กล้าพูด เพราะรู้ตัวว่าเป็นเด็ก กรมหมื่นวรวัฒน์อดไม่ได้ถามว่า ที่เขียนนี่นะได้นึกหรือเปล่าว่าเมื่องานเสร็จแล้ว ในหลวงจะต้องเสด็จมาทอดพระเนตรตรวจงาน ลางทีจะมีข้างในตามเสด็จออกด้วย เมื่อท่านเห็นรูปนี้เข้า ท่านจะว่ากะไรบ้าง ตาอยู่ได้ฟังตกใจมาก ว่าจริงทีเดียว เกล้ากระหม่อมไม่ทันคิด ต่อมาอีกสองสามวันไปดูเห็นลบหมด เขียนคนใบ้คนบ้าไว้สองสามตัวตามเคย

ทีนี้จะกราบทูลความเห็นเรื่องพระคชาธาร ฉัตรก็คือร่ม เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง ร่มเป็นเครื่องประจำยศ พร้อมด้วยบังสูริย์พัดโบก ยศน้อยลงก็ลดลงเป็นชั้นๆ ฉัตรหลังพระคชาธาร แม้ถูกชนปังเดียวก็จะต้องหักสะบั้นลงมาเป็นแน่ เศวตฉัตรจะเป็นร่มขาว ซึ่งพนักงานเดินดินจะเชิญเอางานถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่เหนือคอช้างจะได้หรือไม่ เห็นจะไม่สูงกว่าประทับพระที่นั่งพุดตานในการแห่พยุหยาตราไปมากนัก อนึ่งคนกลางช้างที่นั่งบนหลังช้างเปล่าไม่ได้นั่งสัปคับแบบแผนก็มี แม้ช้างพระที่นั่งกลางช้างจะนั่งบนหลังเปล่า คอยส่งพระแสงถวายผลัดเปลี่ยนในเวลาอันจำเป็น และรับสั่งให้สัญญาหางนกยูง จะเป็นอันสำเร็จประโยชน์ได้หรือไม่ อาวุธอันจะพึงใช้ในการรบซึ่งจะนำไปบนหลังช้างจะเตรียมทำที่สอดใส่ไปอย่างไรก็ได้ ในตำราเพชรพวงก็มี สั่งชาวแสงให้เชิญพระแสงปืนพระแสงดาบ ไปสอดไปผูกไว้ข้างและหลังเบาะที่ประทับ (เหนือคอช้าง) นั้นเอง อีกประการหนึ่งเห็นรูปสัปคับรถ ซึ่งเขมรฉลักไว้ที่พระระเบียงพระนครวัดดูเตี้ยๆ พื้นสัปคับเห็นจะไล่เรี่ยกับกระดูกสันหลังช้าง คนรบที่ขี่ช้างทำเท้าหน้าเหยียบบนสัปคับ เท้าหลังเหยียบอยู่ท้ายช้างก็มี สัปคับเตี้ยพอทำได้อย่างนั้น อีกอย่างหนึ่งเคยเห็นของลาว เจ้าพระยาสุรศักดิ์เอามาสานด้วยหวายทำเป็นสองซีก มีห่วงผูกติดกันเรียกว่า วอง ในนั้นไม่เห็นมีพื้น จะเอาแต่เบาะยัดลงไปหรืออย่างไรไม่ทราบ ถ้าผูกวองชนิดนั้นให้กลางช้างนั่งเห็นพอจะไปได้ไม่บังตาคนท้าย และแม้จะถูกชนสักทีสองทีก็เห็นจะมิพอเป็นไร แต่ถ้าพื้นตั้งบนหย่องขนไปสูงโงนเงนอยู่่บนหลังช้างแล้วปักเศวตฉัตร คนให้สัญญานั่งเปลอย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ ถูกชนโครมเดียวเป็นหกคะเมนม้วนต้วนลงมาหมดเป็นแน่แท้

ตั้งใจว่าจะทูลถามแต่แล้วก็ลืมไป พระดำริที่ว่าไปงานศพควรจะไปแต่งขาวดำแต่ที่อยู่ในวงเจ็ดชั่วโคตรนั้น ถ้านอกออกไปจากเจ็ดชั่วโคตร ทรงพระดำริเห็นว่าควรจะแต่งอย่างไร นึกถึงที่เคยได้ยินมาว่า แต่ก่อนไปงานศพนุ่งสีกุหร่ากันก็มี พระยาอนุมานเคยสงสัยถามมาว่า พระมาลาสีกุหร่านั้นเป็นสีอย่างไร เกล้ากระหม่อมก็บอกไปตามที่เคยเห็นว่าเป็นสีเทาเจือแดง แกย้อนบอกมาว่า พราหมณ์ศาสตรีบอกว่าดำ กุหร่ามีในภาษาทมิฬ แปลว่าหมวก ไม่เป็นสี ไขว้เขวกันไปชอบกลดี

ลืมกราบทูลแสดงความเสียใจไป เห็นในหนังสือพิมพ์เขาลงว่ากุมภกรรณตกกะไดอะไรที่ไหนแขนหัก ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาล น่าสงสารอ้วนโตจนทรงตัวไม่ใคร่ได้

องค์ธานีกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เอาหนังสือรามเกียรติซึ่งทำที่เมืองชะวาเข้าไปฝากเล่มหนึ่ง หนังสือนั้นแบ่งเป็นสามตอน ตอนที่ ๑ เป็นหนังสือเล่าเรื่องรามเกียรติโดยย่อ ตอนที่ ๒ เป็นรูปฉลักศิลาที่สถานปรัมบานั้น อันเคยได้เห็นรูปถ่ายเข้าไปมากอยู่แล้ว ตอนที่ ๓ เป็นฉลักศิลาที่สถานปนตารัน (Panataran) สถานนี้ไม่เคยได้ยินชื่ออยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ รูปภาพที่ถ่ายได้มาก็ไม่เคยเห็น เมื่อเทียบดูกันทั้งสองสถานเห็นผิดกันมาก แต่ที่สถานปรัมบานั้นเป็นรูปอย่างคนๆ พื้นที่ก็เป็นไปในทางข้างของจริง แต่ที่สถานปนตารันนั้น รูปภาพใกล้ไปทางข้างหนังแขก แลพื้นที่เขาไม้เมฆดัดแปลงไปเป็นเชิงลายกนก ทำให้รู้สึกได้ว่าการช่างในเมืองชะวาก็เดินไปเป็นชั้นๆ มีหลายชั้นด้วยกัน ที่สถานปรัมบานั้นน่าจะเป็นฝีมือพวกฮินดูฉลัก ที่สถานปนตารันเป็นฝีมือพวกชะวาฉลักเป็นแน่นอน ดูไม่ค่อยจะได้อะไรเพราะท่วงทีเป็นเชิงลวดลายไปเสียทั้งนั้น ที่สถานปรัมบานั้นได้คติมาก เพราะฉลักอย่างของจริง ตอนพระฤษีวิศวามิตรเข้าไปเฝ้าเยี่ยมท้าวทศรถ มีรูปประตูวังประตูนั้นตั้งอยู่สูง จะเข้าจะออกต้องขึ้นกะไดสามคั่น เหมือนประตูที่วัดราชบพิธ เกล้ากระหม่อมไปถวายน้ำสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อสงกรานต์ พอเดินเข้าประตูก็นึกว่า นี่ทำไมจึงทำประตูให้ต้องปีนกะไดทั้งเข้าทั้งออก ดูไม่มีมูลเลย แล้วก็นึกได้ว่ามันสืบเนื่องมาแต่โคปุระ แห่งเทวสถานต่างๆ เป็นมูล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ