วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

จดหมายฉบับนี้ความต่อจดหมายฉบับลงวันที่ ๒๙ เมษายน จะทูลวิสัชนาปัญหาที่ตรัสถามอีกข้อหนึ่ง

ข้อ ๓ คือเรื่องตำนานพระพุทธนรสีห์นั้น จะเป็นเมื่อปีใด เวลานี้หม่อมฉันจำไม่ได้และไม่มีอะไรจะสอบ อ้างได้แต่ว่าปีที่พระเจ้าเชียงใหม่อินทรวิชยานนท์ถึงพิราลัย หม่อมฉันขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพเป็นครั้งแรก นึกจำนงในใจไปว่าจะหาพระพุทธรูปโบราณแบบเชียงแสนที่งามมาไว้บูชาสักองค์ ๑ แต่อยากได้ขนาดเขื่องๆ หน้าตักราวสักศอก ๑ เพราะขนาดย่อมมีกันอยู่มากแล้ว เมื่อหม่อมฉันไปถึงเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งไปวัดพระสิงหฬ (คือวัดที่เคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์) เข้าไปในวิหารหลวงเห็นพระพุทธรูปหล่อขนาดที่อยากได้ ตั้งอยู่บนฐานชุกชีหลายสิบองค์ ยังบริบูรณ์บ้างชำรุดบ้าง เห็นได้ว่าเป็นของเขาเก็บจากที่อื่นเอามารวมรักษาไว้ หม่อมฉันปีนขึ้นไปบนฐานชุกชีเที่ยวเลือกดู เห็นองค์ ๑ ลักษณะงามถูกใจ สั่งไว้เขายกลงมาพิจารณาดูก็ยิ่งเห็นงาม เป็นแต่ชำรุดทางข้างพระขนองด้วยทองผุเป็นช่องอยู่แห่งหนึ่ง พอจะบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีได้ หม่อมฉันจึงขอต่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าอุปราชรั้งเมืองเชียงใหม่ เธอก็อนุญาตตามประสงค์จึงเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วส่งไปวานพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีปฏิสังขรณ์ ท่านให้พระเปี่ยมช่างหล่อของท่านเป็นผู้ทำ แกตัดเอาทองชะนวนซึ่งช่างหล่อเดิมทิ้งให้ติดอยู่กับฐานตามประเพณีหล่อพระในมณฑลพายัพ มาหลอมหล่อตาบปิดช่องที่ชำรุดให้คืนดี แล้วขัดชักเงาทั้งองค์พระ เมื่อขัดแล้วปรากฏขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ว่าสีทองสัมฤทธิ์ที่หล่อพระพุทธนรสีห์เขาผสมดีสีงามยิ่งนัก เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้วหม่อมฉันรับมาตั้งไว้ใน “โรงเรียน” (อันใช้เป็นท้องพระโรง) ที่บ้านเก่าเชิงสะพานดำรงสถิต ครั้งนั้นประจวบเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เริ่มทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรดให้หม่อมฉันหาพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ที่จะตั้งเป็นพระประธานในพระอุโบสถซึ่งจะทรงสร้างใหม่ ก็ไม่พบพระงามถึงขนาด จึงทรงพระราชดำริจะให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเป็นประธาน มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีกองค์ ๑ เพื่อจะตั้งเป็นพระประธานในพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นใช้ชั่วคราว แล้วจะเอาไปตั้งเป็นพระประธานสำหรับการเปรียญ ตรัสถามหม่อมฉันว่า “เห็นพระงามๆ ขนาดที่ต้องการมีที่ไหนบ้าง” หม่อมฉันคิดหาที่อื่นไม่เห็น จึงกราบทูลว่าพระขนาดที่ต้องพระราชประสงค์นั้น หม่อมฉันได้มาจากเมืองเชียงใหม่องค์ ๑ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วตั้งบูชาอยู่ที่บ้าน ถ้าโปรดก็จะถวาย ครั้นถึงวันเสด็จลงไปทอดพระเนตรพระบรม (สถิล) ธาตุที่เมืองสมุทรปราการ เสด็จแวะทอดพระเนตรพระองค์นั้นที่บ้านหม่อมฉัน พอเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นก็โปรดมาก ตรัสสั่งเจ้าพระยาธรรมาในทันใด ว่าให้จัดยานมาสกับเครื่องสูงกลองชนะและกระบวนแห่มารับพระไปยัง (ที่ไหนหม่อมฉันจำไม่ได้แน่แต่เข้าใจว่า) พลับพลาที่ประทับในสวนดุสิต แล้วทรงขนานนามว่าพระพุทธนรสีห์ พอสร้างพระอุโบสถชั่วคราวแล้วก็โปรดให้แห่เห็นกระบวนใหญ่ มีทั้งกระบวนเชลยศักดิ์และกระบวนหลวง เชิญพระพุทธนรสีห์ไปประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาทรงพระราชดำริว่า พระพุทธนรสีห์เป็นของวิเศษ เกินศักดิ์พระประธานสำหรับการเปรียญ จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ขึ้นอีกองค์ ๑ สำหรับวัดเบญจมบพิตร เดี๋ยวนี้ตั้งเป็นประธานอยู่ในวิหารสมเด็จ เชิญองค์พระพุทธนรสีห์กลับไปประดิษฐานไว้เป็นประธานที่ห้องพระบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังอยู่ที่นั่นมาจนบัดนี้

เนื่องกับเรื่องพระพุทธนรสีห์ ยังมีเรื่องพระพุทธรูปอีกองค์ ๑ เป็นพระประหลาด พวกชาวบ้านของหม่อมฉันเรียกกันว่า “พระพุทธวิวาท” ควรจะเล่าถวายให้ทรงทราบด้วย เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปเดินบกที่เมืองอุตรติตถ์ เมื่อพักอยู่ที่เมืองอุตรดิตถ์หม่อมฉันไปที่วัดพระมหาธาตุทุ่งยั้ง เห็นพระพุทธรูปขนาดที่หม่อมฉันอยากได้ วางนอนอยู่บนพระหัตถ์พระประธานใหญ่ในวิหารหลวงองค์ ๑ หม่อมฉันถามพวกกรมการว่าเหตุไฉนจึงเขาพระไปวางนอนไว้เช่นนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าพระพุทธรูปองค์นั้นเดิมอยู่วัดหนึ่งในแขวงเมืองอุตรดิตถ์นั้น (ชื่อไรหม่อมฉันลืมเวลานี้นึกไม่ออก) เป็นพระศักดิ์สิทธิ์อย่างแปลกประหลาด ถ้าใครไปสักการะบูชาก็มักเกิดวิวาทบาดทะเลาะกัน จนพวกเด็กโลนลูกศิษย์วัดเอาเป็นเครื่องเล่น เช่น เวลามีงานบวชนาคมักไปถวายสักการะบูชาเตรียมไว้ สำหรับพวกกระบวนแห่นาควิวาทชกต่อยกัน ก็ได้ดูจริง เป็นเช่นนั้นมาจนพวกชาวบ้านตำบลนั้นพากันรังเกียจ คืนวันหนึ่งพระองค์นั้นหายไป ทีหลังมาเห็นอยู่บนพระหัตถ์พระประธานวัดมหาธาตทุ่งยั้ง ก็ไม่มีใครกล้าจับต้องวางนอนอยู่เช่นนั้นมานานแล้ว หม่อมฉันสั่งให้ยกลงมาดู ก็เห็นเป็นพระงามพอใช้ ขอพวกกรมการเขาก็ยินยอมให้ด้วยยินดี หม่อมฉันจึงจุดธูปเทียนบูชาแล้วให้เชิญมายังที่พัก พอถึงเวลาเย็นวันนั้น ได้ความว่าพวกคนเรือที่ตามไปเมืองทุ่งยั้งด้วย ไปเกิดชกกันขึ้นที่วัดมหาธาตุก็เห็นขัน แต่พวกที่ไปกับหม่อมฉันดูเหมือนจะเชื่อศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์นั้นโดยมาก เมื่อกลับลงมาถึงกรุงเทพ ฯ หม่อมฉันส่งไปวานพระพุฒาจารย์ (มา) ซ่อมแซมพร้อมกันกับพระพุทธนรสีห์ แต่พระพุทธวิวาทไม่มีชำรุด จึงขัดเกลาแล้วมาก่อนพระพุทธนรสีห์หลายเดือน หม่อมฉันก็ให้ตั้งไว้ที่โรงเรียน ต่อมาได้สักเดือนหนึ่งหรือสองเดือน วันหนึ่งหม่อมฉันไปหามารดา ท่านถามว่าได้ยินว่าไปได้พระที่ทำให้เกิดวิวาทลงมาหรือ หม่อมฉันรับว่าได้มาจริง แต่ข้อที่ว่ามักทำให้เกิดวิวาทนั้น เป็นแต่พวกชาวเหนือเชื่อกันอย่างเหลวไหลเท่านั้น ท่านว่า “ที่ไหน มันจะมีจริงยังเขาว่าบ้างดอกกระมัง” แต่ก่อนมาที่บ้านก็อยู่กันเป็นปกติ ตั้งแต่ได้พระองค์นี้มาผู้คนเกิดวิวาทกันเนือง ๆ ท่านบอกชื่อคู่วิวาทได้ถึง ๔ คู่แล้วขอให้หม่อมฉันส่งพระองค์นั้นไปไว้เสียที่อื่น หม่อมฉันก็ส่งไปถวายพระพุฒาจารย์ไว้ที่วัดจักรวรรดิ์ แต่นั้นมาอีกหลายเดือนหม่อมฉันพบพระพุฒาจารย์ ถามท่านว่าพระองค์นั้นท่านเอาไปตั้งไว้ที่ไหน ท่านตอบว่าให้เขาไปเสียแล้ว เพราะจะเอาไว้ทนไม่ไหว ตั้งแต่ได้พระองค์นั้นไป ที่ในสำนักของท่านมักเกิดหยุกหยิกต่างๆ ดูไม่เรียบร้อยเลยแม้จนลูกศิษย์ก็ตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ มีคนมาเห็นพระองค์นั้นเขาชอบใจขอท่าน ท่านก็เลยให้เขาเสีย ต่อมาอีกช้านานเมื่อพระพุฒาจารย์มรณภาพแล้ว มีกรมการเมืองอุตรดิตถ์ที่เคยไปวัดมหาธาตทุ่งยั้งกับหม่อมฉันลงมาหาคนหนึ่ง หม่อมฉันนึกขึ้นถึงพระพุทธวิวาทคิดว่าส่งคืนขึ้นไปวางนอนไว้บนพระหัตถ์พระประธานอย่างแต่เดิมเห็นจะดี ให้ไปสืบถามที่วัดจักรวรรดิ์ก็ไม่มีใครรู้ว่าพระพุฒาจารย์ท่านให้ผู้ใดไป พระองค์นั้นก็เลยสูญหายไป เป็นเรื่องประหลาดดังนี้ มูลก็เห็นจะมาแต่พวกที่ไปกับหม่อมฉันเอาเรื่องพระองค์นั้นตามที่กรมการเขาเล่า ประกอบกับเหตุที่คนเรือเผอิญไปชกกันให้เห็นสม มาเล่าในกรุงเทพฯ จึงเกิดความระแวงแล้วเลยอุทิศเหตุที่เกิดขึ้นถวายเป็นอภินิหารของพระองค์นั้น

ยังมีเรื่องเนื่องกับที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์ฉบับก่อนอีกเรื่อง ๑ พระองค์ประดิษฐานเธอส่งสมุดพิมพ์เรื่องเมืองลานช้างมาประทานหม่อมฉัน ๓ เล่ม แทนของรดน้ำสงกรานต์ พ.ศ. ๒๔๘๐ ตรัสมาในลายพระหัตถ์ ว่าท่านได้ทรงแนะนำให้ส่งมาให้หม่อมฉันด้วย จะทูลข้อที่พระบางในรูปฉายเป็นพระทรงเครื่องก่อน พระบางที่จริงเป็นพระครองผ้าหาได้ทรงเครื่องไม่ มีรูปหล่อจำลองไว้ที่วัดจักรวรรดิ์จะไปทอดพระเนตรเมื่อใดก็ได้ เครื่องต้นเป็นของชาวเมืองหลวงพระบางทำเป็นเครื่องประดับเพิ่มขึ้นใหม่ ใครๆ ที่เคยเห็นพระบางเคยบอกหม่อมฉันเป็นอย่างเดียวกันว่าไม่งามเลย แต่แรกหม่อมฉันนึกสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ทำพระสำหรับเป็นศรีเมืองให้งดงาม ต่ออ่านพงศาวดารลานช้างจึงรู้เหตุ ในหนังสือนั้นว่ากาลครั้งหนึ่งเชิญพระบางลงเรือล่องลงมาทางแม่น้ำโขง เรือล่มพระบางจมน้ำหายไป แต่พระบางกระทำปาฏิหาริย์กลับไปอยู่ที่เดิมมิได้เป็นอันตราย เป็นเรื่องอย่างกับพระเขี้ยวแก้วที่เกาะลังกา ที่แท้พระบางองค์นี้เป็นแต่พระแทนองค์พระบางเดิมเท่านั้น

ตำรับตำราเมืองลานช้าง ที่คัดสำเนาเอามาพิมพ์ไว้ก็ไม่ใช่ของเก่าทีเดียว รวมของเก่าที่ยังเหลือเป็นกระเส็นกระสายมาคละกับของใหม่ ข้อนี้พึงเห็นได้ในสำเนาสัญญาบัตร มีใช้คำว่า “สัญญาบัตร” อันเป็นคำซึ่งทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้น และนามเจ้าแผ่นดินว่า “ศิศะวงศ์” ก็คือพระเจ้าหลวงพระบางองค์ที่ทรงราชย์อยู่ในปัจจุบันนี้ ส่อว่ามิใช่แบบสัญญาบัตรอย่างโบราณ หนังสือ ๓ เล่มนี้จะมีประโยชน์อยู่ก็ที่จะหาคำภาษาไทยเก่าๆ ซึ่งเขายังใช้อยู่ทางนั้น แต่ในทางความรู้เรื่องประเพณีเก่าในล้านช้าง หม่อมฉันนับถือพระพรหมมุนี (อ้วน) ว่ารู้มากกว่าใครๆ ที่หม่อมฉันรู้จักทั้งนั้น ถ้าท่านทรงพบปะลองซักถามดูเถิด

เรื่องการรับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสา ซึ่งท่านทรงพระดำริว่าดูเป็นอย่างยศศักดิ์อยู่บ้างนั้น มีความจำเป็น ด้วยสมเด็จพระพันวัสสาดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า” (Queen Grandmother) ก่อนจะเสด็จมา ทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ ก็บอกมายังเจ้าเมืองปีนัง กระทรวงการต่างประเทศก็สั่งมายังกงซุลเยเนอราลสยาม ให้รับเสด็จอย่าให้เสียพระเกียรติยศ ทั้งเจ้าเมืองและกงซุลเยเนอราลปรึกษาหม่อมฉันๆ ได้บอกเขาว่าพระประสงค์จะเสด็จอย่างไปรเวต จึงงดการพิธีรับเสด็จ เช่นเจ้าเมืองมาเฝ้าและการอื่นๆ ได้หลายอย่าง ถึงกระนั้นก็ยังต้องรักษาพระเกียรติยศบ้าง เมื่อถึงคราวพระองค์ท่านเสด็จมา ขอจงทรงวางพระหฤทัยเถิด ว่าหม่อมฉันจะพยายามรับเสด็จอย่างตอกต๋อยให้สมพระประสงค์ทุกอย่าง ขอแต่อย่าประทับอยู่น้อยวันนัก ให้มีเวลาชื่นใจหลายวันสักหน่อย

เรื่องพระพุทธรูป (ไม่) งามที่เมืองลพบุรีนั้น มีเรื่องต้นที่หม่อมฉันจะเล่าถวายได้บ้าง เดิมเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ เวลาหม่อมฉันยังว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอุบาลี (จันท) วัดบรมนิวาศ มาขออนุญาตจะสร้างพระโตที่วัดเพิ่มเสน่หา อันอยู่ใกล้ๆ กับพระปฐมเจดีย์ หม่อมฉันถามว่า “พระปฐมท่านมีความผิดอย่างไร เจ้าคุณจึงคิดจะไปทำโทษท่าน” เพราะธรรมดาเจดีย์สถานย่อมอาศัยความเกื้อกูลของทายก ถ้าท่านไปสร้างพระโตขึ้นที่นั่นก็เสมือนจะไปแข่งแย่งลาภสักการะของพระปฐมเจดีย์ เห็นควรแล้วหรือ ท่านจนถ้อยคำสำนวนก็ยอมรับว่าไม่ทันคิด ต่อมาจึงแปรไปสร้างพระโตที่ไหล่เขาแห่งหนึ่งในแขวงเมืองลพบุรี ภูเขานั้นเดิมมีชื่อว่า “ไม้ (หรืออะไรหม่อมฉันจำไม่ได้) งาม” เมื่อสร้างพระโตแล้วเปลี่ยนคำต้นชื่อภูเขานั้นเป็น “พระ” จึงได้เรียกกันว่า “เขาพระงาม” แล้วเรียกพระโตองค์นั้นว่า “พระงาม” ตามชื่อภูเขาต่อมา ท่านอุบาลี (จันท) มีความสามารถในการบอกบุญเรี่ยไรไม่มีใครเสมอในสมัยของท่าน หม่อมฉันได้เคยเห็นฤทธิ์ของท่านด้วยตนเองเมื่อเรี่ยไรสร้างพระโตองค์นั้น เช้าวันหนึ่งหม่อมฉันไปหามารดาตามเคย เห็นท่านอุบาลีมานั่งอยู่ก่อน หม่อมฉันถามถึงกิจธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่ามาเพื่อจะบอกบุญสร้างพระโต หม่อมฉันตอบว่าหม่อมฉันไม่ศรัทธาในการสร้างพระโตนั้น ถ้าเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ของโบราณหรือสร้างสิ่งอื่นใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์จึงจะเข้าด้วย ท่านก็นิ่งอยู่ ต่อวันหลังหม่อมฉันจึงทราบว่าเมื่อหม่อมฉันกลับมาแล้ว ท่านชี้แจงแก่มารดาจนเกิดศรัทธาถวายค่าปูนซิเมนต์ถึง ๕๐๐ บาท พระโตองค์นั้นหม่อมฉันไม่เคยเข้าใกล้ ได้เห็นแต่เมื่อผ่านไปในรถไฟและเคยส่องกล้องดูจากท้องพรหมมาส

วินิจฉัยเรื่องข้าวเหนียวกับข้าวจ้าวของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น หม่อมฉันยังเป็นอุเบกขา ไม่รับรองหรือคัดค้านทั้ง ๒ สถาน จะทูลอธิบายถวายตามที่ทราบพอเป็นเค้า พวกชาวมณฑลพายัพและมณฑลอุดร อิสาน ชอบกินข้าวเหนียวเป็นปกติ พวกชาวมณฑลข้างใต้ชอบกินข้าวจ้าวเป็นปกติ เพราะฉะนั้นนาในมณฑลข้างเหนือจึงปลูกข้าวเหนียวเป็นพื้น ปลูกข้าวจ้าวแต่บางแห่ง นาทางมณฑลข้างใต้ก็ปลูกข้าวเป็นพื้น ปลูกข้าวเหนียวแต่บางแห่ง เพราะเหตุใดพวกชาวมณฑลข้างเหนือจึงชอบกินข้าวเหนียว หม่อมฉันไปพบเค้าเงื่อนเมื่อไปมณฑลพายัพเป็นครั้งแรก เวลานั้นต้องเดินทางด้วยใช้ช้างม้าเป็นพาหนะและต้องมีลูกหาบขนของ เมื่อถึงที่พักแรมหม่อมฉันสังเกตเห็นพวกลูกหาบพากันตั้งเตานึ่งข้าวเหนียวใส่กล่องสานสำหรับตะพายทุกวัน แต่เวลาเช้าหามีใครนึ่งข้าวเหนียวอย่างเราหุงข้าวจ้าวไม่ หม่อมฉันถามเขาบอกว่านึ่งข้าวเวลาเย็นวันละครั้งเดียวก็พอกินในวันหน้าตลอดวัน ถามต่อไปว่าเหตุใดจึงชอบกินข้าวเหนียว เขาบอกว่ากินข้าวเหนียวหิวช้ากว่ากินข้าวจ้าว ได้ความเพียงนี้ไม่ได้สืบสาวกระแสความต่อไป พิเคราะห์คำที่เรียกว่าข้าวเหนียวเป็นคำของชาวใต้ หมายความว่าเหนะหนะเท่านั้น ในมณฑลพายัพดูเหมือนเขาเรียกกันแต่ว่า “ข้าว” ถ้าคำว่าข้าวเจ้าหมายความว่าข้าวพระยาเสวย ก็น่าจะเรียกกันในมณฑลพายัพก่อน เพราะผู้ดีไม่ต้องทำการหนักกินได้วันละหลายเวลา จึงเรียกข้าวพรรค์นั้นว่าข้าวผู้ดี ที่ทูลมานี้โดยเดา ถ้าจะหาหลักฐานต่อไปจะต้องหาคนชาวมณฑลพายัพมาไล่เลียง เสียดายที่พระราชชายาสิ้นพระชนม์เสีย หาไม่มีจดหมายไปทูลถามก็จะได้ความละเอียด

ที่ปินังเวลานี้ เขากำลังเตรียมการฉลองราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ กำหนดว่ามีงาน ๗ วัน สังเกตดูรายการก็เป็นอย่างเดียวกันกับเมื่อฉลองรัชกาลพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แปลกแต่คราวนี้จะมีดอกไม้เพลิงเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หม่อมฉันจะกลับลงไปอยู่ซินนามอนฮอล วันที่ ๑๑ พฤษภาคม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ