วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธุ์ หม่อมฉันได้รับแล้ว

อธิบายคำพลัมภังซึ่งทรงพระดำริขึ้นใหม่ชอบกลอยู่ หม่อมฉันได้คัดส่งไปให้พระยาอินทรมนตรี พร้อมกับตอบคำถามที่ ๖ ของแกว่าด้วยปรับละเมิด หม่อมฉันส่งสำเนามาถวายทอดพระเนตรด้วยยังจะต้องเขียนตอบคำถาม (ที่ ๗) ว่าด้วยเจ้าฟ้าต่อไป ประวัติของพระยานครพระรามหม่อมฉันก็ได้เขียนเสร็จส่งไปยังเจ้าภาพแล้ว เป็นหนังสือ ๒๖ หน้ากระดาษ

เรื่องไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมัน และที่มีผู้ตั้งโรงน้ำมันดูเหมือนจะมีกฎหมายบังคับอยู่แล้ว ถึงไม่มีกฎหมายเช่นนั้น ก็มีกฎหมายในสามัญคดีอยู่ว่า ใครประกอบกิจอันใดให้เกิดรำคาญหรือเสี่ยงภัยแก่เพื่อนบ้าน ๆ มีสิทธิที่ร้องขอให้อนาประชาบาลห้ามได้

เรื่องเครื่องแต่งตัวใช้สีต่างๆ เป็นเครื่องหมายดังทรงพระดำริดูชอบกล แต่ยังไม่พบหลักฐาน จะทูลสนองตามเสด็จ ดังนี้

สีขาวหมายความบริสุทธิ์จากบาปกรรม แต่ที่ชาวอินเดียชอบนุ่งห่มสีขาวเป็นปกตินั้น น่าจะเป็นด้วยราคาถูกเพราะไม่ต้องย้อม

สีแดง หมายจะให้จับตาคน เช่นทหารใส่เสื้อแดงเพื่อจะให้จับตาข้าศึกเห็นคนจำนวนน้อยเป็นมาก ตลอดจนผู้หญิงห่มสีแดงก็เพื่อจะให้จับตาผู้ชาย

สีน้ำเงินและสีดำ หมายจะบังตาคน เช่นทหารใส่เสื้อสีครามเพื่อจะกำบังตาข้าศึกมิให้เห็นเวลาซุ่มซ่อม

สีเหลือง มาแต่ย้อมน้ำฝาด บรรพชิตนุ่งห่มให้แปลกกับคฤหัสถ์

มีอีกนัยหนึ่งหม่อมฉันได้เคยอ่านในหนังสือว่าด้วยพฤกษชาติ เขาว่าดอกไม้อันเป็นบ่อเกิดของพันธุ์พฤกษาชาตินั้น เกสรเป็นพันธุ์ปุลลึงค์ก็มี เป็นอิตถีลึงค์ก็มี ไม่อาจจะประสมพันธุ์กันได้โดยลำพัง ธรรมชาติจึงบันดาลให้เกิดสี กลิ่น รส ล่อสัตว์พวกแมลงต่างๆ มีผึ้งเป็นต้น ให้มาเคล้าเกสรพาพืชพันธุ์ไปประสมกันให้เกิดลูก เขาอ้างว่าดอกไม้สีขาวมักบานกลางคืน ดอกไม้สีแดงมักบานกลางวันล่อตาพวกสัตว์ กลิ่นหอมก็สำหรับล่อสัตว์ให้มาเคล้าเกสร พาพืชพันธุ์ไปประสมให้เกิดโดยทำนองเดียวกัน

ยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดในปีนังที่รวมไว้จะทูลต่อไป เมื่อเมียซุยปี๊คนขับรถของหม่อมฉันออกลูกคนแรกสัก ๓ เดือนมาแล้ว หญิงพูนเธอไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลคนคลอดลูก ไปเห็นเขาจัดโรงพยาบาลนั้นดีชอบใจ ครั้นถึงวันเกิดของเธอ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ปีนี้อายุเธอเท่าแม่ จึงคิดจะทำบุญให้พิเศษกว่าปีก่อนๆ ให้ไปถามที่โรงพยาบาลคลอดลูกว่าเด็กในโรงพยาบาลมีทารกคลอดวันที่ ๑๗ นั้นกี่คน เขาบอกมาว่ามีเด็กชาย ๓ หญิง ๑ รวม ๔ คน เธอจึงบริจาคทรัพย์ซื้อสิ่งของต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่เด็กแรกคลอดจัดอย่างสังเค็ตใส่กระเช้า ๔ ใบ เอาไปที่โรงพยาบาล บอกเจตนาแก่นางพยาบาลฝรั่งผู้เป็นหัวหน้าโรงพยาบาล เขาก็เข้าใจและอนุโมทนา พาเธอไปยังห้องคนออกลูก แม่ของทารก ๔ คนนั้นเป็นทมิฬบ้าง เป็นจีนบ้าง เมื่อหญิงพูนเอาสังเค็ตไปให้แทนที่จะรับและขอบใจ พวกแม่ของเด็กเหล่านั้นกลับตกประหม่าหน้าเสีย บางคนก็แสดงกิริยาโกรธเคือง ค่าที่มัน “ไม่เคยรับ” ทานอย่างนั้น สำคัญว่าจะเอาสังเค็ตไปแลกเอาลูกของมัน ต้องเที่ยวตามหาล่ามมาบอกให้เข้าใจเจตนาตามจริง แต่ก็ยังเข้าใจยาก บอกว่าให้เพราะเด็กเหล่านั้นเกิดร่วมวันกับเธอ มันกลับมาจ้องแลดูตัวหญิงพูนด้วยไม่เข้าใจว่าจะเกิดวันเดียวกันอย่างไรได้ ต้องชี้แจงกันอยู่ช้านานจึงเข้าใจและปีติยินดี พอปรากฏว่ากรณีที่จริงเป็นอย่างไร คนอื่นๆ ที่อยู่โรงพยาบาล ทั้งพวกแม่ทารกอื่นและญาติที่ไปเยี่ยมก็พากันมาห้อมล้อมอนุโมทนาบุญ และดูเครื่องสังเค็ตกันรุมมะตุ้มราวกับว่ามีมหรสพ

เรื่องลูกหญิงของซุยปี๊ยังมีต่อไปอีก ด้วยซุยปี๊มาปรารภกับพวกที่บ้านหม่อมฉัน ว่าเดิมอยู่กับป้าที่ตึกแถว ป้าเขาแบ่งห้องให้อยู่ห้อง ๑ ต่อมาป้าไปขอเมียมาให้ก็พออยู่ด้วยกันได้ในห้องนั้น ตั้งแต่เกิดลูกอ่อนขึ้นที่อยู่อัตคัด ไหนลูกอ่อนจะร้องรู้สึกป้าและญาติที่อยู่ในตึกหลังเดียวกันได้ความรำคาญ จึงคิดจะไปหาเช่าที่อื่นอยู่ พวกในบ้านของหม่อมฉันพากันสงสาร เห็นว่าที่เรือนบ่าวข้างหลังตึกซินนามอนฮอลมีเป็น ๒ ชั้นอยู่ตอนหนึ่ง มาขอให้ซุยปี๊กับลูกเมียมาอาศัยอยู่ที่นั่นหม่อมฉันก็อนุญาต พอมาอยู่พวกบ้านหม่อมฉันก็พากันเอ็นดูลูกซุยปี๋ช่วยกันเลี้ยงดู เมียซุยปี๊ก็เป็นคนขยันช่วยทำการชอบกันทั้งบ้าน ซุยปี๊เลยบอกว่าสบายกว่าเก่ามาก เดี๋ยวนี้มาบอกให้หม่อมฉันตั้งชื่อลูกเป็นชื่อไทย หม่อมฉันรู้สึกลำบาก ด้วยเด็กคนนี้มันจะเติบใหญ่อยู่ในปีนัง ฝ่ายพวกหม่อมฉันคงกลับไปกรุงเทพฯ ถ้าให้ชื่ออย่างไทยแท้เมื่อเติบใหญ่ใครจะเข้าใจหรือเรียกถูก หม่อมฉันจึงคิดหาชื่อไทยที่พ้องกับจีนนึกได้คำ “ลิ้นจี่” ให้เป็นชื่อของเด็ก ต่อไปแม้จีนจะเรียกเพี้ยนไปว่า “ไล่จี่” ก็คงได้ความอยู่นั่นเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ