วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อวันที่ ๑ หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ซึ่งประทานมาแต่สงขลา ตรัสเล่ารายการที่ท่านเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ อ่านเพลิดเพลินสนุกดีมาก เห็นได้ว่าทั้งกระบวรเสด็จได้รับความสนุกนับเปนชั้นที่ ๑ เพราะเปนที่แปลกไม่เคยเที่ยวอย่าง ๑ ต้องรับความลำบากบ้างอย่าง ๑ ในที่สุดได้เที่ยวสมประสงค์อย่าง ๑ ประกอบกันทั้ง ๓ ประการ เสด็จกลับมาพักที่ตำหนักสมเด็จหญิงน้อยดูก็เปนที่สบายดี หวังว่าจะทรงพระสำราญทั้งพระองค์และพระหฤทัยตลอดเวลาที่เสด็จอยู่หัวเมือง หม่อมฉันไปเมืองสงขลาครั้ง ๑ ออกไปเที่ยวที่สะพานสำโรง พบราษฎรหาบของเข้าไปขายในเมือง ถามเขาว่าจะไปไหน เขาบอกว่าจะไป “บ่อยาง” เมื่อหม่อมฉันกลับถึงเมืองไปถามพวกข้าราชการเก่าว่าตำบล บ่อยาง อยู่ที่ไหน เขาบอกว่าคือตำบลที่สร้างเมืองสงขลานั้นเอง เดิมเรียกว่าตำบลบ่อยาง เมื่อสร้างเมืองขึ้นชาวบ้านนอกยังคงเรียกว่าบ่อยางอยู่ตามเดิม ต่อผู้อยู่ใกล้จึงเรียกว่าในเมืองหรือกลางเมือง ชื่อตำหนักสมเด็จหญิงน้อยซึ่งทรงเขียนมาในลายพระหัตถ์ว่า “ตำหนักหัวยาง” ก็น่าจะมาแต่ บ่อยาง นั้นเอง ขอให้ทรงสังเกตอย่างหนึ่ง ที่อากาศทางตอนเมืองสงขลากับทางตอนหาดใหญ่ผิดกัน ทางตอนเมืองสงขลาร้อนไม่เย็นเหมือนกับทางตอนหาดใหญ่ หม่อมฉันไปเมืองสงขลาทีไร ไม่เคยรู้สึกอยู่สบายเหมือนเมื่อไปอยู่บ้านพระเสน่หามนตรีคราวหลัง ปรารภขึ้นกับพวกที่อยู่สงขลาทั้งไทยและฝรั่งก็มีความเห็นอย่างเดียวกัน เห็นจะเปนด้วยพื้นที่เปนทรายมาก กับอีกอย่างหนึ่งมีเทือกเขาแดงอยู่ริมปากน้ำทางฝั่งตะวันตก ถึงระดูลมตะวันตกลมพัดพาไอร้อนที่เขาแดงเป่ามาลงในเมือง หม่อมฉันยังจำเรื่องเก่าได้อยู่เรื่อง ๑ เดิมเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒนสร้างตึกที่พักไว้ที่ปากน้ำหลัง ๑ ตึกที่เจ้าพระยาสุรวงศ์ฯ สร้างไว้ตามชายทะเลมีหลายแห่ง เจ้านายพวกเราเคยตั้งชื่อให้ทุกแห่ง ท่านยังทรงจำได้หรือไม่ เผื่อจะทรงจำไม่ได้หม่อมฉันจะทูลรายชื่อตามที่ขนานต่อไปดังนี้

๑. ตึก “ตระกรองกรีฑา” อยู่ปากน้ำบ้านแหลมเมืองเพ็ชรบุรี

๒. ตึก “กามาภิรมย์” อยู่ปากน้ำเมืองปราณ

๓. ตึก “อุดมราคฤาดี” อยู่ปากน้ำชุมพร

๔. ตึก “นารีบำเรอรัก” อยู่ปากน้ำสงขลา

๕. ตึก “สมัคสังวาส” อยู่ที่อ่างหิน. ดั่งนี้

ตึกที่เมืองสงขลานั้น อยู่ตรงบริเวณที่ตั้งโรงตำรวจภูธรเดี๋ยวนี้แต่รื้อเสียหมดแล้ว พวกชาวเมืองเขาเล่าให้หม่อมฉันฟังว่าเปนที่ผีดุนัก ใครไปอยู่มักเจ็บไข้ไม่สบายถึงตายก็มี เช่นท่านผู้หญิงสุ่น ของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร ก็ไปเจ็บตายที่นั้น ได้ฟังเขาเล่ามาอย่างนั้น วันหนึ่งหม่อมฉันไปเรือพอผ่านตรงตึกหลังนั้น ลมพัดมาจากเขาแดงถูกตัวรู้สึกร้อนวูบเหมือนเปลวไฟ แทบหายใจไม่ออก จึงนึกรู้เหตุของความไข้เจ็บล้มตายที่ตึกนั้นเพราะไปอยู่ริมลมเขาแดงอยู่เสมอ ต่อเมื่อสมเด็จชายออกไปอยู่ที่สงขลาจึงคิดหาที่ย้ายสถานต่าง ๆ ไปตั้งให้ห่างลมเขาแดง ค่อยสบายขึ้น ถึงกระนั้นอากาศก็ยังสู้ที่หาดใหญ่ไม่ได้อยู่นั่นเอง

หมู่นี้หม่อมฉันไปจับอ่านลายพระราชหัตถเลขาของทูลกระหม่อมที่หอพระสมุดรวบรวมพิมพ์ไว้เปนเล่ม ๆ พบขุมทรัพย์ความรู้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง จะคัดความมาลงในจดหมายฉะบับนี้สำหรับทรงวินิจฉัยเรื่อง ๑ ว่าด้วยลักษณการเคารพ คือ

“อันการอ่อนน้อมคำนับในโลกนี้มีกิริยาทำต่างๆ กัน ฯลฯ ตามที่ว่าไว้ในหนังสือที่มีในพระพุทธสาสนา ในพระบาลีมีอยู่ ๔ อย่างตามชื่อ คืออภิวาท ๑ วันทนาการ ๑ นิปัจจนาการ ๑ อัญชลีกรรม ๑ เปนสำแดงกิริยาคำนับต่อหน้าผู้มีตัวประจักษ์ฉะเพาะ ยังอีก ๒ อย่างคือนมการ ๑ นมัสการ ๑ สองอย่างนี้ว่าด้วยการนับถือเปนพระที่ยิ่ง และแสดงความน้อมไปแด่พระนั้นด้วยไตรทวาร คือกายวาจาจิตต์ จะหาที่ชี้อุทาหรณ์เยี่ยงอย่างของคำที่สำแดงชื่อ ๖ อย่าง คืออภิวาท วันทนาการ นิปัจจนาการ อัญชลีกรรม และนมการ นมัสการ นั้นก็ได้เห็นอยู่ชุกชม คือ “ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา” ในที่นั้น ๆและ “อภิวาทนสีลิสฺส” ที่เปนคาถาและอื่นๆเปนอุทาหรณ์ของอภิวาท “ภควโต ปาเท สิรสา วนฺทาหิ” ฤๅ “วนฺทติ” ในพระวินัยเรียกชื่อ “อวนฺทิโย ปุคฺคโล วนฺทิโย ปุคคฺโล” และอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของวันทนาการ ในพระบาลีว่า “ภควโต ปาเทสุ สิรสา นิปฺติตฺวา” และ “นิปฺปการํ กโรมิ” เปนอุทาหรณ์ของนิปัจจนาการ “เยน ภควา เตนฺชลิมฺปณาเมตฺวา” ฤๅ “อฺชลิมฺปคยฺห” ฤา “อฺชลิโก อฏฺ าสิ” และในบทสวดมนต์ว่า “อัฺชลี กรณีโย” เหล่านี้เปนอุทาหรณ์ของอัญชลีกรรม “นโม ตสฺส ภควโต นมตฺถุ นโม เต ปุริสาชฺ” และอื่น ๆเปนอุทาหรณ์ของนมการ “นมสฺสนฺติ โคตมํ นมสฺสมาโน สมฺพุทธํ” และอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของนมัสการฯ ก็ในชื่ออาการอย่างที่มาในบาลีนี้ คนทำอย่างไรจะเรียกว่าชื่อไรก็ไม่ได้ความชัด อภิวาทนั้นเห็นที่มาเปนกิริยาที่เขาใช้ต่อหน้าและทำแก่ผู้สูงศักดิ์ คือพระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ใหญ่ และพระเจ้าแผ่นดินและพราหมณ์ มีคำอรรถกถาบางอันแก้ว่า “อภิวาเทตฺวา สุขี โหหีติ วทาเปตฺวา” ก็มีบ้าง แต่ที่แก้ว่าอภิวาทนั้น ก็คือวันทนกิริยานั้นเองโดยมาก ถึงกระนั้นเห็นที่มาในบาลี อภิวาทดูทีจะเปนการอย่างสูงและการต่อหน้า วันทนาการเปนการต่ำลงมา และมักมีในคำสั่งฝากไหว้คำนับไปอภิวาท และสงฆ์และคณะก็ไม่ใคร่จะมี มีแต่วันทนาการและอัญชลีกรรม จะชักอุทาหรณ์มาว่าให้เห็นได้แต่จะเพ้อมากนักไป ฯ อัญชลีนั้น อรรถกถาแก้ว่า “ทสนขสโมธานํ” พระราชนิพนธ์มีดั่งนี้ พระเจ้าพระสงฆ์ในชั้นหลังเช่นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เคยวินิจฉัยลักษณการเคารพที่ทรงพระราชนิพนธ์ต่อมาอย่างไรอีกบ้าง ท่านทรงทราบหรือไม่ ยังมีวินิจฉัยเรื่องอื่น ๆ อีก หม่อมฉันจะคัดทูลบันเล็งต่อไป

หม่อมฉันหวังใจว่าทั้งพระองค์ท่านและบรรดาผู้ที่มาโดยเสด็จ จะมีความสุขสบายดีอยู่ ส่งจดหมายคราวนี้มีโอกาสที่จะฝากของถวายได้ หม่อมฉันจึงฝากเหรียญกับสมุดรูปภาพงานยูบีลีของพระเจ้ายอร์ช ซึ่งรออยู่มาถวายพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ อีกประการหนึ่ง เวลานี้กำลังเปนระดูผลเงาะออกที่ปีนัง หม่อมฉันจึงจัดฝากผลเงาะเข้ามาถวาย แต่ส้มจัฟฟานั้นขาดคราวมาช้านาน ได้ยินว่าสิ้นระดูจึงไม่มีมาขาย.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม ศรีไชยันต์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ