วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓ เมษายน ที่ประทานมาจากบ้านศรีสุขอำเภอหัวหินนั้นแล้ว

เมื่อวันที่ ๖ เมษายน หม่อมฉันก็ได้ตั้งที่บูชาพระพุทธรูปพระแก้วมรกต กับพระบรมรูปสมเด็จพระอดีตมหาราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ทำพิธีบูชา มีคนในบ้านและบ้านอื่นมาบูชาด้วยตามเคย ปีนี้มีชายแอ๊วกับสวาดิเมียของเธอมาเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย ขอถวายพระกุศล

กรมขุนชัยนาทเสด็จกลับจากยุโรปแวะมาหาหม่อมฉัน เมื่อก่อนเข้าไปกรุงเทพฯ เธอตรัสว่าจะกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อย่างเดิม ท่านจะได้ “เพื่อนพูด” ขึ้นพอสำราญพระหฤทัยได้บ้าง

ที่ท่านทรงพรรณนา รูปเมรุเผาศพคุณหญิงนิ่ม ไกรเพชร ประทานมา ทำให้หม่อมฉันหวนรำลึกถึงครั้งเผาศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน พระยาราชสงคราม (กร) รับทำที่เผา หม่อมฉันบอกว่าให้ทำแต่เป็นปะรำเท่านั้น แกก็รับปากแต่ไปทำเป็นเมรุหมดทุกอย่าง ผิดกันแต่พ้นคอสองขึ้นไปทำหลังคาคาดเป็นปะรำแทนยอด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระราชทานเพลิง ทอดพระเนตรอยู่ที่บนพลับพลาอิสริยาภรณ์ก็ตรัสว่าแปลก แต่ตรัสชมที่ไว้อัฐิ ซึ่งหม่อมฉันให้ทำเป็นรูปหีบทองทึบตั้งในสีวิกามีฐานรอง และฉัตรเบ็ญจาตั้ง ๔ มุมเหมือนอย่างเมื่อตั้งศพไว้ที่บ้าน ตรัสชมว่าเข้าทีดีมาก อีกว่าแพ (ทำด้วย) กระที่ทูลกระหม่อมโปรดฯ ให้ใส่อัฐิเจ้าจอมมารดาแพของสมเด็จพระมหาสมณะ แต่แพนั้นจะเป็นอย่างไรหม่อมฉันไม่เคยเห็น แต่จะ “เคลม” ว่าเมรุคุณหญิงนิ่ม ไกรเพชร เอาอย่างพระยาราชสงคราม (กร) ทำเมรุหม่อมเฉื่อยมาทำก็สงสัยอยู่ เพราะการทำเมรุหม่อมเฉื่อยนานมาถึงราว ๓๐ ปีแล้ว คนจำได้เห็นจะมีน้อย ที่เผาศพชายถึกนั้นได้ยินเขาชมกันว่าทำดีนัก หญิงพิลัยบอกว่าหญิงอามรับจะส่งรูปฉายมา หม่อมฉันก็ตั้งใจคอยดูอยู่ หนังสือแจกงานศพก็ยังไม่ได้เห็นจนบัดนี้

ตั้งแต่ส่งจดหมายถวาย กับหนังสือเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพม่าท่อนที่สุดไปเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสก่อน หม่อมฉันหยุดพักยังไม่ได้เริ่มแต่งเรื่องอะไรอีก เพราะมีกิจต้องเขียนตอบขอบคุณคนให้พรปีใหม่ทั้งที่มีมาทางกรุงเทพฯ และยุโรป และซ้ำเกิดอาการเบื่ออ่านหนังสือฝรั่งด้วย ก็เลยไปฉวยเอาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาอ่านเล่นในเวลาว่าง เห็นเป็นหนังสือเรื่องดีและแต่งดีอย่างเอกทีเดียว เคยอ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็ยังอ่านสนุกไม่รู้จักเบื่ออยู่นั่นเอง มารู้สึกว่ามีประโยชน์อยู่ในหนังสือเรื่องนั้นอีกอย่างหนึ่ง เมื่ออ่านไปถึงตรงขุนช้างกับพระไวยเป็นความกัน ถึงดำน้ำพิสูจน์ตัว ผู้แต่งเขาได้เคยเห็นทำพิธีพิสูจน์ พรรณนารายการซึ่งเราไม่เคยรู้หลายอย่าง เป็นต้นว่ามีการชนไก่เป็นส่วนหนึ่งในพิธีนั้น ชนไก่แล้วจึงให้คู่ความลงน้ำ นึกได้ที่อื่นมีพรรณนาแปลกๆ ตามประเพณีที่เป็นอยู่ ในสมัยเมื่อแต่งหนังสือนั้นอีกหลายอย่าง เช่นพรรณนาถึงคนโทษที่อยู่ในคุก เมื่อนางวันทองเข้าไปเยี่ยมขุนช้างว่า

วันทองแข็งใจเข้าในคุก แลเห็นคนทนทุกข์สยดสยอง
น่าเกลียดน่ากลัวขนหัวพอง ผมกะหร่องร่างกายคล้ายสัตว์นรก
เขาใส่คาอาหารไม่พานไส้ เห็นวันทองขึ้นไปไหว้ประหลก
เอากล้วยทิ้งชิงกันตัวสั่นงก ใครมีแรงแย่งฉกเอาไปกิน
สุดแต่มีของให้แล้วไม่เลือก จนชั้นเปลือกก็ไม่ปอกขยอกสิ้น
เป็นหิดฝีพุพองหนองไหลริน เหม็นกลิ่นราวกับศพตระหลบไป
ตัวเลนเป็นขนไต่บนกระบาน นางก้าวหลีกลนลานไม่ดูได้
อุตส่าห์ทนจนถึงก้นคุกใน ขุนช้างเห็นเมียไปร้องไห้แง

ที่พรรณนานี้เป็นความจริงหมดทุกอย่าง เมื่อคุกยังอยู่ที่สวนเจ้าเชตุเมื่อหม่อมฉันรับกรมหมื่นใน พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมหมื่นภูธเรศยังว่ากรมเมืองตรัสสั่งให้จ่ายคนคุกราวสัก ๓๐ คนไปช่วยเกลี่ยปราบพื้นดินในบ้านเก่าของหม่อมฉันที่เชิงสะพานดำรงสถิต ข้างเราเป็นเจ้าของบ้านก็หาข้าวเลี้ยงเวลาเช้า แต่พอพวกคนโทษเห็นข้าวปลาอาหารก็กรากเข้าแย่งกันกินจนเกิดทุบตีกัน หม่อมฉันเลยบอกเลิกไม่เอาคนคุกมาใช้อีก อีกครั้งหนึ่งหม่อมฉันขี่ม้าไปทางถนนเจริญกรุง เห็นศพคนคุกใส่เฝือกวางอยู่ที่ริมถนน ศพกำลังโทรมดูสะอิดสะเอียน มีคนคุกคู่หนึ่งที่หามเฝือกนั้นกับผู้คุมนั่งอยู่ด้วย พอเห็นก็ต้องรีบม้าผ่านหนีไป ภายหลังมาจึงทราบอธิบาย (มีพรรณนาไว้ในเสภาตอนจระเข้เถรกวาด) ว่าถ้าคนคุกคายต้องให้เจ้าพนักงาน กรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมนครบาลและกรมมหาดเล็ก พร้อมกันไปตรวจก่อน แล้วจึงจะเอาศพไปทิ้งป่าช้าได้ เพราะต้องคอยการตรวจนั้นจนศพโทรมจึงเอาออกจากคุก ข้อที่เอาศพไปวางไว้ริมถนนนั้นก็มีเหตุเป็นอุบายของผู้คุม และคนที่หามศพเห็นว่าร้านค้าขายแห่งใดมั่งมีศรีสุข หามศพไปถึงนั้นก็ทำกิริยาเหน็ดเหนื่อยวางศพลงนั่งพักตรงหน้าร้านนั้น จนเจ้าของร้านให้เงินซื้อรำคาญจึงหาย เดินต่อไป เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ดูก็น่าจะเป็นความจริง ยังมีประเพณีอย่างอื่น เช่นแต่งงานบ่าวสาวเป็นต้น ดูเหมือนหม่อมฉันจะได้เคยทูลไปแต่ก่อนแล้วว่ามีอยู่ในเรื่องเสภา ขอทูลแนะนำว่าถ้ายังมิได้มีอยู่แล้ว ขอให้ทรงหาหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดพิมพ์มาไว้เป็นสมุด “ข้างที่” สักสำรับหนึ่ง สำหรับทรงในเวลาเมื่อเกิดเบื่ออะไรๆ เหมือนอย่างฝรั่งเขากินวิสกี้กับโซดา.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ