วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๔ ธันวาคม กับธนบัตรค่าพจนานุกรมภาษาสันสกฤตแล้ว ได้ให้หญิงเหลือเอาธนบัตรไปใช้ได้ใบเสร็จมาเธอว่าส่งไปถวายแล้ว

พัดพระที่นายแลงกาต์ถวายทอดพระเนตร และอ้างว่าเป็นพัดยศเปรียญครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้นพิเคราะห์ตามลักษณะที่ทรงพรรณนา หม่อมฉันเห็นว่ามิใช่พัดยศเปรียญรัชกาลที่ ๔ หรือรัชกาลไหนๆ หมด ในเรื่องพัดยศเปรียญมีปริยายเป็นหลักฐานดังจะทูลต่อไป

เมื่อรัชกาลที่ ๑ ยศเปรียญยังกำหนดแต่เป็น ๓ ชั้น เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ เปรียญเอก มีความรู้สอบได้พระสูตรพระวินัยและพระปรมัตถปิฎก เปรียญโท สอบได้เพียงพระสูตรกับพระวินัยปิฎก เปรียญตรีสอบความรู้ได้เพียงพระสุตันตปิฎก ในหนังสือพงศาวดารจึงเรียกแต่ว่า เปรียญเอก เปรียญโท เปรียญตรี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) คิดระเบียบแปลพระปริยัติธรรมถวายใหม่แบ่งชั้นเปรียญเป็น ๙ ประโยค ชั้นเปรียญจึงกลายเป็นนับตามประโยคแต่นั้นมา

พัดยศก็มีแบบมาแต่กรุงศรีอยุธยา พิเคราะห์ลักษณะพัดยศแบบเก่า ดูเหมือนพระที่มีตำแหน่งในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์ เช่นพระราชาคณะลงไปจนฐานานุกรม จะถือพัดแพรหรืองาสานเปรียญเป็นแต่ทรงคุณวิเศษเฉพาะตัวถือตาลปัตรขลิบทองอย่างเดียวกันทั้งที่เป็นพระและเป็นสามเณร หม่อมฉันสันนิษฐานว่าพัดเปรียญอย่างที่ถ่ายแบบตาลปัตร (พัดใบตาล) มาทำเป็นพื้นแพรมีเส้นและขลิบทอง อาจจะเกิดขึ้นเมื่อจัดระเบียบแปลหนังสือในรัชกาลที่ ๒ หรือมิฉะนั้นก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นแน่ เพราะมีรูปพัดเปรียญอย่างพื้นแพร เขียนไว้ด้วยกันกับรูปพัดยศอย่างอื่นหลังบานประตูพระอุโบสถวัดพระเชตุพน พิจารณาดูพัดยศเปรียญที่เขียนไว้นั้นผิดกับพัดเปรียญชั้นหลัง แต่ที่แพรขอบกับแพรพื้นพัดเป็นสีต่างกัน เมื่อพัดพื้นแพรมีขึ้นเห็นจะพระราชทานแต่พระภิกษุ สามเณรจึงคงถือตาลปัตรขลิบทองอยู่อย่างเดิม ในรัชกาลที่ ๔ คงใช้พัดเปรียญตามแบบรัชกาลที่ ๓ ต่อมา และหม่อมฉันสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๔ ก็เห็นจะยังไม่ได้กำหนดสีพัดยศให้ต่างกันตามประโยค เพราะปรากฏว่าเมื่อรัชกาลที่ ๔ ถ้าทรงพระราชดำริว่าเปรียญองค์ใดทรงคุณวิเศษเช่นเทศน์ดีเป็นต้น ก็พระราชทานพัดพื้นโหมดหรือตาดให้ถือโดยมิได้เอาชั้นประโยคเป็นเกณฑ์ ดังเช่นมหาฤทธิ์วัดราชบุรณ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดอรุณ) และพระมหาเนตรวัดโสมนัสวิหาร (พระวินิตรธรรมบริวัตร) เป็นตัวอย่าง หม่อมฉันบวชเป็นสามเณรได้เคยเห็นเปรียญถือพัดยศรัชกาลที่ ๔ ด้วยโปรดให้ทอดพระกฐินหลวงที่วัดคงคารามเมืองเพ็ชรบุรี เห็นพระมหาสินเปรียญ ๔ ประโยครัชกาลที่ ๔ ถือพัดยศเปรียญพื้นสีแดงขอบสีขาบเหมือนอย่างเช่นเขียนไว้ที่วัดพระเชตุพน ต่อมาเมื่อพระมหาสินใกล้จะได้เป็นพระราชาคณะ เห็นท่านถือพัดเปรียญแพรสีขาบสีเดียว คงเปลี่ยนเมื่อตั้งกำหนดสีพัดเปรียญให้เข้ากับประโยคขึ้นในรัชกาลที่ ๔

ข่าวทางปีนัง พระองค์หญิงอาภากลับจากยุโรปมาถึง เมื่อวันที่ ๖ แต่หญิงผ่องที่ไปด้วยยังอยู่กับสมเด็จพระราชินี พระองค์หญิงอาภาเธอตรัสเล่าว่า สมเด็จพระปกเกล้าประชวรเพียบจนถึงหมอกลัวจะไม่รอดถึง ๓ ครั้ง แต่เดี๋ยวนี้เขารักษาหายจนเป็นปกติได้แล้ว เธอถามว่าท่านเสด็จมาประทับอยู่ปีนังกี่วัน และเธอเสียดายที่ไม่ได้เฝ้าท่าน เวลานี้โรงเรียนจะปิดเดือนหนึ่ง หม่อมฉันจึงให้หลานแมวกับหลานดำกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ให้หลานน้อยกลับไปเยี่ยมพ่อ จะไปในคราวเมล์นี้ทั้ง ๓ คน ที่ซินนามอนฮอลคงจะเงียบเหงาไปหลายวัน แต่กระทรวงพระคลังเขาให้ชายนิพัทธเป็นกรรมการคน ๑ ไปตรวจการเก็บภาษีที่ดินในสหรัฐมลายู กับทั้งเมืองพม่าและอินเดีย เธอจะผ่านปีนังวันที่ ๑๑ แต่จะเลยไปกวาลาลูมปูรในคืนนั้นเอง จะได้พบกันเพียงสัก ๒ ชั่วโมง แต่เมื่อกลับจากสหรัฐฯ ว่าจะมาพักอยู่ปีนังสักสี่ห้าวัน ต่อนั้นลูกชายดำซึ่งไปเรียนวิชาทหารเรือที่เดนมาร์ค สอบวิชาได้เป็นนายเรือแล้วได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมพ่อแม่ชั่วคราว จะมาถึงปลายเดือนนี้ มีเวลาอยู่ด้วยกัน ๒ เดือน แล้วจะกลับไปเรียนวิชาภาคพิเศษต่อไปนัยว่าอีก ๓ หรือ ๔ ปี ตั้งแต่เธอจากไปถึง ๑๔ ปี ส่วนหม่อมฉันได้ไปพบเธอที่เดนมาร์คแล้ว แต่แม่ของเธอมีลูกคนเดียวตั้งแต่รู้ว่าจะได้เห็นหน้าลูกอีกดูชื่นบานมาก

หม่อมฉันได้ส่งวิจารณ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ มาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้อีกท่อนหนึ่ง นับเป็นท่อนที่ ๒

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ