วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคมแล้ว ที่ต้องพระประสงค์แสตมปไปรษณีย์ออกใหม่ในรัชกาลพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ นั้น หม่อมฉันให้หญิงเหลือไปหาณออฟฟิศไปรษณีย์ที่เคยไป เมื่อได้มาพิจารณาดูเห็นเขาผูกลายดีจริง เขาบอกว่าเพิ่งได้มาแต่แสตมป์ที่ระลึกงานราชาภิเษกที่มีพระรูป พระเจ้ายอชกับพระมเหสีอย่างเดียว ดังหม่อมฉันถวายมากับจดหมายฉบับนี้ แสตมป์ที่มีแต่พระรูปพระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้มา เมื่อมีมาหม่อมฉันจึงจะหาส่งมาถวาย

ข้อปัญหาที่ตรัสมา ว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จะได้ทรงเจตนาตั้งพระพุทธรูปองค์ใดเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสนั้น หม่อมฉันคิดเห็นอีกทางหนึ่งบางทีจะถูก ด้วยประเพณีการสร้างวัด สร้างวัดก่อน แล้วจึงสร้างหรือเที่ยวหาพระพุทธรูปที่จะตั้งเป็นประธาน น่าจะเป็นดังนี้มาแต่สมัยกรงสุโขทัย น่าจะสันนิษฐานว่า ที่สร้างวัดมหาธาตุในพระราชวัง จะสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระศพ ในบริเวณพระราชมณเฑียรของพระเจ้าแผ่นดิน องค์ที่สร้างพระนครหรือองค์ที่ล่วงรัชกาลมาแล้ว ก่อพระสถูปขึ้นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิเป็นสำคัญจึงเรียกว่า “วัดมหาธาตุ” ต่อมาภายหลัง (บางทีจะเป็นในรัชกาลที่ ๓) จึงหล่อพระศรีสักยมุนีเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ชึ่งเข้าใจได้ว่าสร้างต่อพระมหาธาตุเมื่อภายหลัง เพราะอยู่ใกล้จนกระชั้นบริเวณพระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่ มามีกรณีเช่นเดียวซ้ำอีกครั้ง ๑ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งครองเมืองเหนืออยู่ก่อน ได้รับรัชทายาทเสด็จลงมาครองพระนครศรีอยุธยา ก็ให้สร้างพระสถูปที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระชนกาธิราชขึ้นในพระราชวัง ถวายที่ตรงนั้นเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕ ต่อนั้นมาอีก ๗ ปีถึง พ.ศ. ๒๐๔๒ จึงหล่อพระพุทธรูปยืน ขนานพระนามว่า “พระศรีสรรเพชฎาญาณ” เป็นพระประธานในวิหารหลวง คนทั้งหลายก็เรียกพระนามพระพุทธรูปเป็นชื่อวัดว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์แต่นั้นมา พิเคราะห์กรณีส่อให้เห็นว่า สมเด็จพระรามาธิบดีเอาแบบอย่างที่สร้างวัดมหาธาตุในเมืองสุโขทัย มาสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถวายที่พระราชวังเป็นวัดโดยไม่มีมูล ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ก็หากล่าวถึงเรื่องนั้นไม่

วัดหลวงที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร ก็สร้างวัดก่อนทั้งนั้น คิดดูเห็นมีวัดที่สร้างถวายพระประธาน แต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามกับวัดพระพุทธรัตนสถานเท่านั้น ตามวินิจฉัยที่ทูลมาเมื่อเอามาเปรียบกับกรณีที่สร้างวัดบวรสถาน เห็นจะคิดหล่อพระประธานใหม่ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนไขด้วยกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้น เชิญพระพุทธรูปโบราณที่เป็นพระสำคัญเข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ ถึง ๒ องค์ คือพระโตที่วัดสระตะพานเมืองเพ็ชร์บุรีองค์ ๑ ก็เอาไปตั้งเป็นพระประธานที่วัดบวรนิเวศ พระชินสีห์เชิญลงมาจากเมืองพิศณุโลก ก็เอาไปตั้งที่มุขด้านหลังพระอุโบสถวัดนั้นเหมือนกัน ไม่ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญอย่าง ๒ องค์นั้นยังเหลืออยู่ที่ใดอีก อันสมควรจะเชิญมาเป็นพระประธานวัดบวรสถาน นอกจากพระชินราชที่เมืองพิศณุโลก แต่ก็เชิญมาไม่ได้ด้วยเป็นพระศรีเมือง แต่พระอุโบสถวัดบวรสถานไม่ได้สร้างสำหรับพระพุทธสิหิงค์นั้นเป็นแน่ เพราะพระพุทธสิหิงค์ย้ายไปเป็นของวังหลวงถึง ๓ รัชกาลแล้ว ดูมีทางเดียวแต่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจะทรงพระดำริหล่อพระประธานใหม่ แต่สวรรคตเสียก่อน วัดนั้นจึงไม่มีพระประธาน พระยืนที่พระองค์เจ้าดาราถวายแพรทรงสะพักนั้นไม่ใช่หล่อสำหรับพระประธานแน่นอน

เรื่องพระคชาธารนั้น คิดดูประเภทของเครื่องช้างคงมีต่างกันเป็น ๔ อย่าง “ช้างเขน” ไม่มีอะไรบรรทุกบนหลังนอกจากคนขี่กับเครื่องศาสตราอย่าง ๑ “ช้างเขน” ตามแบบโบราณในอินเดีย มีสัประคับข้างหน้าเป็นแผงวงกันสาตราข้าศึก มีคนถือหอกซัดและธนูอยู่ในสัประคับสองหรือสามคนอย่าง ๑ “ช้างคชาธาร” มีที่นั่งสำหรับแต่ตัวนายทัพ เช่นจำหลักไว้ที่พระนครวัดอย่าง ๑ ช้างยานพาหนะผูกสัประคับมีกูบสำหรับใช้เวลาเดินทางอย่าง ๑ “ช้างต่าง” สำหรับบรรทุกของ ชนิดที่ผูกวองอย่าง ๑ เพราะเกิดมีปืนไฟใหญ่น้อย การรบพุ่งด้วยชนช้างและช้างเขนไม่เป็นประโยชน์เหมือนแต่ก่อนก็ต้องเลิก ยังใช้ช้างรบได้ในชั้นหลังแต่ผูกเครื่องมั่นขี่ลุยไล่แทงข้าศึกที่เดินเท้าเหมือนเช่นเจ้าพระยาบดินทรเดชารบญวน หรือไสให้ช้างรื้อค่ายและพังประตูเมือง เช่นหลวงตากตีเมืองจันทบุรี เครื่องคชาธารและเครื่องช้างเขนก็ถวายเป็นแต่อย่างทำไว้สำหรับแห่ ให้เป็นสง่างามประดับเกียรติยศ นานมาแบบอย่างก็กลายไป ที่เชิญพระกลดถวายพระเจ้าแผ่นดินเวลาทรงช้างนั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นครั้ง ๑ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระพุทธบาท (ดูเหมือนจะเป็นคราวเกิดยิงกันที่เขาโพธิลังกานั่นเอง) ครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ เสด็จไปทรงบัญชากระบวนเสด็จ วันหนึ่งเสด็จประพาสธารทองแดงทรงช้างพังผูกพระที่นั่งพุดตาล หม่อมฉันเป็นราชองครักษ์เดินแซงข้างช้างพระที่นั่ง เห็นภูษามาลาเชิญพระกลดต้องต่อกันให้ยาวกว่าปกติสักศอกหนึ่ง และมีสายระยาง ๒ เส้นผูกคันพระกลดตอนกลาง มีภูษามาลาถือเส้นละคนคอยรั้งไว้มิให้นอน ดูประดักประเดิดเต็มที จะไปทางไกลด้วยเช่นนั้นเห็นจะไม่ได้

ที่ตรัสถามถึงประเพณีนุ่งขาวนุ่งดำและสีกุหร่านั้น หม่อมฉันลองคิดหาเหตุดูมีกว้างขางจะต้องตริตรอง ขอประทานรอไว้ทูลคราวเมล์สัปดาห์หน้า แต่นามอธิบายของพราหมณ์ศาสตรีที่ว่าคำ “กุหร่า” เป็นภาษาทมิฬ แปลว่าหมวกนั้น เดิมที่เรียกว่าสีกุหร่าก็จะหมายความว่า “สีเหมือนหมวก” เช่นใช้กันชุมในสมัยนั้นเอง

เรื่องที่หม่อมฉันจะทูลเสนอในสัปดาห์นี้ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดบางเรื่องเนื่องมาจากงานฉลองราชาภิเษก วันหนึ่งเจ้าเมืองเขาเชิญหม่อมฉันกับลูกหญิงให้ไปดูแห่ของพวกจีน ที่จะเดินผ่านในบริเวณจวน เชิญเวลาทุ่ม ๑ กับ ๔๕ นาที ก่อนเวลากินอาหารเย็น หม่อมฉันจึงแต่งตัวอย่างสากล ครั้นไปถึงเห็นฝรั่งที่ได้รับเชิญแต่งตัวด้วยเครื่องดินเนอแย๊กเกตสำหรับกินอาหารเย็นกันโดยมากก็ออกแปลกตา ครั้นเวลากระบวนแห่เดินกำลังนั่งดูกันอยู่ มีบ๋อยถือจานของว่างอันหยิบกินด้วยมือมาแจกหลายอย่าง หม่อมฉันก็กินแต่น้อย ด้วยใกล้เวลาจะมากินอาหารเย็นที่บ้าน ครั้นเมื่อกระบวนแห่เดินจวนจะหมด เห็นพวกบ๋อยเอาผ้าปูโต๊ะเล็กๆ ที่เรานั่งเคียงอยู่แล้ว เอาผ้าเช็ดมือมาวาง หม่อมฉันก็ออกพิศวง พอแห่เดินหมดกระบวนหม่อมฉันก็ไปลาเจ้าเมืองกลับ เจ้าเมืองถามว่าไม่อยู่กินซัปเปอร์ก่อนหรือ หม่อมฉันขอตัวแล้วก็กลับมากินอาหารเย็นที่บ้าน เวลายาม ๑ ก็เวลากินอาหารเย็นกัน โดยธรรมดานั้นกินเวลา ๒ หรือ ๒ ทุ่มครึ่ง นี่อย่างไรเกิดเลี้ยงก่อนเวลากินอาหารเย็น แล้วเลี้ยงเมื่อสิ้นเวลากินอาหารเย็นซ้ำอีก แต่เวลากินอาหารเย็นไม่เลี้ยงอะไร ไม่เข้าใจว่าจะเป็นธรรมเนียมอะไรเกิดขึ้นใหม่ ต่อมาพวกเรือรบอังกฤษที่มาช่วยงานเชิญไปเลี้ยงเช่นนั้นในระหว่างเวลาทุ่ม ๑ จนถึงยาม ๑ แต่เขาบอกชื่อลักษณะการมาในการ์ดว่า ค้อกเตลปาร์ตี จึงเข้าใจ แต่หม่อมฉันขอตัวไม่ลงไป วิธีเลี้ยงอย่างนี้หม่อมฉันไม่เคย “รับ” มาแต่ก่อน เพิ่งได้ความเข้าใจว่าไปกินของว่างและเสพเมรัย อย่างที่เรียกว่าค้อกเตล คือเอาสุราเมรัยหลายอย่างผสมกันให้รสแปลกๆ กินกันไปเล่นกันไปจนยาม ๑ จึงกลับไปกินอาหารเย็น ดูมันก็แปลกแต่เห็นจะต้องฝึกหัดท้องให้เคยเสียก่อน จึงจะเข้าประชุมเช่นนั้นได้ นัยว่าการเลี้ยงอย่างนี้กำลังนิยมกันในยุโรป

อีกเรื่องหนึ่งเมื่องานเสร็จแล้ว วันหนึ่งหม่อมฉันคิดอยากกินอาหารจีนจึงชวนลูกไปกินอาหารเย็นที่โรงเตี๊ยมเทียนน่ำเหลา ซึ่งเถ้าเก๋เคยอยู่กรุงเทพฯ พูดภาษาไทยได้ หม่อมฉันถามว่าเมื่องานวานซืนเห็นจะรวยมากละซีเพราะคนเข้ามาดูงานมากกว่ามาก เถ้าเก๋กลับตอบว่าขาดทุนกันใหญ่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะพวกโฮเต็ลโรงแรมพากันคาดว่าคนจะมากคิดขึ้นราคา พวกกุ๊กพวกบ๋อยตลอดจนพวกขายของที่ประกอบอาหาร เช่น เป็ด ไก่ เป็นต้น รู้ว่าโฮเต็ลและเรือนแรมทั้งที่มีอยู่เดิมและตั้งขึ้นใหม่สำหรับรับคนในงานนี้ จะขึ้นราคาค่าอยู่กิน พวกเหล่านั้นก็เรียกค่าจ้างและราคาของเพิ่มขึ้นบ้าง ครั้นถึงงานคนที่มาดูงานทนราคาที่เรียกไม่ไหว ชวนกันไปเช่าโรงหรือเรือนที่ว่าง เป็นที่หลับนอนมั่วสุมกันแห่งละมากๆ แล้วเที่ยวซื้ออาหารกินตามหาบและร้านย่อย พวกโฮเต็ลและเรือนแรมไม่ได้คนมากดังคาด จึงพากันขาดทุนไม่เว้นแต่ละแห่ง ดูก็ปลาดอยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ