อธิบายตอบคำถามพระยาอินทรมนตรี ตอนที่ ๖

คำถามที่ ๖ ว่า “ปรับละเมิดลา ๑” ต้นตำรามาจากที่ไหน และปรับละเมิดลา ๑ นั้น คิดจำนวนเงินอย่างไร

ตอบคำถามที่ ๖ ว่า “ปรับละเมิดลา ๑” นั้น มีในกฎหมายตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จะชี้ตัวอย่างให้เห็นคำว่า “ประละเมิดลา ๑” มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลเก่า ตอนว่าด้วยข้อบังคับข้าราชการเข้าเฝ้าหลายแห่ง

พิเคราะห์คำที่ว่า ปรับละเมิดลา ๑ ดูเหมือนจะหมายความว่า “ปรับอย่างสามัญ” “Normal fine” เพราะในกฎหมายยังมี “ปรับทวีคูณ” “ปรับตรีคูณ” “ปรับจตุรคูณ” ตามความผิดหนักหรือเบา ก็คือตรงกับปรับ ๒ ลา ๓ ลา และ ๔ ลานั่นเอง

การคำนวณเงินปรับเอาศักดินาของผู้กระทำผิดกับลักษณะการที่กระทำผิดตั้งเป็นหลักประกอบกัน (เห็นได้ว่าพระประสงค์จะให้ผู้กระทำผิดอย่างเดียวกัน ที่เป็นคนจนต้องเสียเงินน้อยกว่าคนมั่งมี) วิธีคำนวณอยู่ในกฎหมายหมวด “พรหมทัณฑ์” อันเป็นภาค ๑ ของกฎหมาย “ลักษณกรมศักดิ์” วิธีปรับดูชอบกล ด้วยเอาคติในศาสนามาใช้ คือ กำหนดความผิดเป็น ๓ อย่าง คือ ผิดด้วยใจ เรียกว่า “มโนกรรม” อย่าง ๑ ผิดด้วยพูด เรียกว่า “วจีกรรม” อย่าง ๑ ผิดด้วยกระทำ เรียกว่า “กายกรรม” อย่าง ๑ เป็นหลัก

คำนวณเบี้ยปรับส่วนมโนกรรมนั้น เอาเกณฑ์ “ทศกุศลกรรม” ๑๐ ตั้ง เอาเกณฑ์ “เอกจิตร” ๑ บวก แล้วเอาเกณฑ์ “ปัญจอินทร์” ๕ คูณ (๑๐+๑=๑๑) ๑๑×๕=๕๕ เป็นเกณฑ์มโนทุจริต กระทำผิดแต่ส่วนนี้ ไม่มีผู้อื่นรับผลร้าย เรียก ปรับละเมิด

ถ้ากระทำร้ายผู้อื่นด้วยวาจา เช่น “ด่า” เป็นต้น คำนวณปรับผู้กระทำผิดฐานวจีกรรม ให้เอาเกณฑ์ละเมิดที่ว่ามาแล้ว คือ ๕๕ ตั้ง เอาเกณฑ์ปัญจอินทรีย์หาร ๕๕÷๕=๑๑

ถ้ากระทำร้ายผู้อื่นด้วยกาย เช่น ทุบ ตี ฟัน แทง เป็นต้น ปรับผู้กระทำผิดฐานกายกรรม ให้ตั้งเกณฑ์ละเมิดลงแล้ว เอา ๑๑ หาร ๕๕÷๑๑=๕ แล้วเอาผลที่กระทำคูณ ถ้าทำร้ายด้วยมือเปล่า คูณตามผลต่างกันเป็น ๔ สถาน สถานที่ ๑ ถ้าผู้ถูกกระทำร้าย “บ่ช้ำ” ให้เอา ๕ คูณ สถานที่ ๒ ถ้าผู้ถูกกระทำร้ายถึง “ฟก” เอา ๖ คูณ สถานที่ ๓ ถ้าถึง “ช้ำดำ” เอา ๗ คูณ สถานที่ ๔ ถ้าถึง (เลือด) “ซับ” เอา ๘ คูณ สถานที่ ๕ ถ้าถึง “ฉลาย” เอา ๙ คูณ สถานที่ ๖ ถ้าถึง “โค่น” เอา ๑๒ คูณ สถานที่ ๘ ถ้าถึง “หัก” เอา ๑๔ คูณ สถานที่ ๙ ถ้าถึง “บอด” เอา ๒๑ คูณ

อัตราปรับความผิดด้วยกายกรรมดังพรรณนานี้ เฉพาะทำร้ายด้วยมือเปล่า ถ้าใช้ไม้เป็นเครื่องมือกระทำร้ายให้เพิ่มจำนวนเบี้ยปรับขึ้นอีกกึ่ง ๑ ถ้าทำร้ายด้วยเหล็กเป็นเครื่องมือให้เพิ่มจำนวนเบี้ยปรับขึ้นอีกเท่า ๑

เมื่อคำนวณปรับตามมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ดังว่ามานั้นแล้ว ให้เอาเกณฑ์สหัสโกรธา ๑๐๐๐ คูณ สำเร็จเป็นเบี้ยปรับผู้กระทำผิด ถ้าผู้กระทำผิดถือศักดินาเพียง ๕ ไร่ เบี้ยปรับจะเป็นดังนี้ คือ

ละเมิด (เกณฑ์มโนกรรม ๕๕ คูณด้วยสหัสโกรธา ๑๐๐๐) ๕๕๐๐๐ เบี้ย

ด่า ๑๑๐๐๐ เบี้ย
บ่ช้ำ ๒๕๐๐๐ เบี้ย
ฟก ๓๐๐๐๐ เบี้ย
ช้ำดำ ๓๕๐๐๐ เบี้ย
ซับ ๔๐๐๐๐ เบี้ย
ฉลาย ๔๕๐๐๐ เบี้ย
แตก ๕๐๐๐๐ เบี้ย
โค่น ๖๐๐๐๐ เบี้ย
หัก ๗๐๐๐๐ เบี้ย
บอด ๑๐๕๐๐๐ เบี้ย

ตาย (ไม่ใช้คำว่า ฆ่า เห็นจะตรงกัน Manslaughter) ปรับตามพิกัดเกษียณอายุ ในกฎหมายกรมศักดิ์มีพิสดารอีกภาค ๑

ถ้าผู้กระทำผิดถือศักดินามากกว่า ๕ ไร่ ขึ้นไป ก็เพิ่มจำนวนเบี้ยปรับขึ้นไปโดยลำดับ มีจำนวนบอกไว้ในกฎหมายกรมศักดิ์โดยพิสดาร จนถึงผู้กระทำผิดถือศักดินาชั้นสูงสุด ๑๐,๐๐๐ ปรับละเมิดถึง ๖,๘๖๐,๐๐๐ เบี้ย การคิดคำนวณเบี้ยปรับแต่โบราณคงจะลำบากมาก จึงมีผู้คิดเทียบเป็นจำนวนเงินตราขึ้นไว้ เรียกว่า “กรมศักดิ์สำเร็จ” มีพิมพ์ไว้ใน “กฎหมายราชบุรี” เล่ม ๑ โดยพิสดาร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ