วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๘๐

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

พระดำรัสตอบปัญหาของพระยาอินทรมนตรี แก้คำ “ปรับละเมิด” ได้อ่านแล้วจับใจมาก คำ “ละเมิด” ทางภาษาเขมรก็มีเหมือนกัน แต่เขาเขียน “ลเมิส” สกดด้วยตัว ส ใช้ประกอบเช่นเดียวกัน ฝรั่งเขาแปลไปได้ว่า เกินเลย ดูหมิ่น เห็นจะถูก อันแปลคำนั้นยากนัก คำอะไรที่ใช้กันอยู่หมิ่นๆ บทจะแปลเข้าแล้วก็ดิ้นขลุกขลักประดักประเดิดเต็มที ในตอนท้ายซึ่งระบุชื่อความอันมีผู้กระทำให้นั้นก็น่าแปลเต็มที เกล้ากระหม่อมได้ลองแปลดูดังจะทูลถวายต่อไปนี้ จะถูกกับคำเจตนาที่ท่านตั้งคำเหล่านี้ไว้หรือไม่ก็ไม่ทราบ

ละเมิด แปลว่าดูหมิ่น
ด่า แปลว่ากล่าววาจาให้เจ็บใจ
บช้ำ แปลว่าทำให้เจ็บแต่ไม่เห็นรอย
ฟก แปลว่าบวมหรือโน
ช้ำดำ แปลว่าฮ่อเลือด
ซับ แปลว่าเลือดออกซบ ๆ
ฉลาย แปลว่าเป็นแผลเล็กน้อย
แตก แปลว่าหนังขาดแยกจากกัน
โค่น แปลว่าล้ม เห็นจะหมายถึงฟันโดยเฉพาะ
หัก แปลว่าอวัยวะตรงนั้นหักไป
บอด แปลว่าไม่เห็น หมายถึงตาโดยเฉพาะ
ตาย แปลว่าชีวิตออกจากร่าง

งานศพพระยานครพระราม เขาก็คงจะลากเอาตัวไปเผาอีกเพราะคุ้นเคยกัน คงจะได้แจกหนังสืออันมีคำนำเป็นพระนิพนธ์ฝ่าพระบาทมาอ่านแล้วจะได้ทราบความว่า ทรงพระเมตตาโปรดแต่งประทานไปอย่างไร

เรื่องสีตามที่ประทานพระดำริส่งเสริมนั้นดีมาก เชื่อว่าถูกทุกข้อเหมือนหนึ่งชาวอินเดียชอบนุ่งผ้าขาว ก็คงเป็นด้วยราคาถูก ไม่ต้องทำอะไรอย่างพระดำริ เพราะเกล้ากระหม่อมได้เคยค้นแล้ว ว่าพราหมณ์นุ่งอะไรปรากฏว่าผ้าด้ายผ้าไหมเป็นสีเป็นลวดลายก็มีใช้ แต่เป็นของพิเศษมีน้อย ไม่ใช่มีแต่ผ้าขาวอย่างเดียว รูปตาฤาษีที่พวกอินเดียทำเข้ามา สังเกตว่านุ่งเหลืองนุ่งแดงทั้งนั้น นั่นคือครองผ้าย้อมฝาด ทำไมพวกนักบวชจึงครองผ้าย้อมฝาด ก็เพราะใช้บังสุกุลจีวร (ผ้าเปื้อนฝุ่น) ถ้าไม่ย้อมเสียก็จะดูสกปรกเต็มที และสีฝาดนั้นเป็นสีที่จะหาได้ง่ายที่สุด ข้อที่หหารแต่งสีต่างๆ ตามต้องการก็เคยทราบ เช่นที่แต่งสีหญ้าม้านอยู่ทุกวันนี้ ก็ว่าเพื่อจะให้เข้ากับสีดินทรายต้นหมากรากไม้ และได้ทราบว่าพวกทหารกองที่ปีนเขาอันกอปร์ด้วยหินนั้นเขาใช้แต่งขาว ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้เห็นเป็นเป้าถูกยิงตาย

สีธรรมชาติก็ได้ยินเขาว่าเป็นไปตามอากาศ เช่นนกและดอกไม้เขาว่าที่สีเขียวสีแดงนั้นมีแต่ในประเทศตะวันออก ส่วนทางประเทศตะวันตกแถวสคันดินาเวียน เขาว่าเป็นสีหม่น ทั้งนั้น

เรื่องหญิงพูนเอาสังเค็ตไปให้เด็กนั้นขันมาก ขันที่แม่ของเด็ก นึกก็น่าสมเพช แต่มันเกิดมาก็ไม่เคยได้ยินใครเขาทำกันเลยยากที่มันจะเข้าใจได้

เรื่องประทานชื่อลูกซุยปี๊นั้น ทำให้รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยเคยมีกรณีมาอย่างเดียวกัน ยายล้อม (เศรษฐินี) พาหลานเข้าไปเฝ้าขอพระราชทานชื่อ ทรงพระราชดำริจะพระราชทานชื่อล้ำให้เข้าได้ทั้งไทยทั้งจีน แต่มีพระราชหฤทัยสงสัยในคำล้ำนั้น ว่าภาษาจีนจะเป็นคำดีคำร้ายประการใด โปรดให้เกล้ากระหม่อมสืบ ต้องสืบกราบบังคมทูลรายงาน เกล้ากระหม่อมรู้สึกว่าเป็นทางดี ครั้นมีกรณีอย่างเดียวกันมาถึงตัว คือเถ้าแก่ชุน (โรงโปเก) มาขอชื่อลูก เกล้ากระหม่อมก็ดำเนินตามรอยพระบาทให้ชื่อไปว่า บุญเพง เทียบคำ บุ้นเผง ข้างจีน ลูกซุยปี๊นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องให้ชื่อขนานคาบเกี่ยวเป็นครึ่งจีน ให้ถูกต้องตามเจตนาพ่อซึ่งอยากให้เป็นชื่อไทย แต่อย่าให้ขัดกับที่จีนจะเข้าใจและเรียกได้ ตามที่ประทานไปให้ชื่อลิ้นจี่นั้นดีแล้ว

เห็นหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขาลงก่อน ว่า นายยิ้ม พึ่งพระคุณกลับเข้ากรุงเทพฯ แล้วลงทีหลังว่า นายประสิทธิ์ โลหนันท์กับภรรยาออกมาปีนัง เป็นรองกงสุลสยามที่ปีนัง แทนนายยิ้ม พึ่งพระคุณ จะเป็นคนอย่างไรไม่เคยรู้จัก แต่มีหน้าที่จะมาติตต่อกับไทยเป็นอันมากซึ่งอยู่ที่ปีนัง หวังว่าจะเป็นคนมีเมตตาอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อติดกันโดยเรียบร้อย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ